Thailand EV China vs Japan

มาทุกทิศทาง! 7 ค่ายรถยนต์จีน รอถล่มตลาด EV ไทย ฝั่งญี่ปุ่นอาจรับมือไม่ไหว?

ปฏิเสธไม่ได้ว่า ตลาดรถยนต์ไฟฟ้าของไทย ร้อนแรงตั้งแต่ต้นปี เพราะมีหนึ่งไมล์สโตนสำคัญ เกิดขึ้นในอุตสาหกรรมนี้ นั่นก็คือ ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี มีมติรับทราบ แนวทางการดำเนินงาน ส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้า ตามผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ เพี่อส่งเสริมให้เกิดการผลิต การใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศ ให้เป็นไปตามเป้าหมายการผลิต และการใช้ยานยนต์ไร้มลพิษ ของยานยนต์ทุกประเภท ซึ่งก่อนหน้านั้น ค่ายรถยนต์ต่างๆ ก็พอจะทราบทิศทางการตัดสินใจ ของคณะรัฐมนตรีอยู่แล้ว นั่นทำให้ค่ายรถยนต์สัญชาติจีน ที่มีฐานที่มั่นในเมืองไทย อย่าง MG และ Great Wall Motor ตัดสินใจเข้าร่วมโครงการขอรับสิทธิ แทบจะในทันทีก็ว่าได้ พร้อมประกาศราคาใหม่รถยนต์ไฟฟ้าของตัวเอง ตามมาหลังจากนั้นไม่นาน ทำเอางานมอเตอร์โชว์ 2022 ที่เพิ่งปิดฉากลงไป ดูคึกคักขึ้นมาในทันที หลังจากที่โดนมรสุมโรคระบาดถาโถม จนทำให้งานแสดงยานยนต์ของไทย ซบเซาตามๆกันไป ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา

การขยับตัวของ 2 ค่ายรถยนต์จากแดนมังกรล่าสุดนี้ ทำให้เกิดการคาดหมาย กับการเคลื่อนไหวจากค่ายรถยนต์เจ้าถิ่นในเมืองไทย ซึ่งส่วนใหญ่ เป็นค่ายรถยนต์จากญี่ปุ่น ว่าจะมีอะไรให้ได้ลุ้นกันในปีนี้ สำหรับตลาดรถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งจนถึงตอนนี้ มีเพียง Toyota เพียงรายเดียว ที่พอจะมีอะไรให้เห็นเป็นรูปธรรม กับการเผยโฉมรถต้นแบบ Toyota bZ4X ในงานมอเตอร์โชว์ที่ผ่านมา พร้อมการประกาศจำหน่ายในเมืองไทย ภายในปี 2022 นี้ ถือว่าเป็นการเปิดตัวที่ค่อนข้างช้า ในตลาดอีวี สำหรับค่ายยักษ์ใหญ่อย่าง Toyota แต่ก็เข้าใจได้ว่า ความนิยมในรถยนต์ไฟฟ้าของคนไทย เกิดขึ้นเร็วกว่าที่หลายฝ่าย เคยคาดการณ์เอาไว้ ในขณะผู้ผลิตรถยนต์จากญี่ปุ่นส่วนใหญ่ เคยมองว่า ยังต้องใช้เวลาอีกหลายปี กว่าที่รถยนต์ไฟฟ้า จะได้รับการยอมรับจากกลุ่มลูกค้าส่วนใหญ่ จึงทำให้ค่ายต่างๆ มุ่งเน้นไปที่การทำตลาดรถยนต์ ที่ใช้ระบบขับเคลื่อนไฮบริด ซึ่งยักษ์ใหญ่อย่าง Toyota ครองตลาดนี้มานาน ส่วน Honda ก็ได้ปรับแผนการตลาด ให้มีทางเลือกเป็นรุ่นย่อย eHEV ในรถยนต์รุ่นใหม่ที่จะเปิดตัว Nissan ก็มุ่งไปที่ระบบ e-Power หลังจากไม่ประสบความสำเร็จ ในการทำตลาดรถยนต์ไฟฟ้ารุ่น Leaf ที่เข้าบุกตลาดก่อนใครก็ว่าได้ ในขณะที่ Mitsubishi ก็เพิ่งสร้างโรงงานประกอบรถยนต์ ระบบ PHEV ไปได้ไม่นาน แน่นอนว่า การก้าวเข้าสู่ตลาดรถยนต์ไฟฟ้า ในขณะที่บริษัท เพิ่งลงทุนไปมหาศาล กับระบบไฮบริด จึงเป็นเรื่องที่ตัดสินใจได้ยาก อีกทั้งเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้า ซึ่งรวมถึงการผลิตแบตเตอรี่ เป็นสิ่งที่บริษัทต่างๆจากแดนซามูไร ยังไม่มีความพร้อมเท่าที่ควร แม้ว่าจะพยายามเดินทางลัด ด้วยการหาพันธมิตรจากจีนแล้วก็ตาม และนั่นจึงเป็นเหตุผล ที่ทำให้ค่ายรถยนต์จากญี่ปุ่นส่วนใหญ่ มีท่าทีที่ไม่ชัดเจน หรือดูลังเล ในการเดินเข้าสู่ตลาดรถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งจนถึงตอนนี้ Toyota ก็ยังไม่ได้ลงนามในสัญญา เพื่อเข้าร่วมมาตรการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้าของรัฐบาล ซึ่งมีรายงานว่า น่าจะเกิดขึ้นในช่วงหลังสงกรานต์นี้ นั่นทำให้ Toyota เป็นค่ายรถยนต์จากญี่ปุ่นรายแรก ที่แสดงความจำนงอย่างชัดเจน ในการบุกตลาดรถยนต์ไฟฟ้าในเมืองไทย

