TOYOTA มีทางออกจากการบุกตลาดของค่ายรถยนต์จีนแล้ว เมื่อตลาดใหญ่อย่างสหรัฐอเมริกาช่วยพยุงยอดขายเอาไว้ ลุ้นทรัมป์กลับมายิ่งใหญ่อีกครั้ง เกมในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าอาจจะเปลี่ยนไป แต่ในเมืองไทย สถานการณ์อาจจะแตกต่างกัน
บริษัทโตโยต้า มอเตอร์ วางแผนที่จะเปิดตัวรถยนต์รุ่นหลักๆทั้งหมดในสหรัฐฯเป็นเวอร์ชั่นไฮบริดภายในปี 2030 โดยจะเพิ่มการเดิมพันให้กับยานยนต์ประเภทนี้มากขึ้น จากความไม่แน่นอนในตลาดรถยนต์ไฟฟ้า
ในงานทดลองขับที่สำนักงานใหญ่ของโตโยต้าในอเมริกาเหนือเมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา ซึ่งถือว่าเป็นครั้งแรกในรอบหลายปี ที่รถยนต์ที่นำมาจัดแสดง 26 รุ่น เป็นรถยนต์ไฮบริดถึงครึ่งหนึ่ง มีเพียง 2 รุ่นเท่านั้น ที่เป็นรถยนต์ไฟฟ้า
แผนดังกล่าวคือการนำเสนอตัวเลือกที่เป็นเวอร์ชั่นไฮบริดให้กับรุ่นสำคัญทั้งหมด ภายในปี 2030 เควิน บัตต์ ผู้อำนวยการด้านความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมระดับภูมิภาคของ Toyota Motor อเมริกาเหนือกล่าว
รถยนต์รุ่นสำคัญหลายรุ่นของ Toyota มีจำหน่ายในเวอร์ชั่นไฮบริดแล้ว โดยรถซีดาน Camry รที่ได้รับความนิยมมีจำหน่ายเฉพาะแบบไฮบริดเมื่อมีการอัพเกรดในฤดูใบไม้ผลิปีนี้ ส่วนรถยนต์เอสยูวี Crown Signia ที่จะเปิดตัวในปีนี้ จะทำตลาดเฉพาะเวอร์ชั่นไฮบริดเท่านั้น
ในปีนี้ โตโยต้าขายรถยนต์ Camry รุ่นใหม่ได้มากกว่า 50,000 คันไปแล้ว เพิ่มขึ้นสี่เท่าจากยอดขายในปี 2023 ยอดขายรถยนต์ไฮบริดโดยรวมในสหรัฐอเมริกาพุ่งสูงขึ้นถึง 66% ในช่วงครึ่งปีแรกโดยจำหน่ายไปได้ 410,000 คัน รถยนต์ไฮบริดคิดเป็น 33% ของยอดขายรถยนต์ในอเมริกาเหนือในช่วงเดือนมกราคมถึงพฤษภาคม เพิ่มขึ้น 6 เปอร์เซ็นต์จากยอดขายในปี 2023
โตโยต้าและ Lexus มีส่วนแบ่งการตลาดรถยนต์ไฮบริดในสหรัฐฯ เกือบ 60% ผู้ผลิตรถยนต์สัญชาติญี่ปุ่นรายนี้มีแผนที่จะใช้จุดแข็งนี้ขยายตลาดต่อไป เนื่องจากยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าในสหรัฐฯ เติบโตช้าลง
ตั้งแต่ปี 2023 เป็นต้นมา อัตราเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยที่สูง ทำให้ผู้ที่ต้องการซื้อรถยนต์ไฟฟ้าที่มีราคาค่อนข้างแพงลังเลใจ นอกจากนี้ ความต้องการจากกลุ่มลูกค้าที่เป็นผู้นำกระแสก็ลดลงเช่นกัน
รถยนต์ไฮบริดซึ่งประหยัดน้ำมันมากกว่ารถเครื่องยนต์เบนซิน กลับมาได้รับความนิยมมากขึ้น รถยนต์ประเภทนี้มีราคาถูกกว่ารถยนต์ไฟฟ้าราว 20% โดยเฉลี่ย และไม่จำกัดระยะทางในการขับขี่เหมือนรถยนต์ไฟฟ้า ตามข้อมูลของ Cox Automotive รถยนต์ไฮบริดคิดเป็น 9% ของยอดขายรถยนต์ใหม่ในสหรัฐฯ ในเดือนมกราคม เมื่อเทียบกับ 7% ของรถยนต์ไฟฟ้า
Mike Ramsey จาก Gartner คาดการณ์ว่ายอดขายรถยนต์ไฮบริดจะยังคงแซงหน้ายอดขายรถยนต์ EV ในสหรัฐฯ ไปอีกสักระยะหนึ่ง
