โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย รายงานสถิติการขายรถยนต์ ประจำเดือนพฤศจิกายน 2564 ยังคงชะลอตัวต่อเนื่องในทุกเซ็กเมนท์ โดยมียอดขายรวมทั้งสิ้น 71,716 คัน แต่มีอัตราการหดตัวที่ลดลง เพียง 3.2% ประกอบด้วย รถยนต์นั่ง 23,793 คัน เพิ่มขึ้น 5.9% รถยนต์เพื่อการพาณิชย์ 47,923 คัน ลดลง 7.2% ขณะที่รถกระบะขนาด 1 ตัน ในเซกเมนท์นี้ มีจำนวน 38,550 คัน ลดลง 5.6% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว สืบเนื่องจากภาวะการระบาดของโรคโควิด19 ที่ยังคงเกิดขึ้นทั่วประเทศ ส่งผลกระทบ และเป็นอุปสรรคต่อการดำเนินชีวิตของประชาชน ตลอดจนการดำเนินธุรกิจ ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรง ต่อภาวะเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ธุรกิจการท่องเที่ยว และบริการต่างๆที่เกี่ยวข้อง ทำให้ผู้บริโภค ยังคงชะลอการตัดสินใจซื้อ และรัดกุมค่าใช้จ่ายอย่างต่อเนื่อง เพื่อรอจังหวะการใช้จ่ายที่เหมาะสม
ตลาดรถยนต์ในเดือนธันวาคม มีแนวโน้มดีขึ้น เนื่องจากการผ่อนคลายมาตรการควบคุมโควิด-19 ในประเทศ มีทิศทางที่ดีขึ้น ส่งผลดีต่อการประกอบธุรกิจต่างๆ และประชาชนสามารถดำเนินชีวิตได้ใกล้เคียงกับในสภาวะปกติ ทั้งนี้ ยังเป็นการลดผลกระทบด้านเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญ ที่จะทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจ ทยอยฟื้นตัว โดยสถานการณ์ตลาดรถยนต์ จะขยับตัวดีขึ้น สืบเนื่องจากทุกค่ายรถยนต์ ต่างแข่งขันกันนำเสนอ แคมเปญส่งเสริมการขายในช่วงสิ้นปี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในช่วงงานมหกรรมยานยนต์ ครั้งที่ 38 ที่ผ่านมา ซึ่งได้รับผลตอบรับเป็นอย่างดี โดยมีผู้เข้าร่วมงาน จำนวนมากถึง 1,151,540 คน และยอดจองรถยนต์ในงาน มากถึง 31,583 คัน ไม่รวมยอดจองรถยนต์ตามโชว์รูมผู้แทนจำหน่ายทุกยี่ห้อทั่วประเทศ ภายใต้ข้อเสนอพิเศษ “เงื่อนไขเดียวกับมอเตอร์โชว์” เป็นตัวกระตุ้นการตัดสินใจซื้อรถยนต์ของลูกค้า ได้อย่างสัมฤทธิ์ผล อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ไวรัสสายพันธุ์ใหม่ “โอมิครอน” ที่เริ่มมีการแพร่ระบาดในหลายประเทศ รวมทั้งประเทศไทย เป็นปัจจัยลบ ต่อสถานการณ์ตลาดรถยนต์ และสภาพเศรษฐกิจโดยรวม ที่ต้องจับตามองต่อไป
ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์ เดือนพฤศจิกายน 2564
ตลาดรถยนต์รวม มีปริมาณการขาย 71,716 คัน ลดลง 3.2% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว โดย 5 อันดับแรกมีดังนี้
อันดับ 1 Toyota 23,168 คัน ลดลง 9.9% ส่วนแบ่งตลาด 32.3%
อันดับ 2 Isuzu 18,419 คัน เพิ่มขึ้น 7.2% ส่วนแบ่งตลาด 25.7%
อันดับ 3 Honda 8,624 คัน ลดลง 4.3% ส่วนแบ่งตลาด 12.0%
