สร้างความฮือฮาไปทั่ววงการยานยนต์ไทย เมื่อมีการเปิดเผยยอดจองรถยนต์ 2 วันแรก ในงาน Motor Expo 2023 เมื่อยอดจอง Changan และ BYD 2 ค่ายรถยนต์ยักษ์ใหญ่จากจีน นำมาเป็นอันดับ 1 และ 2 ตามลำดับ ในขณะที่เจ้าตลาดอย่าง TOYOTA ตามมาเป็นอันดับ 3 อย่างไรก็ตาม ล่าสุด Toyota สามารถแซงกลับขึ้นมาเป็นอันดับ 1 ได้ตามที่หลายคนคาดการณ์ แต่ที่น่าสนใจก็คือ BYD ยังคงเป็นอันดับ 2 ด้วยยอดจองที่สูสีกับ TOYOTA คือห่างกันเพียง 4 คันเท่านั้น ทั้งๆที่ TOYOTA ทำตลาดรถยนต์มากรุ่นกว่า BYD อยู่มาก โดย Changan ตกลงไปเป็นอันดับ 4 ที่ 661 คัน ส่วน EV น้องใหม่อีกค่ายหนึ่งจากจีน อย่าง AION ทำยอดจองได้ที่ 512 คัน ถือว่าทำได้ดี สำหรับการเปิดตัวรถยนต์รุ่นแรกในเมืองไทยได้ไม่นานนัก ทำให้งานนี้ มีลุ้นไปตลอด จนถึงสิ้นสุดงานว่า ยอดจองทั้งงาน ใครจะขึ้นเป็นอันดับต้นๆของปีนี้ไปได้ สำหรับยอดจองรถยนต์รวมทั้ง 4 วัน อยู่ที่ 8,373 คัน เป็นค่ายรถยนต์จากจีนถึง 4 บริษัท ใน 10 อันดับแรก อย่างไรก็ตาม ยอดจองดังกล่าว เป็นเพียงการประเมินจากทางผู้จัดงาน ผ่านทางระบบการชิงรางวัล สำหรับผู้จองรถยนต์เท่านั้น เพราะหลายค่ายรถยนต์ ไม่ได้แจ้งยอดจองให้กับทางผู้จัดงานโดยตรง แต่ตัวเลขเหล่านี้ ก็ช่วยสะท้อนทิศทางของตลาด ได้ในระดับหนึ่ง
จากยอดจองรถยนต์ที่ได้พูดไปข้างต้น ได้สะท้อนให้เห็นทิศทางของการแข่งขัน ที่สอดคล้องกับการวิเคราะห์ล่าสุดของสื่อดังจากญี่ปุ่น อย่าง Nikkei ที่พาดหัวข่าวว่า GAC และ Changan เดินหน้าลุยตลาดเอเขียตะวันออกเฉียงใต้ ในการเข้ามาเป็นคลื่นระลอกที่ 2 ของค่ายรถยนต์ไฟฟ้าจากจีน โดยเตรียมเข้ามาท้าทายผู้นำรายใหม่ ในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าของไทย อย่าง BYD ในคราวเดียวกัน BYD ก็เป็นผู้สร้างแรงบันดาลใจให้กับทั้งสองค่าย ในการตัดสินใจเข้ามาชิงส่วนแบ่ง ในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าของไทยได้ง่ายขึ้น
Guangzhou Automobile Group หรือ GAC ได้เผยโฉมรถยนต์ไฟฟ้า 5 รุ่น ภายใต้แบรนด์ AION โดยเฉพาะรุ่น Y Plus ที่มาพร้อมระบบช่วยขับขี่ใหม่ล่าสุดจากบริษัท โดยมีระยะทางการขับขี่สูงสุด 500 กิโลเมตร/ชาร์จ ในราคาที่ 970,000 บาท ซึ่งทางบริษัท ต้องการขยายตลาด และสร้างฐานการผลิตขึ้นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประเทศไทย แปซิฟิค และยุโรป จากการเปิดเผยของ กู่ฮุ่ยหนาน กรรมการผู้จัดการของ GAC AION ในขณะที่ทางฝั่งของ Changan Automobile ได้นำรถยนต์ 2 รุ่นมาเปิดตัว นั่นก็คือ Deepal L07 และ S07 ที่เรียกเสียงฮือฮาได้ทั้งงาน จากการประกาศราคาจำหน่าย ที่ถือว่ารุ่นซีดานอย่าง L07 น่าจะแข่งกับ BYD Seal และ ORA 07 ได้อย่างสูสี
