วิกฤตเริ่มขึ้นแล้ว EV จีนกำลังทำลายตลาดรถปิกอัพของไทย ทั้งๆที่ยังตลาดรถปิกอัพไฟฟ้ายังไม่เกิดขึ้น

ผู้เชี่ยวชาญชี้ รถยนต์ไฟฟ้าจีน จะส่งผลมากกว่าที่คิด ตลาดรถกระบะปิกอัพในไทย อาจจะได้รับกระทบหนัก ทั้งๆที่ยังไม่มีการเปิดตัวรถกระบะไฟฟ้าด้วยซ้ำ ผู้ประกอบการบางราย อาจจะต้องปิดกิจการไปก่อน

งานมอเตอร์โชว์ปีนี้ ผ่านไปด้วยดี พร้อมการออกมาเปิดเผยยอดจองรถยนต์ของ BYD ในวันสุดท้าย ซึ่งทำได้ที่ 5,345 คัน เป็นรองแค่เพียง Toyota ซึ่งทำได้ที่ 8,540 คัน ด้วยจำนวนรุ่นรถยนต์ที่จำหน่ายมากกว่าทุกแบรนด์ในตลาด แต่ก็คงไม่ใช่สัญญาณที่ดี กับทั้ง Toyota และค่ายรถยนต์อื่นๆ ที่ไม่ใช่สัญชาติจีน เพราะหากดูจากยอดจองของแต่ละค่ายแล้ว จะพบว่า ค่ายรถยนต์จากจีนทั้งเก่าและใหม่ ต่างทำผลงานได้ดีถ้วนหน้า แม้แต่แบรนด์ใหม่พรีเมี่ยมอย่าง XPeng และ Zeekr ก็ยังมีคนทำการจอง ถึง 188 และ 398 คันตามลำดับ ส่วนแบรนด์จีนอื่นๆ มียอดจองดังนี้ MG 3,518 คัน Changan 3,073 คัน AION 3,018 คัน Great Wall Motor 2,815 คัน NETA 1,618 คัน รวมยอดจองรถยนต์จีนทั้งสิ้น 19,973 คัน จากยอดจองทั้งงาน 53,438 คัน หรือคิดเป็น 37.4% ซึ่งหากในอนาคต ที่ค่ายจีนแต่ละค่าย จะมีการผลิตรถยนต์ในเมืองไทยมากขึ้น ทำให้ต้นทุนต่ำลง การขยายศูนย์บริการเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับลูกค้ามากขึ้น และการทำสงครามราคา อย่างที่เราเห็นกันมาตลอด จึงพอจะคาดการณ์ได้ว่า ส่วนแบ่งการตลาดของรถยนต์จากจีน จะเพิ่มสูงขึ้นอีกอย่างมีนัยยะสำคัญ ซึ่งผลที่ตามมา จะทำให้ลูกค้ามีทางเลือกมากขึ้น และเข้าถึงสินค้าประเภทนี้ได้ง่ายขึ้นกว่าแต่ก่อน อย่างไรก็ตาม เมื่อมองในภาพรวมแล้ว เศรษฐกิจไทย อาจจะได้รับผลกระทบในระยะยาว หากการลงทุนจากค่ายรถยนต์สัญชาติจีน ไม่ได้ช่วยสร้างเม็ดเงินให้กับประเทศอย่างแท้จริง แต่เป็นดำเนินธุรกิจ ด้วยการสร้างโรงงานเพื่อเจาะตลาดภายในประเทศเท่านั้น ไม่ได้เน้นการส่งออก ที่สำคัญ การลงทุนที่เกิดขึ้นในไทย เม็ดเงินส่วนใหญ่ ยังถูกส่งกลับไปยังนายทุนดังเดิม ซึ่งเป็นมุมมองจาก KKP Research โดยกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร ที่ฉายภาพให้เห็นว่า EV เป็นเพียงจุดเริ่มต้น และไม่ใช่สาเหตุเดียวของการเปลี่ยนแปลง ที่จะกระทบต่ออุตสาหกรรมยานยนต์ไทย แต่ยังส่งผลกระทบลามเป็นวงกว้าง ไปยังตลาดรถกระบะปิกอัพ เกิดความเสี่ยงที่ผู้ประกอบการไทย จะไปไม่รอด นำไปสู่การปิดกิจการในที่สุด

