เปิดเอกสารกำไร-ขาดทุน MG / SAIC Motor-CP หลังลงทุนในไทยมา 6 ปี

ปฏิเสธไม่ได้ว่า ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา MG ได้กลายเป็นหนึ่งในแบรนด์รถยนต์ ที่เป็นผู้เล่นหลักในตลาดของเมืองไทย แม้ว่าการแนะนำ MG Extender สู่ตลาดรถกระบะปิกอัพ อาจจะถือว่า ยังไม่ประสบความสำเร็จก็ว่าได้ ต่างจากตลาดรถเอสยูวีและรถไฟฟ้า ที่ถือว่า MG ได้กลายเป็นตัวเลือกอันดับต้นๆของคนไทย ไม่ว่าจะเป็น MG HS หรือ MG ZS EV ซึ่งกุญแจแห่งความสำเร็จก็คือ การทำราคา ในระดับที่เอื้อมถึงได้ง่าย พร้อมกับอ็อปชั่นที่ให้มา แบบไม่มีกั๊ก

อย่างไรก็ตาม ทาง MG เอง ก็พยายามเพิ่มจุดแข็งให้มากขึ้น ลดจุดอ่อนให้น้อยลง อย่างหนึ่งก็คือ การพัฒนาการบริการหลังการขาย ให้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น เอ็มจีเริ่มดำเนินธุรกิจในประเทศไทย ในปี 2557 โดยในปีแรก มีจำนวนโชว์รูม 19 แห่ง จากนั้นในปี 2560 ได้ขยายเป็น 80 แห่ง และล่าสุด ณ เดือนมกราคมที่ผ่านมา บริษัทฯ มีผู้จำหน่าย ที่เปิดให้บริการแล้ว 125 แห่งทั่วประเทศ สำหรับปี 2563 นี้ เอ็มจีได้ตั้งเป้าหมาย ในการขยายโชว์รูมให้ครบ 150 แห่ง ซึ่งจะครอบคลุมทั่วประเทศไทย นอกจากนี้ ยังมีแผนเปิดจุดให้บริการ สู่ระดับอำเภอที่มีศักยภาพ เพื่อการให้บริการ ที่จะสามารถเข้าถึงกลุ่มลูกค้าเอ็มจีตามพื้นที่ต่างๆ ได้อย่างทั่วถึงมากยิ่งขึ้น

และหลังจากที่เราได้นำเสนอ งบกำไรขาดทุนของ General Motors ประเทศไทย บริษัทแม่ของ Chevrolet ที่เพิ่งประกาศลาเมืองไทย ไปเมื่อไม่กี่สัปดาห์ก่อน หลายท่านสนใจ อยากจะทราบผลประกอบการของบริษัทอื่นๆ ซึ่งเราได้ทยอยลงไปบ้างแล้ว เช่นกรณีของ Ford ประเทศไทย ซึ่งประจวบเหมาะ กับการที่บริษัท ได้ออกมาชี้แจงเรื่องความมั่นคงของบริษัท ในช่วงนั้นพอดี หลังจากที่มีกระแสข่าวลือว่า Ford มีโอกาสจะถอนตัวตาม Chevrolet ซึ่งผลประกอบการที่ออกมา กลับตรงข้ามกับกระแสข่าวโดยสิ้นเชิง เพราะช่วง 7-8 ปีที่ผ่านมา Ford สามารถทำกำไรในเมืองไทย ได้มากกว่า 14,000 ล้านบาท

ในคลิปนี้ เราจะมาพูดถึงผลประกอบการ ของ MG Sales ประเทศไทย และ SAIC Motor-CP 2 บริษัทพันธมิตร ที่ทำตลาดรถยนต์ ภายใต้แบรนด์ MG ในเมืองไทย ว่า 5-6 ปีที่ผ่านมา บริษัทสามารถทำกำไร หรือขาดทุน มากน้อยแค่ไหน โดยเราจะเน้นไปที่ 2 บริษัทนี้ ที่ทำรายได้ให้กับกลุ่ม

เริ่มจาก บริษัท เอสเอไอซี มอเตอร์ – ซีพี จำกัด ที่ก่อตั้งเมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2556 ด้วยทุนจดทะเบียน สูงถึง 7,350 ล้านบาท โดยมีวัตถุประสงค์ ที่ส่งงบการเงินปีล่าสุด คือการผลิตรถยนต์ส่วนบุคคล โดยงบกำไรขาดทุน จะเป็นช่วงปี 2556-2561

