เผยโฉมออกมาอย่างไม่เป็นทางการ สำหรับรถกระบะปิกอัพรุ่นแรกจาก BYD คาด ใช้ชื่อรุ่นว่า Shark ในการทำตลาด สถิติล่าสุดชี้ สงครามราคา คือแนวทางของ BYD งานนี้เจ้าตลาดอย่าง ISUZU TOYOTA และ Ford เจอโจทย์ยาก แต่ค่ายยักษ์ใหญ่จากจีน ยังต้องพิสูจน์ในเรื่องการใช้งาน
GWM เป็นค่ายรถยนต์รายแรก ที่ทำการเปิดตัวรถกระบะปิกอัพระบบขับเคลื่อน Plug-in Hybrid ในเมืองไทย ด้วยรุ่น Poer Sahar ที่เปิดให้จองไปแล้วใน งาน Bangkok Motor Show ที่ผ่านมา ซึ่งได้รับความสนใจจากผู้เข้าชมงานพอสมควร และก็คงมีคำถามกันด้วยว่า รถกระบะน้องใหม่ ที่ใช้ระบบขับเคลื่อนไฮบริดประเภทนี้ จะได้รับการตอบรับจากตลาดมากน้อยแค่ไหน ซึ่งหากเป็นระบบเดิม ที่ใช้เครื่องยนต์สันดาปภายใน หลายคนอาจจะบอกว่า คาดเดาได้ไม่ยากว่า Poer Sahar อาจจะตกอยู่ในสภาพที่ไม่แตกต่างไปจาก MG Extender ที่ถือว่าล้มเหลวในการทำตลาดก็ว่าได้ เพราะเป้าหมายยอดขายที่ตั้งเอาไว้ คือ 1,600 คัน/ต่อเดือน แต่ในความเป็นจริง สามารถจำหน่ายไปได้ เพียงเดือนละไม่กี่สิบคันเท่านั้น ยิ่งตลาดรถเชิงพาณิชย์กำลังหดตัวลงอย่างหนัก ก็ดูเหมือนว่า Extender แทบหายไปจากตลาด และนั่นจึงอาจจะเป็นเหตุผลที่ว่า หลายค่ายน้องใหม่ จึงต้องสร้างความแตกต่าง เพื่อให้เป็นจุดขายสำหรับรถกระบะปิกอัพของตัวเอง บางค่ายอย่าง Peugeot ที่มีแผนเปิดตัวรถกระบะปิกอัพ เมื่อ 1-2 ปีก่อน ก็ยังไม่มีวี่แววว่า จะเข้ามาบุกตลาดนี้แต่อย่างใด การเปิดตลาดใหม่ ในเซกเมนต์ของรถกระบะ Pure pickup จึงได้รับการจับตามองจากผู้เล่นในตลาดอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะเจ้าตลาดอย่าง ISUZU และ TOYOTA อย่างไรก็ตาม ความสนใจ กลับมุ่งไปสู่ผู้ที่เข้ามาทำให้ตลาดรถยนต์ของเมืองไทย ต้องปั่นป่วนไปตามๆกัน นั่นก็คือ BYD ที่ประสบความสำเร็จในตลาดรถยนต์นั่งไปแล้ว การเตรียมเข้ามาบุกตลาดรถกระบะขนาด 1 ตัน จึงได้รับการจับตามองมากเป็นพิเศษ แม้ว่าในตอนนี้ จะมีข่าวยืนยันการทำตลาดในต่างประเทศ รวมถึงออสเตรเลีย ไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว แต่เชื่อว่าหลังจากนั้น รถกระบะรุ่นนี้ ที่คาดว่า จะใช้ชื่อรุ่นว่า Shark อาจจะทำให้หลายอย่าง ไม่เป็นเหมือนเดิมอีกต่อไป
หลังจากที่ BYD ได้ปล่อยภาพทีเซอร์ของรถกระบะรุ่นใหม่ ออกมาให้ได้ชมกันไปแล้วในชุดพรางตัว รวมถึงมีภาพ spy shot ที่หลุดออกมาให้เห็นกันบ้างแล้ว ล่าสุด AutoDinamico สื่อยานยนต์จากประเทศเม็กซิโก ได้จับภาพของรถกระบะ BYD รุ่นนี้ได้อีกครั้ง ซึ่งถือว่าเป็นการเผยโฉมอย่างไม่เป็นทางการ ที่ชัดเจนที่สุด เท่าที่เคยมีมา และอย่างที่ได้เกริ่นไปว่า