งานวิจัยดังกล่าวระบุว่า การรุกคืบในการชิงส่วนแบ่งตลาดรถยนต์ของผู้ประกอบการจากประเทศจีน ที่มีกำลังการผลิตส่วนเกิน และมีความสามารถในการแข่งขันด้านราคา ได้ผลักดันให้ยานยนต์จีน มีบทบาทเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในเวทีโลก โดย EV เป็นเพียงหนึ่งในจุดเปลี่ยนที่เร่งแนวโน้มดังกล่าว การก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำตลาดของอุตสาหกรรมรถยนต์จีน จะสร้างแรงกระเพื่อม มายังเศรษฐกิจและยานยนต์ไทยมากขึ้น โดยผลกระทบต่อตลาดรถยนต์ จะไม่ได้จำกัดอยู่เพียงแค่กลุ่มรถยนต์นั่งส่วนบุคคล ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจาก EV แต่จะขยายวงกว้างไปยังตลาดรถ “กระบะปิกอัพ” ซึ่งเป็นหัวใจหลัก ของธุรกิจยานยนต์ไทย และตลาดส่งออกของไทยอีกด้วย เมื่อพิจารณาโครงสร้างการส่งออกรถยนต์ของจีนไปทั่วโลก จะพบว่า จีนส่งออกทั้ง EV และรถยนต์สันดาปภายใน (ICE) โดย EV คิดเป็นสัดส่วนเพียงประมาณ 30% ของการส่งออกรถยนต์ทั้งหมดจากจีนเท่านั้น ในขณะที่อีก 70% ที่เหลือ เป็นรถยนต์สันดาปภายใน ที่มีการส่งออก “ปิกอัพ” รวมอยู่ด้วย ซึ่งคาดว่า ในอนาคต จะเป็นคู่แข่งโดยตรง ในตลาดส่งออกรถปิกอัพสำคัญของยานยนต์ไทย โดยเริ่มที่จะเห็นสัญญาณชัดเจนขึ้น ในตลาดออสเตรเลีย ในปี 2023 ที่รถกระบะปิกอัพของจีน สามารถแย่งส่วนแบ่งตลาด ได้มากถึง 8% ของยอดขายกลุ่มรถยนต์เชิงพาณิชย์ทั้งหมด ของออสเตรเลีย ภายในเวลาเพียง 2-3 ปีเท่านั้น ดังนั้น ผลกระทบต่อการส่งออกปิกอัพไทย จึงมีแนวโน้มเกิดขึ้นได้เร็ว แม้ยังไม่มีการเปิดตัวรถปิกอัพไฟฟ้าก็ตาม

งานศึกษาของ KKP ยังระบุอีกว่า การลงทุนจากต่างประเทศในวงการอุตสาหกรรมรถยนต์ครั้งนี้ไม่เหมือนกับในยุคทศวรรษ 1980 เพราะการลงทุนของจีน อาจไม่ช่วยต่อยอดยานยนต์ไทย การเข้ามาของทุนจีนในปัจจุบัน เป็นไปเพื่อใช้กำลังการผลิตส่วนเกินในจีนมาเจาะตลาดภายในประเทศ มากกว่าการมาใช้ไทยเป็นฐานการผลิตเพื่อการส่งออก เหมือนอย่างที่ญี่ปุ่นทำในช่วงทศวรรษ 1980 โดยยอดขายรถยนต์ในประเทศจีน มีแนวโน้มที่จะชะลอตัวลงตามภาวะเศรษฐกิจที่ยังไม่มีสัญญาณฟื้นตัว ซึ่งจะกดดันให้มีกำลังการผลิตส่วนเกินเพิ่มมากขึ้น ตลาดส่งออกจึงเป็นทางออกที่สำคัญสำหรับยานยนต์จีน ในการระบายสต็อกรถยนต์ อย่างไรก็ตาม จีนไม่สามารถส่งออกรถยนต์ไปทั่วโลกได้ง่ายนัก ท่ามกลางการแบ่งขั้วมหาอำนาจระหว่างจีนและสหรัฐอเมริกา ที่ส่งผลให้มีการกีดกันสินค้าจากจีนรุนแรงมากขึ้น อีกทั้งยุโรปยังมีแนวโน้มที่จะเพิ่มภาษีการนำเข้ารถยนต์จีนมากขึ้น เพื่อปกป้องอุตสาหกรรมยานยนต์ของยุโรป ส่งผลให้ภูมิภาคอาเซียน กลายเป็นเป้าหมายหลักถัดไปสำหรับการระบายรถยนต์จีน โดยเฉพาะประเทศไทย ที่มีมาตรการให้เงินสนับสนุนการซื้อ EV และยังยกเว้นภาษีนำเข้ารถยนต์จีนผ่านสิทธิประโยชน์ทางภาษีจาก China-ASEAN FTA ซึ่งไทยเป็นเพียงไม่กี่ประเทศที่เปิดให้นำเข้ารถไฟฟ้า นอกจากนี้ การลงทุนของจีน อาจสร้างความกังวลให้กับอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยมากขึ้น ด้วยปัจจัยภายใต้ภาวะอุปสงค์และอุปทานตลาดรถยนต์ของไทยที่ปรับตัวแย่ลง ได้แก่

