TOYOTA มาเหนือเมฆ แก้เกมรถกระบะไฟฟ้าจากจีน ตัดไฟแต่ต้นลม ด้วย solution ใหม่ เจาะกลุ่มคนใช้รถกระบะปิกอัพกว่า 7 ล้านคันทั่วประเทศ คาดตั้งราคาที่เหมาะสมกับตลาด
ท่ามกลางกระแสความนิยมรถยนต์ไฟฟ้าในเมืองไทย ค่ายรถยนต์ต่างๆที่อยู่ในตลาดมาก่อนหลายสิบปี ต่างก็พยายามปรับตัวเข้าสู่การแข่งขันในตลาดอีวี ที่มีค่ายรถยนต์จากจีนเป็นเจ้าตลาดชนิดที่แทบจะไร้คู่แข่ง เพราะแม้แต่บริษัทรถยนต์ยักษ์ใหญ่ของโลกอย่าง TOYOTA ก็ยังไม่มีทางเลือกใดๆให้กับลูกค้าอยู่ในปัจจุบัน ทำให้ต้องสูญเสียตลาดรถยนต์นั่งให้กับคู่แข่งจากจีน ไม่ว่าจะเป็น BYD GWM MG ChangAn Neta และแบรนด์จีนอื่นๆ ที่เข้ามาเจาะตลาดเมืองไทยในช่วงปีหลังๆ อย่างไรก็ตาม เซกเมนต์ที่ใหญ่ที่สุดของตลาดอย่างรถกระบะปิกอัพ ยังถือว่าปลอดภัยจากภัยคุกคามจากค่ายจีน แม้ว่ายอดขายจะหดตัวลงอย่างมาก ตามสภาพเศรษฐกิจของประเทศและกำลังซื้อของคนในกลุ่มนี้ แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่า ค่ายอื่นๆที่ไม่ใช่บริษัทสัญชาติจีน จะปลอดภัยจากการเข้ามาชิงเค้กก้อนโตนี้ในอนาคต เพราะล่าสุด ดูเหมือนว่า หลายค่ายจากจีน มีทางเลือกที่เป็นรถกระบะปิกอัพไฟฟ้าในมือเรียบร้อยแล้ว เพียงแต่รอเวลาที่เหมาะสมในการส่งลงตลาดเท่านั้น งานนี้ทำให้เจ้าตลาดอย่าง TOYOTA ที่แม้ว่าจะมีรถกระบะไฟฟ้าพร้อมจำหน่ายอยู่แล้ว แต่ด้วยการที่ยังพึ่งพาเทคโนโลยีแบตเตอรี่จากบริษัทอื่น โดยเฉพาะค่ายจีน อย่าง BYD จึงทำให้บริษัทดูเหมือนยังไม่พร้อมกับตลาดนี้เท่าใดนัก นั่นทำให้ Hilux BEV จึงถูกเน้นทำตลาดไปที่ลูกค้าองค์กรเท่านั้น ล่าสุด TOYOTA ปิ๊งไอเดียใหม่ ที่ถือว่าเป็นการแก้เกมการตลาดที่น่าสนใจ ที่แม้ว่าจะไม่ใช่การแนะนำรถกระบะไฟฟ้ารุ่นใหม่ แต่ถือว่าเป็นการลดโอกาสที่ลูกค้าของบริษัทจะเปลี่ยนค่าย ด้วยการเปลี่ยนรถยนต์ Toyota ที่ใช้เครื่องยนต์สันดาปภายใน ให้กลายไปเป็นรถยนต์ไฟฟ้าเสียเลย โดยเน้นไปที่รถกระบะปิกอัพ ซึ่งมีอยู่ในตลาดจำนวนมหาศาล ถึง 7 ล้านคัน เรียกว่านอกจากการยังสามารถรักษาฐานลูกค้าตัวเองไว้ได้แล้ว ยังทำให้คู่แข่งขยายตลาดได้น้อยลง แต่ยังมีคำถามว่า ลูกค้าเก่าส่วนใหญ่ สนใจ solution นี้ของ TOYOTA หรือไม่
