ส่งสัญญาณเตือน! EV จีนมาแรง จ่อยึดตลาดรถยนต์ไทยระยะยาว ค่ายญี่ปุ่นขยับตัวช้าไป?

ตลาดรถยนต์ไฟฟ้าส่งสัญญาณแรง ยอดจองของ 2 ค่ายใหญ่จากจีน MG และ Great Wall Motor มีรวมกันกว่า 2,000 คัน หรือคิดเป็น 5.9% ของยอดจองรถยนต์ทั้งหมดในงาน โดยเฉพาะเกรทวอลล์ มอเตอร์ ที่มียอดจองรถยนต์ไฟฟ้าทั้ง 3 รุ่น มากถึง 1,520 คัน เชื่อว่าในช่วงปลายปี ภาพรวมของตลาดรถยนต์ไฟฟ้า น่าจะชัดเจนมากขึ้น จากการที่ผู้ผลิตรถยนต์ค่ายต่างๆ มีความพร้อมในการนำเสนอทางเลือกใหม่ได้ดีกว่า เนื่องจากภาครัฐ เพิ่งประกาศมาตรการสนับสนุน การใช้ยานยนต์ไฟฟ้า ไปได้ไม่นานมานี้

งาน “บางกอก อินเตอร์เนชั่นแนล มอเตอร์โชว์ ครั้งที่ 43” ซึ่งจัดขึ้นตั้งแต่วันที่ 23 มีนาคม – 3 เมษายนที่ผ่านมา มียอดจองรถภายในงานรวมทั้งสิ้น 33,936 คัน เติบโตเพิ่มขึ้น 13.6 เปอร์เซ็นต์ จากปีที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งมาจากมาตรการของภาครัฐ ที่ส่งเสริมรถยนต์ไฟฟ้า โดยให้ส่วนลดมากถึง 150,000 บาท โดยมีรถพลังงานไฟฟ้ามากถึง 20 รุ่น ที่แนะนำในช่วงงาน รวมถึงแคมเปญต่่างๆ ที่ช่วยกระตุ้นยอดขายของค่ายรถ ขณะที่ผู้บริโภค ให้ความเชื่อมั่นในมาตราการด้านความปลอดภัยของการจัดงาน ทำให้มีตัวเลขผู้เข้าชมงาน สูงถึง 1,578,898 คน

“สำหรับการออกนโยบายสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า จากทางภาครัฐในครั้งนี้ ส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศไทยอย่างชัดเจน ใน 2 ด้าน ด้านแรก คือ มีส่วนช่วยกระตุ้นผู้บริโภคให้มีความสนใจ และมีความต้องการที่จะเป็นเจ้าของ เนื่องราคาจำหน่ายที่ถูกลง เข้าถึงผลิตภัณฑ์และเทคโนโลยีใหม่อย่างยานยนต์ไฟฟ้าได้ง่าย มีความมั่นใจ ที่อยากจะลองใช้รถประเภทนี้มากขึ้น ส่วนด้านของผู้ผลิต และผู้จำหน่ายยานยนต์ การมีมาตรการสนับสนุนจากภาครัฐที่ชัดเจน ส่งผลให้ค่ายรถ มีความมั่นใจและกระตุ้นให้เกิดการลงทุน ในการทำตลาดรถไฟฟ้าในประเทศไทยมากขึ้น”

ด้วยเหตุนี้ ทั้งการยื่นความประสงค์เข้าร่วมโครงการของภาครัฐจากค่ายรถยนต์ การปรับลดราคาจำหน่ายรถไฟฟ้า รวมถึงการเตรียมความพร้อมในการผลิตรถไฟฟ้าในประเทศ นับเป็นความชัดเจนที่แสดงผ่านทุกฝ่ายว่าเป็นการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย ให้เป็นศูนย์กลางของรถไฟฟ้าในอาเซียนอีกด้วย

ทั้งนี้ รถยนต์ไฟฟ้าที่ได้รับความสนใจอย่างมากจากประชาชน คือรถของค่ายเอ็มจี และ เกรท วอลล์ มอเตอร์ ที่ได้ลงนามกับภาครัฐ ที่ส่งเสริมแคมเปญ และให้ส่วนลดมากถึง 150,000 บาท โดยค่ายเอ็มจี มีรถอีวี 2 รุ่น คือ เอ็มจี อีพี และเอ็มจี แซดเอส อีวี ส่วนรถจากเกรท วอลล์ มอเตอร์ เป็นรุ่น โอร่า กู๊ดแคท ที่ประกาศลดราคาขายปลีก ลงไป 160,500-161,000 บาท ซึ่งทั้ง 2 ค่ายรถยนต์ มียอดจองภายในงาน รวมกันมากกว่า 2,000 คัน

