เมื่อวานนี้ กลุ่มพันธมิตร Renault Nissan Mitsubishi ได้ประกาศแผนงานความร่วมมือ และการลดต้นทุน โดยจะเน้นการทำงานร่วมกันในเชิงลึกให้มากขึ้น เพื่อลดต้นทุนการผลิต จากการพัฒนาประสิทธิภาพให้ดีกว่าเดิม และปฏิเสธแผนรวมกิจการ โดยแนวคิดสำคัญ ในการเดินหน้าสู่อนาคตที่มั่นคงกว่าเดิม ก็คือ แนวคิดที่เรียกว่า ผู้นำ-ผู้ตาม ที่จะให้แต่ละบริษัท ทำในสิ่งที่ตัวเองถนัด และมีความได้เปรียบ ในด้านการวิจัยและพัฒนา การผลิต รวมไปถึงการทำตลาด ซึ่ง Nissan จะเป็นผู้นำในตลาดอเมริกาเหนือ จีน และญี่ปุ่น ส่วน Renault จะเน้นไปที่ตลาดยุโรป รัสเซีย อเมริกาใต้ และแอฟริกาเหนือ ส่วน Mitsubishi จะมุ่งเน้นไปที่ตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และโอเชียเนีย
สื่อยานยนต์จากออสเตรเลีย CarAdvice รายงานว่า เดิมที ทั้ง Mitsubishi และ Nissan จะพัฒนารถกระบะของตัวเอง คือ Triton และ Navara ด้วยการใช้แพลตฟอร์ม เทคโนโลยี เครื่องยนต์ และชิ้นส่วนต่างๆร่วมกัน ที่ลูกค้า ไม่สามารถสังเกตเห็นได้ จากภายนอก เพื่อลดต้นทุนในการผลิต แต่จากการแถลงข่าวล่าสุดเมื่อวานนี้ รถยนต์รุ่นใหม่ๆของกลุ่มพันธมิตร จะใช้ตัวถังภายนอก ร่วมกันเป็นส่วนใหญ่ เพียงแต่มีรายละเอียดบางจุดแตกต่างกัน ซึ่งแนวทางนี้ ได้ถูกนำไปปฏิบัติจริงแล้ว ดังเห็นได้จากรถตู้อเนกประสงค์ Renault Trafic และ Mitsubishi Express ที่มีความแตกต่างกัน เพียงแค่โลโก้ หน้ากระจัง และฝากระโปรงหน้าเท่านั้น ซึ่งทั้ง Mitsubishi Triton และ Nissan Navara ยังมีเวลาเพียงพอ ที่จะดำเนินการ ตามแนวทางดังกล่าว ก่อนที่จะมีการเปลี่ยนโฉม เป็นเจนเนอเรชั่นใหม่
Jean-Dominique Senard ประธานกรรมการกลุ่มพันธมิตร ได้เปิดเผยในการแถลงข่าวเมื่อวานนี้ว่า ในปีที่่ผ่านมา 39% ของรถยนต์ที่ผลิตทั้งหมด ได้ใช้พื้นฐานต่างๆร่วมกัน และตัวเลขนี้ จะเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว คือ 80% ภายในปี 2024 นอกจากนั้น รถยนต์รุ่นต่างๆของกลุ่มพันธมิตร จะใช้ดีไซน์ตัวถังร่วมกันอีกด้วย จะแตกต่างกัน ก็เพียงตราโลโก้ กระจังหน้า กันชน และลวดลายของล้ออัลลอย ในขณะที่อีก 20% คาดว่าจะเป็นรุ่นที่ทำตลาดเฉพาะกลุ่ม ซึ่งจะใช้รูปโฉมในแบบของตัวเอง เช่น รถสปอร์ตรุ่นใหม่ อย่าง Nissan 400Z ที่จะเข้ามาแทนรุ่น 370Z หรือ Fairlady