เพื่อตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงนี้ ในเดือนมีนาคม รัฐบาลสหรัฐฯ ได้ลดเป้าหมายของยอดขายรถยนต์ใหม่ที่เป็นรถยนต์ไฟฟ้าให้เหลือ 67% ภายในปี 2032 ลง และขณะนี้ รัฐบาลสหรัฐฯ ตั้งเป้าว่ารถยนต์ไฟฟ้าจะมีสัดส่วนอย่างน้อย 35% และรถยนต์ไฮบริด ซึ่งไม่ได้รวมอยู่ในเป้าหมายเดิม จะมีสัดส่วนอย่างน้อย 13%
การที่รัฐบาลอเมริกันสนับสนุนรถยนต์ไฮบริดให้เป็นทางเลือกที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมช่วยหนุนให้โตโยต้าเดินหน้าต่อไปได้ โดยผู้ผลิตรถยนต์รายนี้สร้างยอดขายรถยนต์ในอเมริกาเหนือได้ 40% จากรถยนต์ที่ใช้ระบบขับคลื่่อนไฟฟ้า ทั้งรถยนต์ไฟฟ้าล้วนและรถยนต์ไฮบริด โดยมีรถยนต์ไฮบริดถือเป็นกุญแจสำคัญในการบรรลุเป้าหมายในการเพิ่มสัดส่วนขึ้นไปเป็นประมาณ 80% ภายในปี 2030
ส่วนแบ่งการตลาดรถยนต์นั่งส่วนบุคคลของโตโยต้าในอเมริกาเหนืออยู่ที่ 15% ในช่วงเดือนมกราคมถึงมิถุนายนที่ผ่านมา เป็นรองเพียงเจเนอรัล มอเตอร์สที่ทำได้ที่ 16% ในขณะที่ฟอร์ด มอเตอร์ ฮุนได มอเตอร์ และฮอนด้า มอเตอร์ อยู่ในห้าอันดับแรก
หลังจากการเปลี่ยนแปลงนโยบายของรัฐบาลสหรัฐฯ GM และ Ford ที่เคยมุ่งเน้นเฉพาะรถยนต์ไฟฟ้า ได้หันมาให้ความสำคัญกับรถยนต์ไฮบริดและรถยนต์ปลั๊กอินไฮบริด อย่างไรก็ตาม GM ไม่มีรถยนต์ทั้งสองประเภทในกลุ่มผลิตภัณฑ์ปัจจุบัน และยอดขายรถยนต์ไฮบริดของ Ford มีเพียงหนึ่งในห้าของยอดขายของ Toyota
คู่แข่งรายใหญ่ที่สุดของโตโยต้าคือฮอนด้า แต่ส่วนแบ่งการตลาดไฮบริดของฮอนด้ามีเพียง 20% เท่านั้น “เราไม่มีขนาดใหญ่เพียงพอที่จะผลิตยานยนต์ไฮบริดออกมาโดยเฉพาะเหมือนกับโตโยต้า” ผู้บริหารของฮอนด้ากล่าว
ส่วนแบ่งการตลาดที่มากของโตโยต้าสะท้อนถึงประวัติศาสตร์ของบริษัทในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา Prius รุ่นแรก ซึ่งเป็นรถยนต์ไฮบริดที่ผลิตแบบ mass production รุ่นแรก เปิดตัวในปี 1997 และเริ่มจำหน่ายในอเมริกาเหนือในปี 2000 การเป็นรุ่นแรกที่ออกสู่ตลาดทำให้รถยนต์รุ่นนี้กลายเป็นชื่อเรียกรถยนต์ไฮบริดในสหรัฐอเมริกา
รถยนต์ไฮบริดกลายมาเป็นแหล่งกำไรที่สำคัญนับตั้งแต่นั้นมา หลังจากผ่านการพัฒนาด้านเทคโนโลยีมาเป็นเวลานาน ผู้บริหารระดับสูงของโตโยต้ากล่าวว่าระบบและการดำเนินการที่เกี่ยวข้องทั้งหมดได้ทำให้ต้นทุนลดลงจนยิ่งผลิตรถยนต์ไฮบริดได้มากเท่าไร ก็ยิ่งทำกำไรได้มากขึ้นเท่านั้น
รถยนต์ SUV ไฮบริดบางรุ่นที่ขายในอเมริกาเหนือ มีกำไรต่อคัน สูงกว่ารถรุ่นที่ใช้เครื่องยนต์เบนซินถึง 10%
ตลาดอเมริกาเหนือมีความสำคัญต่อโตโยต้ามากขึ้นเรื่อยๆ ในประเทศญี่ปุ่น เกิดเรื่องอื้อฉาวเกี่ยวกับการทุจริตการรับรองคุณภาพหลายครั้งในกลุ่มบริษัท ส่งผลให้ต้องระงับการผลิตยานยนต์รุ่นเรือธงเป็นเวลานาน ธุรกิจในจีนชะลอตัวลงท่ามกลางการแข่งขันของรถยนต์ไฟฟ้าที่เข้มข้นขึ้น ขณะที่ในตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ผู้ผลิตรถยนต์จีนได้เริ่มเดินเกมรุกในการส่งออก
