ได้แผนผลิตแล้ว All-New Nissan Navara โฉมใหม่ ใช้จุดขายเหมือน 2022 Mitsubishi Triton?

เป็นที่ทราบกันดีว่า Nissan และ Mitsubishi เป็นพันธมิตรที่แนบแน่นในด้านธุรกิจ ที่ยังมี Renault อยู่ในกลุ่มเดียวกัน โดยแต่ละบริษัท ต่างก็ได้รับหน้าที่ในการขับเคลื่อนธุรกิจ ตามความเชี่ยวชาญ และความได้เปรียบให้กับทางกลุ่ม โดยในตลาดรถกระบะปิกอัพขนาดขนาดกลาง Mitsubishi ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้นำในเซกเมนต์นี้ นั่นหมายความว่า ทั้ง Mitsubishi Triton Nissan Navara และ Renault Alaskan เจนเนอเรชั่นใหม่ จะถูกพัฒนาขึ้นบนแพลตฟอร์มหรือเทคโนโลยีเดียวกัน แต่อาจจะมีความแตกต่างในรายละเอียด เพิ่มความเป็นเอกลักษณ์ของแบรนด์ตัวเองลงไป หรืออาจจะใช้ชิ้นส่วน หรือเทคโนโลยีบางอย่าง เช่น เครื่องยนต์ ลงไปในรถกระบะรุ่นใหม่เหล่านี้ หากเห็นว่า บริษัทที่เป็นผู้ตาม มีเทคโนโลยีที่ดีกว่า

จากการแถลงแผนธุรกิจประจำปีที่ผ่านมา Mitsubishi มีความชัดเจนแล้วว่า บริษัทมีกำหนดการเปิดตัว All-New Triton เจนเนอเรชั่นใหม่ ภายในปี 2022 ซึ่งดูเหมือนว่า ยังไม่มีการปรับเปลี่ยนแผน หรือกำหนดการ หลังจากที่เจอปัญหาการระบาดของโรคโควิด 19 ไปในปีที่ผ่านมา ซึ่งยืดเยื้อมาจนถึงปัจจุบัน นั่นทำให้ก่อนหน้านี้ หลายฝ่ายจึงคาดการณ์ว่า Nissan น่าจะเปิดตัว Navara เจนเนอเรชั่นใหม่ ตามมาในปี 2023 หรือตามหลัง Triton โฉมใหม่ ราว 1 ปี อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลล่าสุด ที่ยังไม่มีการยืนยันอย่างเป็นทางการ เราทราบมาว่า Nissan ได้วางกำหนดการเดินสายการผลิต Navara โฉมใหม่เอาไว้แล้ว โดยจะเริ่มเดินสายการผลิต ในปี 2025 หรืออีกถึง 4 ปีข้างหน้า ทำให้มีความเป็นไปได้ว่า การเปิดตัวจะเกิดขึ้นก่อนหน้านั้น หรือราวปลายปี 2024 ช้ากว่าที่หลายฝ่ายคาดการณ์เอาไว้ประมาณ 1 ปี ซึ่งถือว่ามีความเป็นไปได้ เพราะ Nissan เอง ก็เพิ่งปรับโฉม Navara เจนเนอเรชั่นปัจจุบัน ไปได้ไม่นานนัก ซึ่งโดยปกติ ก็น่าจะช่วยซื้อเวลาให้กับทางค่าย ได้อีกอย่างน้อย 3-4 ปี ในการทำตลาดรุ่นปรับโฉมใหม่ โดยในระหว่างนั้น ก็จะมีการเพิ่มรุ่นพิเศษ เช่น Warrior หรือรุ่นย่อยใหม่ๆ เข้ามาในไลน์อัพ เพื่อกระตุ้นตลาดเป็นระยะ อีกปัจจัยหนึ่ง ที่ทำให้เริ่มเดินสายการผลิตในปี 2025 ก็อาจจะเป็นการขยายระยะเวลาออกไปจากเดิมอีก 1 ปี จากผลกระทบของโรคระบาด ที่ดูเหมือนว่า จะไม่จบลงง่ายๆ