โดยในปีแรกที่ก่อตั้ง บริษัทมีรายได้รวม ที่ 252 ล้านบาท โดยขาดทุนในปีนั้นเล็กน้อย ที่ 9 ล้านกว่าบาท ในปี 2557 รายได้เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าเล็กน้อย ที่ 305 ล้านบาท แต่เริ่มมีการลงทุนในการผลิต ทำให้มีรายจ่ายรวม 1,069 ล้านบาท ส่งผลให้ปีดังกล่าว ขาดทุนไปทั้งสิ้น 766 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม เกิดจุดเปลี่ยนสำคัญในปี 2558 เพราะรายได้รวมของบริษัท เพิ่มขึ้นเป็น 10 เท่าตัว ที่ 3,054 ล้านบาท แต่รายจ่ายรวม ก็เพิ่มเป็น 4,184 ล้านบาท ทำให้ปีนี้ ยังขาดทุนต่อไปอีกหนึ่งปี คือที่ 1,245 ล้านบาท

ในปี 2559 รายได้รวมของบริษัท ขยับขึ้นเป็น 4,157 ล้านบาท แต่รายจ่ายรวม ยังสูงขึ้นต่อเนื่อง ถึงเกือบ 6,400 ล้านบาททำให้ปีนี้ บริษัทขาดทุนไปถึง 2,461 ล้านบาท

ในปี 2560 ยอดขายเพิ่มขึ้นเป็น 5,261 ล้านบาท รายจ่ายรวมเพิ่มขึ้นเล็กน้อย เป็น 6,512 ล้านบาท ทำให้บริษัทยังขาดทุนต่อไป แต่ลดลงกว่าปีก่อนหน้าเท่าตัว เหลือเพียง 1,218 ล้านบาท

แต่พอมาถึงปี 2561 ปีที่น่าจะพูดได้ว่า เป็นปีที่แจ้งเกิดของ MG ในเมืองไทยอย่างแท้จริง เพราะรายได้รวม เพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าตัว เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ที่ 11,657 ล้านบาท แต่รายจ่ายรวม ก็พุ่งตามเช่นกัน ที่ 13,293 ล้านบาท ยอดขาดทุนสุทธิ จึงอยู่ที่ 1,636 ล้านบาท ซึ่งแม้ว่าจะยังขาดทุนอยู่ แต่การที่มีรายได้เพิ่มขึ้นมาก ก็เป็นการแสดงถึงการเติบโตในด้านยอดขายของบริษัท นั่นหมายความว่า ลูกค้าชาวไทย ให้การยอมรับแบรนด์อังกฤษ ที่มีเจ้าของเป็นบริษัทจีนรายนี้ ซึ่งส่งผลต่อบริษัทในระยะยาว และการขาดทุนต่อเนื่องมาตั้งแต่เริ่มธุรกิจในเมืองไทย ก็ไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะบริษัท ย่อมต้องมีการลงทุนในทุกด้าน โดยเฉพาะการสร้างโรงงาน ที่ใช้ต้นทุนสูง

โดย 6 ปีที่ผ่านมา บริษัทมีรายได้รวมทั้งสิ้น 25,049,430,796 บาท ในขณะที่ยอดขาดทุนสะสม ทั้ง 6 ปี มีถึง 7,335,936,642 บาท ซึ่งยังถือว่าน้อยกว่า การขาดทุนบางปี ที่ 10,000 กว่าล้านบาท ของ Chevrolet ประเทศไทยด้วยซ้ำ

อย่างไรก็ตาม ยังมีผลประกอบการของอีกหนึ่งบริษัทสำคัญ ในเครือ MG นั่นก็คือ บริษัท เอ็มจี เซลส์ ประเทศไทย จำกัด

โดยบริษัทนี้ ถูกก่อตั้ง ในวันที่ 22 พฤษภาคม 2556 ปีเดียวกับ SAIC Motor CP ด้วยทุนจดทะเบียน 203 ล้านบาท โดยมีวัตถุประสงค์ ที่ส่งงบการเงินปีล่าสุด คือการขายยานยนต์ใหม่ ชนิดรถยนต์นั่งส่วนบุคคล การขายชิ้นส่วน และอุปกรณ์เสริมใหม่ ยานยนต์ชนิดรถยนต์นั่งส่วนบุคคล ซึ่งยอดขายของบริษัทนี้ จะเป็นตัวสะท้อนยอดขายรถยนต์ ที่ถึงมือ ผู้ใช้งานรถยนต์จริง ต่างจาก SAIC Motor CP ที่มีการผลิตและจำหน่าย รถยนต์ให้กับ MG Sales ประเทศไทย

ในปีแรก คือปี 2556 รายได้ยังมีเพียง 2,440,000 บาทเท่านั้น แต่มีรายจ่าย เกือบ 30 ล้านบาท ทำให้ปีแรก บริษัทขาดทุนรวม 27,150,000 บาท

แต่ในปี 2557 บริษัทมีรายได้เพิ่มเป็น 198 ล้านบาท แต่รายจ่ายก็เพิ่มขึ้น เป็น 416 ล้านบาท ทำให้ปีนี้ ขาดทุนไปที่ 221 ล้านบาท

