กำลังฮิต! NIO ขยายสถานีสลับแบตเตอรี่ได้ถึง 900 แห่ง เล็งขายถึง 4,000 แห่ง ในอีก 3 ปี

CATL บริษัทผู้ผลิตแบตเตอรี่สำรองไฟที่ใหญ่ที่สุดในโลก เพิ่งประกาศทุ่มเงินลงทุนกว่า 2 แสนล้านบาทในประเทศอินโดนีเซีย และเพิ่งเปิดตัวสถานีสลับแบตเตอรี่ด่วน 4 แห่งแรก ที่ตั้งอยู่ในเมืองเซี่ยเหมิน ประเทศจีน ไปเมื่อไม่นานมานี้ โดยมีแผนจะเพิ่มขึ้นเป็น 30 แห่ง ภายในสิ้นปี 2022 แต่ล่าสุด NIO บริษัทผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าชื่อดังของจีน แสดงให้เห็นความเป็นผู้นำในด้านสถานีสลับแบตเตอรี่สำหรับรถยนต์ไฟฟ้า ด้วยการขยายเครือข่ายสถานี ได้มากถึง 900 แห่งแล้ว โดยคาดว่าจะทำการติดตั้งได้เกิน 1,300 สถานี ภายในสิ้นปี 2022 นี้ ซึ่ง NIO มีแผนขยายเครือข่ายให้ได้ถึง 4,000 สถานี ภายในปี 2025 ซึ่งรวมถึง 1,000 สถานีนอกประเทศจีน โดยสถานีแรกในทวีปยุโรป ได้ถูกเปิดตัวอย่างเป็นทางการในประเทศนอร์เวย์ เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา เพื่อรองรับการใช้งานรถยนต์ไฟฟ้า NIO รุ่น ES8 และรุ่นอื่นๆที่กำลังจะตามมา

ในปัจจุบัน สถานีทั้ง 900 แห่ง ได้ให้บริการลูกค้ารวมแล้วว่า 8 ล้านครั้ง ซึ่งถือว่าเป็นจำนวนการใช้งานที่สูงมาก เมื่อเทียบกับตัวเลขเดิมที่ 5.3 ล้านครั้ง กับ 700 สถานี จากรายงานสถิติการใช้งานเมื่อเดือนธันวาคมปี 2021 ทำให้มีตัวเลขการใช้งานเฉลี่ยต่อสถานีที่ 9,000 ครั้ง โดย NIO มีแบตเตอรี่ 2 ขนาดที่ให้บริการ คือขนาด 75 กิโลวัตต์ชั่วโมง แทนแบบเดิมขนาด 70 กิโลวัตต์ชั่วโมง และอีกขนาดหนึ่งก็คือ 100 กิโลวัตต์ชั่วโมง โดยเร็วๆนี้จะมีแบตเตอรี่ขนาด 150 กิโลวัตต์ชั่วโมงให้บริการด้วย ซึ่งรถยนต์ไฟฟ้า NIO ทุกรุ่น สามารถใช้งานสถานีสลับแบตเตอรี่ได้ทุกแห่ง ในฐานะที่เป็นทางเลือกอีกทางหนึ่ง นอกเหนือไปจากสถานีชาร์จไฟแบบ fast charging สำหรับการเดินทางไกล และการเปลี่ยนขนาดแบตเตอรี่ให้มีความจุมากขึ้น โดยแบตเตอรี่ที่ใช้ จะมีการนำเสนอให้เป็นอุปกรณ์ให้เช่าแยกออกมาต่างหาก และมีการให้เช่าเป็นรายเดือน เพื่อลดภาระในการที่จะต้องจ่ายเงินค่าแบตเตอรี่แบบซื้อขาด

NIO ได้เริ่มใช้สถานีสลับแบตเตอรี่เจนเนอเรชั่นที่ 2 ในเดือนเมษายนปี 2021 ซึ่งแต่ละสถานี จะมี 14 สล็อต สำหรับแบตเตอรี่ 13 แพ็ค จากเดิมที่มีเพียง 5 แพ็คในเวอร์ชั่นแรก ซึ่งในจำนวนนั้น จะมีสล็อตเปล่า 1 สล็อต สำหรับใส่แบตเตอรี่ที่ใช้งานแล้ว โดยสถานีสลับแบตเตอรี่แบบใหม่นี้ สามารถรองรับการสลับแบตเตอรี่ได้สูงสุดถึง 312 ครั้ง ใน 24 ชั่วโมง หรือใช้เวลา 4.6 นาที โดยเฉลี่ย ต่อการสลับแบตเตอรี่ในแต่ละครั้ง ซึ่งเป็นเวลาที่รวมการจอดรถด้วย

และเพื่อให้การขยายสถานีเป็นไปอย่างรวดเร็ว NIO ได้ร่วมมือกับพันธมิตรอย่าง Shell และ Sinopec ในการติดตั้งสถานีใหม่ 71 แห่งในช่วงเวลา 12 เดือนที่ผ่านมา รวมถึงสถานีแบบ fast charging 75 แห่ง และสถานีชาร์จทั่วไป 29 แห่ง ทำให้จนถึงวันที่ 18 เมษายนที่ผ่านมา NIO ได้ทำการติดตั้งสถานีชาร์จไฟแบบต่างๆไปแล้วทั้งหมดดังนี้

สถานีสลับแบตเตอรี่ 900 แห่ง ซึ่งเป็นสถานีตามทางหลวง 237 แห่ง
สถานีแบบ fast charging 737 แห่ง พร้อมแท่นชาร์จ 4,102 จุด
สถานีชาร์จไฟทั่วไป 685 แห่ง พร้อมแท่นชาร์จ 3,892 จุด
และสามารถเข้าถึงแท่นชาร์จของพันธมิตรต่างๆได้มากถึง 480,000 จุด

ความเคลื่อนไหวล่าสุดนี้ ทำให้หลายฝ่ายจับตามองว่า ในอนาคต สถานีสลับแบตเตอรี่ จะเป็นสถานีหลักในการเติมไฟให้กับรถยนต์ไฟฟ้าได้หรือไม่ โดยเฉพาะในยุโรปและสหรัฐอเมริกา ที่ทั้งสองทวีป ยังนิยมใช้สถานีชาร์จไฟแบบ DC Fast charging เป็นหลัก และกรณีศึกษานี้ น่าจะช่วยให้ผู้ประกอบการทางด้านรถยนต์ไฟฟ้าในไทย ทั้งในฝั่งของค่ายรถยนต์ และผู้ประกอบการสถานีชาร์จไฟต่างๆ เช่น ปตท การไฟฟ้า ฯลฯ ทราบทิศทางในอนาคตว่า Ecosystem ของธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้าในไทย ควรจะมีรูปแบบใด จึงจะเหมาะสมที่สุด