FEA logo

กระทรวงพลังงาน ผนึกสองงานยักษ์ พลิกโฉมพลังงาน – EV ในอาเซียน

“ฟิวเจอร์ เอนเนอร์ยี เอเชีย” (Future Energy Asia) ผนึก “ฟิวเจอร์ โมบิลิตี้ เอเชีย” (Future Mobility Asia) งานนิทรรศการและการประชุมขับเคลื่อนการเปลี่ยนผ่านพลังงานและพลิกโฉมยานยนต์พลังงานสะอาดในภูมิภาคอาเซียน

กรุงเทพฯ, 16 มิถุนายน 2565 – กระทรวงพลังงาน ภายใต้การกำกับดูแลของนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีของไทย ร่วมกับบริษัท ดีเอ็มจี ผู้จัดงานนิทรรศการและการประชุมด้านพลังงานรายใหญ่ที่สุดในโลก จัดงานนิทรรศการและการประชุมภายใต้ชื่อ “ฟิวเจอร์ เอนเนอร์ยี เอเชีย” (Future Energy Asia) และ “ฟิวเจอร์ โมบิลิตี้ เอเชีย” (Future Mobility Asia) ในประเทศไทย เพื่อกระตุ้นการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานและหนุนภารกิจด้านยานยนต์พลังงานสะอาดในภูมิภาคอาเซียน โดยทั้งสองงานจะจัดขึ้นพร้อมกันระหว่างวันที่ 20 ถึง 22 กรกฎาคม 2565 ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค กรุงเทพฯ

จากรายงานของสำนักงานพลังงานทดแทนระหว่างประเทศ (International Renewable Energy Agency: IRENA)ได้ประมาณการว่าภายในปี 2568 ยานยนต์ 20% ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะเป็นยานยนต์ไฟฟ้า ซึ่งประกอบด้วยยานยนต์ประเภทสองถึงสามล้อประมาณ 59 ล้านคัน และยานยนต์ประเภทสี่ล้อ 8.9 ล้านคัน1 ควบคู่ไปกับความต้องการด้านพลังงานที่คาดว่าจะเพิ่มสูงขึ้น 60% ภายในปี 2583เนื่องจากการเติบโตที่รวดเร็วทางเศรษฐกิจ2 ทำให้ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กลายเป็นตลาดที่มีโอกาสด้านการลงทุนคิดเป็นมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์ และเมื่อพิจารณาถึงตำแหน่งทางยุทธศาสตร์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ก็พบว่าประเทศไทยมีสถานะที่แข็งแกร่งที่สุดในอุตสาหกรรมยานยนต์ของภูมิภาคแห่งนี้ จึงเป็นสถานที่ที่เหมาะสำหรับการจัดงานฟิวเจอร์ เอนเนอร์ยี เอเชีย 2022 (Future Energy Asia 2022) และงานฟิวเจอร์ โมบิลิตี้ เอเชีย 2022 (Future Mobility Asia 2022) เป็นอย่างยิ่ง

“ในนามของกระทรวงพลังงาน ประเทศไทย เรามีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้มีโอกาสต้อนรับงานประชุมครั้งสำคัญ ได้แก่ งานเอฟอีเอ 2022 (FEA 2022) ที่กลับมาจัดขึ้นอีกครั้ง ณ กรุงเทพมหานครพร้อมกับงาน เอฟเอ็มเอ 2022 (FMA 2022) โดยเราพร้อมให้การสนับสนุนงานเอฟอีเอ 2022 (FEA 2022) และงานเอฟเอ็มเอ 2022 (FMA 2022) อย่างเต็มที่” นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าว

นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “นับว่าเป็นเรื่องน่ายินดีอย่างยิ่งที่ ปตท. ได้ร่วมเป็นเจ้าภาพจัดงานนิทรรศการและงานประชุมฟิวเจอร์ เอนเนอร์ยี เอเชีย 2022 (Future Energy Asia Exhibition and Summit 2022) และเราขอต้อนรับเพื่อนร่วมอาชีพในอุตสาหกรรมพลังงานที่ได้กลับมาเยือนกรุงเทพมหานครในระหว่างวันที่ 20-22 กรกฎาคมนี้เพื่อร่วมกันสร้างเครือข่ายและแสวงหาความร่วมมือทางธุรกิจ โดยงานฟิวเจอร์ เอนเนอร์ยี เอเชีย (Future Energy Asia) ถือเป็นจุดนัดพบสำคัญของบรรดาบริษัทและเหล่ามืออาชีพในแวดวงอุตสาหกรรมพลังงาน ซึ่งมาพร้อมโอกาสอย่างมากมายที่คุณสามารถมีส่วนร่วมในการเจรจา เสริมสร้างความร่วมมือ และมีส่วนร่วมในการพัฒนาเพื่อผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านพลังงานในภูมิภาคแห่งนี้”