ในปี 2558 บริษัทเริ่มจำหน่ายรถยนต์ ได้มากกว่าเดิมมาก ทำให้รายได้รวม กระโดดไปอยู่ที่ 2,800 ล้านบาท รายจ่าย ยังมากกว่ารายได้ คืออยู่ที่ 3,433 ล้านบาท ทำให้บริษัทขาดทุนไปถึง 846 ล้านบาท

ในปี 2559 รายได้รวมของบริษัท เพิ่มขึ้นเป็นเกือบ 2 เท่าตัว คือที่ 5,063 ล้านบาท แต่รายจ่ายก็เพิ่มขึ้น เป็น 5,848 ล้านบาท ทำให้ขาดทุนสุทธิ เท่าๆกับปีก่อนหน้า คือที่ 861 ล้านบาท

ยอดขายของ MG ยังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2561 ยอดรายได้รวม อยู่ที่ 7,579 ล้านบาท รายจ่ายเพิ่มขึ้นเป็น 8,163 ล้านบาท ทำให้ยังขาดทุนอยู่ แต่ลดลงจากปีก่อน เหลือที่ 662 ล้านบาท

แต่ในปี 2561 ซึ่งน่าจะถือว่า เป็นปีทองของ MG เพราะรายได้รวม กระโดดขึ้นไปเป็น 18,097 ล้านบาท รายจ่าย น้อยกว่ารายได้เป็นครั้งแรก คือที่ 17,740 ล้านบาท ทำให้บริษัท สามารถทำกำไรเป็นครั้งแรก ตั้งแต่ก่อตั้งบริษัทมา 5 ปี โดยมีกำไรสุทธิ อยู่ที่ 369 ล้านบาท จึงไม่น่าแปลกใจ ที่บริษัทเริ่มทำการตลาดแบบเข้มข้น ด้วยการเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่มากขึ้น ในช่วงหลัง

นั่นทำให้ช่วงระยะเวลา 6 ปีนี้ MG Sales ประเทศไทย มีรายได้รวมทั้งสิ้น 33,572,673,333 บาท ขาดทุนสะสมรวม 2,247,919,813 บาท

อย่างไรก็ตาม การที่ MG จำหน่ายรถกระบะ Extender ได้ต่ำกว่าเป้ายอดขายอยู่มาก ในขณะที่มีการลงทุนการผลิต เป็นเม็ดเงินก้อนโต ทำให้ในปี 2562 และ 2563 บริษัท SAIC Motor CP อาจจะมีรายจ่ายเพิ่มขึ้นมาก ในขณะที่รายได้รวม อาจจะไม่เป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้ ผลประกอบการที่กำลังจะออกมา คาดว่าตัวเลข น่าจะยังติดลบต่อไป ใน 1-2 ปีจากนี้ คือปี 2562 และ 2563 จากค่าใช้จ่ายในการขึ้นสายการผลิต Extender และค่าบริหารจัดการต่างๆที่เกี่ยวข้อง

ส่วนผลประกอบการของ MG Sales ประเทศไทย ก็น่าจะเป็นบวกต่อเนื่อง หากไม่มีค่าใช้จ่ายหลัก ที่เกี่ยวข้องกับการผลิตรถยนต์ หมายความว่า หากไม่มียอดขาย ก็ไม่ต้องทำการสั่งซื้อรถยนต์ จาก SAIC Motor CP ทำให้ในแง่ของตัวเลขทางธุรกิจของ MG Sales ประเทศไทย ก็น่าจะยังเป็นบวก ในปีต่อๆไป เพราะรถยนต์ของ MG ก็ได้รับความนิยมมากขึ้น และยังมีการเพิ่มไลน์อัพ ที่จำหน่ายมากขึ้นทุกปี

ในภาพรวมแล้ว MG น่าจะไปได้ดี ในตลาดเมืองไทย และถ้าเริ่มมีการส่งออก อย่างเต็มกำลัง ก็อาจจะทำให้ยอดขาย พุ่งสูงขึ้นมากกว่านี้ แต่จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ในขณะนี้ คาดว่าจะส่งผลกระทบในด้านลบ กับบริษัทพอสมควร หากยังไม่สามารถ ระงับการแพร่ระบาดได้ อีกทั้งการมีโจทย์สำคัญ ที่จะต้องแก้ไขมาจากปีก่อน นั่นก็คือยอดขายของ MG Extender ที่ต่ำกว่าเป้าอยู่มาก ทำให้อย่างน้อย 1-2 ปีจากนี้ MG ก็อาจจะยังทรงตัว ในเรื่องการทำกำไร หรือขาดทุนอยู่บ้าง แต่โดยรวมแล้ว ถือว่า MG มีอนาคตที่ดีในเมืองไทย และน่าจะเป็นผู้เล่นสำคัญ ในตลาดยานยนต์ของไทยต่อจากนี้

Leave a Reply