ตัวเลขชี้! ปี 2024 Toyota Hilux Revo ใหม่ ISUZU D-MAX X-Series ฟาดกันยับแน่นอน

ตลาดรถกระบะ Pure pickup ของไทยในปี 2567 น่าจะเข้มข้นดุเดือดมากกว่าทุกๆปีที่ผ่านมา เมื่อตลาดรถเพื่อการพาณิชย์ หดตัวอย่างหนัก จนทำให้ค่ายรถยนต์ ต้องชิงส่วนแบ่งทางการตลาดจากคู่แข่งกันเอง ISUZU D-MAX ไม่ง่าย ที่จะคว้าแชมป์เป็นสมัยที่ 5 ติดต่อกัน เมื่อ Toyota เริ่มทำแต้มตามมาติดๆด้วย Hilux Champ แถมอาจจะได้ยอดเพิ่มจากรุ่นมายด์ไฮบริด ที่เพิ่งเผยโฉมไปแล้วในประเทศออสเตรเลีย และรุ่นไฟฟ้าแบตเตอรี่ สำหรับลูกค้าองค์กร นั่นทำให้ ISUZU ชิงเปิดตัว X-Series ใหม่ ตั้งแต่ต้นปี เพื่อทำยอดขายให้ได้มากที่สุด หวังสร้างประวัติศาสตร์ เป็นแชมป์รถยนต์และรถกระบะที่ขายดีที่สุดในประเทศไทย เป็นปีที่ 5 ติดต่อกัน

บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด แถลงสถิติการจำหน่ายรถยนต์ปี 2566 พร้อมคาดการณ์ตลาดรถยนต์ไทยปี 2567 โดยในปี 2566 ที่ผ่านมา ถือเป็นปีที่ภาพรวมของอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย ยังคงอยู่ในภาวะทรงตัว โดยตลาดภายในประเทศ ยังคงมีทิศทางที่ชะลอตัว ในขณะที่ภาคการส่งออกโดยรวม มีการขยายตัวที่ดีขึ้น ทั้งนี้ มีปัจจัยหลากหลายด้าน ที่ส่งผลกระทบต่อทิศทางของตลาดในปีที่ผ่านมา ทั้งจากสภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศ ที่ยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ กำลังซื้อที่ชะลอตัวลง จากหนี้ครัวเรือนสูง ตลอดจนการชะลอซื้อรถยนต์ของภาคธุรกิจ เพื่อรอความชัดเจนจากมาตรการรัฐ ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรง ต่อตลาดรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ ในขณะเดียวกัน สถาบันการเงิน ก็เพิ่มความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อเช่าซื้อรถ และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ ที่ยังคงอยู่ในระดับสูง

อย่างไรก็ตาม ยังพอมีปัจจัยด้านบวกอื่นๆ ที่ส่งผลต่ออุตสาหกรรมยานยนต์โดยรวม อาทิ สัดส่วนการขาย ของตลาดรถยนต์นั่งในประเทศ ที่ขยายตัวได้ดี โดยได้กระแสความนิยมในรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ที่ได้อานิสงส์จากมาตรการสนับสนุนด้านราคาของภาครัฐ ตลอดจนตัวเลขการส่งออกรถยนต์ของไทย ที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น จากสัดส่วนการผลิตเพื่อส่งออก ในช่วงที่ผ่านมา เพื่อชดเชยการส่งมอบรถที่ล่าช้า จากปัญหาการขาดแคลนชิ้นส่วนสำคัญ จนทำให้การผลิตล่าช้าออกไป ในปีก่อนหน้านี้

ทั้งนี้ จากปัจจัยต่างๆ ดังกล่าว ได้สะท้อนมายังตลาดรถยนต์ในประเทศ โดยมีตัวเลขยอดขายรวมในปี 2566 อยู่ที่ 775,780 คัน หรือลดลง 9% เมื่อเทียบกับปี 2565

ส่วนแนวโน้มอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย ในปี 2567 คาดว่าจะยังคงอยู่ในสภาวะฟื้นตัว อย่างค่อยเป็นค่อยไป พร้อมๆกับการฟื้นตัวของภาคเศรษฐกิจโดยรวมทั้งหมด โดยมีปัจจัยรอบด้าน ที่จะส่งผลกระทบต่อภาพรวม อาทิ การเติบโตของการบริโภคภาคเอกชน จากการฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยว และการจ้างงานที่เพิ่มขึ้น นโยบายของภาครัฐ ที่จะสนับสนุนการใช้จ่ายให้เร่งตัวขึ้น การขยายตัวของการลงทุน ที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมภายในประเทศ และโครงสร้างพื้นฐาน รวมถึงการผลักดันมาตรการสนับสนุนการลงทุนผลิตยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศ อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องเฝ้าดูสถานการณ์เศรษฐกิจโลก ที่จะส่งผลในด้านการส่งออก ตลอดจนสถานการณ์หนี้ครัวเรือนที่ยังคงสูง และทิศทางของนโยบายอัตราดอกเบี้ยอีกด้วย ทำให้คาดการณ์ว่า ยอดขายรถยนต์ในปี 2567 จะอยู่ที่ 800,000 คัน หรือเพิ่มขึ้น 3% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว

