บริษัทยักษ์ใหญ่วงการรถยนต์ไฟฟ้าและแบตเตอรี่ของจีน รวมกลุ่มพัฒนาแบตเตอรี่โซลิตสเตท เล็งเป็นผู้นำตลาด เหนือค่ายญี่ปุ่นและตะวันตก แม้จะถือสิทธิบัตรน้อยกว่า Toyota มากกว่า 1,000 รายการก็ตาม
ข่าวใหญ่ของวงการรถยนต์ไฟฟ้าในวันนี้ คงหนีไม่พ้น ข่าวการประกาศความร่วมมือกันพัฒนาแบตเตอรี่โซลิตสเตท ของบริษัทผู้ผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าสัญชาติจีน ที่มีรัฐบาลเป็นผู้ผลักดัน โดย สื่อดังจากญี่ปุ่น Nikkei รายงานว่า รัฐบาลจีนได้ผลักดันให้เกิดกิจการค้าร่วมหรีอ consortium ในบรรดาบริษัทผู้ผลิตแบตเตอรี่ของประเทศจีน เพื่อให้มีการร่วมมือกันในการพัฒนาแบตเตอรี่แบบโซลิตสเตท สำหรับยานยนต์ไฟฟ้า เพื่อสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันกับชาติตะวันตกและญี่ปุ่น ซึ่งจะนำไปสู่การปฏิวัติในวงการยานยนต์ไฟฟ้าจากเทคโนโลยีที่ล้ำสมัย โดยการร่วมมือในครั้งนี้ มีจุดประสงค์ในการสร้าง supply chain สำหรับการผลิตแบตเตอรี่โซลิตสเตท ภายในปี 2030 โดยในเดือนมกราคมที่ผ่านมา รัฐบาลจีนได้จัดตั้งกลุ่มกิจการค้าร่วมขึ้นมา ที่เรียกว่า China All-Solid-State Battery Collaborative Innovation Platform หรือ CASIP ซึ่งเป็นการรวมตัวกันของตัวแทนจากรัฐบาล สถาบันการศึกษา และตัวแทนจากอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง รวมถึงบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านยานยนต์ไฟฟ้าและแบตเตอรี่ของจีน อย่าง BYD และ CATL ด้วย โดยในปัจจุบัน จีนได้เข้าสู่ยุคของการวิจัยและพัฒนาแบตเตอรี่เจนเนอเรชั่นใหม่ ที่มีการนำเอาปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI และเทคโนโลยีต่างๆ มาประยุกต์ใช้ด้วย
โอหยางหมิงเกา นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยชิงหัวของจีน ที่เชี่ยวชาญในเรื่องเทคโนโลยีแบตเตอรี่สำหรับรถยนต์ ได้เปิดเผยในระหว่างพิธีจัดตั้งกลุ่มกิจการค้าร่วมดังกล่าว เมื่อวันที่ 21 มกราคมที่ผ่านมาว่า เราจำเป็นจะต้องมีความพร้อม เพื่อรับมือ กับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากเทคโนโลยีแบตเตอรี่โซลิตสเตท ที่จะพลิกโฉมอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า ซึ่งจีนมีข้อได้เปรียบในเรื่องแบตเตอรี่อยู่ในปัจจุบัน โดยเขาได้เน้นให้เห็นความสำคัญ ของการรวมกลุ่มจากหลากหลายองค์กร ทั้งหน่วยงานของรัฐบาล ภาคอุตสาหกรรม สถาบันการศึกษา สถาบันวิจัย และกองทุนต่างๆ โดยกิจการค้าร่วมนี้ จะทำงานร่วมกันในส่วนของงานวิจัยพื้นฐาน เทคโนโลยีสำคัญ รวมถึงการพัฒนาและผลิตยานยนต์ไฟฟ้า ที่ใช้แบตเตอรี่โซลิตสเตทร่วมกัน นอกเหนือไปจากการสร้าง supply chain ของตัวเอง โดย CASIP มีจุดมุ่งหมายในการพัฒนาและผลิตแบตเตอรี่โซลิตสเตท ที่สามารถแข่งขันในระดับโลกได้ โดยมีบริษัทสัญชาติจีนเป็นศูนย์กลาง