สื่อญี่ปุ่นยังรายงานอีกว่า ภายในสิ้นเดือนพฤศจิกายน คาดว่าจะมีค่ายรถยนต์จากจีนราว 10 บริษัท เข้ามาลงทุนในเมืองไทย หรือมีแผนที่จะลงทุนในอนาคต เพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าตัวของปี 2022 โดยอ้างอิงจากข้อมูลที่มีการเผยแพร่จากทางฝั่งเอกชนเอง หรือหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง โดย GAC Changan และ Geely ที่ได้เข้ามาลงทุนในไทยแล้ว หรือมีแผนจะลงทุน มีความสนใจในตลาดนี้จากอัตราการเติบโตที่รวดเร็ว ของการใช้รถยนต์ไฟฟ้าในเมืองไทย โดยมีสัดส่วนของยอดขายในตลาดรถยนต์ถึง 13% ในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา โดย 90% ของรถยนต์ไฟฟ้าที่จำหน่ายในเมืองไทยเป็นแบรนด์จากค่ายรถยนต์จีน นอกจากนั้นแล้ว ยังได้แรงหนุนจากการชะลอตัวของตลาดในประเทศจีน ซึ่งใน 10 เดือนแรกของปี ยอดขายรถยนต์เพิ่มขึ้นเพียง 0.7% จากปีที่ผ่านมา และการแข่งขันในด้านราคาก็มีสูง การมองหาตลาดใหม่ๆ จึงเป็นเรื่องที่จำเป็นต้องทำ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีประชากรเชื้อสายจีนเป็นจำนวนมาก จึงเป็นตลาดที่น่าสนใจสำหรับบริษัทต่างๆเหล่านี้ โดย GAC จะเริ่มสายการผลิตในปีหน้า 2024 ส่วน Changan จะเริ่มในปี 2025 แน่นอนว่า คู่แข่งสำคัญของทั้งสองค่าย ไม่ใช่ใครที่ไหน นั่นก็คือบริษัทเพื่อนร่วมชาติอย่าง BYD นั่นเอง ซึ่งถือส่วนแบ่งในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าในเมืองไทยมากกว่าครึ่ง ในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา โดยบริษัทมีแผนในการสร้างโรงงานแรกในกลางปี 2024 และขยายเครือข่ายศูนย์บริการและโชว์รูมให้มากขึ้น
ฮิโรทากะ อูชิดะ จากบริษัทที่ปรึกษา Arthur D.Little เผยว่า หากไม่นับเมืองไทย ตอนนี้มีบริษัทรถยนต์ไฟฟ้าจีนเพียงไม่กี่แห่ง ที่ตอบโจทย์ลูกค้าในแถบนี้ ในด้านราคาและขนาดของรถ การใช้รถยนต์ไฟฟ้ายังไม่แพร่หลายเท่าที่ควร อย่างอินโดนีเซีย ยังต้องการรถเอสยูวีที่สามารถจุคนได้มาก ในขณะที่มาเลเซียยังมองหารถยนต์ขนาดเล็กมากกว่า ทำให้เป็นเรื่องยากที่จะเข้าไปเจาะตลาด หากยังไม่สามารถตอบโจทย์เหล่านี้ได้ หรืออย่างน้อย ก็ควรจะมีทางเลือกที่ BYD ยังไม่มีให้ลูกค้า
จากข้อมูลล่าสุดเหล่านี้ ดูเหมือนว่าตลาดรถยนต์ไฟฟ้าของไทย ก็น่าจะทิ้งห่างเพื่อนบ้านมากขึ้นไปอีก เพราะดูเหมือนว่า คนไทยจำนวนไม่น้อย สนใจและต้องการเป็นเจ้าของรถยนต์ไฟฟ้า หากมีโครงการที่จะซื้อรถยนต์คันต่อไป ที่น่าจับตามองตามที่สื่อดังญี่ปุ่นได้วิเคราะห์ ก็คือการเข้ามาแข่งขันของค่ายรถยนต์รายใหม่จากจีน ที่เริ่มมีการส่งสัญญาณของการแข่งขันในด้านราคามาแล้ว ซึ่งครั้งหนึ่ง ผู้บริหารระดับสูงของ BYD ก็เคยออกมาให้สัมภาษณ์ว่า สงครามราคาในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าในจีน จะยังคงมีต่อไป อีกอย่างน้อย 2-3 ปี ซึ่งหากเป็นอย่างที่พูด เราก็อาจจะเห็นการฟาดฟันกันในด้านราคาของค่ายรถยนต์จากจีนในอนาคต หรืออาจจะเริ่มเห็นตั้งแต่ตอนนี้เป็นต้นไป ซึ่งถือว่าเป็นผลดีกับลูกค้าชาวไทย และนี่อาจจะกลายเป็นทิศทางใหม่ของการแข่งขันในตลาดรถยนต์ของเมืองไทย ที่ทำให้ค่ายรถยนต์ที่ยังเน้นรถยนต์ใช้น้ำมัน อาจจะลดบทบาท หรือภาพความเป็นผู้นำลงไป แม้ว่าจะมียอดขายรถยนต์เป็นจำนวนมากก็ตาม เพราะมันหมายถึง บริษัทต่างๆเหล่านั้น กำลังพึ่งพาเทคโนโลยีแบบดั้งเดิมที่ไม่มีที่ว่างให้มากนักในอนาคตอันใกล้ บางที งานแสดงรถยนต์ในครั้งนี้ อาจจะถือว่าเป็นการเริ่มต้นของยุคทองของรถยนต์ไฟฟ้าในเมืองไทยก็ว่าได้ ซึ่งต้องมาลุ้นกันอีกทีหลังจบงาน