ปิดฉากลงไปแล้ว สำหรับงานมหกรรมยานยนต์ ครั้งที่ 38 ที่ถือว่าประสบความสำเร็จเป็นที่น่าพอใจสำหรับผู้จัดงาน แม้ว่าจะเจอมรสุมจากโรคระบาดโควิด-19 ที่ทำให้คนซื้อและคนเข้าชมงานน้อยกว่าที่ควรจะเป็น โดยยอดจองรวม ทั้งรถยนต์และรถจักรยานยนต์ภายในงาน มีจำนวน 34,836 คัน แบ่งเป็นรถยนต์ 31,583 คัน รถจักรยานยนต์ 3,253 คัน ผู้ชมทะลุ 1 ล้านคน อัดฉีดเม็ดเงินสู่ระบบเศรษฐกิจ 4.3 หมื่นล้าน ปลุกตลาดรถตื่นรับปีใหม่
ราคาเฉลี่ยของรถที่ขายได้ในงาน อยู่ที่ 1,308,053 บาท และราคาเฉลี่ยของรถจักรยานยนต์ อยู่ที่ 398,831 บาท ผู้เข้าชมงาน 1,151,540 คน โดยจำนวนนี้ มีผู้ชมงานผ่าน MOTOR EXPO ONLINE PLATFORM 139,110 คน เรียกดู 1,819,123 คลิป นับว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก
สำหรับยอดจองรถยนต์ เป็นไปตามแนวโน้ม ที่เราได้เห็นมาก่อนหน้านี้ ซึ่งยอดจองสูงที่สุดในงาน เป็นของ TOYOTA ที่ 5,715 คัน นำโด่งมาเป็นอันดับ 1 ทิ้งห่างที่ 2 อย่าง Honda ที่หลายปีที่ผ่านมา มักจะมียอดจองเป็นอันดับ 1 สลับกับ TOYOTA โดยมียอดจองปีนี้ อยู่ที่ 4,115 คัน ส่วน Isuzu ตามมาเป็นอันดับ 3 ที่ 3,329 คัน โดยมีอันดับที่เรียงกันตามมา ก็คือ Mazda MG Suzuki Mercedes-Benz Mitsubishi BMW และ Nissan เป็น 10 อันดับแรกยอดจองสูงที่สุด ตามลำดับ ซึ่งจะเห็นว่า ค่ายรถยนต์หรูจากเยอรมนี อย่าง Mercedes-Benz และ BMW อยู่ใน 10 อันดับแรกทั้งสองแบรนด์ เป็นการสะท้อนในมุมหนึ่งว่า ชนชั้นกลางระดับบนขึ้นไป ไม่ได้รับผลกระทบในเรื่องเศรษฐกิจ เท่ากับประชาชนทั่วไป ที่มีกำลังซื้อไม่สูงมาก ซึ่งเป็นปัญหาของการกระจายรายได้ ที่ไม่ทั่วถึงของสังคมไทย ที่มีมานาน
น้องใหม่ของวงการอย่าง Haval และ ORA ที่มีการรวมยอดจองเข้าไว้ด้วยกัน ในวันท้ายๆ ทำให้เราไม่ทราบตัวเลขของแต่ละแบรนด์ สามารถทำยอดจองได้ไม่เลว ที่ 868 คัน อยู่ในอันดับ 12
ในปีนี้ Toyota มียอดจองเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 4.96% หลังจากที่ปีที่แล้ว มียอดจองลดลงถึง 12.78% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ส่วน Honda มียอดจองลดลงจากปีก่อนถึง 15.96% และเป็นปีที่ 3 ติดต่อกัน ที่มียอดจองลดลงอย่างต่อเนื่อง ส่วน Isuzu ถือว่ามีสัญญาณที่ดี จากยอดจองที่เพิ่มขึ้น 8.22% หลังจากที่ 3 ปีก่อนหน้านี้ มียอดจองลดลงทุกปี
ในภาพรวมจะพบว่า 3 วันหลังสุดของการจัดงาน ยอดจองรถยนต์ทั้งสามวัน อยู่ที่ 13,456 คัน หรือเกือบครึ่งหนึ่งของยอดจองรวมทั้งหมด โดยเฉพาะวันสุดท้าย ที่มียอดจองถึง 6,657 คัน ซึ่งทุกแบรนด์ สามารถทำยอดจองได้ โดย Lotus มียอดจองน้อยที่สุด คือเพียง 2 คันเท่านั้น
สำหรับยอดจองรถจักรยานยนต์ Yamaha นำโด่งมาเป็นอันดับ 1 ที่ 1,118 คัน นำห่างที่ 2 อย่าง Honda เกือบ 3 เท่าตัว ซึ่งทำได้ที่ 439 คัน ส่วนอันดับ 3 เป็นของ Royal Enfield ตามมาด้วย Kawasaki และ Harley-Davidson ในอันดับ 4 และ 5 ตามลำดับ
และแม้ว่างานมหกรรมยานยนต์ ครั้งที่ 38 ที่ถือว่าเป็นงานแสดงและจำหน่ายรถยนต์-รถจักรยานยนต์ ที่ใหญ่ที่สุดงานหนึ่งของปี ได้เสร็จสิ้นลงไปแล้ว แต่นั่นเป็นเหมือนการส่งสัญญาณเริ่มต้น ของการแข่งขันในปีหน้า ที่เชื่อว่าจะดุเดือดมากกว่าปีนี้ จากสถานการณ์โรคระบาด ที่หวังว่าจะดีขึ้นกว่าเดิม ด้วยการที่ประชาชน มีการฉีดวัคซีนทั่วถึงมากขึ้น แต่เชื้อไวรัสสายพันธุ์ใหม่อย่างออมิครอน ก็อาจจะทำให้สถานการณ์ยืดเยื้อยาวนานขึ้นไปอีก แต่อย่างน้อย ตลาดรถกระบะของไทย ที่มีตัวเลือกใหม่หมดทั้งคัน อย่าง Ford Ranger ที่จะเปิดตัวในปีหน้า และมีลุ้นได้เห็น All-New Mitsubishi Triton ในช่วงครึ่งหลังของปี 2022 น่าจะทำให้ตลาดรถยนต์ของไทย คึกคักขึ้นมามากอย่างแน่นอน