iEVtech 2022

เริ่มแล้ว! iEVtech 2022 ทิศทาง EV ในมุมมองของผู้เชี่ยวชาญ มีประเด็นใดน่าสนใจบ้าง?

สมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย ร่วมกับ บริษัท อินฟอร์มา มาร์เก็ต ประเทศไทย พร้อมพันธมิตรทางธุรกิจ จัดงานเเสดงนวัตกรรมด้านยานยนต์ไฟฟ้าเเห่งปี iEVtech 2022 ชูคอนเซ็ป Bio-Circular-Green-Economy โมเดลเศรษฐกิจใหม่ ต้อนรับการเปิดศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์อย่างเป็นทางการ

เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2565 สมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย โดยนายกสมาคมฯคุณกฤษฎา อุตตโมทย์ ผู้จัดงาน iEVtech 2022 ร่วมกับบริษัท อินฟอร์มา มาร์เก็ตส์ พร้อมพันธมิตรทางธุรกิจ ได้แก่ บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน), บริษัท โอเรียนเต็ลคอปเปอร์ จำกัด, บริษัท ทรุ้มพ์ฟ จำกัด, บริษัท นากาเซ่ (ประเทศไทย) จำกัด, บีเอ็มดับเบิลยู กรุ๊ป ประเทศไทย จัดงานประชุมด้านยานยนต์ไฟฟ้านานาชาติที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งจัดขึ้นเป็นครั้งที่ 7 ประจำปี 2565 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ตั้งแต่วันที่ 14 – 16 กันยายน พ.ศ. 2565 และนับเป็นงานแรกที่ได้รับเกียรติมาจัดงานที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์อย่างเป็นทางการ

โดยพิธีเปิดงานได้จัดขึ้นในวันที่ 14 กันยายน 2565 ภายใต้แนวคิด “Future Mobility Aspiration through Bio-Circular-Green Economy within APEC” ซึ่งมีพิธีเปิด โดยนายกสมาคมฯคุณกฤษฎา อุตตโมทย์ พร้อมด้วยคณะกรรมการสมาคม และคุณสรรชาย นุ่มบุญนำ ผู้จัดการทั่วไป บริษัท อินฟอร์มา มาร์เก็ตประเทศไทย เเละ คุณนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนแห่งประเทศไทย (BOI) กล่าวต้อนรับพิธีเปิด

โดยคุณกฤษฎา อุตตโมทย์ นายกสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย ได้กล่าวว่า “ในปัจจุบันประเด็นด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม ได้กลายเป็นจุดสนใจของคนทั้งโลก ซึ่งมลพิษทางอากาศเป็นปัญหาที่ได้รับความสนใจมากที่สุด ดังนั้นการค้นหาแนวทางในการบรรเทามลพิษทางอากาศ จึงมีความสำคัญอย่างมาก โดยเฉพาะในภาคคมนาคม การใช้พลังงานหมุนเวียนและยานยนต์ไฟฟ้า (EV) จึงกลายเป็นเเนวทางเเก้ปัญหาสิ่งเเวดล้อมสำคัญของทุกประเทศ ซึ่งในงานประชุมนานาชาติด้านสิ่งเเวดล้อม COP26 ที่ผ่านมา ที่เมืองกลาสโกว์ สหราชอาณาจักร ประเทศไทยได้นำแบบจำลอง “Bio-Circular-Green” หรือ BCG มาใช้ และย้ำว่าจะเป็นหนทางสู่การเปลี่ยนแปลงกระบวนทัศน์สู่การพัฒนาเศรษฐกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยหัวข้อนี้จะอยู่ในวาระการประชุมผู้นำเศรษฐกิจเอเชียแปซิฟิก(APEC) ที่กรุงเทพฯ ในปี 2565 อีกด้วย นอกจากนี้ รัฐบาลได้ประกาศกระตุ้นอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า โดยตั้งเป้าที่จะผลิตยานยนต์ไฟฟ้า ได้เเก่ รถไฟฟ้าและ รถกระบะไฟฟ้าจำนวนกว่า 725,000 คัน หรือประมาณ 30% ของการผลิต รวมไปถึง เพิ่มการจดทะเบียนรถไฟฟ้าและรถกระบะไฟฟ้าเป็นประมาณ 440,000 คันหรือประมาณ 50% ภายในปี 2573

อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่แค่รัฐบาลเท่านั้นที่มีนโยบายสนับสนุนทั้งด้านการผลิตเเละการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า เเต่ประชาชนทุกภาคส่วน รวมไปถึง สมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทยได้มีโอกาสสนับสนุน เเละส่งเสริม ความรู้ด้านเทคโนโลยี ผ่านการจัดการเเข่งขันการดัดแปลงรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า ในเดือนมีนาคม 2565 ที่ผ่านมา เพื่อให้นักศึกษาทั้งในระดับอาชีวศึกษาและในระดับอุดมศึกษา รวมทั้งประชาชนทั่วไป ร่วมกันสาธิตเทคโนโลยีการแปลงรถจักรยานยนต์ ให้เป็นรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าในลักษณะการแข่งขัน เพื่อผลักดันเเละต่อยอดให้อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยเติบโตอย่างมั่นคงเเละยั่งยืน”

นอกจากนี้สมาคมฯ ได้เชิญผู้เชี่ยวชาญด้านยานยนต์ไฟฟ้าจากหลากหลายประเทศมานำเสนอข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในทุกแพลตฟอร์มผ่านมุมมองผู้บริหารระดับสูงในองค์กรชั้นนำต่างๆ และในระดับความร่วมมือระหว่างประเทศโดยผู้ทรงคุณวุฒิจากหลากหลายสาขาได้ร่วมแชร์ข้อมูลและทัศนคติเกี่ยวกับยานยนต์ไฟฟ้า ภายใต้หัวข้อ “Future Mobility Aspiration through Bio-Circular-Green Economy within APEC” โดยมีผู้เชี่ยวชาญในสาขาต่างๆ เช่น

ข้อกำหนดและกฎเกณฑ์ในโครงสร้างพื้นฐานของสถานีอัดประจุไฟฟ้าและรูปแบบสำหรับการใช้งานในเมือง
วิทยากร: Mr. Jacques Borremans, Managing Director Asia, CharIN

ประเด็นพูดคุย

โครงสร้างพื้นฐาน ของขนาดแบตเตอรี่ของรถบัสที่ขึ้นอยู่กับความยาวของเส้นทาง ภูมิประเทศ ฯลฯ รวมไปถึงการแนะนำระบบ MegaWatt Charging ที่ออกแบบมาโดยเฉพาะสำหรับการชาร์จรถบัสและรถบรรทุกอย่างรวดเร็ว
ตัวอย่างกรณีของตัวเลือกทางเทคนิคและการออกแบบสำหรับโครงสร้างพื้นฐานการชาร์จสาธารณะและที่อยู่อาศัยในบริบทของเมือง
ความคืบหน้าการผลิตยานยนต์สองล้อและสามล้อไฟฟ้าในฟิลิปปินส์
วิทยากร: Mr. Edmund Araga, President, Asian Federation of Electric Vehicles Association (AFEVA)

ความคืบหน้าด้านการปรับเปลี่ยนแบตเตอรี่แห่งชาติสำหรับรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า
วิทยากร: ดร พิมพา ลิ้มทองกุล หัวหน้าทีมวิจัยเทคโนโลยีระบบกักเก็บพลังงาน กลุ่มวิจัยนวัตกรรมพลังงาน สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (ENTEC)

วิสัยทัศน์ของบริษัท BMW ที่มีต่อความเป็นกลางทางคาร์บอน
วิทยากร: คุณโอภาส นพพรพิทักษ์ ผู้จัดการฝ่ายสื่อสารองค์กร บริษัท บีเอ็มดับเบิลยู แมนูแฟคเจอริ่ง (ประเทศไทย) จำกัด

ความคืบหน้าด้านการยานยนต์ไฟฟ้า EV และรถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติในไต้หวัน
วิทยากร: Dr. Jet P.H. Shu, Advisor of Mobility Taiwan Auto Research Consortium (mTARC)

ความสามารถในการพัฒนารถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติและไฟฟ้าที่สร้างขึ้นในไต้หวัน
วิทยากร: Mr.Vector Yeh, R&D Manager, Automotive Research & Testing Center (ARTC)

Sandboxของการทดสอบรถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติในไต้หวัน
วิทยากร: Mr.James Lei, Director of Autonomous Vehicles Technology Innovative Experimentation
Program Office (AVTEP), DoIT, MOEA.

สำหรับผู้ที่สนใจเข้าร่วมงาน iEVtech 2022 งานเสวนาด้านยานยนต์ไฟฟ้าสุดยิ่งใหญ่เเห่งปี ซึ่งจัดโดยสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย เเละ บริษัท อินฟอร์มา มาร์เก็ต ประเทศไทย งานจะจัดขึ้นในวันที่ 14 – 16 กันยายน 2565 ณ ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์