วิกฤติตลาดรถปิกอัพในไทย? Isuzu D-MAX / Toyota Hilux Revo อาจเจองานหนักกว่าเพื่อน

ในปีนี้ การเติบโตในตลาดรถยนต์ของไทย อาจจะส่งสัญญาณที่ดูแปลก คือบางเซกเมนต์อย่างรถยนต์นั่ง มีการเติบโตอย่างมาก แต่ตลาดใหญ่อย่างรถกระบะปิกอัพ กลับมียอดขายลดลงฮวบฮาบ ทำให้ยอดขายโดยรวม จึงลดลงอย่างชัดเจน ความนิยมใช้รถยนต์ไฟฟ้า เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ตลาดรถยนต์นั่งยังเติบโตต่อเนื่อง แม้ว่าภาวะเศรษฐกิจอาจจะไม่สู้ดีนัก โดยเฉพาะการที่เพิ่งฟื้นตัวจากสถานการณ์โรคระบาดเมื่อ 3-4 ปีก่อน ล่าสุดดูเหมือนสัญญาณวิกฤติในตลาดรถกระบะ จะมีความชัดเจนมากขึ้น เมื่อรายงานสถิติการขายรถยนต์ประจำเดือนกรกฏาคม 2566 โดย โตโยต้า ประเทศไทย ระบุว่า ยอดขายทั้งตลาดอยู่ที่ 58,419 คัน ลดลง 8.8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา แต่ลูกค้าให้การตอบรับตลาดรถยนต์นั่งอย่างต่อเนื่อง ด้วยยอดขาย 25,511 คัน เติบโต 17.3% ในขณะที่รถยนต์เพื่อการพาณิชย์ชะลอตัวต่อเนื่อง ด้วยยอดขาย 35,908 คัน ลดลง 19.9% ในส่วนของรถกระบะขนาด 1 ตัน ในเซกเมนท์นี้ ชะลอตัวเช่นกันด้วยยอดขาย 24,982 คัน ลดลงถึง 26.6% จากการชะลอการตัดสินใจซื้ออย่างต่อเนื่องของภาคธุรกิจ และภาคประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของธุรกิจขนส่ง โดยมีปัจจัยลบที่สำคัญอย่างยิ่งคือความเข้มงวดของสถาบันการเงิน ที่มีความกังวลต่อหนี้เสีย อันเป็นผลต่อเนื่องที่เกิดจากสภาวะเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมา

​​ตลาดรถยนต์ในเดือนสิงหาคม มีความหวังที่จะฟื้นตัวขึ้น จากความชัดเจนในการจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งจะส่งผลดีต่อภาพรวมทางเศรษฐกิจของประเทศ ตลอดจนความเชื่อมั่นของนักลงทุน โดยเฉพาะอย่างยิ่งจิตวิทยาการบริโภคในการใช้เงินเพื่อจับจ่ายใช้สอย ก่อให้เกิดการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจ ซึ่งส่งผลดีต่อตลาดรถยนต์ด้วยเช่นกัน โดยมีปัจจัยเสริมที่สำคัญได้แก่ แคมเปญการตลาดในช่วงงาน Bangkok International Grand Motor Sale 2023 ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 25 สิงหาคม – 3 กันยายน ศกนี้ นอกจากช่วยกระตุ้นยอดขายรถยนต์ภายในงาน ยังขยายข้อเสนอพิเศษไปยังโชว์รูมผู้แทนจำหน่ายทั่วประเทศอีกด้วย และนับเป็นโอกาสดี ที่ทำให้ผู้บริโภค สามารถเป็นเจ้าของรถยนต์ได้ง่ายขึ้น อย่างไรก็ดี ยังมีปัจจัยลบที่สำคัญ ได้แก่ ความผันผวนทางเศรษฐกิจ ซึ่งส่งผลต่อภาวะหนี้สินครัวเรือน ตลอดจนความเข้มงวดของสถาบันการเงิน ต่อการปล่อยสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา

