สถานการณ์บีบให้ All-New Mitsubishi Triton / Hybrid 2022-2023 โฉมใหม่ ต้องเกิดมาปัง!

ครั้งหนึ่ง เราเคยพูดถึงผลประกอบการล่าสุด ของ Mitsubishi Motors ประเทศไทย ในปี 2020 ที่ผ่านมา ซึ่งบริษัทมีผลประกอบการขาดทุน ถึง 7,194 ล้านบาท หลังจากที่ในปี 2019 สามารถทำกำไรได้ถึง 9,900 ล้านบาท ในขณะที่ในปี 2018 Mitsubishi ทำกำไรได้มากกว่า Toyota ประเทศไทยด้วยซ้ำ ด้วยตัวเลขสูงถึง 17,121 ล้านบาท เกิดอะไรขึ้นกับ Mitsubishi Motors ในขณะนี้

อย่างที่เราได้นำเสนอไปว่า ในช่วง 2-3 ปีหลัง Mitsubishi มีการลงทุนในการขยายโรงงาน โดยเฉพาะในส่วนของการรองรับการผลิตรถยนต์รุ่น Plug-In Hybrid เช่น Outlander PHEV ที่ได้เริ่มทำตลาดไปแล้ว และบริษัทก็มีแผนในการผลิตรถยนต์รุ่นไฮบริดออกมาในอนาคต แต่ล่าสุด สำนักข่าวดังอย่าง Nikkei ได้เผยข้อมูลเพิ่มเติม เกี่ยวสถานการณ์ของ Mitsubishi Motors ว่าอยู่ในอาการที่น่าเป็นห่วงไม่น้อย โดยเฉพาะในตลาดหลักของบริษัท อย่างเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จากการอยู่ในสภาพการแข่งขัน ที่อยู่ท่ามกลางคู่แข่งจากประเทศเดียวกันอย่างญี่ปุ่น และคู่แข่งรายใหม่จากจีน ที่ใช้กลยุทธ์ในด้านราคา เป็นอาวุธสำคัญ ในการเข้าถล่มตลาด

ในปัจจุบัน ตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ถือว่าเป็นตลาดสำคัญ ที่ Mitsubishi มีส่วนแบ่งตลาดไม่น้อย โดยมีถึง 15% ในฟิลิปปินส์ 10% ในอินโดนีเซีย 7% ในไทย โดยในภูมิภาคอาเซียน Mitsubishi สามารถทำสัดส่วนกำไร ได้มากถึง 77% ของกำไรสะสม 5 ปีหลังทั้งหมด ที่ทำได้ทั่วโลก คืออยู่ที่ 3,300 ล้านเหรียญสหรัฐ นับจนถึงสิ้นเดือนมีนาคม ปี 2020 ที่ผ่านมา แต่ในบ้านของตัวเองอย่างญี่ปุ่น Mitsubishi มีส่วนแบ่งการตลาด เพียง 1.7% เท่านั้น

เมื่อมองย้อนไปในอดีต จะพบว่า กำไรที่บริษัททำได้ เริ่มมีแนวโน้มที่ต่ำลงทุกปี หลังจากในปีงบประมาณ 2015 ที่บริษัทเคยทำสถิติกำไรสูงที่สุด ในประวัติศาสตร์ของบริษัท โดยในตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ Mitsubishi มีกำไรอยู่ที่ 15.3% แต่พอมาถึงปี 2019 ตัวเลขกลับลดลง อยู่ที่ 11.5% และเหลือเพียง 2.9% ในปี 2020 ซึ่งเป็นปีที่ผลประกอบการในไทย ขาดทุนถึง 7,200 ล้านบาท และตัวเลขกำไรต่อรถยนต์หนึ่งคัน ลดลงจาก 279,000 เยน ในปีงบประมาณ 2015 เหลือเพียง 49,000 เยน ในปี 2020 ต่างจากตัวเลขของ Toyota ในเอเชีย ที่รวมถึงจีน ซึ่งมีกำไรต่อคัน ที่ 357,000 เยน หรือราว 106,770 บาท ในปีงบประมาณ 2020 ที่ผ่านมา

