ยุคใหม่ EV กำลังจะเริ่มขึ้น? เมื่อรถแล่นทะลุ 1,000 กม/ชาร์จ เป็นเรื่องธรรมดา จากแบตฯกึ่ง Solid-State

รถยนต์ไฟฟ้า กำลังก้าวไปสู่ยุคใหม่ เมื่อการขับขี่ที่มีระยะทางมากกว่า 1,000 กิโลเมตร โดยที่ไม่ต้องหยุดชาร์จ เป็นเรื่องที่ทำได้ง่ายๆ แถมยังสามารถเลือกเช่าเป็นรายวัน หรือรายเดือนได้ด้วย ไม่ต้องกังวลเรื่องการบำรุงรักษาแบตเตอรี่อีกต่อไป

ตลาดรถยนต์ของไทย ได้สร้างปรากฏการณ์ยอดขายรถยนต์ไฟฟ้า ที่ถล่มทลาย ในปี 2023 ไปแล้ว แม้ว่าหลายคนที่ยังไม่กล้าจะซื้อ ต้องการความมั่นใจในระยะยาวว่า รถยนต์ไฟฟ้า จะไม่มีปัญหาตามมาในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของค่าบำรุงรักษา ค่าประกันในระยะยาว ความเสี่ยงในการใช้งานแบตเตอรี่ รวมไปถึงราคาขายต่อในตลาด แต่นั่นก็ไม่ได้ทำให้การเติบโตในตลาดนี้ สะดุดลงไป และนั่นก็เป็นเพียงจุดเริ่มต้น ของตลาดรถยนต์ไฟฟ้าในเมืองไทยเท่านั้น เพราะนอกจากกลุ่มผู้ใช้รถของไทย จะเริ่มหันมาสนใจซื้อรถยนต์ไฟฟ้า เป็นรถยนต์คันต่อไปของตัวเอง หรือครอบครัวมากขึ้นแล้ว เทคโนโลยีแบตเตอรี่ที่มีอยู่ในตลาด ก็ยังเป็นเพียงเทคโนโลยีของยุคแรกเท่านั้น และถ้าโลก ก้าวเข้าสู่ยุคใหม่ของรถยนต์ไฟฟ้า ที่มีเทคโนโลยีแบตเตอรี่ที่ดีกว่าเดิมมาก เชื่อว่าคนไทย น่าจะหันมาใช้รถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้นเป็นทวีคูณ ซึ่งข่าวล่าสุด จากค่ายรถยนต์ดาวรุ่งอย่าง NIO น่าจะเป็นการส่งสัญญาณว่า ตลาดรถยนต์ไฟฟ้า กำลังก้าวไปสู่ยุคใหม่ เข้าไปทุกขณะ ด้วยการนำเอาเทคโนโลยีแบตเตอรี่แบบ solid state หรือกึ่ง solid state มาใช้กับยานพาหนะ

เมื่อเร็วๆนี้ วิลเลี่ยมลี CEO และผู้ก่อตั้งร่วม NIO บริษัทผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าจากประเทศจีน ได้ทำการทดสอบการใช้งานแบตเตอรี่กึ่ง solid state ขนาด 150 กิโลวัตต์ชั่วโมง ที่นำมาติดตั้งในซีดานขนาดกลาง รุ่น ET7 จาก NIO โดยสามารถทำระยะทางวิ่งได้ไกลสูงสุด ถึง 1,044 กิโลเมตร โดยที่ยังมีพลังงานเหลืออยู่ในแบตเตอรี่ 3% ซึ่งคาดว่า อาจจะเพิ่มระยะทางวิ่งได้อีก 30 กิโลเมตร