นอกจากนี้ ยังมีรถไฟฟ้าจากค่ายญี่ปุ่นและยุโรป ไม่ว่าจะเป็นโตโยต้า เมอร์เซเดส-เบนซ์ บีเอ็มดับเบิ้ลยู และวอลโว่ ที่ได้รับความสนใจจากผู้เข้าชมงานเป็นจำนวนมากเช่นกัน ทำให้ในปีนี้ยอดจองรถยนต์ไฟฟ้าภายในงานเติบโตเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก

ถึงแม้ว่าที่ผ่านมา ผู้จัดงานต้องเจอผลกระทบจากโควิด-19 ทำให้ยอดจองลดลงจากช่วงปรกติ แต่ด้วยตัวเลขยอดจองในปีนี้ มีการเติบโตขึ้นจากปีก่อน จึงเชื่อว่ากำลังซื้อของคนไทยที่อยากได้รถยนต์คันใหม่ไม่ได้หายไป แต่รอเวลาที่เหมาะสม เมื่อมีแคมเปญและโปรโมชั่นของค่ายรถที่น่าสนใจและช่วยให้ทุกคนเป็นเจ้าของรถคันใหม่ได้ง่ายขึ้น ผู้บริโภคก็สามารถเลือกรถที่เหมาะสมกับความต้องการได้

โดยสิ่งที่ตอกย้ำพฤติกรรมของผู้บริโภค ว่าให้การตอบรับกับรถยนต์รุ่นใหม่ ที่เปิดตัวและรับจอง ภายในงานมอเตอร์โชว์เป็นครั้งแรกได้อย่างชัดเจน คือ แบรนด์น้องใหม่อย่าง เกรท วอลล์ มอเตอร์ ซึ่งเข้าร่วมงานบางกอก มอเตอร์โชว์ เป็นปีที่ 2 และเริ่มเปิดรับจองรถยนต์ภายในงานเป็นครั้งแรก ก็สามารถสร้างยอดจองจากรถยนต์รถพลังงานไฟฟ้าทั้ง 3 รุ่น เฉพาะในงาน ได้มากถึง 1,520 คัน

สำหรับปริมาณยอดจองรถยนต์ใหม่ภายในงาน อยู่ที่ 31,896 คัน เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาประมาณ 14.4 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งบริษัทที่ทำยอดจองสูงสุดภายในงาน ได้แก่

อันดับ 1 Toyota ยอดจองรวม 5,128 คัน
อันดับ 2 Honda ยอดจองรวม 3,019 คัน
อันดับ 3 Mazda ยอดจองรวม 2,906 คัน
อันดับ 4 Isuzu ยอดจองรวม 2,594 คัน
อันดับ 5 Mitsubishi ยอดจองรวม 2,553 คัน
อันดับ 6 MG ยอดจองรวม 2,324 คัน
อันดับ 7 Suzuki ยอดจองรวม 2,204 คัน
อันดัน 8 Mercedes-Benz ยอดจองรวม 2,102 คัน
อันดับ 9 Ford ยอดจองรวม 1,797 คัน
อันดับ 10 Nissan ยอดจองรวม 1,620 คัน

สำหรับปริมาณยอดจองรถจักรยานยนต์ภายในงานอยู่ที่ 2,040 คัน เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาราว 2 เปอร์เซ็นต์ โดยทางบริษัท ไทยฮอนด้า แมนูแฟคเจอริ่ง จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายรถจักรยานยนต์ฮอนด้า ไม่ประสงค์แจ้งยอดจองภายในงาน ซึ่งบริษัทที่ทำยอดจองสูงสุดภายในงาน ได้แก่

อันดับ 1 Yamaha ยอดจองรวม 939 คัน
อันดับ 2 Harley-Davidson ยอดจองรวม 305 คัน
อันดับ 3 Kawasaki ยอดจองรวม 252 คัน
อันดับ 4 Royal Enfield ยอดจองรวม 193 คัน
อันดับ 5 Suzuki ยอดจองรวม 182 คัน

และตั้งแต่นี้เป็นต้นไป ค่ายรถยนต์ต่างๆ น่าจะเริ่มทยอยเปิดตัวรถยนต์ไฟฟ้า ทั้งแบบไฟฟ้า 100% และไฮบริด หรือปลั๊กอินไฮบริดมากขึ้น แต่ไฮไลต์คงอยู่ที่รถยนต์ไฟฟ้า 100% จากการที่ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ ทำให้เราจะได้เห็นรถยนต์ไฟฟ้ารุ่นใหม่อีกหลายรุ่น ซึ่งแน่นอนว่าส่วนใหญ่มาจากค่ายรถยนต์จีน ที่กำลังจะกลายมาเป็นผู้กำหนดทิศทางอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยในอนาคต จากความได้เปรียบ ในด้านเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้าและต้นทุนที่ต่ำกว่า เหนือกว่าคู่แข่งดั้งเดิม ที่มาจากประเทศญี่ปุ่น