ยอดขายรถกระบะ Pure pickup ในเดือนธันวาคม ปี 2566
มีปริมาณการขาย 19,543 คัน ลดลง 44.9% จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน
อันดับ 1 Toyota Hilux 8,844 คัน ลดลง 42.3% ส่วนแบ่งตลาด 45.3%
อันดับ 2 Isuzu D-MAX 7,770 คัน ลดลง 44.0% ส่วนแบ่งตลาด 39.8%
อันดับ 3 Ford Ranger 1,758 คัน ลดลง 55.8% ส่วนแบ่งตลาด 9.0%
อันดับ 4 Mitsubishi Triton 824 คัน ลดลง 52.7% ส่วนแบ่งตลาด 4.2%
อันดับ 5 Nissan Navara 269 คัน ลดลง 12.9% ส่วนแบ่งตลาด 1.4%
อันดับ 6 MG Extender 48 คัน ลดลง 66.2% ส่วนแบ่งตลาด 0.2%
อันดับ 7 Mazda BT-50 30 คัน ลดลง 76.4% ส่วนแบ่งตลาด 0.2%

แม้ว่า ISUZU D-MAX จะปิดท้ายปีไม่สวย เพราะถูก TOYOTA HILUX ทำยอดขายแซงขึ้นมาเป็นอันดับ 1 ในเดือนสุดท้ายของปี แต่ด้วยยอดขายสะสมที่ตุนเอาไว้ จึงทำให้ D-MAX สามารถคว้าแชมป์รถยนต์และรถกระบะที่ขายดีที่สุดในประเทศไทยไปได้ เป็นปีที่ 4 ติดต่อกัน อย่างไรก็ตาม การขึ้นมาเป็นอันดับ 1 ของ Hilux แตกต่างไปจากที่ผ่านมา เพราะมียอดขายของ Hilux Champ ถูกรวมเข้าไปด้วย ซึ่ง Toyota ตั้งเป้ายอดขายเอาไว้ถึง 1,500 คันต่อเดือน มากพอที่จะช่วยพลิกสถานการณ์ให้กลับขึ้นมาเป็นอันดับ 1 ได้อีกครั้ง หลังจากที่ Hilux อยู่ในช่วงปลายโมเดล แต่ก็ต้องดูกันอีกทีว่า ยอดขายที่ Toyota หวังไว้ จะทำได้ตามที่คาดหรือไม่ เพราะเซกเมนต์นี้มีการหดตัวอย่างหนัก จากการที่สถาบันการเงินเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อ จากภาวะหนี้เสียที่เพิ่มมากขึ้น ที่น่าเป็นห่วงก็คงจะเป็น Mitsubishi Triton โฉมใหม่หมดทั้งคัน ที่การเปิดตัวเจนเนอเรชั่นใหม่ แทบไม่ได้ช่วยให้สถานการณ์ดีขึ้น เพราะยอดขายยังตามหลังอันดับ 3 อย่าง Ford Ranger ถึงเท่าตัว ทำให้ในปี 2567 นี้ Mitsubishi อาจจะต้องหามาตรการใหม่ๆในการกระตุ้นตลาด หากยอดขายยังอยู่ในระดับนี้ ในภาพรวม ยอดขายของรถกระบะ Pure pickup ทุกรุ่น ลดลงอย่างมาก เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน

ยอดขายรถกระบะ Pure pickup ทั้งปี 2566
มีปริมาณการขาย 264,738 คัน ลดลง 31.8% จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน
อันดับ 1 Isuzu D-MAX 115,499 คัน ลดลง 34.2% ส่วนแบ่งตลาด 43.6%
อันดับ 2 Toyota Hilux 106,601 คัน ลดลง 28.0% ส่วนแบ่งตลาด 40.3%
อันดับ 3 Ford Ranger 24,431 คัน ลดลง 27.8% ส่วนแบ่งตลาด 9.2%
อันดับ 4 Mitsubishi Triton 12,973 คัน ลดลง 39.9% ส่วนแบ่งตลาด 4.9%
อันดับ 5 Nissan Navara 3,470 คัน ลดลง 34.7% ส่วนแบ่งตลาด 1.3%
อันดับ 6 MG Extender 930 คัน ลดลง 63.7% ส่วนแบ่งตลาด 0.4%
อันดับ 7 Mazda BT-50 834 คัน ลดลง 44.6% ส่วนแบ่งตลาด 0.3%

