ส่ออวสานค่ายญี่ปุ่น? BYD นำโด่ง ยอดจอง Motor Expo 2023 ค่ายจีนพาเหรดติด Top 10

ยอดจองรถยนต์ในแต่ละวัน ของงานมหกรรมยานยนต์ ครั้งที่ 40 หรือ Motor Expo 2023 ถือว่าสะท้อนการแข่งขันในธุรกิจยานยนต์ของไทย ได้อย่างน่าสนใจที่สุด ตั้งแต่ที่เคยจัดงานขึ้นมาก็ว่าได้ เพราะไม่ใช่เพียงแค่มีการแข่งขันที่สูสี ผลัดกันแพ้ผลัดกันชนะเท่านั้น แต่มันเป็นการแข่งขันระหว่าง 2 ค่ายรถยนต์จากสองชาติ ซึ่งก็คือ ญี่ปุ่น ผู้ครองตลาดในเมืองไทย มาเป็นเวลาหลายสิบปี และจีน ผู้ท้าทายคนใหม่ ที่กำลังเข้ามาสร้างการเปลี่ยนแปลง ที่สำคัญกว่านั้น มันคือการแย่งชิงตลาดระหว่าง 2 เทคโนโลยีขับเคลื่อน ซึ่งก็คือ รถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์สันดาปภายใน และรถยนต์ไฟฟ้า ที่มีการฟาดฟันกันอย่างเข้มข้น ชนิดที่เราไม่เคยเห็นกันมาก่อน และเกิดขึ้นเร็วกว่าที่หลายคนจะคาดคิด เนื่องจากผู้เล่นรายใหม่จากจีนส่วนใหญ่ เพิ่งเปิดตัวในตลาดเมืองไทยได้ไม่นาน การแข่งขันในการทำยอดจอง ในงาน Motor Expo 2023 ครั้งนี้ ได้แสดงให้เห็นการเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง ที่จะกิดขึ้นกับตลาดรถยนต์ในเมืองไทย ที่จะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป

ล่าสุด มีเรื่องเซอร์ไพรซ์ในงาน Motor Expo 2023 อีกครั้ง เมื่อ BYD สามารถขึ้นมาเป็นอันดับ 1 ของงาน ในด้านยอดจองรถยนต์ ที่ 2,530 คัน แซงหน้า TOYOTA ที่ตกลงมาเป็นอันดับ 2 ซึ่งทำได้ที่ 2,245 คัน ทิ้งห่างกันถึง 285 คัน สำหรับยอดจองใน 6 วันที่ผ่านมา โดยมี Honda ตามมาไม่ห่างมาก ที่ 1,882 คน ที่น่าสนใจก็คือ อันดับ 4 5 6 7 และ 10 ล้วนแต่เป็นค่ายรถยนต์จากจีน ทำให้ใน 10 อันดับแรก มีค่ายรถยนต์จากจีนแทรกเข้ามามากถึง 6 ราย ทำยอดจองรวม 7,754 คัน คิดเป็น 57.9% ของยอดจองรวมทั้ง 10 ค่าย ซึ่งอยู่ที่ 13,391 คัน ในขณะที่ยอดจองรวมทั้งหมดทุกค่าย ใน 6 วันที่ผ่านมา อยู่ที่ 17,079 คัน ซึ่งถ้ารวมค่ายรถยนต์แบรนด์จีนอีกค่ายหนึ่ง อย่าง Wuling ซึ่งทำได้ที่ 88 คัน จะทำให้ยอดจองรถยนต์จีน รวมเป็น 7,842 คัน คิดเป็น 45.9% ของยอดจองทั้งหมด หรือเกือบครึ่งของงานเลยทีเดียว ข้อมูลล่าสุดนี้ มีนัยยะสำคัญที่น่าสนใจ 5 ข้อดังต่อไปนี้

