ไทยมีวัตถุดิบอื้อ! จับตา BYD พลิกเกมในตลาด EV สร้างโรงงานแบตเตอรี่ชนิดใหม่ ถูกและดีไทยมีวัตถุดิบอื้อ!

BYD เริ่มสร้างโรงงานผลิตแบตเตอรี่แบบโซเดี่ยมไอออนขึ้นแล้วในต่างประเทศ อาจจะเริ่มใช้กับรุ่น Seagull เป็นรุ่นแรก ลุ้นสร้างโรงงานในเมืองไทยเพิ่ม เพื่อดันไทยเป็นศูนย์กลางผลิตอีวีรายใหญ่ ทำให้ราคารถยนต์ไฟฟ้าในอนาคต อาจจะลดลงได้อีกมาก

ประเทศไทยเพิ่งได้รับข่าวดี เมื่อมีประกาศการค้นพบ แหล่งแร่ลิเธียม 2 แห่ง ได้แก่ แหล่งเรืองเกียรติ จ.พังงา ปริมาณสำรอง 14.8 ล้านตัน ที่มีเกรดลิเทียมออกไซด์เฉลี่ย 0.45% เพียงพอรองรับการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า ขนาด 50 kWh ได้ไม่ต่ำกว่า 1 ล้านคัน และแหล่งบางอีตุ้ม จ.พังงา เช่นกัน ที่อยู่ในระหว่างการสำรวจขั้นรายละเอียด เพื่อประเมินปริมาณสำรอง อย่างไรก็ตาม ด้วยการเติบโตของตลาดรถยนต์ไฟฟ้าในเมืองไทยที่รวดเร็ว ปริมาณแร่ที่ถูกค้นพบในตอนนี้ จะสามารถรองรับการผลิตได้เพียงไม่กี่ปี หากมองจากยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าในเมืองไทย ที่ล่าสุด มีมากกว่า 76,000 คัน ในปี 2023 โดยมี BYD เป็นผู้นำตลาดแบบไร้คู่แข่งที่ใกล้เคียง และตลาดอีวี ก็มีแนวโน้มเติบโตแบบก้าวกระโดดมากขึ้นในปีต่อๆไป ทั้งในไทย และทั่วโลก การหาทางเลือกที่เป็นแบตเตอรี่ชนิดอื่น เช่น แบตเตอรี่แบบโซเดี่ยมไอออน ที่ผลิตจากแร่เกลือหิน จึงเป็นทางออกที่เหมาะสมสำหรับเมืองไทย เพราะนอกจากจะมีข้อดีหลายอย่าง ทั้งราคาถูก ปลอดภัย ทนสภาพอากาศร้อนหนาวได้ดีแล้ว ทางมหาวิทยาลัยขอนแก่น ยังสามารถทำการผลิตแบตเตอรี่ชนิดนี้ขึ้นมาได้เอง และที่สำคัญที่สุด ก็คงเป็นเรื่องของวัตถุดิบ ที่นำมาใช้ในการผลิต ซึ่งก็คือแร่เกลือหิน ที่หาได้ง่ายในประเทศไทย โดยมีปริมาณสำรอง ถึง 18 ล้านล้านตัน อย่างไรก็ตาม ในทางปฏิบัติ แบตเตอรี่ชนิดนี้ จะถูกนำไปใช้ในการผลิตรถยนต์ไฟฟ้ามากน้อยแค่ไหน ก็ขึ้นอยู่กับแผนงานของบริษัทผู้ผลิตรายใหญ่ที่อยู่ในตลาดด้วย

