สืบเนื่องจากคลิปก่อนหน้านี้ ที่พูดถึงยอดขายรถกระบะปิกอัพ ในเดือนมิถุนายน และ 6 เดือนแรก ของปี 2563 ซึ่ง Isuzu D-MAX นำมาเป็นอันดับ 1 ในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ด้วยยอดขายเกือบ 15,000 คัน มากกว่า Toyota Hilux Revo ถึง 2.4 เท่าตัว ซึ่งถือว่าเป็นยอดขายรถกระบะ ที่ทิ้งห่างอันดับ 2 มากที่สุดในปีนี้ ส่วนหนึ่ง อาจจะเพราะกลุ่มเป้าหมาย ชะลอการตัดสินใจซื้อ เพื่อรอพิจารณา Hilux Revo โฉมใหม่ ที่เปิดตัวไปแล้ว เมื่อต้นเดือนมิถุนายน
และที่ผ่านมา Isuzu D-MAX สามารถทำยอดขายเฉลี่ยในแต่ละเดือน สูงกว่า Toyota Hilux Revo มาโดยตลอดในปีนี้ แต่ยังมีอีกหนึ่งประเด็น ที่น่าสนใจกว่า ก็คือปริมาณการขายรถยนต์รวมทุกประเภท ในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา Isuzu สามารถแซงขึ้นมาเป็นอันดับ 1 ในเมืองไทย เหนือกว่า Toyota ที่เป็นเจ้าตลาดมาโดยตลอด อย่างไรก็ตาม ยอดขายสะสมใน 6 เดือนแรก Toyota ก็ยังมีจำนวนที่สูงกว่า Isuzu อยู่ แต่การที่มียอดขายที่น้อยกว่าคู่แข่ง ที่มีรุ่นรถยนต์ที่จำหน่าย น้อยกว่ามาก ก็เป็นสัญญาณที่ไม่ดีนักสำหรับ Toyota เรามาดูกันว่า ในตลาดรถยนต์แต่ละประเภท Toyota ทำได้ดีแค่ไหน เมื่อเปรียบเทียบกับคู่แข่ง
ก่อนอื่น เรามาดูภาพรวมในตลาดรถยนต์ ปี 2563 กันก่อน ซึ่งปริมาณการขายรวม ใน 6 เดือนแรก อยู่ที่ 328,604 คัน ลดลง 37.8% ซึ่งเป็นผลมาจากสภาพเศรษฐกิจของไทย ที่ไม่สู้ดีนัก ในรอบ 3-4 ปีที่ผ่านมา จากดัชนีชี้วัดทางเศรษฐกิจต่างๆ และความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ลดลง แต่ปัจจัยที่ส่งผลกระทบมากที่สุด คงหนีไม่พ้นการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ทำให้ธุรกิจทั่วโลก ประสบปัญหาหนัก อย่างที่ไม่เคยเจอมาก่อน จนถึงขนาดที่บริษัทขนาดใหญ่ระดับโลกหลายแห่ง เข้าขั้นล้มละลาย แต่ปัญหาต่างๆเหล่านี้ ก็เป็นปัญหาที่ค่ายรถยนต์ต่างๆในเมืองไทย ประสบอยู่ด้วยเช่นกัน
และเมื่อเราพิจารณาตัวเลข ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์ ในเดือนมิถุนายนปีนี้ ทั้ง 2 ตลาดหลัก คือ ตลาดรถยนต์นั่ง และตลาดรถเพื่อการพาณิชย์ ซึ่งรวมถึงรถกระบะขนาด 1 ตัน เราจะเห็นภาพที่ชัดเจนขึ้น
