ข่าวอัพเดทล่าสุดเกี่ยวกับ All-New Mitsubishi Triton เจนเนอเรชั่นใหม่ ก็คือการที่บริษัท จะนำเอาขุมพลังไฮบริด ของรุ่น Outlander PHEV มาใช้กับ Triton โฉมใหม่ด้วย และมีการคาดการณ์จากบางสื่อในต่างประเทศว่า อาจจะมีการทำตลาด Triton PHEV ในช่วงแรกๆของการเปิดตัวเลย ซึ่งหากข่าวนี้เป็นจริง Mitsubishi อาจจะกลายเป็นค่ายรถยนต์รายแรก ที่มีการทำตลาดรถกระบะขนาดกลาง ที่ใช้ระบบขับเคลื่อนไฮบริด ซึ่งในปัจจุบัน Outlander PHEV ใหม่ มาพร้อมระบบไฮบริด ที่ประกอบด้วยแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนขนาด 20 กิโลวัตต์ชั่วโมง อัพเกรดจากเดิม ที่ 13.8 กิโลวัตต์ชั่วโมง จับคู่กับกับมอเตอร์ไฟฟ้า ขนาด 85 กิโลวัตต์ ที่ล้อคู่หน้า และขนาด 100 กิโลวัตต์ ที่ล้อคู่หลัง เพื่อทำการขับเคลื่อนทั้ง 4 ล้อ โดยจะทำงานร่วมกับเครื่องยนต์เบนซิน ความจุ 2.4 ลิตร ปรับปรุงใหม่ ที่ให้กำลังสูงสุด 131.4 แรงม้า ทำให้ Outlander PHEV มีพละกำลังรวมสูงสุด อยู่ที่ 248 แรงม้า แรงบิดสูงสุด 450 นิวตันเมตร สำหรับระยะทางวิ่งสูงสุดในโหมดไฟฟ้า อยู่ที่ 84 กิโลเมตร ตามมาตรฐาน NEDC โดยมีอัตราการบริโภคน้ำมันเชื้อเพลิง ที่ 66.67 กิโลเมตร/ลิตร ซึ่งดีขึ้นกว่าเดิมที่ใช้เครื่องยนต์เบนซิน ความจุ 1.9 ลิตร
แต่ยังมีข้อสงสัยหนึ่ง สำหรับผู้ใช้งานรถกระบะเป็นประจำ ก็คือความสามารถในการลากจูงโหลดของ Triton PHEV เพราะหากใช้ระบบขับเคลื่อนเดียวกับ Outlander PHEV แล้ว น้ำหนักสูงสุดที่สามารถลากจูงได้ อยู่ที่เพียง 700 กิโลกรัมเท่านั้น และล่าสุด ดูเหมือนว่าผู้บริหารระดับสูงของ Mitsubishi ไม่ได้มองข้ามในเรื่องนี้ เพราะนั่นหมายถึงตลาดสำคัญอย่างออสเตรเลีย อาจจะไม่ประสบความสำเร็จในด้านยอดขายได้ หากรถมีสมรรถนะที่ไม่ตอบโจทย์ของลูกค้า ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่า รถกระบะขนาดกลางที่จำหน่ายในแดนจิงโจ้ ส่วนใหญ่จะเป็นรุ่น 4×4 ที่มีสมรรถนะสูงเป็นหลัก และเป็นรุ่นที่ทำเงินให้กับบริษัทเป็นอย่างมาก จากราคาที่สูงขึ้นตามคุณสมบัติทางด้านเทคนิค
Carsguide สื่อยานยนต์จากออสเตรเลียรายงานว่า Takao Kato CEO ของ Mitsubishi ได้เดินทางมายังประเทศออสเตรเลียเมื่อเร็วๆนี้ เพื่อมาชมการทดสอบรถต้นแบบของ All-New Triton ด้วยตัวเอง และสอบถามความต้องการของลูกค้าในกลุ่มคาราวานรถยนต์ เกี่ยวกับการใช้งานรถกระบะเพื่อการบรรทุกและลากจูงสัมภาระ และรูปแบบการใช้งานอื่นๆ ซึ่งถือว่าเป็นเหตุการณ์ที่ไม่ปกตินัก ที่ผู้บริหารระดับสูงของค่ายรถยนต์ระดับโลก ลงมาสอบถามผู้ใช้งานด้วยตัวเอง