สื่อดังชี้ ไทยใกล้หมดยุค Detroit of Asia กำลังถูกท้าทายโดยอินโดนีเซีย?

ยุคของการเปลี่ยนผ่าน จากรถยนต์ใช้น้ำมัน ไปเป็นรถยนต์ไฟฟ้า ไม่ว่าจะใช้ระบบขับเคลื่อนไฮบริด ไฟฟ้าแบตเตอรี่ หรือไฮโดรเจนฟิวเซลล์ ก็ตาม ไม่ได้ส่งผลกระทบกับค่ายรถยนต์ญี่ปุ่น ที่มองทิศทางธุรกิจผิดพลาดเพียงเท่านั้น แต่มันส่งผลกระทบกับฐานการผลิตรถยนต์ด้วยเช่นกัน ไม่มากก็น้อย และไทยก็เป็นฐานการผลิตสำคัญของค่ายรถยนต์จากญี่ปุ่นมานานหลายสิบปี การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยียานยนต์ ทำให้ไทยเริ่มทำการปรับตัวไปสู่ทิศทางใหม่ นั่นก็คือการพยายามส่งเสริมการลงทุนการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าและแบตเตอรี่ในเมืองไทย ด้วยมาตรการสนับสนุนทางด้านภาษี และเงินชดเชยจากรัฐบาล

ล่าสุด สื่อดังของญี่ปุ่น nikkei ได้เผยแพร่บทความวิเคราะห์ การเข้ามาแย่งชิงตำแหน่งดีทรอยต์ของเอเชียจากไทย โดยอินโดนีเซีย จากข้อได้เปรียบในการเป็นแหล่งแร่สำคัญสำหรับการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าและพลังงานใหม่ โดยเฉพาะความเคลื่อนไหวล่าสุดของนายโจโค วิโดโด้ ประธานาธิบดีของอินโดนีเซีย ในระหว่างการประชุม G7 ที่เมืองฮิโรชิม่า ประเทศญี่ปุ่น เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยเขาได้ใช้โอกาสนี้ในการพยายามโน้มน้ามผู้นำประเทศต่างๆ ให้มาลงทุนในการการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศอินโดนีเซีย ในขณะที่คู่แข่งอย่างไทย กำลังสาละวนกับการจัดตั้งรัฐบาลใหม่

ที่ผ่านมา กำลังการผลิตรถยนต์ของไทย เริ่มมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2013 เป็นต้นมา ซึ่งเป็นปีที่มีกำลังการผลิตสูงสุดในประวัติศาสตร์ คือ 2.45 ล้านคัน และลดลงมา 23% จนเหลือเพียงแค่ 1.88 ล้านคันในปี 2022 จากรายงานของบริษัทวิจัยทางการตลาด marklines ซึ่งการถดถอยของตัวเลขในการผลิต ส่วนหนึ่งเกิดจากการย้ายฐานการผลิตออกนอกประเทศ หลังจากมีเหตุการณ์น้ำท่วมครั้งใหญ่ในช่วงต้นทศวรรษ 2010 ในทางตรงกันข้าม การผลิตรถยนต์ในอินโดนีเซีย กลับเพิ่มขึ้นมากกว่า 30% ในช่วงเวลาเดียวกัน โดยในปี 2022 ที่ผ่านมา มีตัวเลขการผลิตอยู่ที่ 1.47 ล้านคัน หรือราว 80% ของยอดการผลิตที่ไทยทำได้ในปีเดียวกัน โดยคาดว่าจะสามารถแตะระดับ 1.6 ล้านคันในปี 2023 นี้ โดยเฉพาะยอดการผลิตรถยนต์นั่ง ที่อินโดนีเซ๊ยทำได้มากกว่าไทยตั้งแต่ปี 2014 มาจนถึงล่าสุด ที่มีสูงกว่าไทยเป็น 2 เท่าตัว

การเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมยานยนต์ของโลก ไปสู่การผลิตรถยนต์ไฟฟ้า สร้างความได้เปรียบกับทางอินโดนีเซีย โดยจุดแข็งหลักของประเทศแห่งนี้ ก็คือการเป็นแหล่งแร่นิเกิล ที่เป็นวัตถุดิบสำคัญในการผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า มีการลงทุนหลั่งไหลเข้าสู่ประเทศอย่างล้นหลามในการผลิตแร่ชนิดดังกล่าว ที่มีการอ้างว่า เป็นแหล่งแร่นิเกิลที่ใหญ่ที่สุดในโลก

เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา รัฐบาลอินโดนีเซียได้ประกาศว่า โฟล์คสวาเก้น ได้อยู่ในระหว่างการพิจารณาการลงทุนผลิตแร่นิเกิล ที่่มีบริษัทยานยนต์ยักษ์ใหญ่อีกแห่งอย่าง Ford Motor มีส่วนร่วมในโครงการนี้ด้วย ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่า แบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้ามีน้ำหนักมาก 100 กิโลกรัม และมักจะถูกผลิตขึ้น ในโรงงานที่มีที่ตั้งใกล้กับโรงงานประกอบรถยนต์ เพื่อความสะดวก ประหยัดเวลา และลดต้นทุนในการขนส่ง การมีโรงงานผลิตแบตเตอรี่ภายในประเทศ จึงเป็นการช่วยดึงดูดผู้ผลิตยานยนต์ไฟฟ้า ให้เข้ามาลงทุนด้วย