การผนึกสองงานใหญ่เข้าด้วยกันในครั้งนี้ จะทำให้ผู้เข้าร่วมงานได้พบกับการจัดแสดงผลิตภัณฑ์และโซลูชันต่างๆ รวมถึงมีโอกาสในการเจรจาพูดคุยและสร้างเครือข่าย ซึ่งถือเป็นการสนับสนุนกระบวนการเปลี่ยนแปลงด้านพลังงานและยานยนต์เพื่อก้าวสู่เส้นทางของพลังงานสะอาดอย่างยั่งยืน ทั้งนี้ งานฟิวเจอร์ เอนเนอร์ยี เอเชีย (Future Energy Asia) เป็นงานนิทรรศการและการประชุมชั้นนำเกี่ยวกับการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน ซึ่งเป็นการรวมตัวของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องระดับสูงในภาคอุตสาหกรรมก๊าซ ก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) และพลังงานหมุนเวียน ในขณะที่งานฟิวเจอร์ โมบิลิตี้ เอเชีย (Future Mobility Asia) เป็นการจัดแสดงแนวคิด เทคโนโลยี และนวัตกรรมด้านยานยนต์และการขนส่งที่ใช้พลังงานสะอาดอย่างครบวงจร โดยการจัดงานในครั้งนี้จะเป็นการรวมตัวของผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงานและยานยนต์มากกว่า 10,000 คนจากกว่า 50 ประเทศทั่วโลก

งานฟิวเจอร์ เอนเนอร์ยี เอเชีย (Future Energy Asia) และงานฟิวเจอร์ โมบิลิตี้ เอเชีย (Future Mobility Asia) จัดโดยบริษัท ดีเอ็มจี อีเว้นท์ ซึ่งเป็นผู้จัดงาน Abu Dhabi International Petroleum Exhibition & Conference (ADIPEC) และ Gastech ซึ่งเป็นงานที่ใหญ่ที่สุด ทั้งยังมีความสำคัญและมีอิทธิพลอย่างมากในอุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซ ซึ่งมีบรรดารัฐมนตรีและซีอีโอในแวดวงอุตสาหกรรมดังกล่าวมาร่วมงานกันอย่างคับคั่ง สำหรับงานนิทรรศการภายใต้การดำเนินงานของบริษัท ดีเอ็มจี อีเวนท์ที่ผ่านมานั้น มีจำนวนมากถึง 84 งานต่อปีและมีผู้เข้าร่วมงานมากกว่า 425,000 คน

ไฮไลท์ของงาน

  • พิธีเปิดงานอย่างเป็นทางการโดยรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ประเทศไทย พร้อมกับประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท., ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ ที่พร้อมผนึกกำลังขับเคลื่อนให้ประเทศไทยก้าวสู่พลังงานและยานยนต์สะอาดอย่างแท้จริง
  • พิธีลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) โดยกลุ่มความร่วมมือทางด้านเทคโนโลยีการดักจับ การใช้ประโยชน์ และการกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์แห่งประเทศไทย (Thailand CCUS Technology Development Consortium)
  • การประชุมเชิงยุทธศาสตร์ การประชุมเชิงเทคนิค และนิทรรศการภายใต้หัวข้อ “ไฮโดรเจน: หัวใจสำคัญในการพลิกโฉมพลังงาน” (Hydrogen at the heart of energy transformation)
  • งานสัมมนาระดับประเทศที่เจาะลึกประเทศอินโดนีเซีย ไทย ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม ซึ่งถือเป็นตลาดที่มีความน่าสนใจเป็นอย่างยิ่งและยังแสดงให้เห็นถึงโอกาสในการลงทุนมูลค่านับพันล้านด้วย
  • งานใหญ่ระดับภูมิภาคซึ่งเป็นเวทีหลักสำหรับผู้กำหนดนโยบายระดับอาวุโสและเหล่าซีอีโอในแวดวงอุตสาหกรรมพลังงานและยานยนต์พลังงานสะอาด ได้แก่:

• คุณอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.

• คุณเติงกู มูฮัมหมัด เทาฟิค ประธานและประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัท ปิโตรนาส (PETRONAS)

• ดร.ทวารัฐ สูตะบุตร หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงพลังงาน ประเทศไทย

• คุณมนตรี ลาวัลย์ชัยกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม หรือ ปตท.สผ.

• คุณชนินทร์ ขาวจันทร์ รองเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ)

• คุณราณี โฆษิตวานิช รองผู้ว่าการเชื้อเพลิงการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือ กฟผ.

