หลังจากที่เป็นข่าวมาได้พักใหญ่ ในที่สุด เราก็ได้เห็นภาพรถทดสอบในเมืองไทย ของรถยนต์ไฟฟ้า 2 รุ่นใหม่สุดฮ็อต จาก 2 ค่ายรถยนต์จีน อย่าง MG4 Electric หรือ Mulan และ BYD Atto3 ที่ปรากฏตัวในเมืองไทย ในรูปแบบของรถทดสอบ ซึ่งมีการพรางตัวถังภายนอกเอาไว้ แต่ก็ไม่มิดชิดมากพอ ที่จะทำให้หลายคนมองออกได้ว่า มันคือรถยนต์รุ่นใด ถือว่าเป็นการขยับตัวที่เป็นรูปธรรมมากที่สุด ตั้งแต่มีข่าวลือว่า รถยนต์ไฟฟ้าทั้งสองรุ่น จะถูกนำมาทำตลาดในเมืองไทย ถือว่าช่วยสร้างความคึกคักให้กับตลาดรถยนต์ หลังจากที่เพิ่งฟื้นตัว จากสภาพเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ จากการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 และภาวะข้าวยากหมากแพงอย่างหนัก ซึ่งการเข้ามาบุกตลาดรถยนต์ด้วยรุ่นไฟฟ้า ของ 2 ค่ายรถยนต์จีน ย่อมหมายถึงเม็ดเงินที่หายไป ของค่ายรถยนต์อื่นๆ โดยเฉพาะค่ายญี่ปุ่นอย่าง Toyota ที่เตรียมทำตลาดรถยนต์ไฟฟ้ารุ่นแรกของบริษัทในเมืองไทย อย่างรุ่น bZ4X ในปลายปีนี้
สำหรับ MG4 Electric หรือเรียกสั้นๆว่า MG4 เป็นรถยนต์ไฟฟ้าภายใต้ซีรี่ส์ Cyber ที่มี MG Cyberster รถซูเปอร์สปอร์ตเป็นหนึ่งในนั้น นอกจากนี้ ยังมี Cyber S และ Cyber X ที่เป็นรถเอสยูวีไฟฟ้า รวมอยู่ในไลน์อัพ MG4 เป็นรถแฮทช์แบคสไตล์เอสยูวี ที่มีคู่แข่งที่เป็นที่รู้จักกันดีก็คือ Nissan Leaf ซึ่งเข้ามาทำตลาดในเมืองไทยหลายปี แต่ก็ยังไม่ไปถึงไหน จากราคาที่แพงเกินกว่าจะเอื้อมถึงได้ ก่อนที่จะมีการลดราคาลงมาในภายหลัง
MG4 Electric ถูกพัฒนาขึ้นบนแพลตฟอร์ม MSP จาก SAIC Motor โดยแพลตฟอร์มนี้ สามารถรองรับรถยนต์ในหลากหลายรูปแบบตัวถัง ไม่ว่าจะเป็น Hatchback, Saloon, SUV และ Van โดย MG4 Electric มีความยาว 4,287 มม. กว้าง 1,856 มม. สูง 1,504 มม. ระยะฐานล้ออยู่ที่ 2,705 มม. มีการกระจายน้ำหนักหน้า-หลังได้อย่างสมดุลย์คือ 50:50
ในด้านดีไซน์ MG4 มาพร้อมด้านหน้าที่ดูโฉบเฉี่ยว ไฟหน้าเป็นแบบ LED มาพร้อมไฟเดย์ไทม์แบบ LED รวมถึงไฟตัดหมอก ก็เป็นแบบ LED เช่นกัน ด้านข้างมาพร้อมเส้นสายที่คมชัด ดูสปอร์ตดุดัน ล้ออัลลอยในภาพรถถ่าย เป็นแบบ 5 ก้านคู่ ลวดลายต่างจากภาพโฆษณาที่เป็นแบบทูโทน ไฟท้าย LED ดีไซน์เป็นเอกลักษณ์ จึงทำให้ง่าย ในการคาดเดาจากรถต้นแบบที่ถูกจับภาพได้