สำหรับบริษัทผู้ผลิตแบตเตอรี่สำคัญ ที่เข้าร่วมโครงการนี้ ได้แก่ CATL, FinDreams บริษัทในเครือของ BYD, CALB, EVE Energy, Gotion High-Tech โดย 6 จาก 10 บริษัทผลิตแบตเตอรี่ในระดับ Top 10 ของโลก ได้เข้าร่วมในโครงการนี้ เหมือนเป็นการแสดงถึงศักยภาพของบริษัทสัญชาติจีนไปในตัว โดยส่วนใหญ่ จะเป็นบริษัทที่มีรัฐบาลเป็นผู้ถือหุ้น จะมีบริษัทเอกชนก็คือ BYD และ Nio
ภารกิจนี้ ถือว่าเป็นสิ่งที่ท้าทายสำหรับรัฐบาลจีน เพราะสามารถนำเอาบริษัทคู่แข่งกัน อย่าง CATL และ BYD ที่ฟาดฟันกันอย่างดุเดือด ในตลาดแบตเตอรี่ลิเธี่ยมไอออนฟอสเฟต ที่จีนเป็นเจ้าตลาดอยู่ ให้มาทำงานร่วมกันได้ นอกจากนั้นแล้ว CATL ยังกำลังดำเนินคดีฟ้องร้อง CALB และ Svolt Energy technology เรื่องการละเมิดสิทธิบัตร ซึ่งทั้งสองบริษัท ต่างก็อยู่ในกลุ่มกิจการค้าร่วมนี้ด้วย
เหมียวเว่ย รองประธานคณะกรรมการ กิจการเศรษฐกิจ ของกลุ่มที่ปรึกษาทางการเมืองของรัฐบาลจีน เป็นตัวแทนของทางฝ่ายรัฐบาล สำหรับโครงการนี้ โดยก่อนหน้านั้น เว่ยได้เคยดำรงตำแหน่งผู้บริหารระดับสูง ของบริษัทผู้ผลิตยานยนต์แห่งหนึ่ง และเขายังเคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงอุตสาหกรรมาก่อนด้วย ซึ่งที่ผ่านมา เขาได้ดูแลนโยบายด้านอุตสาหกรรมยานยนต์ และถือว่ายังมีอิทธิพลในวงการนี้อยู่ สำหรับสมาชิกอื่นๆที่เป็นตัวแทนของรัฐบาลจีน ยังรวมถึงตัวแทนจากกระทรวงอุตสาหกรรมและสารสนเทศ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และสำนักงานพลังงานแห่งชาติ
เฉินชิงไต่ หัวหน้ากลุ่ม China EV100 กลุ่มมันสมองที่ทำหน้าที่ประสานงานรัฐบาล กับบริษัทเอกชนต่างๆ ให้มาร่วมกันศึกษานโยบายทางด้านอุตสาหกรรยานยนต์ไฟฟ้่า ก็เข้าร่วมในโครงการนี้ด้วย นอกจากนั้น ยังมีเจ้าหน้าที่จากสถาบันวิทยาศาสตร์จีน และเจ้าหน้าที่จากกองทุน ที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลจึน เฉินเปิดเผยว่า จีนเป็นผู้นำของโลก ในด้านยานยนต์พลังงานใหม่ จากการที่มีเทคโนโลยีแบตเตอรี่้ที่ก้าวหน้า ซึ่งแบตเตอรี่โซลิตสเตท จะมีบทบาทสูงในการเปลี่ยนสมดุลย์อำนาจ ในวงการยานยนต์ไฟฟ้าของโลกในอนาคต การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีชนิดนี้ เป็นการให้ความมั่นใจว่า จีนจะเป็นมหาอำนาจ ในอุตสาหกรรมยานยนต์ของโลกได้
