Toyota ตั้ง Team Japan ต่ออายุเครื่องยนต์สันดาปฯ ร่วมกับ Mazda Subaru Kawasaki Yamaha

แม้ว่า Toyota ได้ประกาศแผนจำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้าในตระกูล bZ ออกมาแล้ว โดยจะเตรียมทำตลาดรถยนต์ไฟฟ้ารุ่นแรก อย่าง bZ4X ทั่วโลก ในช่วงกลางปี 2022 ตามมาด้วยการเปิดตัวรถยนต์ไฟฟ้าอีก 3 รุ่น โดยภายในปี 2025 Toyota มีแผนเปิดตัวรถยนต์ไฟฟ้าในตระกูล bZ รวมทั้งหมด 7 รุ่นด้วยกัน และท่าทีที่ไม่เห็นด้วย ในการมุ่งไปสู่ธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้าอย่างเต็มรูปแบบ ก็ยังมีออกมาให้เป็นระยะ ซึ่งเดาได้ไม่ยากว่า Toyota ต้องการปกป้องธุรกิจรถยนต์ ที่ใช้เครื่องยนต์สันดาปภายใน รวมถึงรถยนต์ไฮบริดของตัวเอง แต่คงไม่มีอะไรชัดเจน และเป็นรูปธรรม เหมือนกับการเคลื่อนไหวล่าสุด ที่รายงานโดยสื่อยานยนต์ชื่อดัง อย่าง Automotivenews

เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายนที่ผ่านมา 5 ค่ายยานยนต์สัญชาติญี่ปุ่น ได้แก่ Mazda Subaru Kawasaki Yamaha รวมถึงแกนนำอย่าง Toyota ได้ประกาศความร่วมมือใน ชื่อ Team Japan เพื่อสนับสนุนการใช้เครื่องยนต์สันดาปภายในต่อไป ท่ามกลางกระแสยานยนต์ไฟฟ้า ที่ได้รับความนิยมไปทั่วโลก โดยทั้ง 5 บริษัท จะหาแนวทางในการผลิตเครื่องยนต์ ที่ใช้เชื้อเพลิงที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เพื่อให้สามารถตอบโจทย์ เหมือนกับยานยนต์ที่ใช้ระบบขับเคลื่อนไฟฟ้าแบตเตอรี่

ค่ายรถยนต์ทั้ง 5 ได้ประกาศแนวทางต่างๆดังนี้

  1. เข้าร่วมรายการแข่งขันความเร็ว ที่มีการใช้เชื้อเพลิง ที่ไม่ก่อให้เกิดสารคาร์บอน
  2. ศึกษาความเป็นไปได้ ในการใช้เครื่องยนต์ไฮโดรเจน สำหรับยานยนต์ 2 ล้อ และยานยนต์ประเภทอื่นๆ
  3. นำยานยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์ไฮโดรเจน มาใช้ในการแข่งขันความเร็วต่อไป

โดย Mazda และ Toyota จะร่วมมือกันในการพัฒนาเครื่องยนต์ Skyactiv-D ความจุ 1.5 ลิตร ที่ใช้เชื้อเพลิงไบโอดีเซลเจนเนอเรชั่นใหม่ ส่วน Subaru และ Toyota จะทำงานร่วมกันในรายการแข่งรถยนต์ Super Taikyu Series ในปีหน้า ที่จะใช้เชื้อเพลิงสังเคราะห์ ที่ได้มาจากชีวมวล ในขณะที่ Yamaha และ Toyota จะนำยานยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยเครื่องยนต์ไฮโดรเจน เข้าสู่การแข่งขันความเร็วรายการต่างๆ ที่มีอยู่ในปัจจุบัน และความร่วมมือคู่สุดท้าย ก็คือ Kawasaki และ Toyota จะเป็นการศึกษาความเป็นไปได้ ในการวิจัยร่วมกันเกี่ยวกับเครื่องยนต์ไฮโดรเจน ที่จะนำไปใช้กับรถจักรยานยนต์ ซึ่งจะเห็นว่า ความร่วมมือต่างๆ จะมี Toyota เข้าร่วมในทุกโครงการ

ความเคลื่อนไหวครั้งใหญ่ของ Toyota ล่าสุดนี้ มีนัยยะสำคัญหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นความกังวลที่อาจสูญเสียตลาด จากการมาถึงของเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้า ผลกระทบกับอุตสาหกรรมการผลิตเครื่องยนต์สันดาปภายใน ที่ Toyota อยู่ในธุรกิจนี้ มาตั้งแต่ก่อตั้งบริษัท รวมถึงการผลิตระบบขับเคลื่อนไฮบริด ที่ครั้งหนึ่ง บริษัทเคยมองว่า มันจะเป็นอนาคต ที่ทำให้ Toyota เป็นผู้นำในเทคโนโลยีชนิดนี้ อีกนานหลายสิบปี แต่ทุกอย่างดูเหมือนว่า จะจบลงเร็วกว่าที่บริษัทเคยคาดการณ์เอาไว้มาก ฉะนั้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลก ที่เราจะได้เห็นท่าทีที่ย้อนแย้งของ Toyota ที่มีต่อธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้า ในรอบ 2-3 ปีที่ผ่านมา ซึ่งผู้บริหารสูงสุดของบริษัท ได้แสดงท่าทีที่ไม่เห็นด้วย แต่ในอีกด้านหนึ่ง Toyota ก็ลงทุนอย่างหนัก ในการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้า รวมถึงการมีแผนเปิดต้วรถยนต์ไฟฟ้าหลายรุ่น ตามที่ได้เกริ่นไปข้างต้น จึงเป็นเรื่องที่น่าจับตามองต่อไปว่า ในอีก 2-3 ปีข้างหน้า Toyota จะทำอย่างไร เพื่อที่จะแก้ไขปัญหาเหล่านี้ และก้าวขึ้นไปเป็นผู้นำในด้านยานยนต์ไฟฟ้าระดับโลกได้ โดยธุรกิจที่มีอยู่ จะไม่ได้รับผลกระทบอย่างหนัก