การเติบโตของตลาดรถยนต์ไฟฟ้าในเมืองไทย ได้กลายเป็นเหมือนต้นแบบของประเทศต่างๆในภูมิภาคอาเซียน ในแง่ของการสนับสนุนประชาชน ให้หันมาใช้ยานยนต์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ที่ยังเป็นการปูทาง ไปสู่การเป็นตลาด ที่จะรองรับฐานการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าของบริษัทต่างๆ ที่จะเข้ามาลงทุน ซึ่งหลายประเทศ พยายามหาจุดขาย ในการดึงดูดความสนใจของนักลงทุนต่างชาติ โดยที่ผ่านมา ไทยได้ใช้ข้อได้เปรียบต่างๆ ทั้งขนาดของตลาดอีวี ที่มีขนาดใหญ่กว่าเพื่อนบ้าน การขยายตัวของตลาดที่เป็นไปอย่างรวดเร็ว การเป็นฐานการผลิตรถยนต์ที่ใหญ่ที่สุดของภูมิภาค มานานหลายสิบปี และการออกมาตรการสนับสนุนต่างๆ จากทางภาครัฐ ทำให้ไทย สามารถดึงดูดบริษัทผลิตรถยนต์ไฟฟ้า เข้ามาลงทุนได้หลายบริษัท ซึ่งแทบจะทั้งหมด มาจากประเทศจีน และยังอยู่ในระหว่างการเจรจา กับค่ายรถยนต์จากชาติอื่นๆ ทั้งเกาหลีใต้ สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น ที่้รายหลังสุด จะอยู่ในรูปแบบของการขยายการลงทุนมากกว่า เพราะบริษัทรถยนต์สัญชาติญี่ปุ่นส่วนใหญ่ มีฐานการผลิตในเมืองไทยอยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม อินโดนีเซีย ที่มีข้อได้เปรียบ ทั้งในการเป็นตลาดรถยนต์ขนาดใหญ่ ด้วยจำนวนประชากร ที่มีมากถึง 274 ล้านคน และมีการเติบโตทางเศรษฐกิจที่รวดเร็ว ในรอบหลายปีที่ผ่านมา ที่สำคัญก็คือ การมีแหล่งแร่นิเกิลมากที่สุดในโลก ซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญ ในการผลิตแบตเตอรี่สำหรับรถยนต์ไฟฟ้า ทำให้หลายค่ายรถยนต์ ตัดสินใจได้ไม่ยาก ที่จะตั้งฐานการผลิตรถยนต์ที่นั่น และนั่นจึงทำให้อินโดนีเซีย ก้าวขึ้นมาเป็นคู่แข่งสำคัญของไทย ในการเป็นศูนย์กลางการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าของภูมิภาค
ล่าสุด เหตุการณ์ที่น่าสนใจ ที่เกี่ยวข้องกับวงการยานยนต์ไฟฟ้าของทั้งสองประเทศ ได้เกิดขึ้นพร้อมกัน เมื่อวันที่ 18 มกราคมที่ผ่านมา เมื่อรองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีของไทย ได้ออกมาเปิดเผยข่าวดีว่า ก่อนหน้านี้ กระทรวงอุตสาหกรรม ได้เร่งสำรวจ จนพบแหล่งแร่ลิเธียมที่มีศักยภาพ 2 แหล่ง ได้แก่ แหล่งเรืองเกียรติ และแหล่งบางอีตุ้ม นอกจากนั้น ไทยยังค้นพบแหล่งแร่โซเดียม ในพื้นที่ภาคอีสาน ที่มีปริมาณสำรองอีกจำนวนมาก ซึ่งแร่ทั้งสองชนิด ถือเป็นแร่หลัก หรือวัตถุดิบสำคัญ ที่ใช้ในการผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า เป็นการเสริมศักยภาพความพร้อมของไทย ในการเดินหน้าสู่การเป็นศูนย์กลาง และฐานการผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าในภูมิภาค โดยเฉพาะการค้นพบแร่ลิเธียม โดยจากข้อมูลของกรมอุตสาหกรรมพื้นฐาน และการเหมืองแร่ มีการระบุว่า ไทยสำรวจพบแร่ลิเธียม กว่า 14,800,000 ล้านตัน ส่งผลให้ไทย เป็นประเทศที่ค้นพบแร่ดังกล่าวมากที่สุด เป็นอันดับ 3 ของโลก รองจากโบลิเวีย และอาร์เจนตินา
