สถานการณ์ล่าสุด TOYOTA-ISUZU น่าเป็นห่วง งานนี้อาจจะต้องพักรบ สู้ศึกรถกระบะปิกอัพไฟฟ้า

การเตรียมทุ่มเงินในประเทศไทย อีก 150,000 ล้านบาท ในอีก 5 ปีข้างหน้า โดยค่ายรถยนต์ชั้นนำจากญี่ปุ่น ทั้ง Toyota Honda ที่ลงทุนด้วยจำนวนเงินเท่ากัน ที่้ 50,000 ล้านบาท Isuzu ที่ 30,000 ล้านบาท และ Mitsubishi ที่ 20,000 ล้านบาท น่าจะเป็นท่าทีที่ชัดเจนที่สุด ต่อการรุกเข้ามาในตลาดเมืองไทยของรถยนต์ไฟฟ้า ที่ส่วนใหญ่ มาจากค่ายรถยนต์จีน ซึ่งที่ผ่านมา ได้แสดงผลงานให้เห็นได้อย่างชัดเจน โดยเฉพาะในงาน Motor Expo ที่ผ่านมา ทำให้ค่ายรถยนต์ชั้นนำจากญี่ปุ่น ไม่อาจจะนิ่งเฉยอยู่ได้ เพราะนอกจากตลาดรถยนต์นั่ง ที่มีการขยายตัวสวนทางเศรษฐกิจแล้ว ตลาดรถกระบะ Pure Pickup ยังมีการหดตัวมากที่สุด ในรอบหลายปีที่ผ่านมา จากการเข้มงวด ในการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงิน อันเนื่องมาจากภาวะหนี้เสียพุ่งสูงในตลาด นั่นหมายความว่า หากค่ายรถยนต์ญี่ปุ่นเหล่านี้ ยังไม่สามารถทำอะไรกับการเข้ามาของรถยนต์ไฟฟ้าจากจีน ในไม่กี่ปีข้างหน้า ตลาดรถยนต์ที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคอาเซียนแห่งหนึ่งอย่างไทย ก็อาจจะกลายเป็นตลาดหลัก ของรถยนต์ไฟฟ้าจากจีนไปในที่สุด รวมถึงตลาดรถกระบะปิกอัพด้วย นั่นจึงเป็นที่มา ของข่าวที่ออกมาด้วยว่า เงินลงทุนก้อนใหม่ จะเป็นการลงทุน ที่รวมถึงการพัฒนารถกระบะไฟฟ้าอยู่ด้วย แต่ว่าจะทันการณ์หรือไม่ หากค่ายรถยนต์จีน โดยเฉพาะ BYD หรือค่ายรถยนต์จีนอื่นๆ ตัดสินใจแนะนำรถกระบะไฟฟ้าสู่เมืองไทยก่อน ทำให้ในปีหน้า 2024 เป็นต้นไป คนในวงการรถกระบะปิกอัพของเมืองไทย ไม่ควรจะพลาด ในการจับตาดูการแข่งขันในตลาดนี้

อย่างไรก็ตาม เมื่อมองจากสถานการณ์ในปัจจุบัน TOYOTA ยังเป็นเจ้าตลาดด้วยการจำหน่ายรถยนต์มากมายหลายรุ่น ในขณะที่ ISUZU ก็ยังเป็นเบอร์ 1 ในตลาดรถกระบะ ซึ่งจากการที่ตลาดรถยนต์ประเภทนี้ มีสัดส่วนราวครึ่งหนึ่งของทั้งตลาด ทำให้ทั้ง TOYOTA และ ISUZU ยังพอมีเวลาในการปรับตัวอยู่บ้าง ก่อนที่อะไรๆอาจจะพลิกโผไปจากเดิมในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า เพราะตลาดรถยนต์ไฟฟ้าในเมืองไทย มีการเติบโตที่รวดเร็วกว่าที่หลายคนคาดการณ์เอาไว้ และสถานการณ์ล่าสุด ดูเหมือน 3 ใน 4 บริษัทรถยนต์จากญี่ปุ่นที่เตรียมลงทุนเพิ่ม นั่นก็คือ ISUZU TOYOTA และ MITSUBISHI ต้องเจอกับความยากลำบากมากขึ้น เพราะสถานการณ์ตลาดรถกระบะ pure pickup ยังไม่มีท่าทีว่าจะดีขึ้น และดูเหมือนว่าเลวร้ายลงไปอีก