เริ่มจากตลาดรถยนต์รวม ในเดือนมิถุนายน ที่มีปริมาณการขาย 58,013 คัน ลดลง 32.6% จะพบว่า Isuzu มียอดขายสูงที่สุด คืออยู่ที่ 16,661 คัน เพิ่มขึ้น 26.1% จากปีที่ผ่านมา มีส่วนแบ่งตลาด ที่ 28.7% ในขณะที่ Toyota ตามมาเป็นอันดับ 2 คือมีปริมาณการขาย ที่ 13,366 คัน ลดลงถึง 53.8% มีส่วนแบ่งตลาด 23.0% หรือไม่ถึง 1 ใน 4 ของยอดขายในตลาดทั้งหมด ส่วน Honda ตามมาเป็นอันดับ 3 แบบห่างๆ ที่ 5,822 คัน ลดลงจากปีก่อน พอๆกับ Toyota คือที่ 52.1% มีส่วนแบ่งตลาดที่ 10.0% ส่วนที่เหลือ จะเป็นค่ายรถยนต์อื่นๆ ซึ่งเฉพาะ Isuzu และ Toyota เพียง 2 รายรวมกัน ก็มีส่วนแบ่งตลาด มากกว่าครึ่งหนึ่งของตลาดทั้งหมด ทำให้ในเมืองไทย เป็นการแข่งขันกันระหว่าง 2 ค่าย อย่างแท้จริง
ในตลาดรถยนต์นั่ง ของเดือนมิถุนายน มีปริมาณการขายรวม 20,768 คัน ลดลงถึง 41.3% โดยมี Honda นำมาเป็นอันดับ 1 ตามมาติดๆด้วย Toyota ในอันดับ 2 และ Suzuki ในอันดับ 3 แต่ด้วยปริมาณการจำหน่ายที่ไม่สูงนัก อีกทั้งรถยนต์นั่ง ยังเป็นสิ่งที่จำเป็นน้อยกว่ารถบางประเภท เช่นรถเพื่อการพานิชย์ ทำให้กลุ่มเป้าหมาย ให้ความสำคัญลดลง เมื่อพบว่า ตัวเองกำลังประสบปัญหา ในการจ่าย หรือชำระหนี้
ในขณะที่ตลาดรถเพื่อการพาณิชย์ ในเดือนเดียวกัน มียอดขายมากกว่าตลาดรถยนต์นั่ง เกือบเท่าตัว คือที่ 37,245 คัน และลดลงน้อยกว่าเช่นกัน เมื่อเทียบกับปีก่อน คือที่ 26.4% และในตลาดนี้ Isuzu ซึ่งนำมาเป็นอันดับ 1 ทำได้ดีกว่า Toyota มาก คือมีปริมาณการขายที่ 16,661 คัน หรือคิดเป็นเกือบ 2 เท่า เมื่อเทียบกับ Toyota ในขณะที่ Mitsubishi ตามมาเป็นอันดับ 3
ตลาดที่สำคัญอีกหนึ่งตลาด ซึ่งถูกรวมในตลาดรถเพื่อการพาณิชย์ ก็คือ ตลาดรถกระบะขนาด 1 ตัน ซึ่งรวมถึงตลาดรถกระบะดัดแปลง หรือ PPV โดยมีปริมาณการขาย 29,576 คัน ลดลง 26.7% ซึ่งภาพรวม 3 อันดับแรก คล้ายกับตลาดรถเพื่อการพาณิชย์ เพราะรถกระบะขนาด 1 ตัน มีสัดส่วน เกือบจะทั้งหมดในตลาดนี้ นั่นก็คือ Isuzu ที่เป็นอันดับ 1 มียอดขายมากกว่า Toyota ที่เป็นอันดับ 2 อยู่ 2 เท่าตัว คือจำหน่ายไปได้ถึง 15,368 คัน ในขณะที่ Toyota จำหน่ายไปได้เพียง 7,375 คัน ส่วน Mitsubishi จำหน่ายไปได้ 2,562 คัน ซึ่งตลาดนี้ Isuzu มี D-MAX ที่เป็นตัวชูแรง ในการสร้างยอดขายให้กับบริษัท
