หลังจากที่ Isuzu งานเข้าเมื่อกลางเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา จนต้องระงับการส่งมอบ D-MAX ชั่วคราว ในประเทศออสเตรเลีย จากปัญหาเซนเซอร์ของเครื่องยนต์ ทำงานผิดปกติ ผ่านไปไม่ถึง 2 เดือน คู่แข่งอันดับ 1 ของ Isuzu อย่าง Toyota งานเข้าหนักยิ่งกว่า ที่ไม่ใช่เรียกว่าหลายเท่าตัว แต่ต้องใช้คำว่า นำมาเปรียบเทียบกันไม่ได้เลย เพราะมูลค่าความเสียหาย สูงถึง 50,000 ล้านบาท จากการที่ศาลรัฐบาลกลางออสเตรเลีย ได้ตัดสินคดี ที่มีการฟ้องร้องโดยกลุ่มผู้ใช้รถ ว่ารถยนต์จำนวน 264,170 คัน ของ Toyota ซึ่งได้แก่ รุ่น Hilux Fortuner และ Prado ได้มีการติดตั้งตัวกรองอนุภาคดีเซล หรือที่รู้จักกันดี ในชื่อตัวกรองเขม่าไอเสีย ที่มีความบกพร่อง ส่งผลให้มูลค่ารถยนต์ ลดลงไปเฉลี่ย ถึง 17.5% ต่อคัน หรือคิดเป็นเงิน อยู่ที่ราว 7,000 เหรียญออสเตรเลีย หรือ 175,000 บาท ซึ่งขัดต่อกฏหมายคุ้มครองผู้บริโภคที่นั่น
รถยนต์ทั้ง 3 รุ่นที่ได้รับผลกระทบ เป็นรุ่นเครื่องยนต์ดีเซลเทอร์โบ รหัส 1GD-FTV ความจุ 2.8 ลิตร หรือรหัส 2GD-FTV ความจุ 2.4 ลิตร ที่ทำหน่ายออสเตรเลีย ในช่วงเดือนตุลาคม ปี 2015 ถึงเดือนเมษายนปี 2020
ตัวกรองอนุภาคดีเซล เป็นส่วนหนึ่งของระบบท่อไอเสีย ที่ได้ถูกออกแบบมา เพื่อจับและกรองเขม่าไอเสีย และอนุภาคอื่นๆที่เกิดขึ้น ในกระบวนการสันดาปน้ำมันดีเซล ซึ่งตัวกรองดังกล่าว จะทำหน้าที่ป้องกัน ไม่ให้มีการปล่อยอนุภาค หรือเขม่าไอเสียเหล่านี้ เข้าสู่อากาศภายนอก ในขณะที่เครื่องยนต์กำลังทำงานอยู่ ในคำพิพากษา ได้มีการระบุว่า ความบกพร่อง เกิดขึ้นในกระบวนการออกแบบตัวกรองเขม่าไอเสีย ซึ่งเป็นความบกพร่องในด้านกลศาสตร์ และการตั้งค่าโปรแกรมโลจิคควบคุม รวมถึงบางโปรแกรมที่มีปัญหา
ก่อนหน้านี้ ในช่วงกลางปี 2019 Toyota ออสเตรเลีย ได้เคยแจ้งว่า บริษัทได้ทำการแก้ไขปัญหาตัวกรองเขม่าไอเสียไปแล้ว แต่ดูเหมือนว่าสิ่งนั้นไม่ได้ช่วยทำให้ Toyota รอดพันจากการฟ้องร้องครั้งนี้ไปได้ อย่างไรก็ตาม งานนี้ต้องรอดูว่า Toyota มีความคิดเห็นเกี่ยวกับกรณีนี้อย่างไร