ISUZU จับมือ TOYOTA เตรียมผลิตรถพลังงานไฮโดรเจนฟิวเซลล์ ขายในราคารถยนต์ไฟฟ้า

รถพลังงานไฮโดรเจน คืออีกหนึ่งตลาด ที่ค่ายรถยนต์จากญี่ปุ่นให้ความสนใจมานาน และเคยเชื่อว่า มันคือที่สุดของรถพลังงานใหม่ ที่ล้ำหน้ากว่ารถยนต์ไฟฟ้า นั่นจึงเป็นส่วนหนึ่ง ที่ทำให้ค่ายรถยนต์จากญี่ปุ่นอย่าง Toyota ชะล่าใจ โดยเน้นไปที่การทำตลาดรถยนต์ไฮบริด แทนที่จะเป็นรถยนต์ไฟฟ้า เพียงเพราะว่า จะสามารถทำตลาดรถไฮบริดไปได้เรื่อยๆ จนถึงจุดที่รถพลังงานไฮโดรเจน สามารถผลิตออกมาจำหน่ายในเชิงพาณิชย์ได้ อย่างไรก็ตาม การเข้ามาบุกตลาดของรถยนต์ไฟฟ้า โดยเฉพาะผู้เล่นจากจีน ทำให้หลายค่ายรถยนต์จากญี่ปุ่น ต้องปรับตัวกันอย่างขนานใหญ่ รวมถึงการพยายามทำราคารถยนต์ของตัวเอง ให้สามารถทำการแข่งขันได้ แม้ว่ารถพลังงานไฮโดรเจน ที่ถือว่ายังไม่ได้แจ้งเกิดในตลาด แต่จากรายงานข่าวล่าสุด ลูกค้าอาจจะได้ใช้รถยนต์พลังงานใหม่ชนิดนี้ ในราคาใกล้เคียงกับรถยนต์ไฟฟ้าในอนาคต เมื่อสื่อดังของญี่ปุ่น Nikkei ได้รายงานว่า Toyota และ Isuzu จับมือกัน เตรียมผลิตรถบรรทุกขนาดเล็กพลังไฮโดรเจนออกมาจำหน่าย ในราคาที่ใกล้เคียงกับรถที่ใช้ระบบขับเคลื่อนไฟฟ้าแบตเตอรี่ ที่กำลังได้รับความนิยมสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องจากตลาด

Isuzu Motors เตรียมผลิตรถบรรทุกพลังไฮโดรเจนฟิวเซลล์ขนาดเล็ก ที่ร่วมพัฒนากับ Toyota ภายในครึ่งหลังของทศวรรษนี้ หรือในช่วงปี 2026-2030 โดยตั้งใจจะทำราคา ให้อยู่ในระดับเดียวกันกับรถยนต์ไฟฟ้า เพื่อสร้างการยอมรับให้เกิดขึ้นในตลาด โดยในส่วนของตัวรถ จะพัฒนาขึ้นโดย Isuzu ในขณะที่เทคโนโลยีไฮโดรเจนฟิวเซลล์ จะมาจาก Toyota แต่โรงงานที่จะใช้ในการผลิตรถยนต์พลังงานใหม่นี้ ยังไม่ได้ข้อสรุปที่ชัดเจน

นับตั้งแต่ปี 2022 เป็นต้นมา รถต้นแบบที่ถูกออกแบบโดย Commercial Japan Partnership Technologies (CJPT) บริษัทที่ร่วมก่อตั้งขึ้นมาโดย Toyota Isuzu และพันธมิตร ได้ถูกผลิตขึ้นที่โรงงานของ Isuzu ในเมืองคานากาวะ ใกล้กับกรุงโตเกียว โดยในปัจจุบัน ราคารถบรรทุกขนาดเล็กที่ใช้เครื่องยนต์เบนซิน จะอยู่ที่ราว 6 ล้านเยน หรือ 1,450,000 บาท ซึ่ง Isuzu ตั้งใจว่า จะทำราคารถพลังงานไฮโดรเจน ให้ได้ใกล้เคียงกับรถบรรทุกไฟฟ้า ที่ตอนนี้ มีราคาอยู่ที่ราว 12 ล้านเยน หรือเกือบ 3 ล้านบาท โดยราคาอาจจะลดลงได้อีก หากมีการปรับปรุงกระบวนการผลิตให้ดีขึ้น Isuzu ยังร่วมมือกับ Toyota ในการพัฒนารถโดยสารพลังไฮโดรเจนฟิวเซลล์อีกด้วย

การใช้รถยนต์ไฟฟ้า เกิดขึ้นอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน แต่ข้อเสียของรถยนต์ประเภทนี้ ก็ยังมีอยู่ นั่นก็คือ หากมีการเพิ่มความจุแบตเตอรี่ เพื่อให้รถสามารถวิ่งได้ระยะทางที่ไกลขึ้น น้ำหนักของรถ ก็จะต้องเพิ่มขึ้นอีกมาก นอกจากนั้น พื้นที่ใช้สอยก็จะลดลง เพราะขนาดแบตเตอรี่ที่ใหญ่ขึ้น และเวลาในการชาร์จไฟ ก็เพิ่มขึ้นด้วย

CJPT ได้ทำการทดสอบรถบรรทุกพลังงานไฮโดรเจน สำหรับการขนส่งสินค้าในปีนี้ ที่จังหวัดฟูกุชิมะ ซึ่งได้มีการจัดเก็บข้อมูลและปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้น ทั้งในแง่ของแผนการขนส่ง เวลาในการเติมเชื้อเพลิง ไว้ด้วย ในประเทศญี่ปุ่น อุตสาหกรรมการขนส่ง ซึ่งรวมถึงการใช้รถยนต์นั่ง เป็นสาเหตุของการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ถึง 18% โดยการขนส่งสินค้า คิดเป็น 2 ใน 5 ส่วนของทั้งหมด ตลาดรถบรรทุกพลังงานไฮโดรเจนฟิวเซลล์ กำลังจะเป็นตลาดขนส่งสำคัญ ซึ่งบริษัทขนส่งต่างๆ ก็พยายามลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่อากาศด้วย

อย่างไรก็ตาม อุปสรรคของการใช้รถพลังงานไฮโดรเจนฟิวเซลล์ก็ยังมีอยู่ ไม่ว่าจะเป็นราคาก๊าซไฮโดรเจน และการสร้างเครือข่ายสถานีเติมก๊าซไฮโดรเจน ซึ่งหากตลาดรถพลังงานใหม่ชนิดนี้ประสบความสำเร็จ เราก็อาจจะได้เห็นการนำเทคโนโลยีชนิดเดียวกันนี้ มาใช้กับรถยนต์ขนาดเล็กต่างๆในอนาคต ซึ่งรถกระบะขนาด 1 ตัน อย่าง D-MAX และ Hilux อาจจะเป็นทางเลือกแรกๆ