ปตท. (โดย อรุณพลัส) จับมือ CATL ผู้ผลิตแบตเตอรี่ EV อันดับ 1 ของโลก เจาะตลาด EV อาเซียน

Contemporary Amperex Technology หรือ CATL ผู้นำด้านเทคโนโลยีนวัตกรรมพลังงานสะอาด และผู้ผลิตแบตเตอรี่วสำรองไฟอันดับ 1 ของโลก เพิ่งประกาศฉีดเงินลงทุนกว่า 200,000 ล้านบาทในประเทศอินโดนีเซีย ในการสร้างฐานการผลิต แบตเตอรี่สำรองไฟแบบครบวงจร และบริษัทมีเป้าหมาย ในการส่งออกสินค้าไปยังภูมิภาคต่างๆ รวมถึงอาเซียน เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า ที่กำลังได้รับความนิยมไปทั่วโลก ซึ่งทาง CATL เอง ก็มีความร่วมมือกับค่ายรถยนต์ยักษ์หลายค่าย ในการเป็นผู้จัดหาแบตเตอรี่ เพื่อใช้กับรถยนต์ไฟฟ้าในหลายรุ่น

ล่าสุด บริษัท อรุณ พลัส จำกัด (ARUN PLUS) บริษัทในกลุ่ม ปตท และ CATL ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ เพื่อศึกษาโอกาสในการพัฒนาธุรกิจ ที่เกี่ยวข้องกับแบตเตอรี่ในภูมิภาคอาเซียน โดย CATL และ ARUN PLUS จะร่วมกันนำเทคโนโลยี Cell-To-Pack (CTP) ของ CATL ซึ่งเป็นเทคโนโลยีขั้นสูง ที่ช่วยจัดเก็บเซลล์แบตเตอรี่ได้โดยตรง โดยไม่ต้องทำให้เป็นโมดูลก่อนมาใช้ประโยชน์ ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของแพคแบตเตอรี่ รองรับการใช้งานที่หลากหลาย ลดความซับซ้อน และลดต้นทุนในภาคการผลิต รวมถึงทั้งสององค์กร จะร่วมกันผสานความรู้ ความเชี่ยวชาญ เพื่อพัฒนาศักยภาพบุคคลากร ด้านเทคโนโลยีแบตเตอรี่ในอนาคต ซึ่งถือเป็นส่วนประกอบที่สำคัญสำหรับรถยนต์ไฟฟ้า โดยคาดว่า จะสามารถผลิตแบตเตอรี่ป้อนให้กับโรงงานของ Horizon Plus (ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่างกลุ่ม ปตท. โดย อรุณ พลัส และ ฟ็อกซ์คอนน์ เพื่อก่อสร้างโรงงานผลิตยานยนต์ไฟฟ้าครบวงจร) ได้ภายในปี 2024 เพื่อสานต่อพันธกิจของ กลุ่ม ปตท. ในการขับเคลื่อนระบบนิเวศยานยนต์ไฟฟ้า (EV Ecosystem) ของประเทศไทย ให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น ตอบสนองต่อนโยบายการส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศ และสอดรับกับเป้าหมายของประเทศ ในการเป็นกลางทางคาร์บอน ภายในปี 2050 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี 2065 อีกด้วย

บริษัท อรุณ พลัส จำกัด (ARUN PLUS) เป็นบริษัทย่อยที่ ปตท. ถือหุ้นร้อยละ 100 สำหรับดำเนินธุรกิจในด้าน EV Value Chain รองรับการขยายฐานธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้า เพื่อส่งเสริมและสร้าง EV Ecosystem ที่จะช่วยสนับสนุน ให้เกิดการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าอย่างแพร่หลายในประเทศไทย อาทิ พัฒนาภาคการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า ขยายเครือข่ายสถานีเครื่องอัดประจุ สำหรับยานยนต์ไฟฟ้า (EV Charging Station) และให้บริการด้านดิจิทัลแพลตฟอร์ม เกี่ยวกับยานยนต์ไฟฟ้า เป็นต้น

ในขณะที่ CATL ผู้นำระดับโลก ในด้านนวัตกรรมเทคโนโลยีพลังงานใหม่ อาทิ วัสดุแบตเตอรี่ และระบบไฟฟ้าเคมี ระบบโครงสร้าง ระบบการผลิต และรูปแบบการดำเนินธุรกิจ เพื่อส่งเสริมนวัตกรรมของการใช้งานในตลาด และให้บรรลุเป้าหมาย ของการทดแทนเชื้อเพลิงฟอสซิล ในการใช้งานทั้ง Stationary และ Mobility โดยใช้ระบบไฟฟ้าที่มีประสิทธิภาพสูง สร้างขึ้นจากแบตเตอรี่เทคโนโลยีขั้นสูง และพลังงานหมุนเวียน โดยในปี 2021 CATL ครองอันดับ 1 ในแง่ของปริมาณการใช้แบตเตอรี่ EV โดยมีส่วนแบ่งตลาดทั่วโลก อยู่ที่ 32.6%

ความร่วมมือกันของทั้งสองบริษัท น่าจะช่วยให้ ปตท ก้าวเข้ามามีบทบาทสำคัญในวงการยานยนต์ไฟฟ้าของไทย ซึ่งน่าจับตามองต่อไปว่า อรุณพลัส จะสามารถขยายฐานทางธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้า ไปได้มากแค่ไหน จะเป็นผู้จัดหาแบตเตอรี่ให้กับรถยนต์ไฟฟ้าแบรนด์ต่างๆในไทยได้หรือไม่ นอกจากการเป็นผู้ประกอบรถยนต์ไฟฟ้าอย่าง Neta ตามที่เป็นข่าวมาก่อนหน้านี้ อีกธุรกิจหนึ่งที่น่าสนใจก็คือ สถานีสลับแบตเตอรี่สำหรับรถยนต์ไฟฟ้า ซึ่ง CATL กำลังขยายธุรกิจในด้านนี้อยู่ และน่าจะเป็นอีกธุรกิจหนึ่ง ที่เราอาจจะได้เห็นในอนาคต