Fomm One อาการหนัก? ลดราคา 1 แสน เหลือเพียง 4.99 แสนบาท

หลังจากที่เริ่มทำตลาดไปแล้วพักใหญ่ ดูเหมือนว่า Fomm One รถยนต์ไฟฟ้าที่บริษัทเคลมว่า เป็นรถยนต์ไฟฟ้าส่วนบุคคลที่มีขนาดเล็กที่สุดในโลก จะเจองานยากเข้าแล้ว หลังจากที่กระแสการใช้รถยนต์ไฟฟ้าในไทย เกิดขึ้นเร็วกว่าที่หลายฝ่ายคาดการณ์ หลัง MG ประเทศไทย ได้แนะนำ ZS EV เข้าสู่ตลาด ในราคาเพียง 1.2 ล้านบาท หรือ 2 เท่า ของราคาจำหน่าย Fomm One แต่กลับมีข้อได้เปรียบ เหนือกว่าในทุกด้าน

รวมถึงการเตรียมบุกตลาดรถยนต์ไฟฟ้าของ ปตท ที่ไม่เพียงจะนำเข้า รถไฟฟ้า Weltmeister จากจีนมาจำหน่ายเท่านั้น แต่ยังมีแผนต่อยอด ที่จะทำการผลิต รถยนต์ไฟฟ้าน้องใหม่จากจีนในเมืองไทยอีกด้วย ไม่รวมความได้เปรียบในการสร้างสถานีชาร์จไฟฟ้า ที่สามารถรองรับลูกค้าได้ทั่วประเทศ และ Fomm One ยังมีคู่แข่งรายย่อย ที่เป็นแบรนด์ทั้งของไทยและจีน ในราคาระดับ 1 แสนกว่าบาท เข้าร่วมชิงส่วนแบ่งตลาด ในส่วนของการใช้งานในระยะทางสั้นๆ แม้ว่ารถไฟฟ้าราคาถูกเหล่านี้ ส่วนใหญ่ ยังไม่สามารถจดทะเบียน เพื่อการขับขี่บนถนนทั่วไปได้ก็ตาม

สัญญาณของความพยายามในการอยู่รอดของ Fomm One อย่างหนึ่งก็คือ การลดราคาถึง 1 แสนบาท จาก 599,000 เหลือเพียง 499,000 บาท ที่เพิ่งจะหมดเขตไป เมื่อวันที่ 19 กันยายนที่ผ่านมา จากราคาปกติ 664,000 บาท เมื่อตอนเปิดตัว ที่มาพร้อมโปรโมชั่น 2,000 คันแรกในราคา 599,000 บาท ซึ่งก็ยังเป็นราคาจำหน่ายจนถึงทุกวันนี้ และเมื่อต้นปีที่ผ่านมา Fomm ได้เคยประกาศยอดขายว่า อยู่ที่ 600 กว่าคัน นับตั้งแต่มีการเปิดตัว

Fomm One เปิดตัวด้วยการชูจุดขาย ด้วยการเป็นรถยนต์ไฟฟ้าที่สามารถลอยน้ำได้ พัฒนาโดยวิศวกรชาวญี่ปุ่น ผลิตในประเทศไทย แต่การตั้งราคาที่ประมาณ 6 แสนบาท ทำให้หลายคนต้องมาชั่งใจว่า จะคุ้มค่ากับเงินที่จ่ายไปหรือไม่ แม้ว่า Fomm เอง จะพยายามแสดงตัวเลขค่าใช้จ่ายเปรียบเทียบ ระหว่างการใช้ Fomm One กับรถอีโคคาร์ในท้องตลาด ถึงกับเป็นข้อมูลแนบมาให้ในโบรชัวร์

Fomm One เป็นรถแบบ 3 ประตู 4 ที่นั่ง ด้วยมิติตัวถังที่มีความยาว 2495 มม กว้าง 1295 มม และสูง 1575 มม กับน้ำหนักรถเปล่า ที่ 445 กิโลกรัม ไม่รวมแบตเตอรี่ ที่ทำให้รถมีข้อได้เปรียบในเรื่องของความคล่องตัว การหาที่จอดได้ง่าย แต่ในขณะเดียวกัน ก็ทำให้หลายคนไม่มั่นใจในเรื่องของความปลอดภัย เมื่อเกิดอุบัติเหตุ ว่าตัวถังที่มีขนาดเล็ก และแข็งแรงน้อยกว่ารถรุ่นมาตรฐานทั่วไปอยู่มาก จะสามารถรองรับแรงกระแทกจากการชน ได้มากน้อยแค่ไหน ในขณะที่วัสดุตกแต่ง และอุปกรณ์ต่างๆภายใน ไม่ได้ตอบโจทย์ในด้านความสะดวกสบาย และสุนทรียภาพในการขับขี่แม้แต่น้อย ส่วนการขับขี่ลุยน้ำ ในโบรชัวร์กลับระบุว่า Fomm One ไม่ใช่รถยนต์สะเทิ้นสะเทิ้นบก เนื่องจากเป็นระบบการทํางานในกรณีฉุกเฉินเท่านั้น ความสามารถในการเคลือนที่บนน้ำ จึงค่อนข้างจํากัด

ขุมพลังของ Fomm One เป็นมอเตอร์ไฟฟ้า แบบติดตั้งควบรวมกับล้อ (หรือ In Wheel Motor) ให้กำลังสูงสุด 10 กิโลวัตต์ หรือ 13.4 แรงม้า แรงบิดสูงสุด 560 นิวตันเมตรจากมอเตอร์ไฟฟ้า 2 ตัว เก็บประจุไฟฟ้า ด้วยแบตเตอรี่แบบ Li-ion ที่สามารถถอดเปลี่ยนได้ ใช้เวลาในการชาร์จไฟ จนเต็มความจุแบตเตอรี่แต่ละครั้ง ราว 6 ชม. วิ่งได้ระยะทางไกลสูงสุด 160 กม. ใช้ความเร็วสูงสุดได้ไม่เกิน 80 กม./ชม. มีอัตราสิ้นเปลือง เพียง 30 สตางค์ต่อกิโลเมตร คิดเป็นค่าใช้จ่ายเพียง 48 บาท ที่ระยะทาง 160 กิโลเมตร

