จากสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 ที่สร้างความเสียหายให้กับทั่วโลก และแม้ว่าประเทศไทย จะได้รับผลกระทบ ในแง่ของจำนวนผู้ติดเชื้อ และผู้เสียชีวิต ในระดับที่ถือว่าน้อยมาก เมื่อเทียบกับประเทศส่วนใหญ่ในโลก แต่ด้วยการที่เศรษฐกิจ มีความเชื่อมโยงกันทั่วโลก ทำให้ไม่ช้าก็เร็ว ทุกอุตสาหกรรมของไทย ก็จะได้รับผลกระทบ ไม่มากก็น้อย และดูเหมือนว่า ตอนนี้ อุตสาหกรรมยานยนต์ของไทย กำลังเดินทางเข้าสู่การถดถอย ในระดับ ที่จะต้องลดจำนวนพนักงานของบริษัทลง
ล่าสุด ค่ายรถยนต์ชื่อดังบางค่าย เริ่มออกมาตรการลดจำนวนพนักงานลง ไม่ว่าจะเป็มมิตซูบิชิ ที่ประกาศโครงการสมัครใจลาออก แต่ก็มีการจ่ายค่าชดเชย สูงถึง 35 เดือน แล้วแต่ระยะเวลาการทำงาน และตำแหน่งงาน ในขณะที่นิสสัน มอเตอร์ ประเทศไทย ก็ระงับการต่อสัญญาจ้างพนักงาน กว่า 300 ตำแหน่ง เพื่อรอดูสถานการณ์ และดูเหมือนจะเป็นค่ายรถยนต์ ที่น่าเป็นห่วงที่สุด จากการขาดทุนสะสม กว่า 8 พันล้านบาท ใน 3 ปีหลัง ในขณะที่ Toyota ก็มีแผนในการประกาศโครงการสมัครใจลาออกเช่นกัน และเชื่อว่าอีกไม่นาน หากสถานการณ์โรคระบาด ยังยืดเยื้อต่อไป เชื่อว่าค่ายรถยนต์ต่างๆ จะทยอยออกมาตราการ เพื่อลดค่าใช้จ่ายและพนักงาน ออกมาเป็นระยะ
ทีนี้ เราลองมาดูผลประกอบการ ของทั้ง 3 บริษัทข้างต้น ว่าจะมีกำไร หรือขาดทุน ในช่วงปีหลังๆ มากน้อยแค่ไหน และรายใด ที่มีโอกาสพลิกฟื้น หรืออาจจะมีอาการหนักขึ้นไปอีก โดยเราจะนำเสนอเฉพาะบริษัทหลัก ที่จำหน่ายรถยนต์ในประเทศไทยเท่านั้น ซึ่งโดยปกติ ค่ายรถยนต์ต่างๆ จะมีบริษัทในเครือหลายบริษัท กระจายหน้าที่รับผิดชอบ แตกต่างกันออกไป เช่น การผลิตรถยนต์ เครื่องยนต์ ชิ้นส่วนรถยนต์ การจัดจำหน่าย เป็นต้น
เริ่มจากมิตซูบิชิ มอเตอร์ส ประเทศไทย จากงบกำไรขาดทุน ตั้งแต่ปี 2556-2561 หรือ 6 ปีหลัง ไม่รวมปี 2562 ที่เรายังไม่มีข้อมูล จะพบว่า Mitsubishi สามารถทำกำไรได้เป็นกอบเป็นกำ มาอย่างต่อเนื่องทุกปี รวม 6 ปี มีกำไรสุทธิสูงถึง 79,450 ล้านบาท
ในขณะที่ Toyota Motor ประเทศไทย สามารถทำกำไร ได้เฉลี่ยไม่ต่ำกว่าปีละ 3 หมื่นล้านบาท ในช่วงปี 2557-2559 แต่กำไรเริ่มตกลงมา เหลือ 2 หมื่นกว่าล้านบาท ในปี 2560 และลดลงเหลือเพียง 16,000 ล้านบาท ในปี 2561 ก่อนที่จะเพิ่มขึ้นเป็น 21,000 ล้านกว่าบาท ในปี 2562 ที่ผ่านมา ทำให้ผลประกอบการรวม 6 ปีล่าสุด Toyota สามารถทำกำไร ไปได้ถึง 156,000 ล้านบาท
สำหรับ Nissan Motor ประเทศไทย ในช่วงปี 2557-2559 บริษัทมีการสลับ ขาดทุนกำไรในแต่ละปี ซึ่งในช่วง 3 ปีนี้ บริษัทขาดทุนไปประมาณ 2 พันล้านบาท แต่ใน 3 ปีล่าสุด คือ ปี 2560-2562 บริษัทขาดทุนมาโดยตลอด ทำให้ขาดทุนสะสม ไปถึงเกือบ 8,600 ล้านบาท
จากทั้ง 3 บริษัทที่กล่าวมา Nissan จะอยู่ในสภาพที่น่าเป็นห่วงมากที่สุด อย่างไรก็ตาม ข้อมูลงบกำไรขาดทุนดังกล่าว เป็นเพียงข้อมูลของบริษัทหลักเท่านั้น ยังมีบริษัทย่อยอื่นๆ ที่ทำธุรกิจในเมืองไทย ซึ่งส่วนใหญ่ ก็ยังสามารถทำกำไรได้ดี และแม้ว่า Toyota และ Mitsubishi จะยังทำกำไรได้ ที่ตัวเลขมหาศาล แต่ด้วยอนาคตที่ไม่แน่นอน รวมถึงมีความเสี่ยง ในการที่จะขาดทุน มากกว่าโอกาส ในการทำกำไร จึงทำให้บางบริษัท ตัดสินใจลดค่าใช้จ่ายตั้งแต่เนิ่นๆ เพื่อให้มั่นใจว่า ในระยะยาว บริษัทยังสามารถยืนอยู่ได้ในธุรกิจนี้ อย่างมั่นคง