ความสำเร็จของ BYD ในการทำตลาดรถยนต์ไฟฟ้า ทั้งในประเทศจีน และต่างประเทศ โดยเฉพาะในเมืองไทย ส่วนหนึ่งก็เพราะการมีความโดดเด่นในเรื่องแบตเตอรี่ที่ใช้ นอกจากตัวเลขระยะทางวิ่งสูงสุดต่อชาร์จ ที่ทำหน้าที่เป็นเหมือนจุดขายของรถยนต์รุ่นนั้นๆไปในตัว นั่นทำให้ MG และ GWM รวมถึงค่ายจีนใหม่ๆ ที่กำลังเข้ามาบุกตลาดในเมืองไทย ดูเหมือนจะเจอโจทย์ที่ยากขึ้น จากการเข้ามาของ BYD อย่างไรก็ตาม สำหรับ MG ที่เป็นเจ้าตลาดรถยนต์ไฟฟ้าในเมืองไทยในปัจจุบัน อาจจะมีจุดขายที่น่าสนใจไม่แพ้ BYD ในอนาคต เมื่อล่าสุด SAIC Motor บริษัทแม่ของ MG ลงนามในสัญญาความร่วมมือกับ Qingtao บริษัท startup จากจีน ในการจัดตั้งบริษัทร่วมทุน เพื่อพัฒนาแบตเตอรี่ solid state ที่ว่ากันว่าเป็นแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าแห่งอนาคต ที่ในปัจจุบัน เริ่มมีการนำมาใช้ในเชิงพาณิชย์กันแล้ว นั่นทำให้ MG อาจจะกลับมามีความได้เปรียบ เหนือกว่าคู่แข่งสำคัญอย่าง BYD ในอนาคตอันใกล้
บริษัทร่วมทุนที่ว่า จะทำการพัฒนาแบตเตอรี่ solid state สำหรับรถยนต์ไฟฟ้าของ SAIC Motor ทั้งหมด ภายในปี 2025 หรืออีกเพียง 2 ปีเท่านั้น โดยทุนจดทะเบียนบริษัทอยู่ที่ 1 พันล้านหยวนหรือราว 4,950 ล้านบาท โดย Qingdao ถือหุ้นใหญ่ที่ 51% ในขณะที่ SAIC ถือหุ้น 49% ก่อนหน้านี้ SAIC ได้ทำการลงทุนใน Qingdao มาก่อนแล้วในปี 2020 2022 และล่าสุดปีนี้ ทำให้ SAIC ถือหุ้นใน Qingdao เป็นสัดส่วน 15.29% คิดเป็นมูลค่า 2,983 ล้านหยวน หรือราว 14,750 ล้านบาท กลายเป็นนักลงทุนในรูปบริษัทที่ใหญ่ที่สุดของ Qingdao การจัดตั้งบริษัทร่วมทุนใหม่ ก็เพื่อช่วยให้ SAIC ดำเนินการตามแผนงาน 3 ปีได้สำเร็จ
ในพิธีลงนามความร่วมมือจัดตั้งบริษัทแห่งใหม่ ได้มีการนำเสนอความคืบหน้าในการพัฒนาแบตเตอรี่ solid state ด้วยว่า แบตเตอรี่รุ่นล่าสุด มีความจุที่ 368 วัตต์ชั่วโมง/กิโลกรัม ที่สามารถทำให้รถยนต์ แล่นไปได้ไกลสูงสุด 1,083 กิโลเมตร/ชาร์จ ซึ่งถือว่าเป็นความจุ ที่มากกว่าแบตเตอรี่แบบลิเธี่ยมไอออนฟอสเฟต ถึง 100% ซึ่งทำระยะทางได้สูงสุดเพียง 400 กิโลเมตร แต่ใช้ระยะเวลาในการชาร์จไฟ ที่ 10 นาที