อย่างไรก็ตาม Fomm ได้วางกลยุทธ์ในการทำตลาด ด้วยการแต่งตั้ง PEA Encom ในเครือของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค เป็นตัวแทนจำหน่าย ที่ล่าสุด ได้มีการทำโชว์เคส ด้วยการส่ง Fomm One จำนวน 3 คัน ไปยังจังหวัดอุบลราชธานี เพื่อช่วยเหลือประชาชน ที่กำลังประสบเหตุอุทกภัย แต่อาจจะเพราะ การที่รถไฟฟ้ารุ่นนี้ ไม่ได้ถูกสร้างมาเพื่อการใช้งานในแบบสะเทิ้นน้ำสะเทิ้นบก ภาพที่ออกมา จึงไม่แตกต่างไปจากรถยนต์ทั่วไป ที่แล่นฝ่าพื้นที่น้ำท่วม ที่มีระดับน้ำไม่สูงมากนัก นั่นทำให้ไม่สามารถสร้างกระแสฮือฮา เพื่อแจ้งเกิดจากสถานการณ์ที่คนส่วนใหญ่ กำลังให้ความสนใจอยู่ทั่วประเทศได้

อย่างไรก็ตาม Fomm ได้รับความสนใจจากนักลงทุน อย่างกลุ่มบางปู ที่ควักเงินถึง 635 ล้านบาท เข้าถือหุ้น 21.5% ในบริษัท Fomm Corporation ประเทศญี่ปุ่น เพื่อต่อยอดธุรกิจผลิตแบตเตอรี่ ด้วยความหวังว่า ตลาดรถยนต์ไฟฟ้าของไทย จะมีส่วนแบ่งตลาดถึง 25% หรือประมาณ 240,000 คัน ของยอดขายรถยนต์ทั้งประเทศ ภายใน 5 ปีข้างหน้า ตามข้อมูลของศูนย์วิจัยกสิกรไทย

โดยรวมแล้ว การที่ Fomm One ยังไม่ได้รับความนิยมมากนัก อาจจะเพราะการวางตำแหน่งทางการตลาดที่ไม่ชัดเจน คือไม่ใหญ่และปลอดภัยพอ ที่จะใช้ขับขี่บนถนนเส้นหลัก ได้เหมือนกับรถขนาดเล็กรุ่นมาตรฐานอื่นๆ แต่ก็มีราคาที่สูงเกินไป กับการใช้งานในระยะทางสั้นๆ ที่ไม่ไกลจากตัวบ้าน ในขณะที่จุดขาย อย่างการบุกตะลุยน้ำท่วม ก็ดูเหมือนว่า จะไม่ตอบโจทย์ เพราะรถยนต์ทั่วไป ก็สามารถทำได้ ในระดับที่ไม่แตกต่างกัน ส่วนเรื่องของการลอยตัวบนผิวน้ำจริงๆ บริษัทกลับระบุว่า รถไม่ได้ถูกออกแบบมา เพื่อการสะเทิ้นน้ำสะเทิ้นบก นั่นทำให้ Fomm One จึงเหมือนกับรถที่ถูกออกแบบมา ภายใต้แนวคิด ที่จะแก้ปัญหาการสัญจรในพื้นที่น้ำท่วม ในกรุงเทพมหานครเท่านั้น แต่กลับไม่ตอบโจทย์ การใช้งานในแบบรถยนต์จริงๆ

การหาทางออกของ Fomm ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย อย่างในแง่ของราคาจำหน่าย การที่รถรุ่นนี้ ไม่ได้มีการผลิต ในจำนวนที่มาก ทำให้ข้อได้เปรียบในเรื่องของ economies of scale หรือต้นทุนต่อหน่วย แทบจะไม่มีให้เห็น ในทางตรงกันข้าม รถไฟฟ้าคู่แข่งจากจีน ที่ต่อให้มีการเสียภาษี แต่การนำเข้ามาในต้นทุนที่ต่ำมาก ย่อมทำให้ราคาที่จำหน่าย อาจจะทำได้ดีกว่า รวมถึงอะไหล่ที่มีราคาต่ำกว่า หาได้ซื้อง่าย จัดให้ได้เร็ว และพร้อมรับการสั่งซื้อแบบไม่อั้น เพราะมีจำนวนการผลิตที่สูงอยู่แล้ว

และถ้าหากมีการนำเข้ามาจำหน่าย ด้วยอัตราภาษีที่เป็นศูนย์ ด้วยข้อตกลงทางการค้าต่างๆ หรือแม้แต่การมีคู่แข่งรายใหญ่ อย่าง ปตท ในอนาคตอันใกล้ ย่อมทำให้โอกาสที่ Fomm จะแจ้งเกิดได้ มีน้อยลงไปอีก บางที ทางออกที่เหมาะสมที่สุด ก็คือการออกแบบใหม่หมดทั้งคัน เพื่อตอบโจทย์ลูกค้าให้ตรงจุด หรือดีกว่าคู่แข่งในตลาด

แล้วคุณคิดว่า ในระยะยาว Fomm One จะสามารถแจ้งเกิด และเป็นที่ยอมรับโดยกว้างขวางหรือไม่ และ Fomm เอง ควรจะแก้ไขปัญหานี้ อย่างไร

Leave a Reply