ที่น่าเซอร์ไพรซ์ก็คือ ค่ายรถยนต์ยักษ์ใหญ่อย่าง Honda และ Nissan ยอมรับผ่านสื่อมวลชนไทย อย่างฐานเศรษฐกิจว่า ไม่มีนโยบายเข้าร่วมมาตรการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้า ในวาระเร่งด่วนของรัฐบาล โดย Honda ขอเลือกเดินตามแผนผลิตรถยนต์ไฟฟ้าเดิม คือจะเริ่มประกอบในไทย ในปี 2025 หรืออีก 3 ปีข้างหน้า ส่วน Nissan จะนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้ารุ่น Ariya มาจำหน่าย แต่ไม่มีแผนขึ้นสายการผลิตในเมืองไทย ในขณะที่ Isuzu ที่เป็นเจ้าตลาดรถกระบะของไทย ก็คงยังไม่มีความสนใจ ในการพัฒนารถยนต์ไฟฟ้า เพราะบริษัทคงมุ่งเน้นไปที่การทำตลาดรถยนต์เชิงพาณิชย์ ที่เครื่องยนต์สันดาปภายใน ยังเป็นที่ต้องการของตลาด และบริษัทเอง ก็คงไม่ได้รับผลลกระทบในเรื่องนี้ เว้นเสียแต่ว่า มีคนกล้าเปิดตลาดรถกระบะไฟฟ้าขึ้นมา และตลาดให้การตอบรับเป็นอย่างดี ซึ่งทั้งหมดนี้ ทำให้เราพอจะมองเห็นในภาพรวมว่า ค่ายรถยนต์ญี่ปุ่นส่วนใหญ่ ยังไม่มีความพร้อมในการเข้าสู่ตลาดรถยนต์ไฟฟ้ามากเท่าที่ควร และน่าจะพยายามรักษา ตลาดรถยนต์เครื่องยนต์สันดาปภายในและไฮบริด เอาไว้ให้ได้นานที่สุด เท่าที่จะเป็นไปได้