จากรายงานสถิติการขายรถยนต์ประจำเดือนพฤศจิกายน 2566 โดย บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด ยอดขายรวมอยู่ที่ 61,621 คัน โดยตลาดรถยนต์นั่ง เติบโตอย่างต่อเนื่องที่ 21.2% ด้วยยอดขาย 24,567 คัน โดยอีโคคาร์เป็นเพียงเซกเมนท์เดียวที่มีการเจริญเติบโต ที่ 32.2% ด้วยยอดขาย 18,783 คัน ในขณะที่ตลาดรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ ชะลอตัวต่อเนื่อง ที่ 22.8% ด้วยยอดขาย 37,054 คัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ตลาดรถกระบะขนาด 1 ตัน หดตัวถึง 39.1% ด้วยยอดขาย 22,104 คัน ปัจจัยหลักเป็นผลมาจากสภาพเศรษฐกิจ ที่ยังไม่เติบโตได้ตามที่คาดการณ์ ความมั่นใจผู้บริโภคยังไม่ฟื้นตัว โดยมีอุปสรรคสำคัญ คือความเข้มงวดของสถาบันการเงิน ในการปล่อยสินเชื่อ อันเป็นผลมาจากความกังวล ต่อความสามารถในการผ่อนชำระของผู้รับสินเชื่อ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในตลาดรถเพื่อการพาณิชย์ และตลาดรถกระบะขนาด 1 ตัน

ตลาดรถยนต์ธันวาคม มีความหวังฟื้นตัวขึ้นตามฤดูกาลขาย “High season” โดยมีความหวังสำคัญ คือแคมเปญกระตุ้นตลาดช่วงสุดท้ายของปี ในงาน มอเตอร์เอ็กซ์โป 2023 ซึ่งสามารถกวาดยอดจองรถทุกยี่ห้อในงาน ตลอด 14 วัน ได้ถึง 53,248 คัน เติบโตขึ้นถึง 45.17% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ซึ่งต้องติดตามต่อไปว่ายอดจองเหล่านี้ จะมาผลักดันตลาดรถยนต์เดือนธันวาคม ให้เติบโตขึ้นได้มากน้อยเพียงใด

ตลาดรถกระบะ Pure Pick up ประจำเดือนพฤจิกายน 2566
มีปริมาณการขาย 17,853 คัน ลดลง 38.8% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา

อันดับ 1 ISUZU D-MAX 7,877 คัน ลดลง 38.3% ส่วนแบ่งตลาด 44.1%
อันดับ 2 TOYOTA HILUX REVO 7,122 คัน ลดลง 36.2% ส่วนแบ่งตลาด 39.9%
อันดับ 3 FORD RANGER 1,479 คัน ลดลง 56.8% ส่วนแบ่งตลาด 8.3%
อันดับ 4 MITSUBISHI TRITON 906 คัน ลดลง 34.5% ส่วนแบ่งตลาด 5.1%
อันดับ 5 NISSAN NAVARA 374 คัน เพิ่มขึ้น 74.8% ส่วนแบ่งตลาด 2.1%
อันดับ 6 MG EXTENDER 71 คัน ลดลง 13.4% ส่วนแบ่งตลาด 0.4%
อันดับ 7 MAZDA BT-50 24 คัน ลดลง 82.4% ส่วนแบ่งตลาด 0.1%