(1) ตลาดรถยนต์ในประเทศของไทยได้ผ่านจุดสูงสุดและเริ่มเข้าสู่ภาวะชะลอตัวนับตั้งแต่ปี 2018 ซึ่งส่งผลให้ยอดขายรถยนต์ภายในประเทศ จะเปลี่ยนเป็นทิศทางขาลงต่อเนื่อง และในอนาคต มีแนวโน้มไม่สามารถรองรับ EV จีน ที่จะทะลักเข้ามาในตลาด และที่กำลังจะมีการผลิตภายในประเทศได้ทั้งหมด ทางออกที่สำคัญ คือความสามารถในการส่งออก EV จากไทย ไปยังประเทศอื่นที่จะช่วยพยุงอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยต่อไปได้

อย่างไรก็ตาม ก็ต้องเจอกับอุปสรรคในข้อ 2 ซึ่งก็คือไทยต้องแข่งกับจีนโดยตรงในตลาดส่งออกรถยนต์ในต่างประเทศ จากการที่ผู้ประกอบการจีนมีการส่งออกและเข้าไปลงทุนในอุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศต่าง ๆ โดยตรง จะกดดันให้ส่วนแบ่งตลาดการส่งออกรถยนต์ของไทยมีขนาดเล็กลง ทำให้โอกาสสำหรับไทยในการเป็นผู้นำส่งออกรถยนต์ EV มีความท้าทายมากขึ้น เรื่องนี้เห็นได้จากการที่ BYD ได้เข้าไปสร้างโรงงานในอินโดนีเซีย และมีข่าวเตรียมสร้างโรงงานในเวียดนามเช่นกัน

  1. มูลค่าเพิ่มภายในประเทศ (domestic value add) ที่ไทยจะได้รับจากการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า 1 คัน ต่ำกว่าการผลิตรถยนต์เครื่องยนต์สันดาปภายในอย่างมาก จากการที่ต้องพึ่งพาการนำเข้าชิ้นส่วนสำคัญจากต่างประเทศ ในขณะที่ในกลุ่มสินค้าเดิมที่ไทยสามารถผลิตได้ มีแนวโน้มต้องลดราคาเพื่อแข่งกับผู้ประกอบการจีน เพราะบริษัทจีนสามารถนำเข้าโดยตรงจากจีน ด้วยต้นทุนที่ถูกกว่าไทยมาก ทำให้ถึงแม้จะมีการตั้งโรงงานผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในไทย แต่ประโยชน์ที่ไทยจะได้รับจากการผลิตรถยนต์ จะน้อยกว่าในอดีต

แล้ววิกฤตยานยนต์กำลังเกิดขึ้น สายเกินแก้แล้วหรือไม่ KKP Research มองว่า

การเปลี่ยนผ่านของตลาดรถยนต์ทั่วโลก ยังคงมีความไม่แน่นอนสูง นั่นอาจจะหมายถึงโอกาสสำหรับไทยในการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลง โดยยอดขายรถยนต์ไฟฟ้า (Battery Electric Vehicle: BEV) เริ่มชะลอตัวลงทั่วโลก แต่ยอดขายรถยนต์ไฮบริด (Hybrid Vehicles) กลับขยายตัวได้มากขึ้น สาเหตุหลักมาจากข้อจำกัดหลายด้าน ทั้งความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ และความไม่แน่นอนของเทคโนโลยี ทำให้ยังไม่สามารถชี้ชัดได้ว่า ใครจะเป็นผู้นำตลาดรถยนต์ยุคใหม่ที่แท้จริง และอาจช่วยยืดเวลาสำหรับรถยนต์สันดาปภายในได้อีกระยะหนึ่ง