การค้นพบแร่ศักยภาพทั้งลิเธียมและโซเดียมนี้ ถือว่าเป็นทั้งข่าวดี และเป็นประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าของไทย เป็นการช่วยเพิ่มศักยภาพการแข่งขันของประเทศ ในการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าและแบตเตอรี่ ที่จะช่วยดึงดูดนักลงทุน ทั้งไทยและต่างชาติที่มีศักยภาพ ให้เข้ามาตั้งโรงงาน ท่ามกลางการแข่งขันของนานาประเทศ ทั้งนี้ มีการคาดการณ์ว่า ความต้องการลิเธียมทั่วโลก จะเพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่า ภายในปี 2025 และจะต้องการมากกว่า 2 ล้านตัน ภายในปี 2032
ในวันเดียวกันนี้ BYD ค่ายรถยนต์ไฟฟ้าที่มียอดขาย EV อันดับ 1 ของโลก ในไตรมาสสุดท้ายของปี 2023 ที่ผ่านมา แซงหน้า Tesla ไปหมาดๆ ได้เปิดตัวรถยนต์ไฟฟ้าถึง 3 รุ่น ในประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งได้แก่ Atto3 Seal และ Dolphin พร้อมประกาศแผนการลงทุน มูลค่า 1,300 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 46,200 ล้านบาท ในการสร้างโรงงานผลิตรถยนต์ไฟฟ้า ที่มีกำลังการผลิต สูงถึง 150,000 คันต่อปี แน่นอนว่า ย่อมส่งผลกระทบกับยอดส่งออกของไทยในอนาคต เพราะก่อนหน้านี้ หลายคนอาจจะเข้าใจไปว่า ไทยจะเป็นเพียงฐานการผลิตเดียวของ BYD ในภูมิภาค ที่เราอาจจะสามารถสร้างรายได้ให้กับประเทศ จากการส่งออกรถยนต์ไฟฟ้า ไปยังประเทศต่างๆในภูมิภาคอาเซียน แต่แน่นอนว่า ในมุมมองของ BYD ก็ย่อมต้องการผลกำไรที่มากขึ้น จากการเข้าไปลงทุนโดยตรง ในตลาดที่มีศักยภาพและอนาคต แถมยังมีทรัพยากรธรรมชาติ ที่เป็นส่วนประกอบสำคัญ ในการผลิตแบตเตอรี่อีกด้วย การตัดสินใจปักหมุดสร้างโรงงานของ BYD ย่อมเป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้อินโดนีเซีย มีโอกาสมากขึ้น ในการเป็นศูนย์กลางการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าของภูมิภาค เพราะก่อนหน้านั้น ก็มีค่ายรถยนต์รายใหญ่ของโลก ทั้งจากญี่ปุ่น เกาหลีใต้ จีน เข้าไปลงทุนสร้างโรงงานที่นั่นก่อนแล้ว ซึ่งล่าสุด Vinfast จากเวียดนาม ก็กำลังพิจารณา เข้าไปลงทุนสร้างโรงงานที่นั่นด้วย ในขณะที่ตลาดรถยนต์ไฟฟ้าของอินโดนีเซีย ก็เริ่มมีการเติบโตแบบก้าวกระโดด ในปีที่ผ่านมา
Eagle Zhao นายใหญ่ของ BYD อินโดนีเซีย ได้เปิดเผยกับสื่อที่นั่น ในระหว่างการแถลงข่าวเปิดตัวรถยนต์ไฟฟ้าทั้ง 3 รุ่นว่า อินโดนีเซียมีวิสัยทัศน์ ที่เป็นไปในแนวทางเดียวกันกับ BYD และกำลังจะเป็นประเทศทางยุทธศาสตร์ สำหรับบริษัทรถยนต์ระดับโลกหลายแห่ง
รถยนต์ไฟฟ้าที่เปิดตัวไป จะมีการนำเข้ามาจากประเทศจีนโดยตรงในช่วงแรก และเป็นรุ่นที่ใช้แบตเตอรี่แบบลิเธี่ยมไอออนฟอสเฟต ที่ไม่ได้ทำมาจากแร่นิเกิล ที่มีอยู่มากมายในอินโดนีเซีย เลยทำให้เกิดคำถามขึ้นมาว่า BYD จะลงทุนสร้างโรงงานผลิตอีวีที่้อินโดนีเซีย จริงๆหรือไม่ ซึ่งรัฐบาลอินโดนีเซียเอง ก็พยายามเชื้อเชิญบริษัทต่างๆ ทั้ง BYD Tesla และบริษัทรถยนต์ไฟฟ้าระดับโลกอีกหลายแห่ง ให้เข้าไปลงทุนสร้างโรงงานที่นั่น ด้วยการชูจุดขาย ที่มีแหล่งแร่นิเกิลในปริมาณมหาศาล ซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญ ในการผลิตแบตเตอรี่