ทริปเดินทางทดสอบ ที่ใช้เวลานานถึง 14 ชั่วโมง เริ่มขึ้นในช่วงเช้าตรู่วันอาทิตย์ที่ผ่านมา ที่สถานีสลับแบตเตอรี่รถยนต์แห่งหนึ่ง ในนครเซี่ยงไฮ้ โดยมีเจิ้นเฟย ผู้อำนวยคนหนึ่งของบริษัท NIO Power เป็นผู้ขับร่วมในทริปนี้ ในระหว่างการเดินทาง วิลเลี่ยมลีได้เปิดเผยว่า แบตเตอรี่ขนาด 150 กิโลวัตต์ชั่วโมงรุ่นนี้ ได้รับการทดสอบมาก่อนแล้ว ซึ่งเป็นการเดินทางระหว่างเมืองคุนหมิง ไปยังเป๋ยไห่ สามารภสร้างสถิติได้ที่ 1,145 กิโลเมตร โดย 92% ของเวลาที่ใช้ในการขับ หรือราว 957 กิโลเมตร ET7 อยู่ในโหมดการขับขี่แบบ Navigate-on-Pilot+ หรือ NOP+ ซึ่งเป็นโหมดการขับขี่แบบอัตโนมัติ ของรถยนต์จาก NIO โดยความเร็วเฉลี่ยในการเดินทาง อยู่ที่ 83.9 กิโลเมตร/ชั่วโมง ความเร็วสูงสุด อยู่ที่ 90 กิโลเมตร/ชั่วโมง ส่วนอัตราสิ้นเปลืองพลังงานไฟฟ้า อยู่ที่ 13.2 กิโลวัตต์ชั่วโมง/100 กิโลเมตร เวลาในการเดินทางสุทธิ อยู่ที่ 12.4 ชั่วโมง ไม่รวมเวลาในการจอดพัก หรือหยุดรถบนถนน ส่วนเวลารวมทั้งหมด อยู่ที่ 14 ชั่วโมง

เบื้องหลังผู้พัฒนาแบตเตอรี่กึ่ง solid state ขนาด 150 กิโลวัตต์ชั่วโมงรุ่นนี้ ก็คือบริษัท WeLion New Energy Technology ที่มีสำนักงานตั้งอยู่ในกรุงปักกิ่ง ซึ่งมีการประกาศเปิดตัวแบตเตอรี่รุ่นดังกล่าวในวัน NIO Day เดือนมกราคมปี 2021 ซึ่งในขณะนั้น NIO ก็เพิ่งเปิดตัว ET7 เช่นกัน โดย NIO เคลมว่า แบตเตอรี่รุ่นนี้มีประสิทธิภาพในการระบายความร้อนได้อย่างดีเยี่ยม ดีกว่าแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าทั่วไปถึง 6 เท่าตัว โดยในปัจจุบัน NIO ติดตั้งแบตเตอรี่แบบ NMC ขนาด 75 และ 100 กิโลวัตต์ชั่วโมง ในรถยนต์รุ่นต่างๆของบริษัท ซึ่งใช้อิเล็กโทรไลต์แบบเหลวเป็นมาตรฐาน แต่สำหรับแบตเตอรี่กึ่ง solid state ความจุของแบตเตอรี่ จะมีสูงกว่ามาก โดยมีขนาดทางกายภาพเท่ากับแบตเตอรี่ NMC ทั้งสองขนาดข้างต้น คือยาว 2062 มม กว้าง 1539 มม และหนา 186 มม. และสามารถนำไปสลับเปลี่ยนกับรถยนต์ของ NIO ได้ทุกรุ่น โดย NIO ได้เคยประกาศไปแล้วว่า รถยนต์ที่ใช้แพลตฟอร์ม NT1 และ NT2 ของบริษัท ได้รับการทดสอบ และรับรองการใช้งานกับแบตเตอรี่รุ่นนี้

แบตเตอรี่กึ่ง solid state ขนาด 150 กิโลวัตต์ชั่วโมง มีน้ำหนัก 575 กิโลกรัม มากกว่าแบตเตอรี่ธรรมดาขนาด 100 กิโลวัตต์ชั่วโมง ที่มีใช้ในรถยนต์ NIO รุ่นอื่นๆ เพียง 20 กิโลกรัมเท่านั้น โดยน้ำหนักรถเปล่าของ NIO ET7 อยู่ที่ 2,490 กิโลกรัม