Senard ยังเสริมอีกว่า โครงสร้างช่วงล่างของรถแต่ละรุ่น ซึ่งก็หมายถึงแพลตฟอร์ม จะคิดเป็น 1 ใน 3 ของค่าใช้จ่ายทั้งหมด ในการผลิตรถแต่ละคัน และอีก 1 ใน 3 ก็เป็นส่วนของตัวถังด้านบน การผลิตรถยนต์ที่มีดีไซน์ และโครงสร้างเหมือนกัน ยกเว้นรายละเอียดบางจุด จะทำให้การผลิต สามารถใช้ชิ้นส่วนต่างๆร่วมกัน ได้ถึง 2 ใน 3 เลยทีเดียว
แนวคิด ผู้นำ-ผู้ตาม ที่เกริ่นไปข้างต้น นอกจากจะถูกแบ่งแยกหน้าที่ของแต่ละบริษัท ตามตลาดที่จำหน่ายแล้ว ยังหมายถึงการเป็นผู้นำและผู้ตาม ในแง่ของเทคโนโลยีอีกด้วย โดย Renault จะเน้นการพัฒนารถยนต์ไฟฟ้าขนาดจิ๋ว Nissan จะมุ่งไปที่รถยนต์ไฟฟ้าขนาดเล็กและกลาง ส่วน Mitsubishi จะรับผิดชอบ ในการพัฒนารถยนต์ไฟฟ้าขนาดกลาง ไปจนถึงขนาดใหญ่
กรณีศึกษาที่น่าสนใจก็คือ โรงงานผลิตรถยนต์ของกลุ่ม ในประเทศบราซิล ที่ปัจจุบัน มีการผลิต ทั้งหมด 6 รุ่นจาก 4 แพลตฟอร์ม แต่กำลังจะถูกเปลี่ยน ไปผลิตรถยนต์ รวมทั้งหมด 7 รุ่น ด้วยการใช้เพียง 1 แพลตฟอร์มเท่านั้น ตัวถัง และเทคโนโลยีต่างๆ ก็จะมีการใช้ร่วมกันอีกด้วย นอกจากนั้น ยังจะมีการใช้สายการผลิตร่วมกัน เพื่อให้เกิดประสิทธิผลสูงสุด หลังจากนั้น รถที่ถูกผลิตได้จำนวนมากนี้ จะถูกติดตราโลโก้ ในแบรนด์ของตัวเอง ก่อนที่จะถูกส่ง ไปยังผู้แทนจำหน่ายของแต่ละบริษัท
อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์การตลาดมองว่า แนวทางใหม่นี้ อาจจะทำให้คุณค่าของแบรนด์ ถูกลดทอนลงไป จากการที่รถแต่ละรุ่น แทบจะไม่มีความเป็นตัวตน หลงเหลืออยู่เลย
Caradvice ยังเผยอีกว่า ต้นทุนในการวิจัยและพัฒนา รวมถึงการผลิตของ Mitsubishi Triton ต่ำกว่าของ Nissan Navara อยู่มาก ทำให้ Mitsubishi น่าจะเป็นผู้นำในการพัฒนารถกระบะของกลุ่ม ในขณะที่ Nissan Navara จะกลายเป็นรุ่นที่ต่อยอด หรือปรับเปลี่ยนมาจาก Triton อีกต่อหนึ่ง จากเดิม ที่ Navara เจนเนอเรชั่นใหม่ ถูกวางไว้ว่า จะใช้เพียงแพลตฟอร์ม เทคโนโลยี และฮาร์ดแวร์บางอย่าง ร่วมกับ Triton เท่านั้น แต่จะมีดีไซน์ตัวถังภายนอก และห้องโดยสารภายใน ในแบบของตัวเอง
แม้ว่ากลุ่มพันธมิตร จะเชื่อมั่นในแผนการลดต้นทุนครั้งนี้ ว่าจะประสบความสำเร็จ แต่การทำตลาดรถยนต์แบรนด์ดัง 2-3 แบรนด์พร้อมกัน ในดีไซน์และพื้นฐานต่างๆ ที่แทบจะเหมือนกันทั้งหมด เป็นเรื่องที่มีความเสี่ยงไม่น้อย โดยเฉพาะบางตลาด ที่ทางกลุ่ม มีการจำหน่ายรถยนต์มากกว่า 1 แบรนด์ เช่นในเมืองไทย การเลือกซื้อ Mitsubishi Triton หรือ Nissan Navara เจนเนอเรชั่นใหม่ อาจจะต้องไปวัดกัน ที่บริการหลังการขาย จำนวนศูนย์บริการ รวมถึงโปรโมชั่นต่างๆ ที่จะทำให้รถทั้งสองรุ่น มีความแตกต่างกันมากขึ้น