มีการคาดการณ์ว่า รถยนต์รุ่นแรกที่จะใช้แบตเตอรี่ solid state จากบริษัทร่วมทุนนี้ ก็คือรถยนต์ไฟฟ้าของบริษัท IM Motors ที่เป็นบริษัทร่วมทุนของ SAIC กับ Zhangjiang Hitech และ Alibaba Group แต่ยังเป็นแบตเตอรี่ Solid State แบบ hybrid อยู่ เนื่องจากยังมีการใช้อิเล็คโทรไลต์เหลว เป็นส่วนประกอบอยู่ 5% โดยผู้บริหาร Qingdao เปิดเผยว่า หากจำนวนการผลิตแบตเตอรี่นี้สูงขึ้น คาดว่าต้นทุนจะต่ำกว่าแบตเตอรี่แบบลิเธี่ยมไอออนฟอสเฟต หรือแบตเตอรี่แบบ Ternary 10-30% โดย SAIC มีแผนในการผลิตแบตเตอรี่ solid state ชนิดนี้ 100,000 ชุด/ปี
เมื่อเดือนที่แล้ว NIO ค่ายรถยนต์ไฟฟ้าดาวรุ่งของจีนอีกค่ายหนึ่ง ก็เพิ่งประกาศแผนการใช้แบตเตอรี่ solid state แบบไฮบริด ขนาด 150 กิโลวัตต์ชั่วโมง ที่พัฒนาร่วมกับบริษัท startup ที่ชื่อ WeLion ตามที่เราได้เคยนำเสนอไปแล้ว โดยมีการนำไปใช้กับรถยนต์ไฟฟ้าของบริษัท รุ่น ES6 โดยเป็นขนาดความจุ 261 วัตต์ชั่วโมง/กิโลกรัม ที่ให้ระยะทางวิ่งสูงสุดต่อชาร์จ ที่ 930 กิโลเมตร ซึ่งแบตเตอรี่ชุดดังกล่าว มีน้ำหนัก 575 กิโลกรัม หนักกว่าแบตเตอรี่ขนาด 100 กิโลวัตต์ชั่วโมง ของ CATL 20 กิโลกรัม ที่มีใช้ในรถยนต์ไฟฟ้าส่วนใหญ่ของ NIO
ค่ายรถยนต์จีนอีกรายหนึ่ง ที่เริ่มนำแบตเตอรี่ solid state มาใช้ในเชิงพาณิชย์แล้ว ก็คือ Dongfeng ที่เพิ่งเปิดตัวรถยนต์ไฟฟ้ารุ่นใหม่ ภายใต้แบรนด์ใหม่ ไปเมื่อไม่กี่วันก่อน นั่นก็คือ Nammi 01 ที่ใช้เวลาในการชาร์จไฟ เพียง 8 นาทีเท่านั้น สำหรับระยะทางวิ่งสูงสุด ที่ 200 กิโลเมตร เรียกว่า ค่ายรถยนต์จากจีน เริ่มดาหน้ากันออกมาเปิดตัวเทคโนโลยีแบตเตอรี่ solid state อย่างไม่ขาดสาย น่าจะทำให้ค่ายรถยนต์จากญี่ปุ่น เริ่มกังวลกับอนาคตของบริษัทมากขึ้น เพราะเท่าที่บริษัทเจออยู่ตอนนี้ ก็ถือว่าเป็นงานยากอยู่แล้ว กับการจะผลิตรถยนต์ไฟฟ้าสักรุ่นหนึ่ง ออกมาแข่งขันในตลาด ยิ่งเจอค่ายรถยนต์จากจีน ปาดหน้าเปิดตัว และจำหน่ายแบตเตอรี่ solid state ที่หลายค่ายญี่ปุ่น ยังกำลังพัฒนากันอยู่ ก็ยิ่งทำให้ยาก ในการจะขึ้นมาเป็นผู้นำในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าในอนาคต ในขณะที่คนไทยเอง ก็น่าจะมีทางเลือกที่ดีเพิ่มมากขึ้น หาก SAIC ตัดสินใจนำเทคโนโลยีแบตเตอรี่แบบ solid state มาใช้กับรถยนต์รุ่นต่างๆของ MG ที่ตอนนี้ เริ่มเพลี่ยงพล้ำให้กับ BYD ที่เข้ามาชิงส่วนแบ่งตลาดรถยนต์ไฟฟ้าในไทยมากขึ้น