อันดับ 4 Mitsubishi 4,404 คัน ลดลง 8.5% ส่วนแบ่งตลาด 6.1%
อันดับ 5 Mazda 3,308 คัน ลดลง 15.3% ส่วนแบ่งตลาด 4.6%
สำหรับปริมาณการจำหน่ายรถกระบะ Pure Pickup ประจำเดือนพฤศจิกายน 2564
มีปริมาณการขาย 33,140 คัน ลดลง 9.7% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว
อันดับ 1 Isuzu D-MAX 15,222 คัน ลดลง 4.5% ส่วนแบ่งตลาด 45.9%
อันดับ 2 Toyota Hilux Revo 12,550 คัน ลดลง 9.3% ส่วนแบ่งตลาด 37.9%
อันดับ 3 Ford Ranger 2,377 คัน เพิ่มขึ้น 8.1% ส่วนแบ่งตลาด 7.2%
อันดับ 4 Mitsubishi Triton 1,960 คัน ลดลง 9.6% ส่วนแบ่งตลาด 5.9%
อันดับ 5 Nissan Navara 585 คัน ลดลง 53.3% ส่วนแบ่งตลาด 1.8%
อันดับ 6 MG Extender 327 คัน ลดลง 30.1% ส่วนแบ่งตลาด 1.0%
อันดับ 7 Mazda BT-50 118 คัน ลดลง 82.6% ส่วนแบ่งตลาด 0.4%
อันดับ 8 Tata Xenon 1 คัน ลดลง 75.0% ส่วนแบ่งตลาด 0.0%
ภาพรวมของตลาดรถกระบะในเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ทุกค่ายมียอดขายลดลง ยกเว้น Ford Ranger ที่นอกจากจะสวนกระแสยอดขายในธุรกิจยานยนต์ตกต่ำแล้ว ยังสวนกระแสการเตรียมเปิดตัว All-New Ford Ranger โฉมใหม่ ที่ตลาดรับรู้ถึงข่าวนี้ มานานหลายเดือน และ Ford เอง ก็ได้ทำการเปิดตัวอย่างเป็นทางการ ครั้งแรกในโลก ให้กับ Ranger เจนเนอเรชั่นใหม่ ไปเมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายนที่ผ่านมา แต่ด้วยกลยุทธ์ทางการตลาด แบบลดแหลกแจกแถม และขยันเปิดตัวรุ่นย่อยพิเศษต่างๆ ออกมาตลอดทั้งปี ช่วยให้ยอดขายของ RANGER เพิ่มขึ้น และยังอยู่ในอันดับ 3 อย่างเหนียวแน่น ซึ่งกลยุทธ์ทางการตลาดนี้ ใช้ได้ผลกับตลาดสำคัญอย่างออสเตรเลียด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ตาม แรงเสริมที่สำคัญ ก็คือปัญหาการส่งมอบรถยนต์ของเจ้าตลาด อย่าง Isuzu และ Toyota ที่มีปัญหาชิปขาดแคลนทั่วโลก ทำให้ไม่สามารถทำยอดขาย ได้ดีเท่าที่ควรจะเป็น
ในขณะที่แชมป์เก่าอย่าง Isuzu D-MAX มียอดขายลอยลำในเดือนนี้ ทิ้งห่างอันดับ 2 อย่าง Toyota Hilux Revo ไปอีกถึง 2,672 คัน เรียกว่าปิดโอกาสลุ้นแชมป์มาตั้งแต่เดือนตุลาคมเสียด้วยซ้ำ การเปิดตัวรุ่น GR Sport และรุ่นปรับปรุงใหม่ของ Hilux Revo ดูเหมือนว่าไม่ได้สร้างความแตกต่างให้เกิดขึ้นในการแข่งขันกับ D-MAX เลยก็ว่าได้ และดูเหมือนว่า D-MAX อาจจะเป็นอันดับ 1 ในด้านยอดขายไปจนกว่า Toyota จะมีการเปลี่ยนเจนเนอเรชั่นของ Hilux หรือมีการเพิ่มรุ่นใหม่ ที่มีความพิเศษสุดจริงๆ อย่าง Hilux Revo Hybrid หรือรุ่นสมรรถนะสูงเพื่อกระตุ้นตลาด แต่นั่นก็ไม่ได้เป็นการรับประกันว่า ยอดขายจะกระเตื้องขึ้นมาก จนสูสีกับ D-MAX ได้ ตราบใดที่ยังพัฒนาต่อยอดมาจาก Hilux Revo เจนเนอเรชั่นปัจจุบัน