จากตัวเลขต่างๆข้างต้น ทำให้ยอดขายรวมรถยนต์ทุกประเภทของ Toyota น้อยกว่า Isuzu อยู่ 3,000 กว่าคัน ในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ซึ่งแม้ว่าปริมาณยอดขายสะสมใน 6 เดือนแรก Toyota ยังมีปริมาณการจำหน่ายมากที่สุดก็ตาม คือที่ 94,222 คัน ลดลง 45.1% ส่วน Isuzu มียอดขายที่ 76,054 คัน ลดลงเพียง 14.7% แต่ Toyota ยังสามารถครองอันดับ 1 ได้ ก็เพราะยังมีตลาดรถยนต์นั่ง ที่ Isuzu ไม่มี รวมเข้าไปอยู่ด้วย แม้ว่าในภาพรวมของตลาดรถยนต์นั่ง Toyota ยังมียอดขายเป็นอันดับ 2 รองจาก Honda ก็ตาม แต่ก็มากพอ ที่จะทำให้ยังเป็นอันดับ 1 ในตลาดรวม ในช่วงครึ่งแรกของปีนี้
อย่างไรก็ตาม จากการที่ประเทศไทยและทั่วโลก ประสบปัญหาทางเศรษฐกิจจากโรคระบาด ทำให้ในครึ่งหลังของปีนี้ เป็นที่น่าจับมองเป็นพิเศษ โดยเฉพาะ Toyota ที่น่าจะประสบปัญหามากกว่า Isuzu เพราะตลาดรถยนต์นั่ง จะอ่อนไหวต่อสภาพเศรษฐกิจ มากกว่าตลาดรถเพื่อการพาณิชย์ ที่มีความจำเป็นมากกว่า และสามารถตอบโจทย์ได้มากกว่ารถยนต์นั่ง ในบางสถานการณ์ ที่หลายครอบครัว อาจจะมองว่า ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องซื้อ ในสภาพเศรษฐกิจเช่นนี้
และสถานการณ์ต่างๆ น่าจะเลวร้ายลงไปอีก เพราะหลังจากเดือนตุลาคมนี้เป็นต้นไป ลูกหนี้ต่างๆ จะไม่สามารถหยุดพักชำระหนี้ได้แล้ว จากการเปิดเผยของธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ในระยะที่ 2 ของธนาคาร ยังคงมีอยู่ แต่จะไม่มีการต่ออายุมาตรการพักชำระหนี้ ให้แก่ลูกหนี้เป็นการทั่วไป เหมือนในระยะแรก เนื่องจากความต้องการความช่วยเหลือ ของลูกหนี้แต่ละราย มีความแตกต่างกัน ทำให้ส่งผลกระทบ มาสู่ประชาชน ในระดับตัวบุคคลโดยตรง
เช่น การลดเงินเดือนและสวัสดิการต่างๆ การปลดคนงานบางส่วน หรือแม้แต่การปิดกิจการทั้งหมด ที่จะเห็นกันมากขึ้นหลังจากนี้ และนั่นทำให้กำลังซื้อหดตัวลงอย่างมาก และกลุ่มเป้าหมายส่วนหนึ่ง ที่สามารถจับจ่ายใช้สอยได้ ก็จะชะลอการตัดสินใจซื้อออกไป เพื่อรอดูสถานการณ์ หรือแม้แต่พับโครงการซื้อรถยนต์ใหม่ไปเลย
การลดลงของยอดขายรถยนต์โดยรวมของ Toyota ในเดือนมิถุนายนนี้ อาจจะไม่ใช่การส่งสัญญาณลบในระยะสั้น ที่จะมีเพียงบางเดือน หรือ 6 เดือนหลังจากนี้เท่านั้น การเปลี่ยนแปลงของตลาดรถยนต์ในระดับโลก ก็ส่งผลกระทบกับ Toyota ในระยะยาวเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นความนิยมในรถเอสยูวี หรือครอสโอเวอร์ ที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในเมืองไทย Toyota ก็ยังถือว่า ทำได้ไม่ดีเท่า MG หรือ Mazda ที่มีตัวเลือกมากกว่า และราคาเข้าถึงได้ง่ายกว่า ซึ่งตลาดนี้ ส่งผลกระทบ กับตลาดรถยนต์นั่งของ Toyota ที่มีปัญหาอยู่แล้วในปัจจุบัน และเป็นตลาดที่ทำให้ Toyota สามารถอยู่เหนือ Isuzu ได้ ในด้านยอดขายโดยรวม