โตโยต้า ทูโช (ประเทศไทย) บริษัทในเครือของ Toyota มีโครงการดัดแปลงรถกระบะเครื่องยนต์สันดาปภายใน ให้กลายเป็นรถกระบะไฟฟ้า ที่สามารถวิ่งได้ระยะทางไกลสูงสุด 200 กิโลเมตร/ชาร์จ หวังกวาดกลุ่มลูกค้ารถเก่าที่มีแผนจะเปลี่ยนมาใช้รถยนต์ไฟฟ้าในอนาคต จากการเปิดเผยของผู้บริหาร โตโยต้า ทูโช ต่อหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ ว่าในขณะนี้ บริษัทกำลังพัฒนารถยนต์ต้นแบบ BEV Conversion หรือการดัดแปลงรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์สันดาปภายใน ให้มาเป็นรถยนต์ไฟฟ้า โดยอยู่ในขั้นตอนของการศึกษาและทดลองใช้งาน สำหรับรถที่บริษัทได้นำมาดัดแปลงนั้น เป็นรถกระบะปิกอัพขนาด 1 ตัน ซึ่งก็คือ Toyota Hilux Revo รถกระยะรุ่นยอดนิยมที่มียอดขายเป็นจำนวนมากในช่วงที่ผ่านมา โดยผู้บริหาร Toyota เปิดเผยว่า สำหรับตลาดรถยนต์ไฟฟ้านั้น วันนี้จะทำเพียงแค่รถยนต์รุ่นใหม่อย่างเดียว เป็นไปไม่ได้ รถเก่าในประเทศไทยมีอยู่เป็นจำนวนมาก และบริษัทต้องการจะปรับรถเก่าเหล่านี้ ให้กลายเป็นรถยนต์ไฟฟ้าให้ได้ และตอนนี้ บริษัทมาถึงจุดที่ทำออกมาได้ใกล้เคียงความเป็นจริงมากที่สุดแล้ว
ในปัจจุบัน ประเทศไทยมีปริมาณรถเก่าที่เป็นรถกระบะปิกอัพ มากถึง 7 ล้านคัน ในจำนวนนี้เป็นรถที่อายุเกิน 10 ปี มากถึง 4 ล้านคัน ถือเป็นตลาดที่มีขนาดใหญ่และเป็นกลุ่มที่น่าสนใจ Toyota จึงต้องการเชิญชวนให้ผู้ใช้รถเหล่านี้ นำรถที่ใช้ระบบขับเคลื่อนแบบดั้งเดิมที่เป็นเครื่องยนต์ มาดัดแปลงเป็นรถยนต์ไฟฟ้าแทน
สำหรับรถต้นแบบ BEV Conversion ที่ได้รับการพัฒนาใหม่จากของเดิม ได้ถูกถอดเครื่องยนต์และระบบส่งกำลังออกไป แล้วแทนที่ด้วยมอเตอร์ไฟฟ้า และแบตเตอรี่ขนาด 41.5 kWh โดยสามารถรองรับการชาร์จไฟแบบ AC ที่ระดับการชาร์จ 7 kWh ในเวลา 6 ชั่วโมง ส่วนการชาร์จแบบเร็ว (หรือ DC) รองรับการชาร์จได้ถึง 40 kWh และใช้เวลาเพียง 45 นาที เท่านั้น โดยให้ความจุแบตเตอรี่ที่ 20-80% และไม่มีการปรับแต่งอุปกรณ์อื่นๆแต่อย่างใด เนื่องจากบริษัทต้องการให้เป็นรถเก่าที่มีสภาพการขับขี่แบบเดิมๆ โดยอาจจะมีการปรับช่วงล่างให้ใกล้เคียงแบบเดิมเช่นกัน