ยอดขายรถยนต์ยี่ห้อโตโยต้าและเล็กซัสในสหรัฐอเมริกาอยู่ที่ประมาณ 2.7 ล้านคันในสิ้นปีงบประมาณเมื่อเดือนมีนาคม คิดเป็นเกือบ 30% ของรถยนต์ทั้งหมด กำไรจากการดำเนินงานของบริษัทในประเทศ รวมถึงการส่งออก คาดว่าจะอยู่ที่ 30% ถึง 50%
นอกจากนี้ โตโยต้ายังรุกตลาดรถยนต์ไฟฟ้า โดยยังตามหลังผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ เช่น เทสลา แต่การที่โตโยต้าจะรักษาสมดุลระหว่างธุรกิจรถยนต์ไฮบริดและรถยนต์ไฟฟ้าได้อย่างไรนั้น น่าจะขึ้นอยู่กับผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในเดือนพฤศจิกายน
อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ และผู้ได้รับการเสนอชื่อจากพรรครีพับลิกัน โดนัลด์ ทรัมป์ มีปากเสียงกับรัฐแคลิฟอร์เนียเกี่ยวกับรถยนต์ไฟฟ้าในช่วงที่เขาดำรงตำแหน่ง และปัจจุบันคัดค้านความพยายามของรัฐบาลไบเดนที่จะส่งเสริมรถยนต์ไฟฟ้า นโยบายของพรรครีพับลิกันได้รวมถึงการเรียกร้องให้ “ยกเลิกกฎหมายรถยนต์ไฟฟ้าและลดกฎระเบียบที่มีค่าใช้จ่ายสูงและเป็นภาระ”
หลายคนคาดหวังว่าทรัมป์จะยังคงมีท่าทีต่อต้านรถยนต์ไฟฟ้า ต่อไป หากเขาชนะการเลือกตั้งในเดือนพฤศจิกายน แต่ล่าสุดเขากลับมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับอีลอน มัสก์ และบางคนมองว่าซีอีโอของ Tesla กำลังทำให้ทัศนคติของทรัมป์อ่อนลง
มัสก์และทรัมป์พบกันในเดือนมีนาคมและยังคงมีการติดต่อสื่อสารกันอย่างสม่ำเสมอ มัสก์แสดงการสนับสนุนทรัมป์หลังจากความพยายามลอบสังหารเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคมที่ผ่านมา นอกจากนี้ เขายังวางแผนที่จะมอบเงินประมาณ 45 ล้านดอลลาร์ต่อเดือน ให้กับองค์กรที่สนับสนุนทรัมป์ ตามรายงานเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา
แผนงานด้านเศรษฐกิจของทรัมป์อาจส่งผลกระทบต่อโตโยต้ามากกว่าแค่รถยนต์ไฟฟ้า โตโยต้าเคยบริจาคเงินให้กับผู้สมัครพรรครีพับลิกัน แต่ในปี 2017 ผู้ผลิตรถยนต์รายนี้กลับทำให้ทรัมป์ไม่พอใจแผนการสร้างโรงงานใหม่ในเม็กซิโก เพื่อส่งออกรถยนต์ไปยังสหรัฐอเมริกา และสุดท้ายก็นำไปสู่ลดการลงทุนลง
ปัจจุบันโตโยต้านำเข้ารถยนต์ไฮบริดและชิ้นส่วนต่างๆ ที่จำหน่ายในสหรัฐอเมริกา “หากทรัมป์ชนะการเลือกตั้งและกำหนดภาษีศุลกากรที่สูง ห่วงโซ่อุปทานของสหรัฐฯ อาจเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก” ผู้บริหารของโตโยต้ากล่าว
หากสถานการณ์ต่างๆเป็นไปตามที่นิคเกอินำเสนอ น่าจะส่งผลดีกับ Toyota เป็นอย่างมาก เพราะอย่างน้อยก็มีทางออกให้กับบริษัทโดยรวม เพราะสหรัฐถือว่าเป็นตลาดรถยนต์ขนาดใหญ่ อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ในเมืองไทยอาจจะแตกต่างออกไปเพราะรัฐบาลไทยไม่ได้มีมาตรการกีดกันทางการค้าจีนเหมือนในยุโรปหรือสหรัฐอเมริกา อีกทั้งค่ายรถยนต์จีน ก็ยังใช้การทำสงครามราคาในการชิงส่วนแบ่งตลาดจากค่ายรถยนต์ญี่ปุ่น จนทำให้บางค่ายต้องยุติสายการผลิตหรือลดกำลังการผลิตในไทยลงไป
ที่มา: Nikkei Asia