ปริมาณการจำหน่ายรถกระบะ Pure Pickup ประจำเดือนกรกฎาคม 2566
มีปริมาณการขาย 20,309 คัน ลดลง 31.9% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา

อันดับ 1 Isuzu D-MAX​ ​8,551 คัน​ ลดลง​ 35.5%​ ส่วนแบ่งตลาด 42.1%
อันดับ 2 Toyota Hilux Revo​ 8,312 คัน​ ลดลง 26.7% ​ส่วนแบ่งตลาด 40.9%
​อันดับ 3 Ford Ranger​ 1,820 คัน​ ลดลง​ 37.4% ​ส่วนแบ่งตลาด 9.0%
​อันดับ 4 Mitsubishi Triton​ 1,203 คัน​ ลดลง​ 23.8% ​ส่วนแบ่งตลาด 5.9%
​อันดับ 5 Nissan Navara​ 296 คัน​ ลดลง​ 31.3% ​ส่วนแบ่งตลาด 1.5%
​อันดับ 6 MG Extender​ 64 คัน​ ลดลง​ 67.3% ​ส่วนแบ่งตลาด 0.3%
​อันดับ 7 Mazda BT-50​ 63 คัน​ ลดลง​ 35.1% ​ส่วนแบ่งตลาด 0.3%

ในภาพรวม ยอดขายในเดือนกรกฎาคม ลดลงกันทุกรุ่น และเป็นการลดลงด้วยตัวเลขที่สูงด้วย คือเฉลี่ยที่มากกว่า 30% แม้แต่ดาวรุ่งอย่าง Ford Ranger ก็ยังมียอดขายลดลงมากกว่าทั้งสองเจ้าตลาดด้วยซ้ำ ทั้งที่สดใหม่กว่า ถือว่าเป็นสัญญาณอันตรายที่อาจจะเรียกว่าเข้าสู่จุดวิกฤติของตลาดรถกระบะปิกอัพก็ไม่ผิด ทั้งๆที่เมื่อปีที่แล้ว ผลกระทบจากโรคระบาด น่าจะรุนแรงกว่าปีนี้ด้วยซ้ำ แต่อาจจะเพราะที่ผ่านมา ประชาชนยังมีทุนทรัพย์ในการประคองตัวไปก่อน จึงพอที่จะถูไถไปได้ แต่ทุกอย่างเพิ่งมาถึงจุดที่ไม่สามารถไปต่อได้ หนี้เสียจึงพุ่งสูงขึ้น และส่งผลกับการตัดสินใจซื้อรถยนต์ในที่สุด การเปิดตัว All-New Mitsubishi Triton โฉมใหม่ จึงอาจจะเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ไม่ดีนัก แม้ว่าในเดือนกรกฎาคม ยังไม่มีการรับรู้ยอดขายของรถกระบะตัวใหม่ก็ตาม และแม้ว่า Isuzu D-MAX จะยังมาเป็นอันดับ 1 อยู่ ตามติดมาด้วย Toyota Hilux Revo แต่ Isuzu ก็คงไม่พอใจกับยอดขายเท่าใดนัก เพราะบริษัทเอง พึ่งพาตลาดนี้เป็นหลัก ส่วนผู้เล่นที่เหลือ การที่มียอดขายต่ำอยู่แล้ว จึงไม่น่าจะมีความวิตกกังวลอะไรนัก เพราะเจอกับปัญหาขายไม่ค่อยออกมาตั้งต้นอยู่แล้ว

ปริมาณการจำหน่ายรถกระบะ Pure Pickup ใน 7 เดือนแรกของปี 2566
มีปริมาณการขาย 169,994 คัน ลดลง 25.5% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา

อันดับ 1 Isuzu D-MAX​ ​75,231 คัน​ ลดลง​ 28.8%​ ส่วนแบ่งตลาด 44.3%
อันดับ 2 Toyota Hilux Revo​ 67,094 คัน​ ลดลง 23.0% ​ส่วนแบ่งตลาด 39.5%
​อันดับ 3 Ford Ranger​ 15,667 คัน​ เพิ่มขึ้น 0.7% ​ส่วนแบ่งตลาด 9.2%
​อันดับ 4 Mitsubishi Triton​ 8,804 คัน​ ลดลง​ 35.2% ​ส่วนแบ่งตลาด 5.2%
​อันดับ 5 Nissan Navara​ 1,968 คัน​ ลดลง​ 47.9% ​ส่วนแบ่งตลาด 1.2%
​อันดับ 6 MG Extender​ 615 คัน​ ลดลง​ 66.2% ​ส่วนแบ่งตลาด 0.4%
​อันดับ 7 Mazda BT-50​ 615 คัน​ เพิ่มขึ้น 1.3% ​ส่วนแบ่งตลาด 0.4%

ภาพของวิกฤติ ได้ถูกสะท้อนออกมาให้เห็นชัดเจนจากยอดขายสะสมใน 7 เดือนแรก ที่ลดลงถึง 25.5% หรือ 1 ใน 4 ของทั้งตลาด โดย Isuzu D-MAX นำห่างอันดับ 2 อย่าง Toyota Hilux Revo ถึง 8,137 คัน น่าจะเพียงพอที่จะรักษาการเป็นอันดับ 1 ในด้านยอดขายสะสมไปจนถึงสิ้นปี แต่ก็อาจจะพอใจกับการเป็นที่ 2 มากกว่า หากยอดขายมากกว่านี้ เพราะบริษัทกำลังได้รับผลกระทบในภาพรวมทั้งหมด เพราะจำหน่ายรถยนต์ขนาดเล็กเพียง 2 รุ่นเท่านั้น อีกทั้งตลาดบรรทุก ก็น่าจะประสบปัญหาไม่ต่างกันมาก ถือว่าได้รับผลกระทบมากที่สุดก็ว่าได้ ในขณะที่ Toyota ที่กระจายความเสี่ยงได้ดีกว่า ด้วยการทำตลาดรถยนต์หลากหลายรุ่น ดูเผินๆอาจจะไม่ได้รับผลกระทบมากเหมือน Isuzu แต่ด้วยสัดส่วนยอดขายรถกระบะที่มีอยู่สูงมาก และตลาดรถยนต์นั่งก็ถูกค่ายจีน ส่งรถยนต์ไฟฟ้ามาหั่นส่วนแบ่งตลาดให้ลดลงเรื่อยๆ ทำให้บริษัท ก็น่าจะได้รับผลกระทบไม่แตกต่างกับ Isuzu มากนัก ที่โชคร้ายก็คือ Mitsubishi ที่เพิ่งเปิดตัว Triton เจนเนอเรชั่นใหม่ไปหมาด ที่ดันมาขายในช่วงกำลังหายไปจากตลาดพอดี ในขณะที่ Ford กำลังไปได้ดีกับ Ranger โฉมใหม่ แต่ก็ต้องมาสะดุดในปีนี้ งานนี้ทำให้ตัวประกอบอีก 3 ราย ที่ยอดขายไม่สู้ดีมาตลอด น่าจะสามารถรอดพ้นไปจากวิกฤติได้โดยที่ไม่ต้องทำอะไรมาก เพราะเจอวิกฤติไปก่อนใครมาหลายปีแล้ว แต่เป็นวิกฤติของตัวเอง ไม่ใช่วิกฤติของตลาด งานนี้จึงน่าสนใจว่า Isuzu จะปรับตัวอย่างไร หากสถานการณ์ในไทยยังเป็นแบบนี้ต่อไป ซึ่งอาจจะเป็นแค่เรื่องของการได้กำไรน้อยเท่านั้น ไม่ถึงกับขาดทุน แล้วไปเน้นการส่งออกไปจำหน่ายในต่างประเทศให้มากขึ้น