รถต้นแบบ BEV Conversion สามารถวิ่งได้ไกลสูงสุด 200 กิโลเมตรต่อการชาร์จไฟฟ้าเต็มหนึ่งครั้ง โดยใช้ระยะเวลาดำเนินการดัดแปลงที่ 2-3 สัปดาห์ ส่วนราคาจำหน่ายนั้น ยังต้องศึกษาความเป็นไปได้ทางการตลาดด้วย สำหรับกลุ่มเป้าหมายของบริษัทก็คือ กลุ่มลูกค้าของ Toyota เอง คือกลุ่มลูกค้าองค์กร B2B เป็นกลุ่มแรก ที่ต้องคำนึงถึงความเป็นไปได้ในทางธุรกิจก่อนว่าคุ้มค่าหรือไม่ จากนั้นจะขยายไปยังกลุ่ม B2C ที่เป็นกลุ่มลูกค้าทั่วไป ซึ่งบริษัทอาจจะต้องใช้เวลาในการเตรียมความพร้อมตรงนี้ เพื่อตัดสินใจว่ารูปแบบธุรกิจจะเป็นแบบใด ก่อนแนะนำธุรกิจนี้ออกสู่ตลาด ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นภายในระยะเวลา 1 ปีนับจากนี้ Toyota ยังมองว่า รถเก่าสร้างมลพิษมากขึ้น
จึงต้องการให้รัฐบาลหันมาให้ความสนใจ และสนับสนุนในเรื่องนี้เช่นเดียวกับรถใหม่
การเดินเกมนี้ของ Toyota ถือว่าเป็นการแก้เกมที่น่าสนใจและอาจจะตอบโจทย์คนกลุ่มใหญ่ที่กำลังซื้อหดหายไปมากในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ซึ่งตัวเลขยอดขายรถกระบะปิกอัพรุ่นใหม่ก็บ่งชี้ได้อย่างชัดเจน นั่นหมายความว่า กลุ่มลูกค้าที่หายไป มีความต้องการเปลี่ยนไปใช้รถใหม่ แต่ไม่มีความพร้อมในทางการเงิน หรือไม่มีศักยภาพพอในการผ่อนชำระ จากมุมมองของสถาบันการเงิน หาก Toyota สามารถสร้างตลาดนี้ขึ้นมาได้จริง นอกจากจะรักษาฐานลูกค้าของบริษัทได้แล้ว ยังชะลอการขยายตัวของรถยนต์ไฟฟ้าจากจีนในเซกเมนต์นี้ได้อย่างมีนัยยะสำคัญอีกด้วย ทำให้บริษัทมีเวลาพอในการพัฒนารถกระบะไฟฟ้ารุ่นใหม่ และคู่แข่งตลอดกาลอย่าง ISUZU ก็อาจจะได้รับอานิสงค์และแนวทางในการรักษาฐานลูกค้าของตัวเองได้ด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ตาม เกมการแข่งขันในตลาดรถกระบะไฟฟ้าที่เป็นตลาดใหม่ จะเปลี่ยนไปจากเดิมหรือไม่ ก็คงต้องรอการเปิดตัวรถกระบะไฟฟ้าที่อาจจะไม่ใช่จากทั้ง MG หรือ GWM แต่เป็น BYD ที่ประสบความสำเร็จเกิดคาดในตลาดรถยนต์นั่งของไทยมาแล้ว ซึ่งล่าสุด กำลังทดสอบรุ่นพวงมาลัยขวา และกำลังจะเริ่มทำตลาดภายในปี 2024 นี้ โดยตลาดที่ยืนยันแล้วก็คือ ออสเตรเลีย และอเมริกาใต้ ซึ่งถึงตอนนั้น เราก็น่าจะได้เห็นภาพการแข่งขันชัดเจนขึ้นมาก ว่าตลาดต่างประเทศ ให้การตอบรับรถยนต์ไฟฟ้าประเภทนี้ มากน้อยแค่ไหน ซึ่งจะเป็นตัวบ่งชี้ความสำเร็จในตลาดเมืองไทย ได้ในระดับหนึ่ง