เผยผลโพลนิด้า มุมมองคนไทยต่อ EV / รถกระบะไฟฟ้ายังไม่ถึงเวลา D-MAX / REVO ยิ้มออก!

เผยผลสำรวจของนิด้าโพล ในเรื่องมุมมองของคนไทย ต่อการเลือกซื้อรถยนต์ไฟฟ้า รถประเภทซีดานและเอสยูวีไฟฟ้า ยังได้รับความนิยมสูงสุด สวนทางกับรถกระบะไฟฟ้า ที่คนสนใจน้อยมาก ทำให้ในอีก 1-2 ปีนี้ ตลาดรถกระบะปิกอัพของไทย น่าจะยังไม่ได้รับผลกระทบใดๆจากความนิยมของรถยนต์ไฟฟ้า เปิดทางให้ ISUZU D-MAX เครื่องยนต์สันดาปภายใน มีโอกาสสูง ที่จะขึ้นเป็นแชมป์สมัยที่ 5 ในไทยติดต่อกัน แต่ในเรื่องยอดขาย อาจจะต้องพบกับอุปสรรค เหมือนปีที่ผ่านมา

กระแสความนิยมรถยนต์ไฟฟ้าในเมืองไทย ถือว่าเกินความคาดหมายในทุกปีที่ผ่านมา ล่าสุด ยอดขายและยอดจดทะเบียนของรถยนต์ไฟฟ้า ในปี 2566 เพิ่มขึ้นมากกว่า 700% จากปี 2565 อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากนโยบายการสนับสนุน การใช้รถยนต์ไฟฟ้าของภาครัฐ การเข้ามาของแบรนด์รถยนต์ไฟฟ้าต่างๆ โดยเฉพาะจากประเทศจีน อย่างไรก็ตาม การขยายตัวของตลาดรถยนต์ไฟฟ้า ไม่ได้เป็น ไปในทิศทางเดียวกัน สำหรับทุกเซกเมนต์ การศึกษาเกี่ยวกับมุมมองของคนไทย ต่อการใช้รถยนต์ไฟฟ้า จึงเป็นเรื่องที่น่าสนใจ โดยล่าสุด ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” ร่วมกับ เกรท วอลล์ มอเตอร์ ได้สำรวจความคิดเห็น และพฤติกรรมของคนไทยที่มีต่อรถยนต์ไฟฟ้า จำนวน 1,000 คนทั่วประเทศ ในเดือนธันวาคม 2566 พบว่า คนไทยให้ความสนใจรถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ (Battery Electric Vehicle: BEV) มากที่สุด ถึง 64.8% ซึ่งเพิ่มขึ้นจากผลสำรวจ ในปี 2564 อย่างมีนัยสำคัญ ถึง 37.5% ตามด้วยรถยนต์ไฟฟ้าแบบไฮบริด (Hybrid Electric Vehicle: HEV) ที่ 22.2% และรถยนต์ไฟฟ้าแบบปลั๊กอินไฮบริด (Plug-in Hybrid Electric Vehicle: PHEV) ที่ 13.0% โดยผลสำรวจระบุว่า คนไทยพิจารณาราคาค่าชาร์จไฟ ที่ถูกกว่าราคาน้ำมัน (34.1%) และความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (18.9%) เป็นปัจจัยหลัก ที่ส่งผลต่อการตัดสินใจซื้อรถยนต์ไฟฟ้า สะท้อนให้เห็นถึงความสนใจ ในรถยนต์พลังงานใหม่ของผู้บริโภคชาวไทย ที่ให้ความสำคัญกับการขับขี่ ที่ใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น และความคุ้มค่า ในด้านค่าใช้จ่ายของการชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า เมื่อเทียบกับราคาน้ำมัน ที่มีแนวโน้มพุ่งขึ้นสูงอย่างต่อเนื่องในปัจจุบัน

ผลสำรวจความเห็น และพฤติกรรมคนไทยเรื่องรถยนต์ไฟฟ้า ปี 2566 ที่ผ่านมานี้ ได้แบ่งกลุ่มตัวอย่างออกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มผู้ใช้รถยนต์ไฟฟ้า จำนวน 200 คน และกลุ่มผู้ใช้รถยนต์สันดาป 800 คน ในช่วงอายุระหว่าง 30 – 60 ปี สำหรับกลุ่มผู้ใช้รถยนต์ไฟฟ้า ผลสำรวจเผยให้เห็นว่า ปัจจัยสำคัญ ที่ส่งผลต่อการตัดสินใจ ซื้อรถยนต์ไฟฟ้ามากที่สุด คือ ราคาค่าชาร์จไฟ ที่ถูกกว่าราคาน้ำมัน ตามมาด้วยความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การออกแบบที่สวยงามและทันสมัย และความปลอดภัยที่สูงกว่า ในขณะที่กลุ่มผู้ใช้รถยนต์สันดาป ปัจจัยในด้านของราคาค่าชาร์จไฟ ที่ถูกกว่าราคาน้ำมัน และความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ยังคงเป็นสองปัจจัยหลัก ในการตัดสินใจ เปลี่ยนมาซื้อรถยนต์ไฟฟ้าเช่นเดียวกัน ตามมาด้วยความปลอดภัยที่สูงกว่า และความสามารถในการขับ ที่ได้ระยะทางที่ไกลกว่า

สำหรับกลุ่มผู้ใช้รถยนต์สันดาปนั้น สัดส่วนมากถึง 81.3% สนใจที่จะซื้อรถยนต์ไฟฟ้ามาใช้ในอนาคต เนื่องจากประหยัดพลังงาน (89.4%) เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (72.3%) และมองว่า รถยนต์ไฟฟ้ามีเทคโนโลยีที่ทันสมัย (49.9%) โดยรูปแบบรถยนต์ไฟฟ้า ที่ผู้ใช้รถยนต์สันดาป อยากเป็นเจ้าของมากที่สุด คือรถยนต์แบบซีดานสูงสุด ที่ 63.6% ตามด้วยรถยนต์อเนกประสงค์ SUV 27.8% รถกระบะ 5.1% และรถยนต์อเนกประสงค์ PPV 3.5% โดยส่วนใหญ่ มีแผนที่จะซื้อรถยนต์ไฟฟ้า ในอีก 3 – 4 ปีข้างหน้า และคาดหวังว่า รถยนต์ไฟฟ้าที่จะซื้อนั้น จะมีระยะทางการขับขี่ต่อหนึ่งการชาร์จ ในช่วงระหว่าง 501 – 600 กิโลเมตร ในราคาประมาณ 700,001 – 900,000 บาท โดยส่วนใหญ่ จะเลือกซื้อรถยนต์ไฟฟ้าจากแบรนด์ของประเทศจีน สูงถึง 83.1% เนื่องจากเชื่อมั่นในแบรนด์ นวัตกรรมและเทคโนโลยี และคุณภาพของผลิตภัณฑ์ อย่างไรก็ตาม เหตุผลหลักที่กลุ่มผู้ใช้รถยนต์สันดาป ยังไม่ตัดสินใจซื้อรถยนต์ไฟฟ้าในขณะนี้ มาจากความไม่มั่นใจ ในเรื่องระบบความปลอดภัยเป็นหลัก (66.0%) ตามด้วยจำนวนสถานีชาร์จ ที่มีจำกัด (50.7%) และความกังวล เกี่ยวกับเวลาในการชาร์จที่ยาวนาน (40.0%)

ด้านกลุ่มผู้ใช้รถยนต์ไฟฟ้า ผลสำรวจได้แสดงให้เห็นว่า ผู้ใช้รถยนต์ไฟฟ้าในปัจจุบัน ส่วนใหญ่ใช้รถยนต์ไฟฟ้าเป็นรถคันหลักในการเดินทาง (91.5%) และมีความพึงพอใจกับการใช้รถ เนื่องจากประหยัดค่าใช้จ่าย (ราคาค่าชาร์จไฟที่ถูกกว่าราคาน้ำมัน) มากถึง 49.2% ตามมาด้วยเทคโนโลยีทันสมัย และการออกแบบที่สวยงาม (16.6%) และการขับขี่คล่องตัว อัตราเร่งดี (14.5%) ส่วนเรื่องที่ผู้ใช้รถยนต์ไฟฟ้า ไม่พึงพอใจที่สุด คือจำนวนสถานีชาร์จที่น้อย (57.1%) และระยะเวลาในการชาร์จที่นานเกินไป (42.9%) นอกจากนี้ ผู้ใช้รถยนต์ไฟฟ้าส่วนใหญ่มองว่า การลดอัตราค่าชาร์จไฟ ตามสถานีชาร์จต่างๆ การลดค่าจดทะเบียนรายปี ค่าเบี้ยประกันภัย ที่ควรให้ต่ำกว่ารถยนต์แบบสันดาป และที่จอดรถเฉพาะรถยนต์ไฟฟ้า ตามสถานที่ต่าง ๆ เป็นสิทธิพิเศษ ที่ผู้ใช้รถยนต์ไฟฟ้า ต้องการมากที่สุด อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ผู้ใช้รถยนต์ไฟฟ้าส่วนใหญ่ กังวลเกี่ยวกับการใช้รถก็คือ อายุของแบตเตอรี่ สถานีชาร์จไฟ รวมถึงอะไหล่ และค่าดูแลรักษาต่างๆ ผู้ใช้รถยนต์ไฟฟ้าส่วนมาก ยังได้ให้เหตุผลว่า จำนวนสถานีชาร์จไฟที่น้อยและไม่ครอบคลุมพื้นที่ต่างๆ และราคาแบตเตอรี่ที่สูง จะเป็นสองปัจจัยหลัก ที่นำไปสู่การเลิกใช้รถยนต์ไฟฟ้า นอกเหนือจากนี้ ผลสำรวจยังพบว่า ราคารถยนต์ไฟฟ้าที่ต่ำลงกว่าในปัจจุบัน จะกระตุ้นให้คนไทย เปลี่ยนใจหันมาใช้รถยนต์ไฟฟ้ามากที่สุด ตามมาด้วยการมีสถานีชาร์จไฟที่เพียงพอ รวมทั้งสมรรถนะ และเทคโนโลยีในการขับรถที่ดีกว่า