• คุณโจเซฟ แมคโมนิเกิล เลขาธิการสภาพลังงานสากล (International Energy Forum: IEF)

• Ir. Mohd Yusrizal bin Mohd Yusof กรรมการผู้จัดการบริษัท ทีเอ็นบ รีนิวเอเบิล (TNB Renewables)

• คุณเหงียน เฟือง มาย รองหัวหน้าสำนักงานการไฟฟ้าและพลังงานหมุนเวียน กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า (Electricity and Renewable Energy Authority, Ministry of Industry and Trade: MOIT)

• คุณอนาโตล เฟย์กิน รองประธานบริหารและประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการพาณิชย์ บริษัท เชเนียร์ เอนเนอร์ยี (Cheniere Energy)

• คุณโจเซฟ ที. บัคเลอร์ รองประธานอาวุโสฝ่ายขายและการพัฒนาธุรกิจทั่วโลก บริษัท แบ็บค็อก แอนด์ วิลค็อกซ์ (Babcock & Wilcox)

• คุณอิสซาเบล แชตเตอร์ตัน หัวหน้าส่วนอุตสาหกรรม โครงสร้างพื้นฐาน และทรัพยากรธรรมชาติในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก บริษัท อินเตอร์เนชันแนล ไฟแนนซ์ คอร์ปอเรชัน (International Finance Corporation: IFC)

• คุณวรฉัตร ลักขณาโรจน์ กรรมการบริหาร แกร็บ ประเทศไทย และกรรมการบริหารแกร็บ ไฟแนนเชียล กรุ๊ป ประเทศไทย

• คุณริชาร์ด ฮอง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร TÜV SÜD ASEAN

• คุณโกชิก เบอร์แมน หัวหน้าฝ่ายพัฒนาธุรกิจระดับโลก บริษัท โกโกโร (Gogoro)

• คุณเครก ไนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไฮซอนมอเตอร์ส (Hyzon Motors)

• คุณอัลเฟรด หว่อง กรรมการผู้จัดการประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก บริษัท บัลลาร์ด พาวเวอร์ ซิสเต็มส์ (Ballard Power Systems)

• คุณจูเลียน เปเรซ รองประธานฝ่ายกลยุทธ์และนโยบายของโครงการริเริ่มด้านสภาพภูมิอากาศในอุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซ (Oil and Gas Climate Initiative: OGCI)

• ดร.อัครินทร์ สุวรรณรัตน์ ผู้ช่วยพิเศษของซีอีโอและอีวีพี บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด

นิทรรศการ

งานฟิวเจอร์ เอนเนอร์ยี เอเชีย (Future Energy Asia) จะจัดแสดงผลิตภัณฑ์ โซลูชั่น และเทคโนโลยีระดับโลกจากผู้เล่นชั้นนำในอุตสาหกรรม ซึ่งแบ่งออกเป็น 4 โซน ได้แก่ “ไฮโดรเจน” (Hydrogen), “ก๊าซ ก๊าซธรรมชาติเหลว LNG และการกักเก็บคาร์บอนในรูปของผลิตภัณฑ์คาร์บอนต่ำ” (Gas, LNG and Carbon Capture as low carbon solutions), “เทคโนโลยีกริดและการเปลี่ยนกระบวนการทำงานให้กลายเป็นระบบดิจิทัล” (Grid technologies and digitalisation) และ “พลังงานหมุนเวียน (พลังงานแสงอาทิตย์, ลม, การจัดเก็บพลังงาน)” (Renewables (solar, wind, energy storage))

ภายในงานฟิวเจอร์ โมบิลิตี้ เอเชีย (Future Mobility Asia) ผู้เข้าร่วมงานจะสามารถเข้าถึงผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในห่วงโซ่คุณค่าของยานยนต์พลังงานสะอาด ซึ่งประกอบด้วยผู้ผลิตอุปกรณ์ดั้งเดิม (OEM) สำหรับรถยนต์โดยสารและรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ ซัพพลายเออร์หลังการขาย ผู้ให้บริการแบตเตอรี่ ระบบจัดเก็บพลังงาน โครงสร้างพื้นฐานสำหรับระบบชาร์จ และเทคโนโลยีที่ช่วยอำนวยความสะดวกในหลากหลายรูปแบบ

สำหรับบริษัทที่เข้าร่วมงานในครั้งนี้ ได้แก่ ปตท. (PTT), ปตท.สผ.(TTEP) , เชเนียร์ (Cheniere),แดสซอลท์ ซิสเต็มส์ (Dassault Systemes), ซี อีเล็คทริก (SEA Electric), แบ็บค็อก แอนด์ วิลค็อกซ์ ( Babcock & Wilcox) , อีวีโลโม (EVLomo), เบเกอร์ ฮิวจ์ (Baker Hughes), เฮกซากอน (Hexagon), ชไนเดอร์ อิเล็คทริค (Schneider Electric), โนกา โฮลดิ้ง (Nogaholding), ไซส์ (Zeiss) และอื่นๆ อีกมากมาย

