มาแน่ EV สัญชาติไทย ผลงาน Chery จับมือ K-GEN และภาครัฐไทย จะแจ้งเกิดได้หรือไม่ อยู่ที่คนไทยกำหนด ไม่ให้ซ้ำรอย Vinfast

CHERY Automobile และ OMODA & JAECOO ยกระดับอุตสาหกรรมยานยนต์โลกสู่ยุคใหม่ พร้อมเดินสายผลิตในโรงงาน – เปิดตัวรถใหม่ปีนี้ – จับมือกระทรวงพาณิชย์พัฒนาแบรนด์สัญชาติไทย ลุ้นจะแจ้งเกิดในเมืองไทยได้หรือไม่ หลังแบรนด์เวียดนาม Vinfast ขาดทุนแสนกว่าล้านบาทในปี 2024 ที่ผ่านมา และเตรียมเข้ามาบุกตลาดอาเซียนแทนตลาดอเมริกา

CHERY ประกาศความคืบหน้าการดำเนินธุรกิจในประเทศไทย ซึ่งถือเป็นตลาดสำคัญในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมีแผนการลงทุนและการพัฒนาธุรกิจระยะยาว พร้อมกลยุทธ์การวางตำแหน่งแบรนด์และผลิตภัณฑ์ในตลาดรถยนต์ไทยที่เน้นย้ำจุดเด่นด้านเทคโนโลยี คุณภาพ และความคุ้มค่า ในปีนี้ CHERY เตรียมเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่หลายรุ่น CHERY Tiggo 8, CHERY V23 (iCAR V23), CHERY Tiggo Cross และ CHERY Tiggo 7 ทาง CHERY ยังเดินหน้าขยายเครือข่ายผู้จำหน่ายทั่วประเทศไทย ให้ครบ 30 แห่ง ในประเทศไทย เพื่อให้บริการลูกค้าอย่างครอบคลุม มุ่งมั่นสร้างความแตกต่างจากคู่แข่งในตลาดและมอบประสบการณ์การใช้งานที่เหนือระดับให้กับผู้บริโภคชาวไทยภายในปีนี้

เริ่มเดินสายการผลิตที่โรงงาน จ.ระยอง ไตรมาส 3 ปี 2568 ประเดิมด้วยรุ่น JAECOO 6 EV

CHERY และ OMODA & JAECOO ประกาศความคืบหน้าการก่อสร้างโรงงานในประเทศไทย ที่อำเภอนิคมพัฒนา จังหวัดระยอง บนพื้นที่ 104 ไร่ โดยมีมูลค่าการลงทุนที่วางแผนไว้ทั้งสิ้นราว 5,000 ล้านบาท พร้อมเริ่มเดินสายการผลิตที่โรงงาน ในไตรมาส 3 ปี 2568 ด้วยเป้าหมายกำลังการผลิตเป็น 80,000 คันต่อปีภายในปี 2571 โดยเริ่มการผลิต JAECOO 6 EV เป็นรุ่นแรกเพื่อเป็นศูนย์กลางการผลิตและส่งออกในเอเชีย โรงงานแห่งนี้จะเน้นการผลิตแบบ Completely Knocked Down (CKD) พร้อมติดตั้งหุ่นยนต์เชื่อมสำหรับการเชื่อมอลูมิเนียมที่แม่นยำ นอกจากนี้ ในอนาคตยังมีแผนการลงทุนในการผลิตยานยนต์เพิ่มเติม ทั้งขยายกำลังการผลิต และโมเดลไฟฟ้าไฮบริด (HEV) รถยนต์รุ่นอื่นๆ ของ CHERY Group และการจัดตั้งโรงพ่นสีภายในปี 2570 รวมถึงการให้ความสำคัญในการจัดจ้างงานสำหรับการทำงานในโรงงานนี้โดยเริ่มต้นจะเป็นแรงงานไทย 150 คน สำหรับการทำงานกะเดียว และจะขยายโรงงานและอัตราการจ้างแรงงานไทยเพิ่มขึ้นตามการขยายตัวของตลาดรถยนต์ไฟฟ้าของประเทศไทย