แต่การที่ตลาดรถยนต์ ได้เปลี่ยนไป จากตลาดที่ใช้เครื่องยนต์สันดาปภายใน ไปเป็นรถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น และเร็วขึ้นกว่าที่หลายฝ่ายคาดการณ์ ทำให้ Toyota อาจจะประสบปัญหาในระยะยาว เพราะครั้งหนึ่ง ผู้บริหารสูงสุดของ Toyota ได้เคยให้สัมภาษณ์ว่า ตลาดรถยนต์ไฟฟ้า เป็นสิ่งที่ต้องใช้เวลาอีกนานหลายปี กว่าที่จะกลายเป็นตลาดรถยนต์หลักของโลก จนเมื่อ 3 ปีก่อน สำนักข่าว Bloomberg ได้เคยจัดอันดับให้ Toyota เป็นหนึ่งในบริษัทที่มีความพร้อม ในด้านเทคโนโลยีรถยนต์ไฟฟ้า น้อยที่สุดในบรรดา 20 ค่ายรถยนต์ระดับโลก คือยังไม่มีแผนงาน ในการเปิดตัวรถยนต์ไฟฟ้าเลยในขณะนั้น
ซึ่ง Toyota มั่นใจว่า รถยนต์ไฮบริด จะเป็นตัวเลือกที่ดีกว่า และได้รับความนิยมมากกว่า และบริษัทเอง ก็มองข้ามรถยนต์ไฟฟ้า เพื่อหันไปมุ่งเน้น การพัฒนารถยนต์พลังงานไฮโดรเจน อย่าง Fuel Cell จึงไม่น่าแปลกใจ ที่เราแทบจะไม่เห็นรถยนต์ไฟฟ้าจาก Toyota ที่ได้รับความนิยมในตลาด นั่นจึงไม่ต้องสงสัยว่า ทำไม Nissan Leaf จึงเป็นรถยนต์ไฟฟ้า ที่ขายดีที่สุดในโลก และ Tesla ก็เป็นค่ายรถยนต์ ที่มีมูลค่าสูงที่สุดในโลกในปัจจุบัน แม้ว่าจะมียอดขายน้อยกว่า Toyota ก็ตาม
แต่ดูเหมือนว่า ใน 1-2 ปีหลังมานี้ Toyota เหมือนจะรู้ตัวว่า ตลาดรถยนต์ไฟฟ้า จะแจ้งเกิดได้เร็วกว่าที่ตัวเองได้คาดการณ์ไว้มาก ทำให้เริ่มมีการเข้าไปซื้อกิจการหรือหุ้นส่วน ในบริษัทผู้ผลิตชิ้นส่วน หรือแบตเตอรี่ ที่จำเป็นต้องใช้ในการพัฒนารถยนต์ไฟฟ้า แต่ก็ต้องใช้เวลาพอสมควร ในการพัฒนา และทำตลาดรถยนต์ไฟฟ้าในแบรนด์ Toyota ให้มีการใช้งานแพร่หลายมากขึ้น เหมือนอย่าง Nissan Leaf หรือ Tesla
แต่ในเมืองไทย ตลาดรถยนต์ไฟฟ้า กลับมีอุปสรรคในการขยายตัว ในระดับหนึ่ง แม้ว่าในทางทฤษฏีแล้ว ทางภาครัฐ จะมีนโยบายสนับสนุนก็ตาม แต่ส่วนหนึ่ง ก็ต้องพยายามปกป้องอุตสาหกรรมรถยนต์ภายในประเทศ ไม่ให้ได้รับผลกระทบ จากการขยายตัวของรถยนต์ไฟฟ้า ที่กำลังจะเข้ามาพลิกโฉม ตลาดรถยนต์ของโลก ในอนาคตอันใกล้ รวมถึงพลิกโฉมบทบาทของ Toyota ในเมืองไทยด้วยเช่นกัน นั่นทำให้เป็นสิ่งที่น่าจับตามอง ในอีก 1-2 ปีข้างหน้า ว่า Toyota จะยังสามารถรักษาความเป็นผู้นำในตลาดโลก และเมืองไทยได้ดีแค่ไหน ภายใต้เงื่อนไขต่างๆในปัจจุบัน ที่กำลังเปลี่ยนแปลงไป ในทิศทางที่บริษัทกำลังเสียเปรียบอยู่