กลับมาดูความเคลื่อนไหวของค่ายรถยนต์จากแดนมังกรกันบ้าง อย่างที่เกริ่นไปบ้างแล้วในตอนต้น ว่า MG และ Great Wall Motor ได้ลงนามเข้าร่วมโครงการสนับสนุนยานยนต์ไฟฟ้าของภาครัฐ ซึ่งทำให้ได้รับสิทธิพิเศษในด้านภาษี และเงินอุดหนุนจากรัฐบาลไปแล้ว อีกบริษัทหนึ่งที่เข้าร่วมโครงการเป็นรายที่ 3 ก็คือ เนต้า ออโต้ (ไทยแลนด์) บริษัทในเครือของโฮซอนจากจีน ที่ร่วมทุนกับบริษัท อรุณ พลัส ในเครือของ ปตท. ทำให้จนถึงตอนนี้ บริษัทที่เข้าขอรับสิทธิจากภาครัฐของไทย เป็นบริษัทสัญชาติจีนหรือร่วมทุนกับค่ายรถยนต์จากจีน ทั้ง 3 บริษัท แต่นั่นยังเป็นเพียงการเริ่มต้น เพราะล่าสุด มีอีกอย่างน้อย 4 บริษัทสัญชาติจีน หรือร่วมทุนกับบริษัทจากจีน ที่จะเข้าร่วมขอรับสิทธิในโครงการสนับสนุนยานยนต์ไฟฟ้าเช่นกัน ซึ่งได้แก่ Geely ซึ่งเตรียมส่งรถยนต์ไฟฟ้าแบรนด์ยุโรปอย่าง Smart #1 เข้าบุกไทยในอนาคตอันใกล้ ซึ่งคาดว่าอาจจะเปิดตัวในปลายปีนี้ และทำตลาดภายในปีหน้า 2023 ในขณะที่ค่ายใหญ่จากจีนอีกรายอย่าง Changan ที่ด้อมๆมองๆตลาดเมืองไทยมาได้ระยะหนึ่งแล้ว ก็แจ้งความสนใจไปยังกรมสรรพสามิตเช่นกัน รายต่อไป ก็คือ BYD ที่บุกตลาดรถยนต์ไฟฟ้าของไทย ผ่านทางแท็กซี่ไฟฟ้ามา 3-4 ปีแล้ว

ส่วนรายที่ 7 ที่กำลังเตรียมเข้าไปเจรจากับทางภาครัฐของไทยในการขอรับสิทธิ ก็คือ อีวีไพรมัส ตัวแทนจำหน่ายรถยนต์มัลติแบรนด์ ที่เตรียมเปิดตัวรถยนต์ไฟฟ้า Seres ในเมืองไทยไตรมาสที่ 3 ของปีนี้ ซึ่งบริษัทนี้เป็นตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ของแบรนด์ DFSK ด้วยเช่นกัน และเป็นบริษัทเดียวกันกับบริษัทที่มีข่าวว่าจะเปิดตัว MINI EV ราคา 3 แสนบาทในไทย ภายในปีนี้ และคาดว่า ในอนาคต อาจจะมีค่ายรถยนต์สัญชาติจีนรายอื่นๆ ทยอยเข้ามาในตลาดเมืองไทย ในรูปแบบเดียวกันนี้ หรือรูปแบบอื่น ที่เป็นการนำเข้าโดยไม่มีแผนประกอบในไทย นั่นทำให้เรา พอจะมองเห็นภาพการแข่งขัน ในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าของไทย หรืออาจจะขยายตัวไปถึงภาพรวมทั้งอุตสาหกรรมยานยนต์ของไทย ว่าค่ายรถยนต์สัญชาติจีน ได้เข้ามาบุกตลาดแห่งนี้อย่างเต็มตัว และเร็วกว่าที่หลายฝ่ายคาดการณ์เอาไว้ ซึ่งแน่นอนว่า หากทั้ง 7 บริษัท มีการตั้งโรงงานประกอบรถยนต์ไฟฟ้า ตามข้อกำหนดของหน่วยงานรัฐของไทยแล้ว และคนไทย นิยมใช้รถยนต์ไฟฟ้ากันอย่างแพร่หลาย เชื่อว่าในตอนนั้น น่าจะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของวงการยานยนต์ไทย ที่มีค่ายรถยนต์จากญี่ปุ่นครองตลาดมานานหลายสิบปี และจะเป็นการเปลี่ยนแปลง ที่เกิดขึ้นแบบค่อนข้างจะทันทีทันใด จนบางค่ายรถยนต์อาจจะไม่สามารถปรับตัวได้ทัน เหมือนที่มันกำลังเกิดขึ้นในตอนนี้