มองเหนือกว่านั้น! Tesla เตรียมเปิดตัว V4 Supercharger ลุ้นนำมาใช้ในไทยด้วย

เป็นข่าวฮือฮาในเมืองไทยขึ้นมาในทันที เมื่อ Tesla ได้จดจัดตั้งบริษัทขึ้นที่นี่ ทำให้ทุกคนคาดหวังจะได้เห็น การสร้างโรงงานผลิตรถยนต์ไฟฟ้า และอาจรวมถึงแบตเตอรี่ เป็นการดึงเงินลงทุนเข้าประเทศ และสร้างงานให้กับคนไทย ในสภาวะที่ประเทศ กำลังประสบปัญหาทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรงที่เกิดขึ้นก่อน และในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 แต่ความหวังก็ต้องพังทะลายลง เมื่อวัตถุประสงค์ของ Tesla ประเทศไทย ที่แจ้งต่อกระทรวงพานิชย์ ระบุเพียงว่า ประกอบกิจการขายรถยนต์ไฟฟ้า ระบบเก็บพลังงานแบบติดตั้ง และอุปกรณ์ที่ใช้กับระบบเก็บพลังงานแบบติดตั้ง ไร้วี่แววเกี่ยวกับการตั้งโรงงาน ถ้าไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปจากนี้ เราก็จะเห็น Tesla ในฐานะที่เป็นผู้นำเข้ารถยนต์ไฟฟ้าและอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง มาจำหน่ายในเมืองไทยนั่นเอง อย่างไรก็ตาม ในอนาคต อาจจะมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นได้

Tesla นอกจากจะเป็นแบรนด์ผู้บุกเบิกอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าและแบตเตอรี่แล้ว ยังมีภาพลักษณ์เป็นเหมือน Apple แห่งวงการยานยนต์ ทำให้คนทั่วโลก รวมถึงคนไทย ให้ความสนใจมากเป็นพิเศษ นอกจากนั้น รถยนต์ไฟฟ้าของ Tesla ก็ถือว่าล้ำสมัยกว่ารถยนต์ไฟฟ้าทั่วไปในตลาด อีกสิ่งหนึ่งที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของ Tesla และเป็นจุดขายสำคัญ ก็คือเทคโนโลยีอัดประจุไฟฟ้า ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการสร้างเครือข่ายสถานีอัดประจุไฟฟ้าให้ยานยนต์ไฟฟ้าต่างๆ ที่จะเป็นตัวสนับสนุนทางอ้อม ให้รถยนต์ไฟฟ้าของบริษัท ได้รับความนิยมมากขึ้น โดยในประเทศไทยเอง มีรายงานว่า Tesla กำลังอยู่ช่วงเจรจาหาพันธมิตร ในการสร้างเครือข่ายสถานีอัดประจุไฟฟ้าในเมืองไทย หนึ่งในพันธมิตรเหล่านั้นคือ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ในการติดตั้ง Tesla Supercharger ทั้งในห้าง และในพื้นที่สาธารณะ และถ้าหากสถานีอัดประจุไฟฟ้า Tesla ใช้เวลาในการชาร์จไฟน้อยมากเท่าไร โอกาสที่จะได้เห็นยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าเติบโต ก็ยิ่งมีมากขึ้นเท่านั้น ฉะนั้นความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับเทคโนโลยีชนิดนี้ จึงอาจจะมีความเชื่อมโยงกับอุตสาหกรรมยานยนต์ของไทยด้วยเช่นกัน