ล่าสุด ผู้เล่นสำคัญในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าของโลก อย่าง BYD ได้เริ่มสร้างโรงงานผลิตแบตเตอรี่โซเดี่ยมไอออน ขึ้นในเมืองซูโจว ประเทศจีนแล้ว ด้วยเงินลง
ทุนกว่า 10,000 ล้านหยวน หรือราว 49,000 ล้านบาท โดยมีแผนการผลิตต่อปี ที่ 30 กิกะวัตต์ชั่วโมง ถือว่าเป็นสัญญาณที่ดี สำหรับการผลิตแบตเตอรี่ชนิดนี้ในเมืองไทยไปด้วย เพราะถ้าหากผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้ารายสำคัญ ลงทุนสร้างโรงงานผลิตแบตเตอรี่ชนิดนี้ขึ้นมา ก็เหมือนเป็นสัญญาณด้วยว่า ไทยสามารถที่จะเป็นฐานการผลิตรถยนต์สำคัญของภูมิภาคต่อไป หลังจากที่หลายคนเคยกังวลว่า อินโดนีเซีย จะสามารถดึงดูดบริษัทผลิตรถยนต์ไปจากไทย จากการที่เป็นแหล่งแร่นิเกิลสำคัญของโลก ซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญ ในการผลิตแบตเตอรี่แบบลิเธี่ยมไอออน ที่นิยมใช้ในปัจจุบัน

ก่อนหน้านี้ บริษัทลูกของ BYD ที่ชื่อ Findreams Battery ได้ลงนามกับบริษัทผลิตรถ 3 ล้อ ยักษ์ใหญ่ Huahai Group ในการสร้างโรงงานผลิตแบตเตอรี่โซเดี่ยมไอออนแห่งนี้ เมื่อกลางเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา โดยจะให้โรงงานแห่งนี้เป็นศูนย์กลางในการผลิตแบตเตอรี่สำหรับรถยนต์ไฟฟ้าขนาดจิ๋วและสกู๊ตเตอร์ เนื่องจากรถประเภทนี้ ใช้งานได้ดีกับแบตเตอรี่แบโซเดี่ยมไอออน โดยก่อนหน้านั้น ทั้งสองบริษัท ก็เคยสร้างโรงงานผลิตแบตเตอรี่ิลิเธี่ยมไอออนฟอสเฟตร่วมกัน ซึ่งก็คือ Blade Battery อันเลื่องชื่อของ BYD โดยมีข่าวลือว่า รถยนต์รุ่นแรกของ BYD ที่จะมีการติดตั้งแบตเตอรี่แบบโซเดียมไอออน จะเป็นรุ่น Seagull ที่ยังไม่มีจำหน่ายในเมืองไทย

สำหรับคู่แข่งของ BYD ที่ใช้แบตเตอรี่แบบโซเดี่ยมไอออน ยังถือว่ามีไม่มากนัก โดยในปัจจุบัน มีอยู่ 2-3 รุ่นได้แก่ JAC Yiwei ที่ได้รับการสนับสนุนจาก Volkswagen โดยเป็นรถยนต์รุ่นแรกในประเทศจีน ที่ใช้แบตเตอรี่แบบโซเดี่ยมไอออน ซึ่งได้มาจากบริษัท HiNa Battery โดยจะเริ่มส่งมอบรถล็อตแรกภายในเดือนมกราคมนี้ รุ่นที่ 2 เป็นรถยนต์ไฟฟ้าจาก Jianglin Motors หรือ JMC ซึ่งร่วมทุนกับ Ford ในชื่อ JMEV EV3 ที่ใช้แบตเตอรี่โซเดี่ยมไอออนจากบริษัทที่ชื่อ Farasis Energy ส่วนอีกรุ่นหนึ่ง จะเป็นรถยนต์ไฟฟ้าในไลน์อัพ iCar ของ Chery Auto ที่จับมือกับยักษ์ใหญ่แบตเตอรี่โลกอย่าง CATL ซึ่งบริษัทนี้ ก็มีการร่วมทุนกับอรุณพลัส บริษัทในเครือ ปตท ที่เมืองไทยอยู่ด้วย แต่ยังไม่มีความคืบหน้าจากฝั่งของ Chery ว่าจะมีการนำไปใช้กับรถยนต์รุ่นใดบ้าง แม้ว่าจะเคยมีการประกาศว่าจะใช้แบตเตอรี่ขนาด 21.4 กิโลวัตต์ชั่วโมง ที่ทำให้รถยนต์วิ่งได้ไกลสูงสุด 251 กิโลเมตร/ชาร์จ ไปก่อนหน้านี้ก็ตาม