นอกจากนี้มีความเป็นไปได้สูงว่า ค่ายรถจีนจะเข้ามาลงทุนในไทยต่อเนื่อง เพื่อดันไทยเป็นหนึ่งในฐานการส่งออก หากการกีดกันสินค้าจากสหรัฐอเมริกาและประเทศตะวันตกรุนแรงมากขึ้น ซึ่งถือเป็นโอกาสที่อาจเอื้อให้เกิดการโอนถ่ายความรู้เทคโนโลยีให้กับไทยได้ อย่างไรก็ตาม นโยบายสนับสนุน EV ในปัจจุบัน เอื้อต่อการเน้นการนำเข้าชิ้นส่วนเข้ามาประกอบภายในประเทศมากกว่า ซึ่งจะส่งผลให้มูลค่าเพิ่มที่ไทยได้รับจากการผลิต EV ลดลงมากกว่าครึ่ง เมื่อเทียบกับการผลิตรถยนต์สันดาปภายใน

ภาครัฐจึงควรให้ความสำคัญกับการพัฒนาศักยภาพด้านเทคโนโลยีของผู้ประกอบการไทยอย่างเร่งด่วน ซึ่งเป็นรากฐานที่สำคัญที่สุดในการแข่งขันของอุตสาหกรรมยานยนต์ในปัจจุบันและอนาคต หากต้องการที่จะรักษาความเป็นผู้นำในภาคยานยนต์ไว้ และอาจจำเป็นต้องมีการทบทวนมาตรการด้านการให้เงินอุดหนุน EV เพื่อลดการบิดเบือนโครงสร้างและราคาในตลาดรถยนต์

รวมถึงการเพิ่มความเข้มงวดในการกำหนดและตรวจวัดสัดส่วนการใช้วัตถุดิบภายในประเทศ (Local content ratio) เพื่อซื้อเวลาให้ภาคยานยนต์ในระยะสั้น และเพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ไทยให้ยังคงได้รับประโยชน์และมีเวลาปรับตัวรับมือกับการเปลี่ยนแปลงนี้ได้ในระยะยาว

โรงงานรถยนต์และชิ้นส่วนเสี่ยงปิดตัวสูงหากปล่อยตามกลไกตลาด สถานการณ์ปัจจุบันมีโอกาสสูงที่จะนำไปสู่การปิดโรงงานผลิตรถยนต์ของบางราย ที่ไม่สามารถอยู่รอดได้ในสมรภูมิใหม่ หากภาครัฐปล่อยไปตามกลไกการแข่งขันในปัจจุบัน

ค่ายรถยนต์ญี่ปุ่นหลายค่ายได้เสียส่วนแบ่งตลาดในไทยให้กับ EV จีนมากกว่า 10% ภายในระยะเวลา 1 ปีที่ผ่านมา ส่งผลให้สต็อกรถยนต์ ICE เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และกำลังการผลิตรถยนต์ใช้น้ำมัน เริ่มปรับลดลง แต่โดยรวมยังไม่สามารถลดกำลังการผลิตได้มากนัก จากข้อจำกัดเรื่องต้นทุนคงที่ (Fixed cost) ซึ่งมีขนาดใหญ่ ที่จะส่งผลให้เกิดการแข่งขันด้านราคาเพื่อระบายสินค้า และกดดันอัตรากำไรของบริษัทยานยนต์ในประเทศ

อย่างไรก็ดี ค่ายรถยนต์บางรายอาจไม่สามารถสู้การตัดราคาขายแข่งได้และมีแนวโน้มขาดทุน ซึ่งมีความเสี่ยงมากขึ้น ที่จะเกิดการปิดตัวของโรงงานผลิตรถยนต์บางแห่ง คล้ายกับสถานการณ์ที่ค่ายรถญี่ปุ่น ต้องเผชิญในประเทศจีน ซึ่งหากมีบริษัทจำเป็นต้องปิดตัว ก็จะส่งผลเพิ่มเติม ต่อการจ้างงาน และเศรษฐกิจไทยในวงกว้างมากขึ้น ในปี 2024 จึงอาจจะเป็นปีแห่งการเปลี่ยนแปลงที่แท้จริงของตลาดยานยนต์ไทย ที่ในท้ายที่สุด จะส่งผลมายังเศรษฐกิจของโดยรวม ว่าบวกลบคูณหารแล้ว จะรุ่ง หรือจะร่วง