Mitsubishi Triton สามารถทำยอดชายได้ไม่เลว ที่ 1,960 คัน ก่อนที่จะมีการเปลี่ยนเจนเนอเรชั่นในปีหน้า 2022 ส่วน Nissan Navara ถือว่าทำผลงานได้ดีในเดือนนี้ โดยมียอดขายมากกว่า MG Extender ในขณะที่ Mazda BT-50 ยังถือว่าเป็นตัวเลือกหลังๆในตลาด แม้ว่าจะพัฒนาร่วมกับแชมป์อย่าง Isuzu D-MAX ก็ตาม ส่วน Tata Xenon ที่ออกจากตลาดไปแล้ว ยังทำยอดขายได้อีก 1 คัน
ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์ ใน 11 เดือนแรกของปี 2564
ตลาดรถยนต์รวม ปริมาณการขาย 668,109 คัน ลดลง 2.9% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว โดย 5 อันดับแรกมีดังนี้
อันดับ 1 Toyota 212,573 คัน เพิ่มขึ้น 0.7% ส่วนแบ่งตลาด 31.8%
อันดับ 2 Isuzu 165,359 คัน เพิ่มขึ้น 4.5% ส่วนแบ่งตลาด 24.8%
อันดับ 3 Honda 77,136 คัน ลดลง 7.0% ส่วนแบ่งตลาด 11.5%
อันดับ 4 Mitsubishi 41,425 คัน ลดลง 19.4% ส่วนแบ่งตลาด 6.2%
อันดับ 5 Mazda 31,634 คัน ลดลง 7.0% ส่วนแบ่งตลาด 4.7%
สำหรับปริมาณการจำหน่ายรถกระบะ Pure Pickup ใน 11 เดือนแรกของปี 2564
มีปริมาณการขาย 304,947 คัน ลดลง 5.0% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว
อันดับ 1 Isuzu D-MAX 135,823 คัน ลดลง 4.1% ส่วนแบ่งตลาด 44.5%
อันดับ 2 Toyota Hilux Revo 114,365 คัน เพิ่มขึ้น 1.7% ส่วนแบ่งตลาด 37.5%
อันดับ 3 Ford Ranger 23,894 คัน เพิ่มขึ้น 15.0% ส่วนแบ่งตลาด 7.8%
อันดับ 4 Mitsubishi Triton 19,286 คัน ลดลง 17.3% ส่วนแบ่งตลาด 6.3%
อันดับ 5 Nissan Navara 6,195 คัน ลดลง 50.7% ส่วนแบ่งตลาด 2.0%
อันดับ 6 MG Extender 4,208 คัน ลดลง 9.4% ส่วนแบ่งตลาด 1.4%
อันดับ 7 Mazda BT-50 1,152 คัน ลดลง 57.5% ส่วนแบ่งตลาด 0.4%
อันดับ 8 Tata Xenon 24 คัน ลดลง 82.6% ส่วนแบ่งตลาด 0.0%
ใน 11 เดือนแรก Isuzu D-MAX ทิ้งช่วงห่าง Toyota Hilux Revo ไว้ถึง 21,458 คัน มากกว่ายอดขายของ Hilux Revo ในเดือนพฤศจิกายน ถึงเกือบเท่าตัว ทำให้แทบจะเป็นไปไม่ได้เลย ที่ D-MAX จะพลาดท่าเสียแชมป์ให้กับ Hilux Revo ในปีนี้ เว้นเสียแต่ว่าในเดือนสุดท้ายของปี Toyota สามารถทำยอดขายในเดือนเดียว ให้ได้เกิน 40,000 คัน สำหรับ Hilux Revo ที่น่าจะเพียงพอ ที่ทำให้พลิกสถานการณ์ได้ ในขณะที่อันดับ 3 ของปีนี้ ก็น่าจะหนีไม่พ้น Ford Ranger ที่มีระยะห่างจากอันดับ 4 อย่าง Mitsubishi Triton ถึง 4,608 คัน ซึ่งแม้ว่ายอดจองรถยนต์โดยรวมของ Ford ในงานมหกรรมยายนต์ครั้งที่ 38 ที่เพิ่งปิดฉากลงไป จะมีน้อยกว่าที่คาด ซึ่งอาจจะเป็นเพราะกลุ่มเป้าหมาย ชะลอการตัดสินใจซื้อ เพื่อรอ Ranger และ Everest โฉมใหม่ แต่ก็ไม่น่าจะส่งผล ทำให้อันดับ 3 และ 4 เปลี่ยนไปจากเดิมได้