เป็นไปตามคาด Isuzu D-MAX ทำยอดขายสะสมทั้งปีที่ผ่านมา ได้เป็นอันดับ 1 ครองแชมป์สมัยที่ 4 ติดต่อกัน โดยมีคู่แข่งสำคัญ Toyota Hilux ตามมาด้วยระยะห่างเกือบ 1 หมื่นคัน ส่วนอันดับ 3 เป็นของ Ford Ranger ที่ถือว่าทิ้งห่างอันดับ 4 Mitsubishi Triton แบบเท่าตัว ส่วนอันดับ 5 6 และ 7 เป็นของ Nissan Navara MG Extender และ Mazda BT-50 ตามลำดับ แต่ในภาพรวม ยอดขายทั้งตลาดลดลงมากถึง 31.8% จากปีก่อนหน้า และแม้ว่าสถานการณ์ในปี 2567 อาจจะยังไม่ต่างไปจากปีก่อนมากนัก แต่การแข่งขันน่าจะดุเดือดมากกว่าเดิม ระหว่าง 2 เจ้าตลาดคือ ISUZU D-MAX และ Toyota Hilux เพราะ Toyota คงไม่ยอมให้ ISUZU กลายเป็นแชมป์ 5 สมัยติดต่อกันได้ง่ายๆ ซึ่งการส่ง Hilux Champ ลงสู่ตลาด ก็เป็นการสะท้อนให้เห็นท่าทีของ Toyota ในเรื่องนี้ เพราะบริษัทรู้ดีว่า การทีจะพยายามเข็นเอา Hilux Revo หน้าตาเดิมที่ปรับโฉมไปเรื่อยๆ มากระตุ้นตลาด ไม่น่าจะพอที่จะพลิกสถานการณ์ได้ แม้ว่าจะมีการเพิ่มเวอร์ชั่นไฟฟ้าแบตเตอรี่ และมายด์ไฮบริดเข้าสู่ตลาดในปีนี้ก็ตาม โดยเฉพาะเวอร์ชั่นมายด์ไฮบริด ที่มีการเผยโฉมในประเทศออสเตรเลียไปหมาดๆ ทาง Toyota เอง ก็ยังไม่กล้าจะเรียกเต็มปากว่าเป็นรุ่นไฮบริดด้วยซ้ำ เพราะช่วยประหยัดน้ำมันได้มากขึ้นเพียง 6-10% เท่านั้น การเอกสารในการแถลงข่าวของ Toyota เอง และยังมีการเรียกระบบขับเคลื่อนนี้ว่า เทคโนโลยี 48 โวลต์ ที่มาพร้อมกับเครื่องยนต์ดีเซลเทอร์โบ ความจุ 2.8 ลิตร และปราศจากการใช้คำว่าไฮบริดในเอกสารเปิดตัวอีกด้วย Toyota จึงอาจจะไม่ได้คาดหวังในด้านยอดขายจาก Hilux เวอร์ชั่นนี้เท่าใดนัก นั่นทำให้ Hilux Champ ที่กลุ่มเป้าหมายสามารถเอื้อมถึงได้ง่าย น่าจะทำยอดขายได้เป็นกอบเป็นกำกว่า ส่วนทางฝั่งของ ISUZU ก็ไม่น้อยหน้า ส่ง X-Series ใหม่เข้ามากระตุ้นตลาดตั้งแต่ต้นปี หวังเพิ่มทางเลือกให้กับลูกค้า ที่แม้ว่าอาจจะไม่ได้เจาะกลุ่มเดียวกันกับ Hilux Champ แต่ก็น่าจะช่วยเพิ่มยอดขายให้กับ ISUZU ในปีนี้ได้พอสมควร นั่นทำให้การแข่งขันระหว่างเจ้าตลาดทั้งสองราย น่าจะเข้มข้นดุเดือดมากเป็นพิเศษ เพราะยอดขายที่เพิ่มขึ้น จะต้องเน้นไปที่การชิงส่วนแบ่งมาจากคู่แข่งในตลาด จากเดิมที่ได้มาจากทั้งคู่แข่งและการขยายตัวของเซกเมนต์ที่เพิ่มขึ้น