เล็งใช้ LFP Blade Battery ของ BYD กับ Mercedes-Benz EV เริ่มที่ 2025 CLA งานนี้ กินรวบไปถึง Toyota

การเข้ามามีอิทธิพลในเชิงธุรกิจ ของบริษัทยานยนต์จากประเทศจีน อาจจะมีมากกว่าที่เราเคยคิดกันมาก่อน ล่าสุด ค่ายรถยนต์หรูยอดนิยมระดับโลก จากเยอรมนี อย่าง Mercedes-Benz เตรียมนำเอาเทคโนโลยี Blade Battery มาใช้กับรถยนต์ไฟฟ้าในอนาคตของตัวเอง จากการรายงานของสื่อจีนอย่าง CBEA ที่เป็นนิตยสารอย่างเป็นทางการ ของสถาบันวิจัยแบตเตอรี่เพื่อยานยนต์จากจีน ซึ่งเป็นองค์กรที่ได้รับเงินสนับสนุน จากรัฐบาลจีน โดยมีค่ายรถยนต์ยักษ์ใหญ่หลายค่าย เป็นผู้ถือหุ้น ไม่ว่าจะเป็น SAIC, GAC, Dongfeng, Changan และ CATL

สื่อดังกล่าวรายงานว่า รถยนต์รุ่นแรกของ Mercedes-Benz ที่จะใช้ LFP Blade Battery ของ BYD ก็คือ Mercedes-Benz CLA รุ่นใหม่ ที่เพิ่งเปิดตัวรถต้นแบบไปเมื่อไม่กี่วันก่อน ซึ่งถูกพัฒนาบน MMA PLatform ขนาดแรงดันไฟฟ้า 800 โวลต์ โดยการผลิตจะเริ่มขึ้นภายในปี 2025 อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีความชัดเจนว่า Mercedes-Benz จะใช้แบตเตอรี่ชนิดนี้เฉพาะในตลาดประเทศจีนหรือทั่วโลก

รถต้นแบบ Mercedes-Benz CLA ใหม่ ได้ถูกเปิดตัวเป็นครั้งแรกในงาน IAA Mobility 2023 ที่ประเทศเยอรมนี เมื่อวันที่ 3 กันยายนที่ผ่านมา แต่ทางบริษัทยังไม่เปิดเผยรายละเอียดใดๆนอกจากประกาศว่า เวอร์ชั่นไฟฟ้าของ CLA ใหม่รุ่นนี้ จะสามารถวิ่งได้ระยะทางสูงสุดที่ 750 กิโลเมตร/ชาร์จ ตามมาตรฐาน WLTP โดยจะพร้อมจำหน่ายในปี 2025

จริงๆแล้ว ค่ายรถยนต์จากเยอรมนีรายนี้ ได้ทำงานกับ BYD มาก่อน ตั้งแต่ปี 2010 ด้วยการตั้งบริษัทร่วมทุนที่ชื่อ Denza ด้วยกัน ในสัดส่วนหุ้น 50:50 แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จตามคาด จนทำให้ Mercedes-Benz ขายหุ้นให้กับ BYD เหลือไว้เพียง 10% เท่านั้น ซึ่งหลังจากนั้น ทุกอย่างก็มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วภายใน 1 ปีครึ่ง เพราะ Denza ได้เริ่มจำหน่ายและส่งมอบรถได้ถึง 3 รุ่นคือรถ MPV รุ่น D9 และ SUV อีก 2 รุ่นคือ N7 และ N8 ทำให้มีตัวเลขส่งมอบทั้งหมดในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ที่ 11,146 คัน

เช่นเดียวกับค่ายรถหรูส่วนใหญ่อื่นๆ Mercedes-Benz ใช้แบตเตอรี่ NMC ที่ย่อมาจาก Nickel Manganese Cobalt หรือในชื่อ Ternary กับรถยนต์ไฟฟ้าของตัวเอง แบตเตอรี่ชนิดนี้ จะมีความจุไฟฟ้ามากกว่าแบตเตอรี่แบบ lithium iron phosphate หรือ LFP แต่ข้อด้อยคือ ราคาที่สูง และใช้แร่ธาตุที่หายากอย่าง cobalt ที่ได้รับการต่อต้านการทำเหมืองสกัดแร่อีกด้วย นั่นทำให้แบตเตอรี่แบบ LFP ที่มีความจุน้อยกว่า แต่ไม่มีการนำแร่โคบอลต์มาใช้ และมีราคาถูก ได้รับความนิยมมากขึ้น ซึ่งรวมถึง Tesla ที่เริ่มใช้แบตเตอรี่ชนิดนี้กับรุ่น Model Y ที่ผลิตขึ้นในประเทศเยอรมนี และก็ยังเป็นแบตเตอรี่ที่ได้มาจากซัพพลายเออร์ที่ชื่อ BYD อีกด้วย Tesla ได้เคยใช้แบตเตอรี่ของ BYD มาก่อนในรุ่น Model 3 ที่มียอดสั่งซื้อสูงถึง 10 GWh ซึ่งในเดือนเมษายนปี 2021 Elon Musk นายใหญ่ของ Tesla ได้เคยประกาศแผนการในอนาคต ว่ารถยนต์ 2 ใน 3 ของบริษัท จะใช้แบตเตอรี่แบบ LFP อีก 1 ส่วนที่เหลือ จะเป็นแบตเตอรี่แบบ NMC ในประเทศจีนเอง ครึ่งแรกของปีนี้ มีการติดตั้งแบตเตอรี่ LFP ในรถยนต์ไฟฟ้ามากกว่าแบตเตอรี่แบบ NMC ถึง 2 เท่าตัว คือเป็นแบตเตอรี่ LFP 68.3% หรือ 103.9 GWh ส่วนแบตเตอรี่แบบ NMC มีอยู่ 31.5% หรือ 48.0 GWh