รถกระบะ Plug-In Hybrid รุ่นนี้ คาดว่าจะใช้ชื่อรุ่นว่า Shark ในการทำตลาด จากข่าวลือที่ว่า เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา BYD ได้ทำการยื่นขอจดเครื่องหมายการค้าในชื่อดังกล่าวแล้ว ซึ่งถือว่ามีความเป็นไปได้สูง ที่ข่าวลืออาจจะกลายเป็นความจริง เพราะชื่อ Shark ที่แปลว่าฉลาม ก็ดูสอดคล้องกับชื่อรุ่นรถยนต์อื่นๆของ BYD ที่เป็นชื่อของสัตว์ทะล ไมว่าจะเป็น Dolphin หรือ Seal โดยในคลิปนี้ เราจึงขอใช้ชื่อ Shark แทนรถกระบะ BYD รุ่นนี้ไปก่อน เพื่อความกระชับในการนำเสนอ
BYD Shark มาพร้อมดีไซน์ที่ดูคุ้นตา เพราะหน้าตารูปทรง ดันไปคล้ายกับรถกระบะรุ่นใหญ่ อย่าง Ford F-150 ที่ตัวถังเป็นทรงกล่อง และใช้เส้นสายของไฟหน้า เป็นรูปตัว C เช่นเดียวกับ Ford Ranger ที่เป็นคู่แข่งโดยตรง แต่มีการเพิ่มไฟวิ่ง daytime เข้าไปบริเวณกึ่งกลาง ทำให้มองเป็นตัวอักษร E ก็ได้เช่นกัน แผงกระจังหน้าโดดเด่น ด้วยโลโก้ BYD ขนาดใหญ่ เกือบเต็มพื้นที่ รถต้นแบบ ได้รับการติดตั้งแร็คหลังคา และสปอร์ตบาร์บนกระบะท้าย ซึ่งคาดว่า อาจจะเป็นรุ่นสูงสุด เหมือนกับ Ford Ranger Wildtrak หรือ Toyota Hilux Rogue ในขณะที่ดีไซน์ของโคมไฟท้าย ล้อแบบมาจากชุดไฟหน้า ที่เป็นรูปตัว C เช่นกัน โดยมีการใช้แถบไฟ LED เชื่อมโคมไฟท้ายทั้งสองข้างเข้าไว้ด้วยกัน โดยมีโลโก้ BYD ขนาดใหญ่ บนฝาท้ายกระบะ
ห้องโดยสารภายในของ BYD Shark มาในดีไซน์ที่ดูแข็งแกร่งบึกบึนและทันสมัย สไตล์รถกระบะยุคใหม่ ดูเป็นเหลี่ยมสัน สอดรับกับดีไซน์ภายนอก มาพร้อมจอแสดงผลกลางขนาดใหญ่ และจอแสดงผลการขับขี่แบบดิจิตอล พวงมาลัยเป็นแบบ D-Shape ตัดตรงด้านล่าง ฐานเกียร์ขนาดใหญ่ พร้อมมือจับทั้งสองฝั่ง สำหรับวัสดุหุ้มเบาะนั่ง คาดว่าจะเป็นวัสดุคุณภาพสูง เดินด้ายสีแดง และคาดว่า จะมีหลังคา sunroof มาให้ด้วย แม้ว่าในภาพ จะยังไม่มีให้เห็นก็ตาม สิ่งที่เหลือให้เป็นปริศนาในตอนนี้ ก็คือขุมพลังที่จะถูกนำมาติดตั้ง เพราะตามจุดต่างๆรอบคันของรถต้นแบบ ยังไม่มีโลโก้ตัวอักษรใดๆ นอกจากชื่อยี่ห้อ ที่ระบุรุ่นของรถคันนี้ ซึ่งหากยังเป็นไปตามข่าวลือก่อนหน้า BYD Shark จะถูกแนะนำลงสู่ตลาด ด้วยรุ่น Plug-In Hybrid ก่อน แล้วจึงตามมาด้วยรุ่นไฟฟ้าแบตเตอรี่ หรือ BEV โดยมีการคาดเดาจากสื่อในต่างประเทศว่า BYD Shark PHEV จะมาพร้อมขุมพลังเบนซินไฮบริด ที่ให้ระยะทางวิ่งสูงสุดรวม 1,200 กิโลเมตร โดยในโหมดไฟฟ้าอย่างเดียว ให้ระยะทางวิ่งสูงสุด 100 กิโลเมตร ซึ่ง BYD ได้เคยนำเอาเครื่องยนต์เบนซินความจุ 1.5 ลิตร พร้อมเทอร์โบชาร์จเจอร์ และมอเตอร์ไฟฟ้า ไปใช้ในรุ่น Fangcheng Bao 5 และ Fang Cheng Bao Leopard 5 รถเอสยูวีออฟโรดไปแล้ว ซึ่งให้กำลังสูงสุดรวม ถึง 687 แรงม้า แรงบิดสูงสุด 760 นิวตันเมตร ส่วนรุ่นไฟฟ้าแบตเตอรี่ คาดว่าจะเปิดตัวตามมา ในปี 2025 ซึ่งอย่างหลัง เมืองไทยน่าจะมีสิทธิ์ลุ้นได้ใช้มากกว่า จากมาตรการทางภาษี และการสนับสนุนของภาครัฐ แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับขนาดของตลาด และการตอบรับของลูกค้าด้วย ซึ่ง GWM POER SAHAR น่าจะเป็นเหมือนตัวที่ช่วยกำหนดกลยุทธ์ทางการตลาด ของผู้เล่นที่เหลือรายอื่นๆ รวมถึง BYD
การเข้าสู่ตลาดรถกระบะขนาด 1 ตันของ BYD ด้วยรุ่น PHEV และ BEV เป็นการสร้างจุดขาย ให้แตกต่างไปจากผู้เล่นในตลาด ที่จำหน่ายรถกระบะมานานหลายสิบปี แน่นอนว่า จุดเด่นจริงๆของ BYD ก็คือรุ่น BEV ที่เป็นไฟฟ้า 100% แต่นั่นอาจจะไม่พอที่จะทำให้ BYD Shark ติดตลาดได้ จึงเป็นเรื่องที่คาดเดาได้ไม่ยากว่า ในตลาดรถกระบะขนาด 1 ตัน BYD ก็น่าจะยังเดินหน้าต่อกับกลยุทธ์สงครามราคา เพราะเมื่อดูจากนโยบายที่มีการแถลงข่าวออกมาทั้งในประเทศจีนและไทย ค่ายรถยนต์จีนรายนี้ เชื่อว่าการสร้างส่วนแบ่งทางการตลาดให้ได้มากที่สุด จะทำให้บริษัทสามารถยืนอยู่ในตลาดได้อย่างมั่นคง ไม่ใช่เพราะเรื่องของคุณภาพและราคาที่เอื้อมถึงได้ง่ายเท่านั้น แต่คู่แข่งหลายราย ก็อาจจะหายไปจากตลาด ที่เป็นผลพวงมาจากสงครามราคา ที่เราได้เห็นกันไปนักต่อนักแล้ว ในตลาดของจีน ซึ่งกลยุทธ์สงครามราคา มีน้ำหนักมากขึ้น เมื่อล่าสุด ไกวเทคโนโลยีนิวส์ สำนักข่าวสายเทคโนโลยีของประเทศจีน ได้รายงาน โดยอ้างอิงข้อมูลทางสถิติจากหวันหวันไฟแนนซ์ ว่า BYD ทำกำไรสุทธิเฉลี่ย ที่ 1,250 เหรียญสหรัฐต่อคัน ซึ่งตกอยู่ที่ราว 46,000 บาทเท่านั้น ในขณะที่แบรนด์หรูรถยนต์ไฟฟ้าอย่าง Tesla มีกำไรเฉลี่ย อยู่ที่ 8,250 เหรียญ หรือราว 3 แสนบาทต่อคัน จากกำไรรวมทั้งสิ้น 14,900 ล้านเหรียญ ที่ยอดขายรถยนต์ Tesla ที่ 1.81 ล้านคัน ในปี 2023 ที่ประเทศจีน ชัดเจนว่า BYD ต้องการเน้นไปที่การสร้างส่วนแบ่งทางการตลาด มากกว่าผลกำไร ซึ่งเป็นรูปแบบการทำธุรกิจ ที่มักจะเห็นได้จากบริษัทสัญชาติจีน ที่มักจะนำไปสู่การแข่งขัน แบบพังกันไปข้างหนึ่ง และผู้ชนะ ก็จะได้ผลประโยชน์ก้อนใหญ่ทั้งหมดเป็นรางวัล หลังสงครามจบลง ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดก็คือ ธุรกิจแชร์จักรยาน และบริการส่งอาหารในประเทศจีน ที่ผู้ค้าในธุรกิจเหล่านี้ ล้มหายตายจากกันไปเกือบทั้งหมด เหลือเพียงผู้เล่นในตลาดเพียงไม่กี่รายเท่านั้น และเรากำลังเห็นสภาวะการแข่งขันแบบเดียวกัน ในธุรกิจยานยนต์ระดับโลกด้วย ดังเห็นได้จากการเริ่มทำสงครามราคากันในปีที่ผ่านมา ซึ่งจีนเอง มีบริษัทผู้ผลิต และแบรนด์รถยนต์เป็นจำนวนมาก โดยมีอัตราการใช้กำลังการผลิตเพียง 59% ต่ำกว่าตัวเลขที่เหมาะสม ซึ่งควรจะต้องอยู่ที่ 70-80%