ฉี เจี๋ย ประธาน บริษัท โอโมดา แอนด์ เจคู (ประเทศไทย) กล่าวว่า “การเดินสายการผลิตที่โรงงานระยองนับเป็นก้าวสำคัญของเรา ไม่เพียงแสดงถึงความมุ่งมั่นในการลงทุนระยะยาวในประเทศไทย แต่ยังเป็นการตอกย้ำความเชื่อมั่นของเราในศักยภาพของไทยในฐานะศูนย์กลางการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าในภูมิภาค การเริ่มต้นด้วย JAECOO 6 EV คือการนำเสนอนวัตกรรมระดับโลกสู่ตลาดไทย และเราตั้งใจที่จะผสานเทคโนโลยีล้ำสมัยของเรากับความเชี่ยวชาญของบุคลากรไทย เพื่อสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์คุณภาพสูง ที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคทั้งในประเทศและภูมิภาค นี่เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของการเดินทางอันยาวไกล และเรามุ่งมั่นที่จะเติบโตไปพร้อมกับอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าของไทยอย่างยั่งยืน”

และเร็วๆ นี้ CHERY Automobile ผู้นำด้านเทคโนโลยียานยนต์ระดับโลกและ OMODA & JAECOO ได้ร่วมมือกับกระทรวงพาณิชย์ในการพัฒนาแบรนด์รถยนต์ไฟฟ้าสัญชาติไทย เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยสู่การเป็นศูนย์กลางการผลิต EV ในภูมิภาคอาเซียน โดยความร่วมมือครั้งนี้ มุ่งเน้นพัฒนาแบรนด์ EV แห่งชาติของไทย ส่งเสริมขีดความสามารถด้านเทคโนโลยี EV ภายในประเทศ และสนับสนุนผู้ผลิตชิ้นส่วนในประเทศ ให้เข้าสู่ห่วงโซ่อุปทานระดับโลก โดยมุ่งเน้นการจำหน่ายในประเทศไทย โดยชูจุดเด่นด้านเทคโนโลยี EV และราคาที่เข้าถึงได้สำหรับผู้บริโภคไทย เพื่อสนับสนุนให้คนไทย สามารถเปลี่ยนมาใช้รถยนต์พลังงานไฟฟ้าได้ง่ายขึ้น นอกจากนี้ โครงการยังใช้ข้อได้เปรียบด้านภาษี ในฐานะ “รถยนต์สัญชาติไทย” เพื่อสร้างระบบราคาที่เหมาะสม พร้อมกระตุ้นห่วงโซ่การผลิตภายในประเทศ ตั้งแต่การจัดหาชิ้นส่วน การจ้างงาน ไปจนถึงการพัฒนาเครือข่ายบริการหลังการขายให้ครอบคลุมยิ่งขึ้นในทุกภูมิภาค นอกจากนี้ CHERY Automobile ยังจับมือบริษัท คิง เจน จำกัด (มหาชน) หรือ KGEN ภายใต้นโยบายการสนับสนุนการถ่ายทอดเทคโนโลยี จากกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.), สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และนโยบายการสนับสนุนการใช้ชิ้นส่วนภายในประเทศ จากกระทรวงพาณิชย์ เพื่อร่วมกันพัฒนาแบรนด์รถยนต์ไฟฟ้า (EV) สัญชาติไทย ซึ่งนับเป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญในการยกระดับศักยภาพอุตสาหกรรมยานยนต์ของประเทศไทยสู่การเป็นศูนย์กลางการผลิต EV ในภูมิภาค พร้อมขับเคลื่อนประเทศ เข้าสู่ยุคใหม่แห่งพลังงานสะอาด และนวัตกรรมยานยนต์อย่างยั่งยืน