อย่างไรก็ตาม จากผลงานยอดขาย หลังจากการเปิดตัว Navara รุ่นปรับโฉมใหม่ เป็นต้นมา ดูเหมือนว่า หลายอย่าง ไม่ได้เป็นไปตามที่คาดเอาไว้ เพราะยอดขายสะสมใน 4 เดือนแรกของปี Navara รุ่นปรับโฉมใหม่ จำหน่ายไปได้เพียง 2,739 คันเท่านั้น น้อยกว่าอันดับ 1 อย่าง Isuzu D-MAX ถึง 19 เท่าตัว โดยมีส่วนแบ่งการตลาด เพียง 2.4% ไม่ห่างจากน้องใหม่ อย่าง MG Extender มากนัก ซึ่งอยู่ที่ 1.7%

ในตลาดเมืองไทยแล้ว งานนี้ไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับ Nissan หรือค่ายรถยนต์ใดๆ เพราะแม้แต่ Mazda BT-50 ที่เพิ่งเปิดตัวโฉมใหม่ไปได้ไม่นาน แถมยังพัฒนามาจาก Isuzu D-MAX ที่ขายดีที่สุดในตลาดอยู่ในปัจจุบัน ก็แทบจะเอาตัวไม่รอด เพราะผู้ใช้รถกระบะคนไทย ถือว่ามีความรู้พื้นฐาน เกี่ยวกับรถยนต์มากกว่าผู้ใช้รถใน segment อื่นๆ จากการเป็นกลุ่มเป้าหมายที่ใหญ่ที่สุด เกือบครึ่งหนึ่งของตลาดรถยนต์ ที่มีการรวมกลุ่มกันค่อนข้างจะเหนียวแน่น ซึ่งทำให้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับการใช้งาน และคุณภาพของรถรุ่นที่ใช้มาโดยตลอด ซึ่งข้อมูลจากผู้ใช้งานจริงจำนวนมาก ย่อมมีความน่าเชื่อถือ มากกว่าการนำเสนอผ่านทางสื่อมวลชน ซึ่งมีข้อจำกัด ในการนำเสนออยู่มาก นอกจากนั้น ผู้ใช้รถบางกลุ่ม อาจจะมีการดัดแปลง เพื่อนำรถไปใช้งานในลักษณะอื่น ทำให้มีความรู้ในด้านเทคนิค ที่มากกว่าผู้ใช้งานทั่วไป และรถกระบะในปัจจุบัน ก็ยังสามารถครอบคลุมการใช้งานในแบบดั้งเดิม คือบุกตะลุยในเส้นทางออฟโรด และการใช้งานในแบบรถยนต์นั่ง ทำให้กลุ่มผู้ใช้รถใน segment นี้ มีความรู้ที่ครอบคลุม แทบจะทุกอย่างเกี่ยวกับรถยนต์ จะมียกเว้น ก็ในเรื่องของระบบไฮบริดและไฟฟ้า ที่เราอาจจะได้เห็นในตลาดนี้อีกไม่นาน สิ่งต่างๆเหล่านี้ ทำให้ตลาดรถกระบะของไทย เป็นตลาดที่ถือว่าหินที่สุดก็ว่าได้

ปัญหาและอุปสรรค ที่ Nissan Navara กำลังเผชิญอยู่ในปัจจุบัน จะถูกนำไปเป็นข้อมูลในการพัฒนา Navara เจนเนอเรชั่นใหม่ แม้ว่า Mitsubishi จะเป็นผู้นำในโครงการนี้ก็ตาม ซึ่งทาง Mitsubishi เอง ก็ใช่ว่าจะสบายนักในตลาดนี้ แต่ก็มีดีพอ ที่จะเกาะอยู่ในอันดับ 3 และ 4 มาโดยตลอด ซึ่งแน่นอนว่า ตั้งแต่ปี 2022 เป็นต้นไป คู่แข่งสำคัญอย่าง Ford Ranger ก็อาจจะทำให้โจทย์ที่มีอยู่ ยากขึ้นไปอีก จากการเปิดตัวรุ่นใหม่หมดทั้งคัน หรือ All-New ซึ่งอาจจะมีเวอร์ชั่นไฮบริด หรือไฟฟ้า เข้ามาสร้างความแตกต่างในอนาคต