การประชุมเชิงยุทธศาสตร์และการประชุมทางเทคนิค

การประชุมภายในงานฟิวเจอร์ เอนเนอร์ยี เอเชีย (Future Energy Asia) และงานฟิวเจอร์ โมบิลิตี้ เอเชีย (Future Mobility Asia) จะเป็นการนำเสนอเนื้อหาเชิงเทคนิคและกลยุทธ์ทางการค้าผ่านหลายช่องทางเป็นระยะเวลาสามวัน โดยมีวิทยากรกว่า 200 คนจากทุกภาคส่วนของอุตสาหกรรมพลังงานและยานยนต์

ภายใต้แนวคิด “การลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนด้วยการเปลี่ยนผ่านและพลิกโฉมด้านพลังงานของภูมิภาคเอเชีย” (Decarbonising ASEAN’s Energy Transition and Transformation) ของงานฟิวเจอร์ เอนเนอร์ยี เอเชีย (Future Energy Asia) จะขับเคลื่อนให้ภูมิภาคอาเซียนก้าวสู่อนาคตของพลังงานคาร์บอนต่ำที่มีความมั่นคงในราคาที่เอื้อมถึง ซึ่งสอดคล้องกับภารกิจการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ใน ขณะเดียวกัน งานฟิวเจอร์ โมบิลิตี้ เอเชีย (Future Mobility Asia) ก็พร้อมขับเคลื่อนทุกภาคส่วนให้ก้าวสู่อนาคตของระบบไฟฟ้า ยานยนต์แบบไร้คนขับ การเชื่อมต่อระหว่างกันผ่านเทคโนโลยีที่ทันสมัย ซึ่งจะทำให้อาเซียนกลายเป็นศูนย์กลางของการเจรจาเรื่องยานยนต์พลังงานสะอาดระดับโลกและเป็นผู้นำทางความคิดบนเส้นทางสายนี้

และพิเศษสุดสำหรับงานในครั้งนี้ คณะกรรมการบริหารซึ่งประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญและผู้กำหนดนโยบาย ซึ่งเป็นตัวแทนของภาคอุตสาหกรรมก๊าซ, ก๊าซ แอลเอ็นจี, พลังงานหมุนเวียน, พลังงานไฟฟ้า และห่วงโซ่คุณค่าของภาคยานยนต์ จะร่วมกันกำหนดแผนการประชุมระดับโลกภายในงานฟิวเจอร์ เอนเนอร์ยี เอเชีย (Future Energy Asia) และงานฟิวเจอร์ โมบิลิตี้ เอเชีย (Future Mobility Asia) ที่มีความเชื่อมโยง นำไปใช้ได้จริง และมีความหมายต่อผู้ประกอบกิจการในอุตสาหกรรมอย่างแท้จริง

“สำหรับประเทศไทยแล้วนั้น กระทรวงพลังงานกำลังมุ่งไปข้างหน้าเพื่อบรรลุเป้าหมายหลักสองประการ ได้แก่ การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2608 และการตั้งเป้าการผลิตรถยนต์พลังงานไฟฟ้าให้ได้อย่างน้อย 30% ของการผลิตยานยนต์ทั้งหมดในปี 2573 วัตถุประสงค์ทั้งสองประการนี้มีความเชื่อมโยงกันอย่างแยกไม่ออก และจำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนด้านการลงทุนเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครอบคลุมทั่วทั้งห่วงโซ่คุณค่าของพลังงานและยานยนต์พลังงานสะอาด ซึ่งสอดคล้องกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคอาเซียนต่างก็กำลังเดินตามแนวทางเดียวกันนี้ด้วยเช่นกัน การจัดงานฟิวเจอร์ เอนเนอร์ยี เอเชีย (Future Energy Asia) และงานฟิวเจอร์ โมบิลิตี้ เอเชีย (Future Mobility Asia) เป็นการดำเนินการตามนโยบายดังกล่าวของประเทศไทยและเพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่ชัดเจนในการเชื่อมโยงผู้มีอำนาจตัดสินใจหลัก นักลงทุน นักพัฒนา เข้ากับเทคโนโลยีทั้งในส่วนของภาครัฐและเอกชน พันธมิตรด้านนวัตกรรมและโซลูชันต่างๆ อย่างครบวงจร” นายเมล แลนเวอร์ส-ชาห์ รองประธานประจำภูมิภาคเอเชีย บริษัท ดีเอ็มจี อีเว้นท์ กล่าว