ประเทศไทย ตลาดรถยนต์ที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน ส่วนแบ่งตลาดของ Mitsubishi ลดลงจาก 8.6% ในปีงบประมาณ 2019 เหลือ 6.7% ในปี 2020 จากข้อมูลของบริษัทวิจัยการตลาด Marklines

สื่อดังของญี่ปุ่นวิเคราะห์ว่า ความนิยมของแบรนด์ Mitsubishi ลดลงในภูมิภาค เกิดจากความล่าช้าในการเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่ๆ ซึ่งก็เป็นเรื่องจริง เพราะหลายครั้ง ที่มีการประกาศเตรียมเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่ แต่พอเอาเข้าจริงๆ กลับเงียบหายไปดื้อๆ ปล่อยให้คนที่สนใจติดตาม รอเก้อไปก็หลายครั้ง ในขณะที่รถยนต์รุ่นที่เป็นตัวชูโรงของค่าย อย่าง TRITON ที่ขายดีที่สุดรุ่นหนึ่ง ก็ถูกเจ้าตลาดอย่าง Isuzu D-MAX และ Toyota Hilux หรือแม้แต่คู่แข่งที่ใกล้เคียงกัน อย่าง Ford Ranger ไล่ต้อนให้ไปอยู่ในอันดับที่ 4 ในด้านยอดขายรถกระบะของไทย

นั่นทำให้ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2022 เป็นต้นไป Mitsubishi เตรียมเปิดตัวรถยนต์ใหม่ อย่างน้อย 5 รุ่นในตลาดอาเซียน รวมถึง All-New Triton และ Xpander เจนเนอเรชั่นต่อไป ที่จะมาพร้อมกับรูปโฉม ใหม่หมดทั้งคัน ซึ่งบริษัทจะมีการปรับรายละเอียด ในรถยนต์แต่ละรุ่น ให้เข้ากับความต้องการของตลาดมากขึ้น และจะมีการใช้แพลตฟอร์มร่วมกัน กับพันธมิตรอย่าง Nissan ในการผลิตรถยนต์รุ่นใหม่ๆของทั้งสองค่าย เพื่อลดต้นทุนต่อหน่วยให้ต่ำลง

รถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งรวมถึงระบบไฮบริด เป็นกุญแจสำคัญของกลยุทธ์บริษัทเช่นกัน โดย Mitsubishi มีแผนในการจำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้า ให้ได้ครึ่งหนึ่งของยอดขายทั้งหมด ภายในปี 2030 จากเดิมที่มีเพียง 8% ในปีงบประมาณที่ผ่านมา โดย All-New Triton จะมีเวอร์ชั่นไฮบริด เป็นตัวเลือกให้ลูกค้าด้วย และในปี 2023 บริษัทจะทำการเปิดตัวรถยนต์ไฟฟ้าขนาดเล็กรุ่นใหม่ ในราคาที่ว่ากันว่า จะต่ำกว่า 18,000 เหรียญสหรัฐ หรือไม่เกิน 593,000 บาท แต่อุปสรรคสำคัญของ Mitsubishi ก็คือการที่จะต้องแข่งขันกับคู่แข่งจากประเทศจีน อย่าง MG และ Great Wall Motor

นั่นทำให้นายทาเคโอะ กาโตะ ประธานของ Mitsubishi ถึงกับเอ่ยปากว่า บริษัทจะต้องทำราคารถยนต์ไฟฟ้าให้ต่ำลง ด้วยการใช้ชิ้นส่วนร่วมกันกับ Nissan เพื่อที่จะสามารถแข่งขันกับคู่แข่งจากจีนได้ ทั้งในระยะกลาง และระยะยาว โดยบริษัทตั้งเป้าในการเพิ่มตัวเลขกำไร ให้สูงขึ้นเป็น 6% ภายในปีงบประมาณ 2025 หรือใกล้เคียงกับของเดิม ที่ 6.1% ที่บริษัทเคยทำได้ ในปีงบประมาณ 2015

Leave a Reply