ในทางทฤษฎีแล้ว วิลเลี่ยมลีอาจจะทำการสลับแบตเตอรี่เมื่อแบตหมด เพื่อเพิ่มระยะทางวิ่งได้อีกอย่างน้อย 1,000 กิโลเมตร ในเวลาเพียง 3 นาทีเท่านั้น แต่ในทางปฏิบัติ เขาอาจจะต้องการหยุดพักมากกว่า สำหรับอุณหภูมิในการทดสอบ อยู่ที่ -2-12 องศาเซลเซียส โดยอุณหภูมิต่ำสุด เกิดขึ้นในช่วงเริ่มทำการทดสอบ ซึ่งเป็นเวลาเช้าตรู่ในนครเซี่ยงไฮ้ ส่วนอุณหภูมิภายในห้องโดยสารของรถ อยู่ที่ 20 องศาเซลเซียส น้ำหนักบรรจุอยู่ที่ 190 กิโลกรัม เป็นคนขับและผู้โดยสาร รวม 2 คน อุปกรณ์สำหรับการถ่ายทอดสด และสิ่งของอื่นๆ โดยมีการเดินทางจากเซี่ยงไฮ้ ไปสิ้นสุดใกล้กับเมืองเซียะเหมิน

ฉินลี่หง ประธานบริหาร NIO เปิดเผยว่า ราคาแบตเตอรี่กึ่ง solid state ของ WeLion ยังมีราคาที่สูงมาก ต้นทุนของแบตเตอรี่ขนาด 150 กิโลวัตต์ชั่วโมงรุ่นนี้ เท่ากับราคาจำหน่ายของรถยนต์ไฟฟ้า NIO รุ่น ET5 ที่มาพร้อมแบตเตอรี่ขนาด 75 กิโลวัตต์ชั่วโมง ซึ่งมีราคาอยู่ที่ 298,000 หยวน หรือราว 1,482,000 บาท ซึ่งในประเทศจีน ลูกค้าสามารถซื้อรถยนต์ไฟฟ้า โดยไม่จำเป็นจะต้องมีแบตเตอรี่ เพราะสามารถเป็นสมาชิกบริษัท Battery as a service ได้ โดยมีการจ่ายค่าบริการเป็นรายเดือน ซึ่งแบตเตอรี่จะเป็นความรับผิดชอบของ NIO เอง นั่นทำให้ลูกค้าสามารถทำการอัพเกรดแบตเตอรี่ไปเป็นรุ่นต่างๆที่รองรับได้ โดยมีการเพิ่มลดราคาค่าบริการรายเดือนหรือต่อวัน ได้ตามความต้องการ นั่นทำให้แบตเตอรี่กึ่ง solid state ขนาด 150 กิโลวัตต์ชั่วโมง เป็นทางเลือกสำหรับผู้ที่ต้องการเดินทางระยะไกลในช่วงสั้นของการใช้งาน มากกว่าที่จะทำการใช้งานเป็นการถาวรหรือระยะยาว หากยังรู้สึกว่า ราคาค่าแบตเตอรี่สูงเกินไป NIO เปิดเผยว่า การผลิตแบตเตอรี่รุ่นใหม่นี้ จะเริ่มขึ้นในเดือนเมษายนปีหน้า 2024 และนั่นอาจจะเป็นการเริ่มต้นยุคใหม่ของรถยนต์ไฟฟ้า ที่แบตเตอรี่แบบ solid state เริ่มมีการใช้งาน แม้ว่าจะยังเป็นแบบกึ่ง solid state ก็ตาม ซึ่งเทคโนโลยีแบตเตอรี่ชนิดนี้ จะเป็นตัวเปลี่ยนเกมสำหรับค่ายรถยนต์จากญี่ปุ่นในอนาคตเช่นกัน ส่วนจะเปลี่ยนเกมได้จริงหรือไม่ ขึ้นอยู่กับว่า ค่ายใดจะสามารถทำมาจำหน่ายในเชิงพาณิชย์ได้เร็วกว่ากัน