ตามที่ได้เกริ่นไปข้างต้น แบตเตอรี่แบบโซเดี่ยมไอออน มีข้อดีที่เหนือกว่าแบตเตอรี่แบบอื่นๆหลายประการ แต่ก็มีข้อเสียด้วยเช่นกัน ข้อดีที่น่าสนใจได้แก่ ต้นทุนที่ต่ำกว่า เพราะไม่ต้องใช้แร่หายากอย่างโคบอลท์ และนิเกิล ในการผลิต, มีความปลอดภัยสูงกว่า, มีอัตราการคายประจุที่ช้ากว่า, ทำงานได้ดีกว่าในสภาพอากาศแบบต่างๆ โดยเฉพาะอากาศเย็น, เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากกว่า และที่สำคัญ ไทยมีวัตถุดิบในการผลิตแบตเตอรี่ชนิดนี้อยู่มากมาย อย่างไรก็ตาม ยังมีข้อเสียอยู่บ้าง คือให้แรงดันไฟฟ้าที่ต่ำกว่า มีความจุพลังงานที่ต่ำกว่าแบตเตอรี่แบบลิเธี่ยมไอออนฟอสเฟต และมีน้ำหนักที่มากกว่าแต่ก็ไม่มากนัก

หาก BYD นำแบตเตอรี่ชนิดนี้ไปใช้กับรุ่น Seagull และหากตลาดให้การตอบรับที่ดี โอกาสที่รถยนต์รุ่นนี้จะถูกนำมาทำตลาดในไทยด้วยก็น่าจะมีอยู่สูง เพราะที่ผ่านมา มีข่าวลือเกี่ยวกับการเปิดตัวรุ่นนี้ในเมืองอยู่เช่นกัน แต่จนถึงตอนนี้ ก็ยังไม่มีความคืบหน้าใดๆ เป็นไปได้ว่า BYD อาจจะต้องการดูเสียงสะท้อนจากลูกค้าในประเทศจีนเสียก่อน ก่อนที่เริ่มทำตลาดในประเทศอื่นๆ ซึ่งหากต้องการทำตลาดในเมืองไทยขึ้นมาจริงๆ บริษัทสามารถร่นเวลาด้วยการนำเข้ามาก่อน เหมือนอย่างที่เคยทำมาแล้วกับรถยนต์รุ่นอื่นๆ แล้วจึงขึ้นสายการผลิตในเมืองไทยตามหลังมา แต่ถ้าจะให้ดี ควรมีการผลิตแบตเตอรี่ชนิดนี้ในเมืองไทยด้วย ซึ่งลูกค้าคนไทย น่าจะให้การต้อนรับมากขึ้นไปอีก การมีทางเลือกใหม่ที่เป็นแบตเตอรี่โซเดี่ยมไอออน อาจจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ของวงการยานยนต์ไฟฟ้า ในเรื่องของราคาจำหน่าย นอกจากนั้น อาจจะทำให้อุตสาหกรรมยานยนต์ของไทย กลับมาคึกคักมากขึ้น จากการเป็นแหล่งผลิตวัตถุดิบสำคัญ ในการผลิตแบตเตอรี่ชนิดนี้ บางที รัฐบาลไทย อาจจะต้องออกแรงเพิ่ม ในการสนับสนุนบริษัทยานยนต์ต่างๆ ที่มีแผนในการสร้างโรงงานผลิตแบตเตอรี่โซเดี่ยมไอออนขึ้นในเมืองไทย