เป็นอีก 1 เดือนสำหรับ ISUZU D-MAX ที่สามารถทำส่วนแบ่งตลาดมากที่สุด เกือบครึ่งหนึ่งของทั้งตลาด และนำห่าง TOYOTA HILUX REVO ถึง 700 กว่าคัน แน่นอนว่า D-MAX รุ่นใหม่ล่าสุด มีส่วนที่ทำให้มียอดขายนำห่าง HILUX REVO มากขึ้น อย่างไรก็ตาม ในเดือนสุดท้ายของปี อันดับอาจจะมีโอกาสสลับกันได้ จากยอดขายของ HILUX CHAMP ที่ Toyota ส่งเข้ามาแก้เกมในด้านยอดขายในช่วงปลายเจนเนอเรชั่น ที่ตั้งเป้าเอาไว้ที่ 1,500 คันต่อเดือน ซึ่งก็ต้องมาลุ้นกันว่า ในความเป็นจริง TOYOTA จะทำได้ตามเป้าหรือไม่ เพราะตอนนี้กำลังซื้อในตลาดมีแนวโน้มลดลง ทำให้สถาบันการเงินเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น ในส่วนของอันดับ 3 และ 4 Ford Ranger ที่มีความสดน้อยกว่า กลับยังรักษาระดับยอดขายได้ดีกว่ารถกระบะเจนเนอเรชั่นใหม่ อย่าง Mitsubishi Triton ที่มียอดขายน้อยกว่าเกือบเท่าตัว งานนี้จึงเป็นการบ้านข้อใหญ่ของ Mitsubishi ที่เป็นหนึ่งในกลุ่ม 4 บริษัท ที่เตรียมทุ่มเงินอีก 20,000 ล้านบาท เพื่อพัฒนารถยนต์นั่งและรถกระบะไฟฟ้าในเมืองไทย Nissan Navara เป็นรุ่นเดียวที่ทำยอดขายได้มากกว่าช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน ถึงเกือบ 75% ซึ่งยอดขายที่เพิ่มขึ้น อาจจะมาจากยอดขาย NAVARA ให้กับกรมการขนส่งทางบก จำนวน 81 คัน ที่เพิ่งทำการส่งมอบไปเมื่อไม่กี่วันก่อน ส่วน MG Extender ยอดขายยังน้อยมากเหมือนเดิม ที่คงไม่น่าจะทำได้ดีไปกว่านี้ รถกระบะไฟฟ้า จึงอาจจะเป็นตัวเปลี่ยนเกมได้ เพราะดูแล้ว หากยังใช้ระบบขับเคลื่อนเดิมที่เป็นเครื่องยนต์สันดาปภายใน โอกาสที่จะทำยอดขายเป็นกอบเป็นกำ คงจะไม่มี หากดีไซน์ ราคา และสมรรถนะ ไม่โดนใจตลาดจริงๆ ส่วน MAZDA BT-50 ทำได้ไม่ดีเหมือนตลาดอื่นอย่างออสเตรเลีย แต่ด้วยการที่ให้ ISUZU ทำการผลิตให้ MAZDA ก็อาจจะพอใจในยอดขายระดับนี้

ตลาดรถกระบะ Pure Pick up ใน 11 เดือนแรกของปี 2566
มีปริมาณการขาย 245,195 คัน ลดลง 30.5% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา

อันดับ 1 ISUZU D-MAX 107,729 คัน ลดลง 33.3% ส่วนแบ่งตลาด 43.9%
อันดับ 2 TOYOTA HILUX REVO 97,757 คัน ลดลง 26.4% ส่วนแบ่งตลาด 39.9%
อันดับ 3 FORD RANGER 22,673 คัน ลดลง 24.0% ส่วนแบ่งตลาด 9.2%
อันดับ 4 MITSUBISHI TRITON 12,149 คัน ลดลง 38.7% ส่วนแบ่งตลาด 5.0%
อันดับ 5 NISSAN NAVARA 3,201 คัน ลดลง 36.0% ส่วนแบ่งตลาด 1.3%
อันดับ 6 MG EXTENDER 882 คัน ลดลง 63.6% ส่วนแบ่งตลาด 0.4%
อันดับ 7 MAZDA BT-50 804 คัน ลดลง 41.7% ส่วนแบ่งตลาด 0.3%