อย่างไรก็ตาม การสร้างแบรนด์รถยนต์สัญชาติไทยไม่ใช่เรื่องง่าย ที่จะสามารถทำยอดขายได้อย่างเป็นกอบเป็นกำ จนสามารถยืนอยู่ในตลาดได้ยาวนาน แต่กรณีของ Chery การที่มีแบรนด์จีนระดับโลกด้านยานยนต์ไฟฟ้าอยู่เบื้องหลังการผลิต อาจจะทำให้แบรนด์สัญชาติไทยมีโอกาสแจ้งเกิดได้ง่ายขึ้น อีกทั้งบริบทต่างๆก็เปลี่ยนไปจากเดิมมาก ดังเห็นได้จากการเข้ามาตีตลาดรถยนต์แบรนด์ญี่ปุ่นของค่ายรถยนต์จีน ที่ไม่มีใครเคยคิดมาก่อนว่า จะเห็นภาพการถดถอยของค่ายรถยนต์เดิมต่างๆในตลาด จนบางค่ายต้องทยอยปิดโรงงานลงไป อย่างไรก็ตาม เรื่องราวของ Vinfast ค่ายรถยนต์สัญชาติเวียดนาม ที่เป็นความภาคภูมิใจของคนทั้งชาติที่นั่น ก็น่าจะเป็นกรณีศึกษาที่ดีของแบรนด์ไทยรายใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้นนี้ เพราะล่าสุด Vinfast มีการขาดทุนในปี 2024 สูงถึง 3,200 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว 106,000 ล้านบาท จากที่ขาดทุนในปี 2023 ถึง 2,300 ล้านเหรียญสหรัฐมาแล้ว ซึ่งหลักๆมีสาเหตุุมาจากตลาดสหรัฐอเมริกา ซึ่งบริษัทได้เข้าตลาดหลักทรัพย์ NASDAQ ที่นั่นด้วย โดย Vinfastจะหันมาเจาะตลาดเอเชียแทนนับจากนี้ โดยนายฟามยัตเฟือง CEO ของ Vinfast ได้ให้เหตุผลของการขาดทุนมหาศาลว่า เป็นเรื่องของโลจิสติกส์ ภาษี และค่าธรรมเนียมต่างๆ ที่สูง ซึ่งเกิดจากความขัดแย้งทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ รวมถึงต้นทุนการขายที่สูงขึ้น ค่าใช้จ่ายทางการตลาดที่มากขึ้น จนทำให้ต้องระงับสายการผลิตชั่วคราวที่โรงงานใน North Carolina ที่อาจจะต้องรอไปจนถึงปี 2028 กว่าจะเปิดสายการผลิตได้อีกครั้ง แม้ว่ายอดขายจะเพิ่มขึ้นถึง 2.8 เท่าตัวในปี 2024 ที่ผ่านมา โดยมีตลาดเวียดนามครองสัดส่วนมากถึง 90% จากจำนวนรถยนต์ที่ขายไปได้ 97,399 คัน โดยบริษัทตั้งเป้าไว้ที่ 2 แสนคันในปีนี้ หรือคิดเป็นสัดส่วน 40% ของตลาดเวียดนาม ที่บริษัทมองว่า จะช่วยให้บริษัทแตะจุดค้มทุนได้ โดยมีตลาดเป้าหมายอย่างอินโดนีเซีย อินเดีย และฟิลิปปินส์ หลังจากที่เคยเข้ามาเปิดตัวในเมืองไทย แต่ได้ตัดสินใจหยุดกลางคันแบบไม่มีปี่มีขลุ่ย นอกจากนี้บริษัทแม่ยังกระจายความเสี่ยงไปลงทุนในธุรกิจอื่นๆด้วย โดยเฉพาะธุรกิจทางด้านโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ เช่น รถไฟความเร็วสูง ท่าเรือ และพลังงานหมุนเวียน กรณีของ Vinfast สะท้อนให้เห็นว่า แบรนด์ประจำชาติ จำเป็นต้องอาศัยตลาดของคนในชาติเป็นหลัก ที่จะเป็นตัวชี้วัดว่า แบรนด์นั้นๆจะแจ้งเกิดและยืนอยู่ในตลาดได้ยืนยาวหรือไม่ อย่างไรก็ตาม ดีไซน์ ราคาและคุณภาพของรถที่จำหน่าย ก็เป็นปัจจัยสำคัญในการชี้วัดอนาคตของแบรนด์ในตลาดเมืองไทยด้วยเช่นกัน