ซึ่งมีนัยยะว่า Mitsubishi จริงจังกับการพัฒนา Triton เจนเนอเรชั่นใหม่นี้มาก และแน่นอนว่า ข้อมูลต่างๆที่ได้จากกลุ่มผู้ใช้รถกระบะเหล่านี้ จะถูกส่งต่อไปยังทีมวิศวกรที่พัฒนา Triton เพื่อนำไปเป็นข้อมูลในการพัฒนารถยนต์ต่อไป แม้ว่าจะมีข่าวว่า Mitsubishi เตรียมเปิดตัว All-New Triton ในปลายปีนี้เลย หรืออย่างช้าก็ต้นปีหน้า 2023 บางที อาจจะเป็นข้อมูลสำหรับรุ่นสมรรถนะสูง หรือรุ่นย่อยพิเศษ ที่จะมีการเปิดตัวในปีต่อๆไป
กลับมาในเรื่องขุมพลังไฮบริดของ Triton ใหม่ ในตอนนี้ยังไม่มีการยืนยันว่า เครื่องยนต์ที่จะใช้ในระบบไฮบริด จะเป็นเครื่องยนต์เบนซินตามสเปคของ Outlander PHEV จากโรงงานโดยตรง หรือเครื่องยนต์ดีเซล เพราะแม้ว่าบางตลาดอย่างยุโรป จะเริ่มจำกัดการใช้งานขุมพลังที่สร้างมลพิษกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น แต่สำหรับตลาดรถยนต์เชิงพาณิชย์อย่างรถกระบะปิกอัพ ขุมพลังดีเซลก็ยังถือว่าตอบโจทย์การใช้งานลูกค้ากลุ่มใหญ่อยู่ ซึ่งแน่นอนว่า Triton เจนเนอเรชั่นใหม่ จะมีทางเลือกเป็นรุ่นเครื่องยนต์ดีเซล ในรุ่นมาตรฐานเป็นอย่างน้อย ในขณะที่ระบบขับเคลื่อนไฟฟ้า ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบของระบบไฮบริด หรือไฟฟ้าแบตเตอรี่ จะเกิดขึ้นอย่างแน่นอนในทศวรรษนี้ เพียงแต่จะเกิดขึ้นในรูปแบบใดเท่านั้น จากการให้สัมภาษณ์ของ Owen Thomson ผู้จัดการอาวุโสฝ่ายพัฒนาผลิตภัณฑ์ของ Mitsubishi Motors ประเทศออสเตรเลีย ซึ่งทางเลือกที่เป็นระบบขับเคลื่อนไฟฟ้า ได้ถูกนำมาบรรจุไว้ในแผนงานการพัฒนา Triton โฉมใหม่ ตั้งแต่วันแรกแล้ว
ที่ผ่านมา ค่ายรถยนต์ที่ผลิตรถกระบะขนาดกลางออกมาจำหน่าย มักจะให้ความสำคัญกับตลาดอย่างออสเตรเลีย ที่มียอดขายส่วนใหญ่เป็นรถกระบะระดับบนที่มีสมรรถนะสูง และราคาแพง ไม่ว่าจะเป็นรุ่นขับเคลื่อน 4 ล้อ รุ่นพิเศษที่มาพร้อมพาร์ทตกแต่งรอบคัน หรือรุ่นสมรรถนะสูง จนถึงกับมีความร่วมมือกับบริษัทท้องถิ่นืในการพัฒนารุ่นพิเศษต่างๆขึ้นมา นั่นจึงทำให้ออสเตรเลีย มักจะเป็นศูนย์กลางในการวิจัยและพัฒนารถกระบะปิกอัพขนาดกลางของภูมิภาค มากกว่าที่จะเป็นประเทศไทย ตลาดรถกระบะขนาดกลางที่ใหญ่ที่สุดในโลก ส่งผลให้เราจะเห็นการเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่ ที่มาพร้อมนวัตกรรมต่างๆที่ไม่เคยมีการทำตลาดมาก่อนในออสเตรเลีย ซึ่งสิ่งต่างๆเหล่านี้ อาจจะเริ่มเปลี่ยนแปลงไปได้ในอนาคต หากตลาดในเมืองไทยมีกำลังซื้อมากขึ้น
[yourchannel video=”yCoPCSpSlX0″ autoplay=”1″ show_comments=”1″]