อินโดนีเซียก็มีการส่งเสริมให้มีการใช้งานรถยนต์ไฟฟ้าผ่านนโยบายของรัฐบาล มาอย่างต่อเนื่องเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นการลดภาษีมูลค่าเพิ่มของรถยนต์ไฟฟ้าบางประเภทจาก 11% ให้เหลือเพียง 1% ตั้งแต่เดือนเมษายนที่ผ่านมา รัฐบาลพยายามสนับสนุนให้มีการผลิตภายในประเทศ โดยให้ใช้ส่วนประกอบภายในประเทศอย่างน้อย 40% ซึ่งบริษัทผู้ผลิตยานยนต์ทั่วโลก ให้การตอบรับในทางบวก ฮุนไดมอเตอร์จากเกาหลีใต้ SAIC GM Wuling บริษัทร่วมทุนจีนและสหรัฐอเมริกา ได้เริ่มทำการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในอินโดนีเซีย มาตั้งแต่ปี 2022 โดยมีข่าวว่า Tesla จากสหรัฐอเมริกา ใกล้ที่จะปิดดีลเบื้องต้นในการสร้างโรงงานที่นั่นด้วย ในขณะที่ LG Energy Solutions ผู้ผลิตแบตเตอรี่อันดับต้นๆของโลก ก็กำลังสร้างโรงงานผลิตแบตเตอรี่กับฮุนได มอเตอร์ ในอินโดนีเซีย โดยคาดว่าจะสามารถเดินสายการผลิตได้ในปี 2024 หรือปีหน้านี่เอง CATL ผู้ผลิตแบตเตอรี่สำหรับรถยนต์ไฟฟ้า รายใหญ่ที่สุดในโลกจากจีน ก็เตรียมสร้างโรงงานแห่งใหม่ที่นั่นด้วย

อุตสาหกรรมยานยนต์ของไทยเริ่มขึ้นในทศวรรษ 1960 โดยมีบริษัทผู้ผลิตรถยนต์จากญี่ปุ่นหลายบริษัทอย่าง Toyota เข้ามาบุกเบิก ซึ่งทำให้ระบบห่วงโซ่อุปทานเกิดขึ้นตามหลังมาไม่นาน นั่นทำให้ไทยกลายเป็นฐานการผลิตรถยนต์ ไม่ใช่เพียงแต่สำหรับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เท่านั้น แต่ยังมีการส่งออกไปยังประเทศในแถบตะวันออกกลางและแอฟริกาด้วย อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนผ่านไปสู่ยุคของรถยนต์ไฟฟ้า ทำให้ข้อได้เปรียบของประเทศในการเป็นฐานการผลิตรถยนต์ใช้น้ำมัน ได้รับการสั่นคลอนและล้าสมัย

แหล่งข่าวจากรัฐบาลไทยคนหนึ่งได้เปิดเผยว่า ค่ายรถยนต์สัญชาติญี่ปุ่น มีการปรับตัวต่อแนวโน้มใหม่ที่ช้าเกินไป รถยนต์ญี่ปุ่นยังได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในเมืองไทย แต่รถยนต์ไฟฟ้า ก็สร้างความสนใจให้กับตลาดมากเช่นกัน การเข้าสู่การแข่งขันในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าที่ช้าของค่ายรถยนต์ญี่ปุ่น มีผลทำให้อุตสาหกรรมยานยนต์ของไทย ปรับตัวช้าตามไปด้วย

อย่างไรก็ตาม ไทยเองก็ไม่ได้นิ่งอยู่กับที่ ที่ผ่านมา มีการตั้งเป้าหมายในการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าให้ได้ 30% ของกำลังการผลิตทั้งหมด ภายในปี 2030 โดยมีการออกมาตรการสนับสนุนใหม่ๆออกมา ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ปี 2022 ที่ผ่านมา ที่สำคัญก็คือ การให้เงินชดเชยสูงสุดถึง 150,000 บาท เพื่อซื้อรถยนต์ไฟฟ้าจากบริษัทที่มีแผนในการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าภายในประเทศ ภาษีรถยนต์นั่งไฟฟ้า ก็ถูกลดจาก 8% ไปเป็น 2% ด้วยเช่นกัน ในขณะที่รถกระบะปิกอัพ ซึ่งเป็นประเภทรถยนต์ ที่ได้รับความนิยมสูงที่สุดมาโดยตลอด ก็ได้รับการยกเว้นภาษี ยกตัวอย่างเช่น รถยนต์ไฟฟ้าจากจีน ซึ่งมีราคาอยู่ที่ราว 1 ล้านบาท จะได้ส่วนลดถึง 2 แสนบาท ซึ่งเป็นการนำเอาเงินชดเชยและอัตราภาษีใหม่ที่ลดลง ไปทำการคำนวณด้วย ซึ่งนโยบายส่งเสริมของไทย มีการพิจารณาทั้งในเรื่องของการผลิตและการขาย

