ยักษ์หลับ ขยับตัวแล้ว! Nissan เตรียมขาย EV ใช้แบตเตอรี่ถูกลง ตามด้วยแบบ Solid-State

Nissan เตรียมบุกตลาดรถยนต์ไฟฟ้า ด้วยแบตเตอรี่ลิเธี่ยมไอออน ที่มีราคาต่ำลง มุ่งเป้าขายในประเทศเศรษฐกิจใหม่ก่อน ทำให้ไทยมีโอกาสได้ใช้สูง คาด สามารถผลิตแบตเตอรี่แบบโซลิดสเตตในเชิงพาณิชย์ได้ ในปี 2028

ครั้งหนึ่ง Nissan ได้เคยเป็นผู้นำอันดับ 1 ในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าของโลก โดยมี Nissan Leaf เป็นรุ่นหัวหอกในการทำตลาด และได้กลายเป็นรถยนต์ไฟฟ้า ที่ขายดีที่สุดในโลกมาก่อนแล้ว ก่อนที่ Nissan จะแนะนำรถรุ่นนี้สู่ตลาดเมืองไทยในเวลาต่อมา แต่ด้วยการเมืองในวงการยานยนต์ และอัตราภาษีที่สูง ทำให้ Nissan Leaf ไม่สามารถแจ้งเกิดได้ในตลาดแห่งนี้ ก่อนที่จะถูกค่ายรถยนต์จากจีน ใช้โอกาสจากการได้สิทธิพิเศษ ในด้านภาษีนำเข้าเป็นศูนย์ ส่งรถยนต์ไฟฟ้ารุ่นต่างๆ เข้ามาจำหน่ายในเมืองไทย จนทำให้ค่ายรถยนต์เจ้าถิ่น ที่เข้ามาลงหลักปักฐานในเมืองไทยมานานหลายสิบปีได้ แต่แต่มองตาพริบๆ แทบจะไร้ทางสู้ เพราะเสียเปรียบในเรื่องภาษีนำเข้า แถมบริษัทญี่ปุ่นส่วนใหญ่ ก็ยังไม่มีรถยนต์ไฟฟ้า ที่จะทำตลาดอีกด้วย อย่างไรก็ตาม ยักษ์หลับของวงการ EV อย่าง Nissan ขยับตัวแล้ว และเป็นการขยับตัวที่น่าสนใจในรอบหลายเดือน เมื่อสื่อดังของญี่ปุ่น Nikkei เปิดเผยว่า Nissan Motor ค่ายรถยนต์ยักษ์ใหญ่จากแดนอาทิตย์อุทัย มีแผนผลิตแบตเตอรี่ลิเธี่ยมไอออนฟอสเฟต หรือ LFP ที่มีราคาถูกกว่าแบตเตอรี่ลิเธี่ยมไอออนแบบ NMC ที่มีส่วนประกอบเป็นแร่นิเกิล แมงกานีส และโคบอลต์ 20-30% เลยทีเดียว แต่สิ่งที่ต้องแลกไป ก็คือ แบตเตอรี่แบบ LFP มีความจุพลังงานที่น้อยกว่า ทำให้ระยะทางวิ่งสูงสุด ต่ำกว่า 20-30% ทำให้แบตเตอรี่ชนิดนี้ จะเหมาะกับรถที่ใช้งานในเมือง มากกว่ารถที่มีการขับขี่ระยะไกล ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับการพัฒนาในอนาคตด้วย ที่จะทำให้ระยะทางการขับขี่มากขึ้น

ในปัจจุบัน Nissan กำลังพัฒนาแบตเตอรี่แบบ LFP ที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาของบริษัทในเมืองอัตซึกิ ประเทศญี่ปุ่น โดยบริษัทกำลังพิจารณาการผลิตแบตเตอรี่ชนิดดังกล่าว ที่โรงงานในเมืองโยโกฮาม่า และโรงงานอื่นๆของบริษัท โดย Nissan วางแผนที่จะใช้แบตเตอรี่ชนิดนี้ กับรถยนต์ไฟฟ้าของบริษัท ในปี 2026 เป็นต้นไป และได้ร่วมมือกับอีกหลายบริษัทผลิตแบตเตอรี่ ในการพัฒนา ซึ่ง Nissan กำลังพิจารณาความเป็นไปได้ ในการจัดซื้อมาใช้ด้วย