เมื่อเร็วๆนี้ รัฐบาลอินโดนีเซีย ก็เพิ่งผ่านกฏหมายอนุญาตให้บริษัทผลิตรถยนต์ สามารถนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้า มาจำหน่ายในประเทศ ด้วยอัตราภาษีนำเข้าและภาษีสินค้าฟุ่มเฟือย ที่ 0% โดยจำนวนรถยนต์ที่นำเข้า เป็นสัดส่วนที่สอดคล้องกับจำนวนรถยนต์ ที่จะมีการผลิตขึ้นภายในประเทศ ซึ่งเป็นรูปแบบ ที่ไม่ต่างไปจากรูปแบบที่ไทย กำลังใช้อยู่ในปัจจุบัน โดยจะต้องมีการเสนอแผนงานเหล่านี้ ภายในสิ้นปี 2025 ในขณะที่จะต้องสร้างโรงงานให้แล้วเสร็จ ภายในปี 2026 ส่วนการผลิตเชิงพาณิชย์ จะต้องเริ่มขึ้น ภายในปี 2027 หากทางบริษัท ยังต้องการรับสิทธิพิเศษต่างๆ ที่รัฐบาลมีให้ โดยผู้บริหาร BYD ให้สัมภาษณ์ว่า ตามแผนงานแล้ว การก่อสร้างโรงงาน จะเริ่มขึ้นภายในปี 2024 นี้ โดย BYD ยังต้องการมีส่วนร่วมในการพัฒนา ecosystem สำหรับรถยนต์ไฟฟ้าในอินโดนีเซียด้วย ก่อนหน้านี้ BYD ก็ได้ทำตลาดรถประจำทางไฟฟ้าในอินโดนีเซีย ผ่านตัวแทนจำหน่ายไปบ้างแล้ว ซึ่งในปัจจุบัน หากไม่นับอินโดนีเซีย BYD ได้ลงทุนในรูปแบบต่างๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไปแล้ว ทั้งในไทย สิงคโปร์ มาเลเซีย และเวียดนาม
ยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศอินโดนีเซียปีนี้ เพิ่มขึ้นจากปีก่อนถึง 70% คืออยู่ที่ 17,051 คัน คิดเป็น 1.7% ของยอดขายรถยนต์ทั้งหมด ถือว่ายังห่างไกลจากตัวเลขของไทย ซึ่งอยู่ที่ 76,314 คัน หรือมากกว่า 4.5 เท่าตัว โดยราคารถยนต์ไฟฟ้าที่ค่อนข้างสูง เมื่อเทียบกับรถยนต์ใช้น้ำมัน เป็นเรื่องที่ท้าทายในการขยายตลาดอีวีสำหรับอินโดนีเซีย โดยผู้ซื้อส่วนใหญ่ เป็นคนที่มีฐานะ และไม่ได้เป็นกลุ่มที่ซื้อรถยนต์คันแรก
ในอินโดนีเซีย บริษัทรถยนต์จากญี่ปุ่น ยังครองส่วนแบ่งทางการตลาด มากถึง 90% แต่ Toyota Lexus และ Nissan รวมกัน สามารถจำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้าไปได้เพียง 799 คัน ในปีที่ผ่านมา โดย Hyundai เป็นเจ้าตลาดในเซกเมนต์นี้อยู่ ด้วยยอดขายมากกว่า 7,400 คัน ตามมาด้วย Wuling ที่ราว 7,000 คัน
เมื่อดูจากข้อมูลข้างต้น ในแง่ของขนาดตลาดอีวี ไทยยังเป็นผู้นำในภูมิภาค และน่าจะเป็นตลาดรถยนต์ไฟฟ้าที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน ไปได้อีกหลายปี ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญ ที่ช่วยดึงดูดบริษัทรถยนต์ ให้เข้ามาลงทุนมากขึ้น ในขณะที่อินโดนีเซีย มีดีในเรื่องอนาคตของตลาด ที่กำลังเติบโต และเป็นแหล่งแร่นิเกิล ซึ่งเป็นจุดขายของแดนอิเหนามาโดยตลอด จนมาถึงเหตุการณ์ล่าสุด ที่อาจจะทำให้สถานการณ์เดิม เปลี่ยนไปอย่างมีนัยยะสำคัญ นั่นก็คือการค้นพบแหล่งแร่ ที่ใช้ในการผลิตแบตเตอรี่ ในเมืองไทย ซึ่งคาดว่ามีอยู่ในปริมาณที่สูง ส่งผลทำให้การแข่งขันระหว่างทั้งสองชาติ สูสีขึ้นมาทันที อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่า การตัดสินใจว่า ใครจะสามารถเป็นศูนย์กลางการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในภูมิภาคได้ ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัยด้วยกัน และอาจจะต้องใช้เวลาอีกพักใหญ่ ถึงจะสามารถมองเห็นภาพที่ชัดเจนได้ อย่างไรก็ตาม มีข้อสังเกตที่น่าสนใจ ที่เราพอจะสรุปได้ จากสถานการณ์ปัจจุบัน ดังนี้
- ไทยมีแต้มต่อในระยะสั้นและระยะกลาง มากกว่าอินโดนีเซีย จากขนาดของตลาดอีวีในปัจจุบัน สมาคมยานยนต์ไฟฟ้าแห่งประเทศไทย ได้คาดการณ์ว่า ยอดจดทะเบียนรถยนต์ไฟฟ้าในเมืองไทย อาจเพิ่มขึ้นเป็น 225,000 คันในปี 2025
- การค้นพบแหล่งแร่ลิเธี่ยมและโซเดียมล่าสุด อาจจะเป็นตัวเปลี่ยนเกม ทำให้ไทยมีข้อได้เปรียบเหนือกว่าอินโดนีเซีย
- แบตเตอรี่ที่ใช้แร่ลิเธี่ยมเป็นส่วนประกอบ มีประสิทธิภาพ และข้อดีหลายอย่าง เหนือกว่าแบตเตอรี่ที่ใช้แร่นิเกิล แต่ก็มีข้อเสียคือ ราคาแพง และอาจจะมีกระบวนการผลิตบางขั้นตอน ที่ส่งผลเสียต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นจุดที่ Tesla ให้ความสำคัญ และอาจจะเป็นสิ่งที่ทำให้บริษัท โอนเอียงไปทางอินโดนีเซียได้มากกว่า
- เทคโนโลยีแบตเตอรี่ มีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว จึงมีความไม่แน่นอนสูง และคาดการณ์ได้ยาก ซึ่งจะส่งผลต่อทิศทางการผลิต และการลงทุนทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นการเข้ามาแทนที่ ของแบตเตอรี่แบบโซลิดสเตท หรือแบบโซเดี่ยมไอออน ซึ่งอย่างหลัง ไทยก็อาจจะมีแต้มต่อที่เหนือกว่าอินโดนีเซีย หรืออย่างน้อยก็ไม่เสียเปรียบ ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับว่า อินโดนีเซียมีแร่ธาตุชนิดนี้ มากน้อยแค่ไหน อีกอย่างที่สำคัญ ก็คือการที่ BYD เตรียมนำเอาแบตเตอรี่โซเดี่ยมไอออน มาใช้กับรถยนต์ไฟฟ้าในอนาคตอันใกล้ ซึ่งจะเน้นไปที่รถยนต์ขนาดเล็กก่อน โดยบริษัท ได้เริ่มสร้างโรงงานผลิตแบตเตอรี่ชนิดนี้ไปแล้วที่ประเทศจีน ซึ่งหากผลตอบรับจากผู้ใช้รถออกมาดี เราก็อาจจะเห็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าอีกไม่นาน
หากประเมินจากสถานการณ์ทั้ง 4 ข้อที่ว่ามา ดูเหมือนว่า ไทยมีสิทธิลุ้นในการเป็นศูนย์กลางการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า มากกว่าอินโดนีเซีย ซึ่งข่าวดีของการค้นพบแหล่งแร่ 2 ชนิด เป็นปัจจัยหนุนสำคัญ ที่ทำให้เกมการแข่งขันเปลี่ยนไปจากเดิม หากทุกอย่าง เป็นไปตามการคาดการณ์ ภายใต้สถานการณ์ปัจจุบัน และไทย สามารถจะทำการสกัดแร่ที่ต้องการ ได้อย่างที่คาดหวังเอาไว้ ซึ่งก็คือแร่ลิเธี่ยม ที่เพียงพอกับการผลิตในระยะสั้น และแร่โซเดี่ยม สำหรับการผลิตแบตเตอรี่ในระยะยาว จากปริมาณที่มีอยู่อย่างมหาศาล และต้องลุ้นให้มีการค้นพบแหล่งแร่ทั้งสองชนิดมากขึ้นในอนาคต ภายใต้เงื่อนไขที่ว่า อินโดนีเซีย จะต้องไม่ค้นพบแหล่งแร่ มากไปกว่าที่มีอยู่ในปัจจุบัน อย่างมีนัยยะสำคัญ