  1. รถยนต์ไฟฟ้าได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดด จากเดิมที่มีการเติบโตที่รวดเร็วอยู่แล้ว แต่ภาพที่ออกมาล่าสุด เห็นได้ชัดเจนมากกว่าเดิม เพราะเริ่มมีตัวเลือกที่เป็นรถยนต์ไฟฟ้าจากจีน เข้ามาจำหน่ายมากขึ้นกว่าที่ผ่านมา โดยเฉพาะการเข้ามาของ 2 ค่ายล่าสุด อย่าง GAC Aion และ Changan ในขณะที่ผู้เล่นจากจีนรายเดิม มีความพร้อมในการแข่งขันมากขึ้น หลังจากที่ได้ปรับตัวเข้ากับตลาดเมืองไทย ในเรื่องของการส่งมอบรถยนต์ การขยายศูนย์บริการและโชว์รูม การเข้าใจพฤติกรรม และกำลังซื้อของลูกค้าในตลาด โดยเฉพาะ BYD ที่ทำยอดขายแบบโตวันโตคืน
  2. การแข่งขันระหว่างรถยนต์ไฟฟ้า และรถยนต์ใช้น้ำมัน จะทวีความรุนแรงมากขึ้นไปอีก อย่าลืมว่า นี่เป็นเพียงแค่การเริ่มต้น เพราะค่ายรถยนต์ยักษ์ใหญ่อย่าง BYD Changan และ GAC Aion เพิ่งเข้ามาทำธุรกิจในเมืองไทยได้ไม่นาน แต่สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับตลาด ได้อย่างมหาศาล และอาจจะมีค่ายใหญ่อย่าง Geely ที่มีข่าวว่า สนใจในการเข้ามาลงทุนในเมืองไทยด้วยเช่นกัน นั่นทำให้ค่ายรถยนต์จีน ที่เน้นทำตลาดรถยนต์ไฟฟ้าเป็นหลัก กับค่ายรถยนต์ญี่ปุ่น มีสัดส่วนที่ใกล้เคียงกันมากขึ้น เสมือนเป็นการแข่งขันกัน ระหว่างเทคโนโลยีเก่าและใหม่ ในขณะที่ค่ายรถยนต์จากญี่ปุ่นเอง ก็พยายามปรับตัว ด้วยการเร่งทำตลาดรถยนต์ไฟฟ้าให้เร็วขึ้น นั่นทำให้ตลาดรถยนต์ของไทย กำลังจะกลายเป็นตลาดของรถยนต์ไฟฟ้าในอนาคตอันใกล้
  3. สืบเนื่องมาจากข้อ 2 คนไทยอาจจะเริ่มได้เห็นสงครามราคา ระหว่างค่ายรถยนต์จากจีนด้วยกันเอง หลังจากที่ไม่กี่ปีที่ผ่านมา เมืองไทยมีผู้เล่นในตลาดรถยนต์ไฟฟ้า เพียงไม่กี่รายเท่านั้น ซึ่งมีผู้เล่นหลัก ก็คือ MG และ Great Wall Motor แต่ต่อมา ตลาดรถยนต์ของไทย ได้ต้อนรับ BYD ที่ถือว่าเป็นผู้นำในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าของโลก หลายอย่างจึงเปลี่ยนไปจากเดิม ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยีแบตเตอรี่ที่แตกต่าง ดีไซน์ หรือแม้แต่ราคาจำหน่าย ทำให้ผู้ซื้อมีทางเลือกมากขึ้น นั่นทำให้ค่ายที่ทำตลาดมาก่อน เริ่มมีการปรับราคาสินค้าของตัวเอง ซึ่งถือว่าเป็นกลไกตลาดปกติทั่วไป พอมีค่ายใหม่ๆจากจีนเข้ามาเพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะเป็น NETA GAC Aion Changan หรือแม้แต่ Wuling ที่มีตัวแทนนำเข้า การแข่งขันจึงทวีความรุนแรงมากขึ้น และเริ่มมีการลดราคา ในแบบที่ไม่ต้องรอลุ้นกันนาน อย่างที่เราได้เห็นไปแล้ว จากการลดราคาลงของค่ายใหม่อย่าง Aion หรือแม้แต่การทำราคาให้แข่งขันได้ในตลาด อย่าง Deepal ทั้งสองรุ่น เรียกว่าไม่ต้องกลัวเสียเชิงกัน ตราบใดที่สามารถสร้างยอดขายได้เพิ่มขึ้น เพราะอย่าลืมว่า ราคาของรถยนต์รุ่นเดียวกันในประเทศจีน