ในเดือนกันยายนปีที่ผ่านมา BYD ค่ายรถยนต์ไฟฟ้ายักษ์ระดับโลกจากจีน ก็ได้ประกาศแผนการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในจังหวัดระยองของไทย ซึ่งถือว่าเป็นครั้งแรกของบริษัท ในการตั้งโรงงานผลิตรถยนต์นั่งไฟฟ้า นอกประเทศจีน และในเดือนเมษายนปีนี้ ฉางอันออโตโมบิล ค่ายรถยนต์จากจีนอีกรายหนึ่ง ก็ได้ประกาศเตรียมลงทุนด้วยงบประมาณกว่า 9,800 ล้านบาท ในการสร้างโรงงานผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยด้วยเช่นกัน นอกเหนือไปจาก SAIC Motor และ Great Wall Motor ที่มีฐานการผลิตในเมืองไทยอยู่แล้ว

รัฐบาลไทยได้ประกาศกลยุทธ์การลงทุน 5 ปี ที่เริ่มตั้งแต่ปี 2023 นี้ ว่าจะมีการยกเว้นภาษี 10-13 ปี สำหรับการผลิตยานยนต์ฟิวเซลล์ ซึ่งบริษัทผู้ผลิตพลังงานชีวภาพ ก็จะได้รับสิทธิพิเศษทางภาษีด้วย ในเดือนธันวาคมที่ผ่านมา Toyota ได้ประกาศความร่วมมือกับบริษัทของไทยอย่าง เจริญโภคภัณฑ์ หรือ CP ในการผลิตไฮโดรเจนโดยใช้ก๊าซชีวภาพที่ได้จากของเสียจากฟาร์มในประเทศไทย การใช้รถบรรทุกพลังงานไฟฟ้าแบบเซลล์เชื้อเพลิง (FCEV) ในกิจกรรมของ ซีพี และศึกษาความร่วมมือด้านการขนส่งที่มีประสิทธิภาพ โดยอาศัย เทคโนโลยีการเชื่อมต่อเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของเส้นทางการจัดส่ง

ประเทศไทยพยายามที่จะเป็นผู้นำของภูมิภาค ไม่ใช่เพียงแต่ในเรื่องของยานยนต์ที่ใช้พลังงานไฟฟ้าเทานั้น แต่รวมถึงทางเลือกอื่นที่เป็นพลังงานใหม่ด้วย ทำให้การแข่งขันกับอินโดนีเซีย จะเพิ่มความเข้มข้นมากขึ้นไปอีก

จากรายงานล่าสุดของสื่อดังจากญี่ปุ่นครั้งนี้ เป็นการส่งสัญญาณเตือนอีกครั้งว่า ไทยจะต้องพยายามปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้นในอุตสาหกรรมยานยนต์ ที่เราเป็นฐานการผลิตสำคัญของโลกมานานหลายสิบปี โดยที่ต้องไม่พึ่งพาบริษัทผู้ผลิตยานยนต์จากญี่ปุ่นมากเกินไปเหมือนในอดีต เพราะบริษัทเหล่านี้เอง ก็แทบจะเอาตัวไม่รอด ซึ่งที่ผ่านมา ผู้ใช้รถชาวไทยเอง ก็ถือว่าทำได้ดีในการเปิดกว้างกับทางเลือกใหม่ โดยเฉพาะบริษัทผู้ผลิตรถยนต์จากจีน ทำให้ตลาดมีการเติบโตอย่างรวดเร็ว จนครองส่วนแบ่งตลาดในเซกเมนต์ของรถยนต์ไฟฟ้ามากกว่าครึ่งหนึ่งในภูมิภาคอาเซียน จนทำให้ค่ายรถยนต์ต่างๆ หันมาสนใจในตลาดของไทยมากขึ้น จนนำไปสู่การตัดสินใจลงทุนสร้างโรงงานที่นี่ ใน 1-2 ปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่า อินโดนีเซียถือไพ่ที่เหนือกว่า โดยที่ไม่จำเป็นจะต้องทำอะไรมากเป็นพิเศษ เพราะเป็นแหล่งแร่สำคัญในการผลิตแบตเตอรี่สำหรับรถยนต์ บางที การใช้กลยุทธ์ใหม่ๆในการแข่งขัน การเปลี่ยนคู่แข่งมาเป็นพันธมิตร หรือแม้แต่การลดการพึ่งพาการสร้างรายได้จากอุตสาหกรรมยานยนต์ ด้วยการหาแหล่งรายได้ใหม่ให้กับประเทศ ก็อาจจะเป็นทางออกที่ดีสำหรับประเทศไทยในระยะยาวได้