อย่างไรก็ตาม ในเรื่องของรถกระบะปิกอัพ Mitsubishi และ Nissan ก็จะใช่ว่าจะเป็นแต่เพียงผู้ตามเท่านั้น อย่างน้อย ก็ยังมีอาวุธเด็ด ที่สามารถสร้างความแตกต่าง หรือเป็นผู้นำได้ในตลาดเฉพาะกลุ่ม โดยเฉพาะตลาดใหม่ ที่ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม นั่นก็คือระบบขับเคลื่อนพลังงานผสม หรือไฮบริด ที่ทั้ง Mitsubishi และ Nissan มีเทคโนโลยีอยู่ในมืออยู่แล้ว อย่างระบบ PHEV หรือ e-Power ที่สำคัญกว่านั้นก็คือ การมีฐานการผลิตในเมืองไทย โดยเฉพาะ Mitsubishi เอง ก็มีข่าวมาก่อนหน้านี้ว่า Triton อาจจะเป็นรถกระบะรุ่นแรก ที่ใช้ระบบขับเคลื่อน ที่เป็นแบบ Plug-In Hybrid ซึ่งคาดว่า จะมาพร้อมกับมอเตอร์ไฟฟ้า แบบ 3 หรือ 4 ตัว เป็นจุดขายสำคัญ และยังมีเวอร์ชั่นไฮบริดทั่วไป หรือ HEV จำหน่ายไปพร้อมกันด้วย และก็มีความเป็นไปได้เช่นกัน ที่เราอาจจะได้เห็น Triton ที่มาพร้อมกับระบบ e-Power ในทางเดียวกัน Navara เจนเนอเรชั่นใหม่ ก็อาจจะมีทางเลือกที่เป็นระบบขับเคลื่อน PHEV หรือ e-Power ในแบบเดียวกันกับ Triton ซึ่งทางเลือกนี้ น่าจะทำให้รถกระบะทั้ง 2 รุ่น มีจุดขายที่เหนือกว่าคู่แข่งอื่นๆ ที่มีความพร้อมน้อยกว่า ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับว่า ตลาดของไทย มีความต้องการรถกระบะไฮบริดมากน้อยแค่ไหน แต่อย่างน้อย ออสเตรเลีย ก็น่าจะเป็นตลาดสำคัญ ที่ช่วยให้เทคโนโลยีนี้ แจ้งเกิดในตลาดรถกระบะขนาด 1 ตันได้ เพราะจากงานวิจัยทางการตลาดเมื่อปีก่อน ระบุว่า กลุ่มเป้าหมายที่อาศัยอยู่ในชนบทของออสเตรเลีย มีความสนใจ ที่จะซื้อรถกระบะพลังงานสะอาดมาใช้งานในอนาคต และมีจำนวนผู้สนใจอยู่ไม่น้อยเลย

แต่ปัจจัยหนึ่ง ที่อาจจะทำให้การแข่งขันในตลาดนี้เปลี่ยนไป ก็คือการมาถึงของรถกระบะพลังไฟฟ้าจากจีน ทั้ง Great Wall และ MG ที่ดูแล้ว น่าจะมีความพร้อมมากกว่าเพื่อน และมีความได้เปรียบ ในเรื่องภาษีนำเข้า แต่ด้วยระยะเวลาที่จำกัดมากขึ้น บางที่ เราอาจจะเห็นทั้งสองค่ายรถยนต์ ชิงเปิดตัวในตลาดรถกระบะไฟฟ้าก่อนใคร ซึ่งถ้าผลการใช้งาน ออกมาเป็นที่น่าพอใจ หลายๆอย่างที่เราได้เห็นในวันนี้ ก็อาจจะเปลี่ยนไป แบบหน้ามือเป็นหลังมือไปเลย

คุณคิดว่า Nissan Navara โฉมใหม่ ควรจะต้องเพิ่มจุดแข็ง และจำกัดจุดอ่อนในเรื่องใดบ้าง จึงจะสามารถพลิกสถานการณ์ ให้กลับมาเป็นหนึ่งในรถกระบะยอดนิยม เหมือนในอดีตได้อีกครั้ง

Leave a Reply