แบตเตอรี่ของ BYD ไม่ได้มีใช้กับรถยนต์ของ Mercedes-Benz และ Tesla เพียงเท่านั้น แต่ยังมีใช้กับรถยนต์ไฟฟ้าของ Toyota Kia และ Lincoln อีกด้วย เมื่อกลางเดือนเมษายนที่ผ่านมา Toyota ได้เปิดตัวรถยนต์ไฟฟ้ารุ่น bZ3 หรือที่รู้จักกันว่าเป็น Corolla รุ่นไฟฟ้า ในประเทศจีนไปแล้ว โดยแบตเตอรี่่ที่ใช้เป็นแบบ LFP จาก BYD นั่นเอง รวมถึงการใช้เทคโนโลยีหลายอย่างของ BYD ด้วย และเมื่อเดือนที่ผ่านมา มีการเปิดเผยว่า Kia EV5 ที่ผลิตในประเทศจีน ก็มีการใช้แบตเตอรี่ LFP ของ BYD เช่นกัน ผ่านซัพพลายเออร์ที่ชื่อ FinDreams บริษัทในเครือของ BYD ในขณะที่รถยนต์ไฮบริดของทั้ง Ford และ Lincoln ในประเทศจีน ก็มีการติดตั้งแบตเตอรี่จาก BYD อีกเช่นกัน

กลับมาสู่เรื่องของ CLA โฉมใหม่ อีกครั้ง ในตอนนี้ Mercedes-Benz ยังจะมีเวอร์ชั่นเครื่องยนต์สันดาปภายในเป็นรุ่นเริ่มต้น เพื่อเจาะตลาดคนหนุ่มสาว ในขณะที่รุ่นไฟฟ้า จะถือว่าเป็นคู่แข่งกับ Tesla Model 3 รถยนต์ไฟฟ้าราคาประหยัดของค่าย นั่นจึงเป็นเหตุผลว่า ทำไม Mercedes-Benz ถึงพยายามเลือกใช้แบตเตอรี่แบบ LFP มากกว่าที่จะเป็นแบบ NMC ซึ่งมีราคาแพง ในขณะที่ทางฝั่งของ BYD ก็ต้องการขยายตลาดแข่งกับ CATL ที่ในปัจจุบัน เป็นบริษัทผลิตแบตเตอรี่สำหรับรถยนต์ไฟฟ้า อันดับ 1 ของโลก ที่ผ่านมา มีข่าวด้วยว่า เจ้าหน้าที่ของ Mercedes-Benz ได้เคยไปเยี่ยมชมโรงงานของ FinDreams มาแล้วด้วย Mercedes-Benz ยังมีผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่เป็นบริษัทสัญชาติจีนอยู่ถึง 20% โดย 10% ถือโดย Geely Group และอีก 10% ถือโดย Beijing Auto หรือ BAIC

การเข้ารุกตลาดรถยนต์ไฟฟ้า ด้วยการเปิดตัวผลิตภัณฑ์ที่เป็นของตัวเอง และการทำหน้าที่เป็นผู้จัดหาแบตเตอรี่ให้กับค่ายรถยนต์ระดับโลกหลายค่าย ทั้งรถหรูและรถตลาด แสดงให้เห็นถึงอิทธิพลของกลุ่มทุนยานยนต์จากจีน ที่กำลังเข้ามามีบทบาทในการเป็นผู้นำของวงการยานยนต์โลกอย่างเต็มตัวในอนาคตอันใกล้ นั่นหมายถึงความไม่แน่นอนของบริษัทยักษ์ใหญ่หลายๆบริษัท โดยเฉพาะค่ายรถยนต์จากญี่ปุ่น ที่ยังถือว่าเป็นผู้ตามในหน้าและหลังฉาก ในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าของโลกปัจจุบัน บริษัทเหล่านี้ อาจจะไม่ได้รับผลกระทบถึงขั้นล้มหายตายจากไป แต่มีโอกาสที่หุ้นส่วนใหญ่ของบริษัท จะถูกเปลี่ยนมือไปเป็นของบริษัทจากจีนมากกว่า