การเปลี่ยนหัวเรือของ Toyota ก็อาจจะเป็นความพยายาม ในการเปลี่ยนทิศทาง หรือนโยบายหลักของบริษัท จากที่ครั้งหนึ่ง ผู้บริหารสูงสุดเคยมองว่า รถยนต์ไฟฟ้า จะสร้างมลพิษให้กับโลกในระยะยาว มากกว่ารถใช้น้ำมัน ให้มาเป็นแนวทางเดียวกันกับค่ายอื่นๆทั่วโลก ที่ผู้ใช้รถยนต์ส่วนใหญ่ ก็ให้การตอบรับเป็นอย่างดี จนทำให้รถยนต์ไฟฟ้า มีการเติบโตอย่างรวดเร็ว จน Toyota ไม่อาจจะฝืนเดินหน้าในแนวทางเดิมได้ นั่นทำให้ Koji Sato ประธานและ CEO คนใหม่ของบริษัท ต้องออกมาประกาศถึงทิศทางใหม่ของ Toyota ในการปรับตัวไปสู่ยุคของรถยนต์ไฟฟ้า ในแบบทันทีและหนักหน่วง เหมือนกับว่า ถ้าช้าไปกว่านี้ ก็อาจจะไม่ทันการณ์
อย่างไรก็ตาม เทคโนโลยีรถยนต์ไฟฟ้า ไม่ได้จำกัดอยู่เพียงแค่เทคโนโลยีไฮบริดหรือแบตเตอรี่เท่านั้น แต่ยังมีทางเลือกอื่นๆอีก หนึ่งในนั้นก็คือไฮโดรเจนฟิวเซลล์ ความหวังของ Toyota ที่อาจจะกลายมาเป็นแต้มต่อในอุตสาหกรรมยานยนต์ได้ในอนาคต เทคโนโลยีชนิดนี้ ยังเป็นสิ่งที่ Toyota ฟูมฟักมานานหลายปี และได้เริ่มใช้ไปแล้วกับรุ่น Mirai แต่นั่นไม่น่าสนใจสำหรับคนไทย เท่ากับความเป็นไปได้ในการนำเอาเทคโนโลยีนี้มาใช้กับรถยนต์เชิงพาณิชย์ ซึ่งรวมถึงรถกระบะปิกอัพอย่าง Hilux รวมถึงรถตู้อเนกประสงค์ HiAce ด้วย
ฮิโรกิ นากาจิม่า รองประธานบริหารและ CTO ของ Toyota ได้ขยายความเพิ่มเติมจาก Sato เกี่ยวกับแผนงานการพัฒนารถยนต์ไฟฟ้าของบริษัทว่า รถยนต์ไฟฟ้าเจนเนอเรชั่นใหม่ของบริษัท ที่มีแผนเปิดตัวภายในสิ้นทศวรรษนี้ หรือภายในปี 2030 จะมีระยะทางวิ่งสูงสุดมากกว่าเดิมถึงเท่าตัว ด้วยการใช้แบตเตอรี่ที่มีประสิทธิภาพสูงกว่าเดิมมาก แต่สิ่งที่จะเข้ามาเปลี่ยนเกมเลยก็คือ เทคโนโลยีไฟฟ้าฟิวเซลล์ ที่จะทำให้ Toyota ทิ้งห่างคู่แข่ง โดยบริษัทจะเน้นการใช้เทคโนโลยีฟิวเซลล์กับรถยนต์เชิงพาณิชย์เป็นหลัก ซึ่งข้อดีของมันก็คือ แหล่งพลังงานอย่างไฮโดรเจนมีน้ำหนักเบา และใช้พื้นที่ในการจัดวางน้อย เมื่อเทียบกับรถยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี่ นอกจากนั้นแล้ว การเติมเชื้อเพลิงก็ทำได้รวดเร็วกว่า ความได้เปรียบเหล่านี้ถือว่าเป็นจุดแข็งสำคัญ โดย Toyota จะทำงานร่วมกับพันธมิตรทางธุรกิจ ในการส่งเสริมการใช้งานเทคโนโลยีชนิดนี้ โดยจะเริ่มจากรถยนต์เชิงพาณิชย์ก่อน ซึ่งได้แก่ รถบรรทุกขนาดกลางไปจนถึงขนาดใหญ่ และ Toyota ก็ได้เริ่มทำการวิจัยเกี่ยวกับเครื่องยนต์ไฮโดรเจนสำหรับรถยนต์เชิงพาณิชย์แบบ heavy duty ไปเมื่อปีที่ผ่านมา โดยการทดสอบใช้งานจริงส่วนใหญ่ เกิดขึ้นกับรถเอสยูวีและรถกระบะขนาดใหญ่ อย่างไรก็ตาม ทางเลือกที่เป็นระบบ PHEV ก็ยังอยู่ในความสนใจของบริษัท และ Toyota ก็มีแผนพัฒนาเทคโนโลยีชนิดนี้ให้ดีขึ้นไปอีก ด้วยการเพิ่มระยะทางวิ่งในโหมด EV ให้ได้มากกว่า 200 กิโลเมตร หรือให้มีการใช้งานได้ใกล้เคียงกับรถยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี่ทั่วไป
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าเทคโนโลยีไฮโดรเจนฟิวเซลล์ จะมีข้อดีหลายอย่างที่เหนือกว่ารถยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี่ แต่ก็ต้องยอมรับว่า ในปัจจุบัน โครงสร้างพื้นฐานที่รองรับการใช้งานรถยนต์ประเภทนี้ ยังไม่เกิดขึ้น อีกทั้งตลาดก็ยังไม่มั่นใจในการใช้งาน เพราะแม้แต่รถยนต์ไฟฟ้าเองในบางเซกเมนต์เช่น รถกระบะปิกอัพ ก็ยังถือว่าเป็นเทคโนโลยีที่ใหม่มาก และลูกค้ายังต้องการความมั่นใจในการใช้งานที่มากกว่านี้ สิ่งที่อาจจะทำให้เทคโนโลยีไฮโดรเจนฟิวเซลล์ อาจจะประสบความยากลำบากในการแจ้งเกิด ก็คือการพัฒนาที่รวดเร็วของเทคโนโลยีแบตเตอรี่ ที่นอกจากจะมีราคาที่ถูกลงจากจำนวนการผลิตที่สูงและการใช้เทคโนโลยีแบบใหม่แล้ว ขนาดและความคงทน ก็ได้รับการพัฒนาให้ดีขึ้นอีกด้วย แต่แน่นอนว่า Toyota จำเป็นจะต้องสร้างทางเลือกที่แตกต่างเพื่อความอยู่รอดในระยะยาว
[yourchannel video=”K3qXcCe1cHc” autoplay=”1″ show_comments=”1″]