ผู้ตอบแบบสอบถาม ยังได้ให้ความคิดเห็นเกี่ยวกับการสนับสนุนจากรัฐบาล นอกจากมาตรการส่วนลดทางภาษี และเงินอุดหนุนว่า การสนับสนุนจากรัฐบาล ในการเพิ่มจำนวนสถานีชาร์จ เป็นสิ่งที่ทั้งสองกลุ่มตัวอย่าง ต้องการมากที่สุด (34.0%) ตามด้วยการสนับสนุนค่าไฟฟ้า (28.0%) และการสนับสนุนค่าบำรุงรักษารถยนต์ (18.0%)

นอกจากนี้ กลุ่มผู้ใช้รถยนต์ไฟฟ้าส่วนใหญ่มองว่า รถยนต์ไฟฟ้าจากแบรนด์จีนนั้นมีการออกแบบดีไซน์ที่สวยงามและทันสมัย ในขณะที่กลุ่มผู้ใช้รถยนต์สันดาปมองว่า รถยนต์ไฟฟ้าจากแบรนด์จีน มีราคาที่จับต้องได้ และมีความคุ้มค่ากว่ารถยนต์จากประเทศอื่น ตามมาด้วยการออกแบบดีไซน์ที่สวยงาม และมีระบบเทคโนโลยีที่ล้ำสมัย โดยผู้ใช้รถยนต์ไฟฟ้า และผู้ใช้รถยนต์สันดาป เชื่อว่า การเข้ามาของรถยนต์ไฟฟ้า ก่อให้เกิดโอกาส หรือการพัฒนาในระบบนิเวศทางธุรกิจ (Business Ecosystem) ในทุกภาคส่วน โดยทำให้เกิดธุรกิจใหม่ๆ เช่น การติดตั้งแท่นชาร์จ (Wall Charge), แผงโซล่าเซลล์, สถานีชาร์จไฟฟ้าแบบเร็ว (DC Fast Charge), และการให้เช่ารถยนต์ไฟฟ้า

จากผลการสำรวจจะพบว่า รถยนต์ไฟฟ้าที่เป็นรถยนต์นั่งมีแนวโน้มที่จะเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง ต่างจากเซกเมนต์ของรถกระบะปิกอัพ ที่กลุ่มเป้าหมายยังไม่สนใจที่จะหันมาใช้ระบบขับเคลื่อนที่เป็นไฟฟ้า นั่นหมายความว่า อย่างน้อยในปี 2567 นี้ ค่ายรถยนต์ที่จำหน่ายรถยนต์ประเภทนี้ ที่เป็นตลาดใหญ่ที่สุดของไทย โดยเฉพาะ ISUZU และ TOYOTA น่าจะสบายใจได้ว่า ยังจะไม่ได้รับผลกระทบจากคู่แข่งที่เป็นรถกระบะไฟฟ้าในช่วง 1-2 ปีข้างหน้าเป็นอย่างน้อย เพราะดูเหมือนว่า อาจจะต้องมีการสร้างความมั่นใจให้กับผู้ใช้งานในระดับหนึ่งไปก่อน อย่างไรก็ตาม การที่ยังไม่มีใครสนใจใช้รถกระบะไฟฟ้ามากนัก ก็อาจจะเพราะยังไม่มีตัวเลือกที่น่าสนใจในตลาด ทำให้ผู้ตอบแบบสอบถาม จึงยังไม่มีแผนในการเปลี่ยนไปใช้รถกระบะไฟฟ้าเหมือนกับรถยนต์นั่งไฟฟ้า ที่มีตัวเลือกในตลาดอยู่มากมาย การที่เราจะได้เห็นภาพที่ชัดเจนในเซกเมนต์ที่ใหญ่ที่สุดของเมืองไทย ก็คงจะต้องรอให้ค่ายใหญ่ๆ ปล่อยรถกระบะไฟฟ้าลงสู่ตลาดเสียก่อน เราจึงจะฟันธงได้ว่า รถกระบะไฟฟ้าจะประสบความสำเร็จในการทำตลาดเมืองไทย ได้เหมือนรถยนต์นั่งไฟฟ้าหรือไม่ นั่นทำให้ปีนี้ เราอาจจะได้เห็น ISUZU D-MAX ครองแชมป์เป็นปีที่ 5 ติดต่อกัน เพราะต้นปี ทางตรีเพชรอีซูซุ ก็มีแผนเปิดตัว X-Series รุ่นปรับโฉมใหม่ ในขณะที่ TOYOTA ก็ยังต้องทำตลาด HILUX ที่ยังเป็นเจนเนอเรชั่นเดิมไปก่อน เพิ่มเติมคือมีรุ่นมายด์ไฮบริดเข้ามาในตลาด ที่อาจจะไม่ได้ช่วยในเรื่องยอดขายมากนัก ส่วน Hilux BEV ก็คงเน้นเฉพาะตลาดองค์กรไปก่อน