ผ่านไป 11 เดือน ISUZU D-MAX นำห่าง TOYOTA HILUX REVO เกือบ 1 หมื่นคัน ครองส่วนแบ่งเกือบครึ่งหนึ่งของตลาด คือราว 44% เรียกว่าคงไม่มีปาฏิหารย์สำหรับ TOYOTA ในเดือนสุดท้าย เพราะยอดขายของ HILUX CHAMP เพียงเดือนเดียว ก็คงไม่พอทำให้แซงไปได้ แชมป์ 4 ปีติดต่อกัน คงหนีไม่พ้น ISUZU แต่สำหรับปีหน้า ต้องดูว่า ISUZU จะลงมาแก้เกมของ HILUX CHAMP หรือไม่ ในขณะเดียวกัน ก็มีปัญหาอื่นๆให้คิด นั่นก็คือ ตลาดที่หดตัวลงของรถกระบะปิกอัพ ที่อาจจะยืดเยื้อไปถึงปีหน้า และต้องลุ้นอีกว่า จะมีผู้เล่นรายใหม่เข้ามาในตลาดหรือไม่ โดยเฉพาะรถกระบะไฟฟ้า ซึ่งโดยปกติแล้ว ISUZU มักจะรอให้คู่แข่งเปิดตัวทำตลาดไปก่อน แต่กลยุทธ์ที่ว่า อาจจะสายเกินไป หากไม่เริ่มนับ 1 ในตอนนี้ ฉะนั้นในปี 2024 เราอาจจะได้เห็นการเปลี่ยนแปลงอะไรหลายๆอย่าง เกิดขึ้นในตลาดนี้ หรืออย่างช้าก็น่าจะเป็นปี 2025 แต่สิ่งที่เราได้เห็นแล้วในตอนนี้ ก็คือการเปลี่ยนบทบาทจากคู่แข่ง มาเป็นพันธมิตรกันมากขึ้นของ 2 เจ้าตลาด ถึงแม้ว่าในต่างประเทศ ทั้งสองจะมีความใกล้ชิดกันในเชิงธุรกิจอยู่แล้วก็ตาม แต่ในเมืองไทย ต้องบอกว่าแตกต่าง และมีการแข่งขันกันอย่างรุนแรง ไม่มีใครยอมใคร อย่างไรก็ตาม แม้ว่าเงินทุน ไม่ใช่ปัญหาสำหรับค่ายรถยนต์ญี่ปุ่น แต่เงินอาจจะไม่ได้ช่วยซื้อเวลาในการย่นระยะเวลาในการพัฒนาแบยตเตอรี่ที่ทันสมัยสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าได้ ซึ่งนั่นก็คือปัญหาที่ค่ายรถยนต์จากญี่ปุ่น กำลังเผชิญอยู่ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดก็คือ TOYOTA bZ3 ซีดานไฟฟ้าที่ทำตลาดในประเทศจีน ที่ TOYOTA ไม่ได้รู้สึกภูมิใจหรืออยากนำเสนอรถยนต์รุ่นนี้เท่าใดนัก เพราะแบตเตอรี่ที่ใช้ นำมาจาก BYD ที่เป็นคู่แข่งอันดับ 1 ในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าของทุกค่ายก็ว่าได้ รถกระบะไฟฟ้า จึงเป็นความหวังของค่ายรถยนต์จากญี่ปุ่น ที่อาจจะเข้ามาเปลี่ยนสถานการณ์ทุกอย่างให้ดีขึ้น เพราะรถเพื่อการพาณิชย์มีปัจจัยอื่นๆสำหรับลูกค้าที่ต้องพิจารณาก่อนการซื้อ เช่น การบริการหลังการขาย ราคาขายต่อ ซึ่งทั้ง TOYOTA และ ISUZU ก็ทำได้ดีมาโดยตลอด นั่นทำให้ทั้งสองบริษัท น่าจะหันมาเป็นพันธมิตรกันในอนาคตอันใกล้ เพราะสมรภูมิการแข่งขันในตลาดนี้ กำลังจะเปลี่ยนไป