สื่อด้านยานยนต์ไฟฟ้า insideevs.com ได้รายงานความเคลื่อนไหวล่าสุด เกี่ยวกับ Tesla Supercharger เครื่องอัดประจุไฟฟ้ารุ่นใหม่ ที่มีการเปิดเผยข้อมูลจากแหล่งข่าววงใน อย่าง MarcoRPTesla ว่า Tesla เตรียมเปิดตัว V4 Supercharger พร้อมภาพไดอะแกรมประกอบข้อมูล แสดงภาพร่างของอุปกรณ์ดังกล่าว ซึ่งพบว่า V4 Supercharger มีความสูงที่มากกว่า และแคบกว่า V3 Supercharger อย่างเห็นได้ชัด โดยในปัจจุบัน Supercharger รุ่น V2 และ V3 มีใช้งานแพร่หลายทั่วโลก นอกจากเครื่องอัดประจุไฟฟ้ารุ่น V4 แล้ว Tesla จะมีการเปิดตัว Megacharger สำหรับยานยนต์ไฟฟ้าแบบ heavy duty อีกด้วย

การเปิดตัว V4 Supercharger จะเกิดขึ้นได้ เมื่อรุ่น V3 ได้ถูกอัพเกรดขึ้นไปในระดับกำลัง 324 กิโลวัตต์ จากเดิมที่ 250 กิโลวัตต์ในปัจจุบัน ส่วนรุ่น V2 ที่เก่ากว่า อยู่ในระดับ 150 กิโลวัตต์ ซึ่งใกล้เคียงกับของ G-Charge Supercharger จาก GWM ที่มีการติดตั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้า บริเวณพื้นที่ในย่านสยามสแควร์ ซึ่งมีกำลังอัดประจุไฟฟ้าสูงสุด 160 กิโลวัตต์ ใช้เวลาในการชาร์จไฟ 30-80% ของความจุแบตเตอรี่ ภายในระยะเวลา 32-40 นาที สำหรับ ORA Good Cat รุ่น 400 และ 500 ตามลำดับ ในขณะที่เครื่องอัดประจุไฟฟ้าแบบ DC Fast Charger ของเจ้าตลาดอย่างพลังงานมหานครหรือ EA อยู่ที่ 150 กิโลวัตต์ นั่นหมายความว่า หากเมืองไทย มีการติดตั้ง supercharger ของ Tesla ตั้งแต่รุ่น V3 ขึ้นไป ระดับกำลังไฟ จะสูงกว่าของทั้ง GWM และ EA อย่างน้อย 2 เท่าตัว เวลาในการชาร์จ ก็จะน้อยกว่าอย่างมีนัยยะสำคัญ

สำหรับการอัพเกรดเครื่องอัดประจุไฟฟ้าของ Tesla จะเริ่มขึ้นในช่วงไตรมาสที่ 3 ของปีนี้ ทำให้มีลุ้นกันว่า จะเราจะได้เห็นการเปิดตัว Tesla V4 Supercharger ภายในปลายปีนี้หรือไม่ และที่น่าสนใจยิ่งกว่า ก็คือ การลุ้นให้ V4 Supercharger รองรับการใช้งานรถยนต์ไฟฟ้า ที่ไม่ใช่แบรนด์ Tesla เพียงแบรนด์เดียว ซึ่งในปัจจุบัน Tesla มีการติดตั้งเครื่องอัดประจุไฟฟ้าแบบ supercharger ไปแล้ว มากกว่า 35,000 เครืองทั่วโลก และมีความเป็นไปได้สูง ที่จะติดตั้งได้รวมกัน ถึง 40,000 เครื่อง ภายในสิ้นปีนี้

ความเคลื่อนไหวของ Tesla ในเมืองไทย ด้วยการหาพันธมิตรที่เหมาะสม ในการสร้างเครือข่ายสถานีชาร์จไฟฟ้าก่อน จึงเป็นแนวทางที่ถูกต้อง และมีความชัดเจนไปในตัวว่า Tesla จะมุ่งไปที่การจำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้า และให้บริการหลังการขายเป็นหลัก อย่างน้อย ก็ในช่วงแรกของการเข้ามาบุกเบิกในเมืองไทยอย่างเป็นทางการ

[yourchannel video=”l1DzNP6mPMo” autoplay=”1″ show_comments=”1″]