เมื่อปีที่ผ่าน BYD จำหน่ายรถยนต์พลังงานใหม่ในประเทศจีนไปได้ทั้งสิ้น 2,706,075 คัน ตามมาด้วย Tesla 603,664 คัน แม้ว่า BYD จะทำกำไรเฉลี่ยต่อคันได้น้อย แต่ในปี 2023 ที่ผ่านมา กำไรรวมกลับเพิ่มขึ้นจากปีก่อนๆ และหากนับตั้งแต่สิ้นปี 2019 จนถึงตอนนี้ เงินสดสำรองของบริษัท เพิ่มขึ้นมากกว่า 8 เท่าตัวเลยทีเดียว ก่อนปี 2021 กำไรสุทธิต่อรถหนึ่งคัน ติดลบ และแม้ว่ากำไรสุทธิในปีที่ผ่านมาจะเป็นตัวเลขเพียงน้อยนิด แต่ก็ถือว่าเพิ่มขึ้นจากปีก่อนอย่างมีนัยยะสำคัญ โดยมีกำไรสุทธิต่อคันอยู่ที่ 750 เหรียญสหรัฐหรือราว 27,350 บาท/คันในปี 2022
Fast Technology สื่อจีนได้ตั้งคำถามว่า บริษัทยานยนต์ต้องการส่วนแบ่งทางการตลาดหรือผลกำไรมากกว่ากัน สำหรับ BYD ที่มีต้นทุนการผลิตต่อหน่วยต่ำมากๆ และมีแนวทางการทำธุรกิจเชิงลึก ทำให้สามารถทำต้นทุนได้ต่ำมากๆ ในขณะที่บริษัทรถยนต์อื่นๆ โดยเฉพาะในตลาดรถยนต์พลังงานใหม่ อาจจะต้องการทำกำไรต่อคันมากกว่าเพราะทำยอดขายได้น้อย ตั้งแต่ต้นปีนี้เป็นต้นมา BYD ได้เริ่มถล่มคู่แข่งด้วยราคาจำหน่ายที่ต่ำ และเริ่มเปลี่ยนจากสถานะของรถพลังงานใหม่ที่มีราคาเท่าๆกับรถใช้น้ำมัน มาเป็นรถที่มีราคาต่ำกว่าไปแล้ว นั่นทำให้ยอดขายในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา บริษัทสามารถทำยอดขายต่อเดือนได้สูงที่สุดเป็นอันดับ 2 ของบริษัท โดยสถิติสูงสุด เกิดขึ้นในเดือนธันวาคมปี 2023 ที่ผ่านมา ซึ่งสามารถทำยอดขายทะลุ 3 แสนคันต่อเดือนได้เป็นครั้งแรก
การเข้ามาเปิดตลาดรถกระบะปิกอัพของ BYD จึงไม่ใช่เป็นแค่การรุกตลาดใหม่จากค่ายรถยนต์จีน เหมือนอย่าง GWM เท่านั้น แต่ BYD จะพาผู้เล่นต่างๆในตลาด ไปสู่การทำสงครามราคาแบบจำยอม เพราะหากไม่สู้ ก็อาจจะต้องหายไปจากตลาด แต่ถ้าสู้ ก็อาจจะต้องยอมทำกำไรให้น้อยลงกว่าเดิม แต่เชื่อว่าหลายค่าย ก็คงต้องหาทางสร้างจุดขายใหม่แทนการทำสงครามราคา เพราะในระยะยาวแล้ว หลายคนมองออกว่า หากยังจำหน่ายรถยนต์ในราคาต่ำ บริษัทก็ไม่สามารถยืนอยู่ในตลาดไปได้ตลอดรอดฝั่ง งานนี้ถือว่าเป็นโจทย์ยากสำหรับบริษัทยานยนต์ทุกค่าย อย่างไรก็ตาม การแข่งขันกันย่อมทำให้ผู้ซื้อได้รับประโยชน์ โจทย์ที่เหลือให้ลุ้นสำหรับ BYD ก็คือ การใช้งานของ Shark จะสามารถตอบโจทย์ผู้ใช้รถกระบะได้ดีแค่ไหน ซึ่งเวลาจะเป็นเครื่องพิสูจน์ต่อไป ว่า BYD จะสามารถเป็นตัวจริงเสียงจริง เหมือนกับที่ทำได้ในตลาดรถยนต์นั่งหรือไม่