BYD ถือว่าเป็นผู้นำในการผลิตแบตเตอรี่แบบ LFP ในขณะที่บริษัทแบตเตอรี่อันดับ 1 ของโลกจากจีนอีกรายหนึ่ง อย่าง CATL เพิ่งเปิดตัวแบตเตอรี่ LFP รุ่นใหม่ ไปเมื่อไม่นานมานี้ ส่วนในฝั่งของประเทศญี่ปุ่น Toyota Motor และ AESC Group ก็กำลังพัฒนาแบตเตอรี่ชนิดนี้อยู่เช่นกัน แต่เรื่องของระยะทางวิ่ง ยังเป็นสิ่งที่ท้าทายอยู่ จากข้อมูลของ International Energy Agency หน่วยงานด้านพลังงานนานาชาติ เปิดเผยว่า ในปี 2022 27% ของรถยนต์ไฟฟ้าที่ใช้แบตเตอรี่แบบ LFP เพิ่มสูงขึ้นจากเมื่อ 3 ปีก่อนหน้านั้นอย่างมาก ซึ่งมีเพียง 3% เท่านั้น โดยรถยนต์ไฟฟ้าสัญชาติจีน มีการติดตั้งแบตเตอรี่แบบ LFP มากถึง 95% ที่ประเทศจีน จำนวนการใช้แบตเตอรี่ LFP ในรถยนต์ไฟฟ้า เริ่มแซงหน้าการใช้แบตเตอรี่แบบ NMC มาตั้งแต่ปี 2021 โดยส่วนแบ่งทางการตลาดแบตเตอรี่ LFP ของ BYD มีสูงถึง 40% ซึ่งทำให้บริษัท ลดต้นทุนลงไปได้มาก ส่งผลให้สามารถขยายตลาดได้มากขึ้น ในประเทศจีน จนในที่สุด ก็สามารถทำยอดขายแซงนำ Tesla ได้เป็นครั้งแรก ในไตรมาสที่ 4 ของปี 2023 ที่ผ่านมา

Nissan มีแผนในการทำตลาดรถยนต์ ที่ใช้ระบบขับเคลื่อนไฟฟ้า มากถึง 27 รุ่น ภายในปี 2030 และคาดว่า จะสามารถผลิตแบตเตอรี่แบบโซลิดสเตทในเชิงพาณิชย์ได้ ในปี 2028 ซึ่งตอนนี้ ยังมีปัญหาที่ต้องแก้ไข ในเรื่องของต้นทุนการผลิต และความคงทนของแบตเตอรี่

การที่ Nissan เตรียมทำตลาดแบตเตอรี่ชนิดนี้ ในประเทศเศรษฐกิจใหม่ จึงทำให้ไทย และหลายประเทศในย่านอาเซียน กลายเป็นตลาดเป้าหมายไปโดยปริยาย แน่นอนว่า การเข้ามาบุกตลาดรถยนต์ไฟฟ้าอีกครั้งในเมืองไทยของ Nissan น่าจะทำให้บรรยากาศการแข่งขันคึกคักมากขึ้น เพราะในปัจจุบัน เราแทบไม่ได้มองทางเลือก ที่เป็นรถยนต์ไฟฟ้าจากค่ายญี่ปุ่น ที่ผูกพันกับลูกค้าชาวไทย มานาหลายสิบปี อย่างไรก็ตาม Honda อาจจะเป็นรายแรกๆ ที่ทำตลาดรถยนต์ไฟฟ้าอย่างเต็มรูปแบบก่อนในเมืองไทย หลังจากที่ Toyota ได้เคยเปิดขายรุ่น bZ4X ไปแล้ว 50 คัน เมื่อปีที่ผ่านมา แต่ก็ไม่มีอะไรคืบหน้ามากไปกว่านั้น และด้วยการที่ต้องรอ Nissan อีกราว 2 ปี ก็ต้องบอกว่า ยากที่จะคาดการณ์เรื่องของอนาคต ว่าเมื่อถึงตอนนั้นแล้ว การแข่งขันในตลาด จะเป็นอย่างไรบ้าง มีเทคโนโลยีใหม่ๆ เกิดขึ้นหรือไม่ในระหว่างนั้น แต่แน่นอนว่า หลายคนรอลุ้นในเรื่องแบตเตอรี่โซลิดสเตทจาก Nissan ที่อาจจะเป็นตัวเปลี่ยนเกมในอนาคต โดยเฉพาะในตลาดเมืองไทย ที่ตอนนี้ ชื่อของ Nissan แทบจะหายออกไปจากตลาด ในช่วงหลังๆ