ยังถือว่าต่ำกว่าที่จำหน่ายไทยพอสมควร และภาษีนำเข้าจากจีนมาไทย ก็เป็นศูนย์ ที่น่าสนใจก็คือ ในประเทศจีนเอง ก็เริ่มมีการทำสงครามราคากันได้พักใหญ่ ซึ่งดูเหมือนจะเป็นกลยุทธ์หลัก ในการทำตลาดของค่ายรถยนต์จากจีนไปแล้ว นั่นทำให้ค่ายรถยนต์จีนที่ไม่ใหญ่มาก หรือเพิ่งเริ่มต้นธุรกิจ ล้มหายตายจากไปเป็นจำนวนมาก เหมือนเป็นการกำจัดคู่แข่งรายย่อยไปในตัว และเชื่อว่า กลยุทธ์ในการแข่งขันด้านราคา จะถูกส่งต่อมาใช้ในเมืองไทยด้วยเข่นกัน
  4. คนไทยไม่ยืดติดแบรนด์ หรือค่ายรถยนต์อีกต่อไป ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดเรื่องนี้ขึ้นมา ก็เพราะตลาดมีทางเลือกที่จำกัด หากลูกค้าสนใจที่จะซื้อรถยนต์ไฟฟ้า นั่นก็คือ การมีค่ายรถยนต์จีนเพียงกลุ่มเดียวในตลาดแมส ไม่รวมค่ายรถยนต์จากยุโรปในตลาดรถหรู ที่มีราคาสูง และถือว่ายังใหม่กับเทคโนโลยีชนิดนี้ อีกทั้งการรับรู้ข่าวสารของลูกค้าก็มีอยู่ก่อนแล้ว และทราบกันว่า ค่ายรถยนต์จีน เป็นผู้นำระดับโลก ในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าและเทคโนโลยีแบตเตอรี่ ทำให้การยอมรับ ที่จะใช้รถยนต์ไฟฟ้าจากจีน เกิดขึ้นได้ไม่ยาก หลายคนอาจจะมองไปมากกว่านั้นด้วยซ้ำว่า ความล้ำสมัยของรถยนต์ไฟฟ้า สามารถทดแทนความหรูหราของรถยนต์ที่ขับได้ด้วย เพราะมันหมายถึง การที่เรากำลังใช้เทคโนโลยีในอนาคต แถมรถยนต์จากจีน ก็มาพร้อมดีไซน์ที่ทันสมัย และเทคโนโลยีล่าสุด หลายรุ่นดูเหมือนรถสปอร์ต เรียกว่า ไม่มีกั๊กในเรื่องของดีไซน์ ที่ค่ายรถยนต์สัญชาติอื่นๆ มักจะสงวนไว้ ให้กับรถยนต์ที่มีราคาสูงขึ้นไปเท่านั้น นั่นจึงทำให้คนไทย กล้าที่จะเสี่ยงกับทางเลือกใหม่ มากกว่าที่เราเคยเห็นในอดีต ซึ่งตรงจุดนี้ ส่งผลกระทบกับค่ายรถยนต์หรู อย่าง Mercedes-Benz และ BMW ด้วยเช่นกัน ตราบใดที่ตลาดมองว่า ค่ายรถยนต์จากยุโรป ยังไม่ได้มีอะไรที่เหนือกว่า ในด้านเทคโนโลยีรถยนต์ไฟฟ้า
  5. ค่ายรถยนต์ญี่ปุ่น กำลังเดินทางมาถึงจุดเปลี่ยนครั้งใหญ่ในเมืองไทย หากไม่มีผู้ซื้อ บริษัทย่อมเดินต่อไม่ได้ เรื่องนี้ไม่ได้พูดเกินจริง ถึงแม้ว่าคนไทยส่วนใหญ่ มีทัศนคติที่เป็นบวกกับสินค้าญี่ปุ่น และพยายามเอาใจช่วยมาโดยตลอด แต่เมื่อจะต้องจ่ายเงินก้อนใหญ่ ผู้ซื้อก็ต้องกลับมาใช้เหตุและผลในการตัดสินใจ ซึ่งปัจจัยสำคัญในการพิจารณา ก็คงหนีไม่พ้นเรื่องของราคา เทคโนโลยีที่ใช้ ดีไซน์ และบริการหลังการขาย ซึ่งค่ายรถยนต์จากจีน ทำได้ดีกว่าอย่างเห็นได้ชัด ยกเว้นในเรื่องของบริการหลังจากขาย ที่ต้องใช้เวลาในการพิสูจน์ สำหรับบางค่าย