เป็นเวลาหลายปีแล้ว ที่ Toyota Motor และบริษัทจากญี่ปุ่นหลายราย ได้เป็นผู้นำในการวิจัยและพัฒนาแบตเตอรี่โซลิตสเตท ที่ให้ความจุพลังงานไฟฟ้าสูง และระยะทางวิ่งที่ไกลกว่าแบตเตอรี่ชนิดอื่นๆ นอกจากนั้นยังมีขนาดเล็ก แถมยังมีโอกาสติดไฟได้น้อยกว่าด้วย นั่นเปิดโอกาสให้บริษัทผู้ผลิตยานยนต์ มีอิสระในการออกแบบได้มากกว่าเดิม โดย Toyota มีแผนในการเปิดตัวรถยนต์ไฟฟ้าที่ใช้แบตเตอรี่ชนิดนี้ ภายในปี 2027-2028 ในขณะที่ Nissan มีแผนจำหน่าย ภายในปีงบประมาณ 2028 ส่วนค่ายยุโรปอย่าง Volkswagen และ BWM พยายามที่ทำตลาดเทคโนโลยีชนิดนี้ในเชิงพาณิชย์ ให้ได้เร็วที่สุด ซึ่งตอนนี้ ก็ได้พัฒนาร่วมกับบริษัท startup ในอเมริกา และที่อื่นๆทั่วโลก
เหมียวเว่ย ยังกล่าวเสริมอีกว่า อัตราส่วนยอดขายรถยนต์พลังงานใหม่ต่อรถยนต์ใหม่ จะมีมากกว่าครึ่ง ภายในปี 2025 หรืออย่างช้า 2026 ซึ่งบริษัทจีน จะต้องพยายามใช้การที่มีตลาดรถยนต์พลังงานใหม่ขนาดใหญ่ เป็นตัวผลักดันในการใช้แบตเตอรี่แบบโซลิตสเตท เจ้าหน้าที่อาวุโสจากกระทรวงอุตสาหกรรมของจีน ยังชี้ให้เห็นความจำเป็น ในการเร่งพัฒนาเทคโนโลยี และการประยุกต์ใช้งานแบตเตอรี่โซลิตสเตทอีกด้วย โดยโอหยาง ยังเผยอีกว่า AI กำลังเข้ามาเปลี่ยนแนวทางในการวิจัยและพัฒนาวัสดุ มันเป็นตัวเร่งการวิจัยพัฒนาแบตเตอรี่โซลิตสเตทเป็นอย่างมาก โดยภายในปี 2030 เรามีโอกาสสูง ที่จะผ่านเข้าไปสู่ยุคการผลิตแบตเตอรี่โซลิตสเตทในเชิงพาณิชย์อย่างเต็มรูปแบบ อย่างไรก็ตาม ด้วยความพยายามต่างๆของรัฐบาลจีนในเรื่องนี้ ยังมีคำถามอยู่ว่า การร่วมมือกันทั้งประเทศ สำหรับโครงการดังกล่าว จะคุ้มค่าหรือไม่
จากข้อมูลของสื่อดังจีนที่ชื่อ Yicai เปิดเผยว่า Toyota ถือสิทธิบัตรเกี่ยวกับแบตเตอรี่โซลิตสเตท มากกว่า 1,300 รายการ ในขณะที่บริษัทจีนรวมกัน มีน้อยกว่า 100 รายการ นั่นทำให้ต้องตามดูกันต่อไปว่า ค่ายจีน จะทำได้อย่างที่คาดหวังเอาไว้หรือไม่ และจะสามารถเป็นผู้นำตลาดรถยนต์ไฟฟ้า ในยุคที่มีการใช้แบตเตอรี่โซลิตสเตทอย่างกว้างขวาง ได้เหมือนในปัจจุบันหรือไม่ อย่างไรก็ตาม Toyota และอีกหลายบริษัทเชื่อว่า การผลิตแบตเตอรี่โซลิตสเตทในเชิงพาณิชย์ จะเกิดขึ้นหลังจากปี 2030 ไปแล้ว แต่ถ้าหากจีนเคลื่อนไหวได้เร็วในด้านนี้ ผู้เล่นจากญี่ปุ่น จะต้องพบกับความยากลำบาก ในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าที่มีการเติบโตอย่างรวดเร็ว อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้