หลังจากการเปิดตัว รถเอสยูวีทางเลือกใหม่ อย่าง The All-New Mazda CX-30 ที่มีมิติตัวถัง อยู่ระหว่าง CX-3 และ CX-5 นั้น ทำให้หลายฝ่ายมองว่า อนาคตของ CX-3 ที่มีขนาดเล็กกว่า กำลังประสบปัญหา ความไม่แน่นอนในอนาคต ซ้ำยังมีกระแสข่าวในต่างประเทศว่า Mazda กำลังจะย้ายฐานการผลิต CX-3 จากเมืองไทย ไปยังประเทศญี่ปุ่น ยิ่งทำให้ความไม่แน่นอนของ CX-3 ในตลาด มีมากยิ่งขึ้น ซึ่งเรื่องนี้ ทำให้เราต้องตรวจสอบข่าว เพื่อความชัดเจน รวมถึงการพูดคุย กับผู้บริหารของ Mazda ประเทศไทย เมื่อไม่นานมานี้
การมาถึงของ CX-30 ในเมืองไทย เมื่อไม่กี่สัปดาห์ก่อน ที่ได้รับการตอบรับ ด้วยยอดจองสูงกว่า 2,000 คัน โดยรุ่นสูงสุด SP ทำยอดจองได้กว่า 80% และ Mazda ประเทศไทย ก็ได้ทยอยส่งมอบรถ ไปแล้วมากกว่า 1,000 คัน ที่อาจจะทำให้หลายคน ลืมทางเลือกเดิมอย่าง CX-3 ไปโดยปริยาย จากการที่มีมุมมอง เหมือนกับลูกค้าในต่างประเทศ ว่า CX-30 จะเข้ามาทดแทน CX-3 แบบเต็มตัว แต่ข้อมูลล่าสุด ดูเหมือนว่า สิ่งที่ได้รับทราบ อาจจะตรงกันข้ามกัน
ทีมงาน CarDebuts ได้รับการยืนยัน จากทางผู้บริหารของ Mazda ประเทศไทยว่า การทำตลาด Mazda CX-3 ในไทย จะยังดำเนินไปตามปกติทุกอย่าง เหมือนที่เคย และบริษัทพร้อมให้บริการ บำรุงรักษารถรุ่นนี้ เหมือนกับรถรุ่นอื่นๆ ที่จำหน่ายในเมืองไทย ลูกค้าที่ใช้รถรุ่นนี้อยู่แล้ว หรือกำลังจะตัดสินใจซื้อ CX-3 จึงสบายใจได้ว่า จะได้รับการดูแลจากบริษัท ทั้งในด้านการบริการ และอะไหล่ เหมือนกับรถรุ่นอื่นๆ ทุกประการ
แต่เรื่องที่น่าสนใจกว่านั้น เกิดขึ้นที่ประเทศญี่ปุ่น เมื่อโทรุ เอ็นโดะ ผู้สื่อข่าวยานยนต์สำนัก Bestcarweb ที่มีโอกาสเดินทาง ไปพบตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ มากกว่า 200 ราย ในแต่เดือน รวมถึงตัวแทนจำหน่าย Mazda ในกรุงโตเกียว และปริมณฑล เปิดเผยว่าก่อนหน้านี้ ตัวแทนจำหน่าย ก็มองภาพเดียวกันกับ ที่คนทั่วไปคาดการณ์ไว้ ว่า CX-30 น่าจะเข้ามาทดแทน CX-3 โดยอัตโนมัติ แต่พอเอาเข้าจริงๆแล้ว หลังจากที่มีการเปิดเผย ราคาจำหน่ายของ CX-30 ลูกค้าจำนวนไม่น้อย ตัดสินใจกลับมาเลือกซื้อ CX-3 แทน แถมยอดขาย ก็ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจุดนี้ ทำให้ Mazda อาจจะต้องกลับไปพิจารณา ความเป็นไปได้ในการเปิดตัว CX-3 เจนเนอเรชั่นใหม่อีกครั้ง หลังจากที่ยังไม่มีความชัดเจน ในเรื่องนี้ มาได้ระยะหนึ่งแล้ว
อย่างที่ทราบกันดีว่า CX-3 ใช่้แพลตฟอร์มเดียวกับรุ่น Mazda2 ในขณะที่ CX-30 ใช้แพลตฟอร์มของ Mazda3 ซึ่งทั้ง 2 แพลตฟอร์ม มีความแตกต่างกันชัดเจน ทำให้รถที่ถูกพัฒนาขึ้นมา มีจุดแข็งจุดอ่อน แตกต่างกันไปโดยปริยาย เพียงแต่การที่ CX-30 ถูกวางตำแหน่งทางการตลาด ให้อยู่ระหว่าง CX-3 และ CX-5 จึงทำให้คนทั่วไป มองว่า CX-30 ถูกสร้างขึ้นมา เพื่อแก้ไขปัญหาในด้านขนาดของ CX-3 และการที่มีขนาดที่ใกล้เคียงกัน ทำให้รถทั้งสองรุ่น แย่งตลาดกันเองในที่สุด
จากข้อมูลยอดขายล่าสุด ของ CX-3 ในประเทศญี่ปุ่น อาจจะทำให้ Mazda เอง ให้ความสนใจและเวลา ในการเฝ้าดูการสร้างปรากฏการณ์ใหม่ในตลาด มากเป็นพิเศษ ซึ่งถ้าหากผลงานที่ออกมา ยังชัดเจน และไม่ถูกลดทอนลงไป โดย CX-30 เชื่อว่า Mazda น่าจะพัฒนา CX-3 เจนเนอเรชั่นใหม่ ที่ปิดช่องโหว่ ที่มีอยู่ทั้งหมดในปัจจุบัน เพื่อป้อนตลาด หลังยุคโรคระบาดโควิด-19 ที่เชื่อว่า เศรษฐกิจทั้งโลกจะถดถอยลง อย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ซึ่งรถขนาดเล็กที่มีราคาไม่สูงมาก จะได้รับความนิยมจากตลาดมากขึ้น