อย่างไรก็ตาม หลายค่ายญี่ปุ่น ยังสามารถซื้อเวลาได้ต่อไป จากความแข็งแกร่งทางการเงิน และการทำตลาด ที่อาจจะต้องลงมาเน้นในการแข่งขันด้านราคามากขึ้น บางตลาดอย่างรถกระบะขนาดหนึ่งตัน ยังถือว่าไปต่อได้สำหรับเมืองไทย และยังไม่ได้รับผลกระทบในตอนนี้ เพราะไม่มีทางเลือกที่เป็นรถกระบะไฟฟ้าจากจีน โชคร้ายตรงที่ตลาดนี้ในเมืองไทย กำลังหดตัวอย่างมาก จากหนี้เสีย ทำให้สถาบันการเงิน เข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อ ซึ่งแน่นอนว่า ส่งผลต่อรายได้ของบริษัท ทำให้ 2 เจ้าตลาดอย่าง Isuzu และ Toyota ได้รับผลกระทบไปไม่น้อย โดยเฉพาะรายหลัง ที่กำลังสูญเสียตลาดรถยนต์นั่ง ให้กับค่ายรถยนต์จีน ในขณะที่ตลาดรถกระบะขนาด 1 ตัน ก็ถูกคู่แข่งตลอดกาลอย่าง ISUZU เข้ามาครองตลาดในฐานะอันดับ 1 แทน ในช่วงหลายปีหลัง แถมในปีนี้ ตลาดก็หดตัวลงอย่างหนักอีก ถือว่าเป็นค่ายญี่ปุ่น ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดในระยะกลาง และระยะยาวก็ว่าได้ แม้ว่าผลประกอบการ ยังเป็นบวกอยู่ในตอนนี้ แต่ทุกอย่าง สามารถกลับตาลปัตรไปได้ หากค่ายรถยนต์จากจีน พร้อมใจกันทำตลาดดุดันกว่าเดิม โดยเฉพาะสงครามราคา ที่จะส่งผลกระทบโดยตรง กับทุกค่ายที่เหลือในตลาด

และนั่นก็คือ การเปลี่ยนแปลงสำคัญที่เกิดขึ้น หรือกำลังจะเกิดขึ้น ในอุตสาหกรรมยานยนต์ของไทย ที่เรียกว่า มาถึงจุดเปลี่ยนสำคัญที่สุด ในรอบหลายสิบปีที่ผ่านมา ซึ่งเกิดจากจุดเริ่มต้นเล็กๆที่ไม่มีใครสนใจในอดีต นั่นก็คือ การทำข้อตกลงทางการค้าเสรีกับจีน ที่ทำให้ภาษีนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้าเป็นศูนย์ ในขณะที่ตลาดอื่น ยังต้องเสียภาษีในอัตราที่สูงกว่ามาก ส่งผลให้เจ้าตลาดรถยนต์ไฟฟ้าของโลกในอดีต อย่าง Nissan ไม่สามารถแจ้งเกิดได้ในเมืองไทย จนสถานการณ์พลิกผัน หลังจากที่จีน ขยับขึ้นมาเป็นผู้นำของโลกในด้านยานยนต์ไฟฟ้า ชนิดที่แทบไม่เปิดโอกาสให้คู่แข่งจากชาติอื่นๆ ตามได้ทัน ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม ในมุมมองของผู้ซื้อ การแข่งขันที่้มากขึ้น ย่อมทำให้ผู้ซื้อ ได้รับผลประโยชน์โดยตรง แต่การแข่งขันในครั้งนี้ อาจจะทำให้หลายค่ายรถยนต์ เปลี่ยนสถานะในเมืองไทยไปตลาดกาล จากการเป็นผู้นำ กลายมาเป็นผู้ตามครั้งแรกในรอบหลายสิบปีก็เป็นไปได้ และไม่มีใครทราบได้เลยว่า บริษัทเหล่านี้ จะได้รับผลกระทบในระยะยาว มากน้อยแค่ไหน ตราบใดที่ยังไม่สามารถกลับมาเป็นผู้นำ ในด้านเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้าในระดับโลกได้