ห้องโดยภายในห้องโดยสาร MG4 ถูกออกแบบให้ดูเรียบง่าย ทันสมัย จอแสดงข้อมูลการขับขี่ และจอแสดงผลระบบ infotainment เป็นแบบดิจิตอล ลอยตัว แยกออกจากกัน
ในด้านขุมพลัง MG4 จะมีทั้งรุ่นแบตเตอรี่ขนาด 51 kWh วิ่งได้ไกลสูงสุด 350 กม./ชาร์จ ตามมาตรฐาน WLTP มาพร้อมมอเตอร์ไฟฟ้าที่วางอยู่บริเวณล้อหลังให้กำลังสูงสุด 170 แรงม้า และรุ่นแบตเตอรี่ขนาด 64 kWh วิ่งได้ไกลสูงสุด 452 กม./ชาร์จ มาพร้อมมอเตอร์ไฟฟ้าวางอยู่ที่ล้อหลังเช่นกัน โดยให้กำลัง สูงสุด 204 แรงม้า (150 กิโลวัตต์) สามารถทำความเร็วจาก 0-100 กม./ชม. ในเวลา 8 วินาที ความเร็วสูงสุดถูกจำกัดไว้ที่ 160 กม./ชม. ขณะที่ในรุ่น AWD จะเพิ่มมอเตอร์ไฟฟ้า เข้าไปที่ล้อคู่หน้า ส่งผลทำให้มีอัตราเร่ง 0-100 กม./ชม. ได้ภายในเวลาต่ำกว่า 4 วินาที
MG4 รองรับเทคโนโลยีการชาร์จไฟที่มีขนาดแรงดัน 800 โวลต์ โดยใช้เวลา 5 นาที ที่จะให้ระยะทางการวิ่ง สูงถึง 200 กม.รวมถึงรองรับเทคโนโลยีการชาร์จไฟขนาดแรงดัน 400 โวลต์ โดยใช้เวลา 5 นาที ให้ได้ระยะทางการวิ่ง 100 กม. โดยจะใช้เวลา 30 นาที เพื่อให้แบตเตอรี่มีความจุไฟฟ้าในระดับ 80%
ในขณะที่ BYD Atto3 เป็นหนึ่งในรถยนต์รุ่นแรกๆของ BYD ที่จะมีการทำตลาดในเมืองไทย โดยเป็นรถ B-SUV ที่ทำตลาดไปแล้วในญี่ปุ่น ออสเตรเลีย สิงคโปร์ ลาว เป็นต้น มีคู่แข่งสำคัญในตลาดอย่าง MG ZS EV, NETA U Pro, Honda HR-V, Toyota Corolla Cross รวมถึง Nissan Kicks e-POWER แล้วแต่ลูกค้าจะเลือกขุมพลังประเภทใด
ในขณะที่ BYD Atto 3 ถูกสร้างขึ้นบน e-Platform 3.0 ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มใหม่ล่าสุดจาก BYD ที่ถูกออกแบบมาสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าโดยเฉพาะ ดีไซน์ภายนอก ดูเรียบง่าย ไม่หวือหวา แต่มีเอกลักษณ์ตรง แถบชิ้นงานสีเงินใต้ฝากระโปรง เหนือกระจังหน้าแบบปิดทึบ พร้อมโลโก้ BYD ที่เชื่อมโคมไฟหน้าทั้งสองเอาไว้ด้วยกัน ชุดไฟต่างๆจะเป็นแบบ LED ทั้งหมด โดยใต้กันชนหน้า จะมีช่องดักอากาศ เพื่อช่วยระบายความร้อนของแบตเตอรี่และมอเตอร์ไฟฟ้า นอกจากนั้นยังเป็นบริเวณที่มีการติดตั้งเรดาห์และเซนเตอร์ระบบความปลอดภัยต่างๆเอาไว้ด้วย นอกเหนือไปจากเทคโนโลยีต่างๆที่ให้มา ทั้งกล้องช่วยมองรอบคัน 360 องศา ระบบ NFC ที่สามารถใช้สมาร์ทโฟน แตะปลดล็อกรถได้ สำหรับห้องโดยสารภายในของ Atto 3 มีลักษณะเดียวกับ MG4 คือหน้าจอแสดงข้อมูลการขับขี่และหน้าจอระบบ infotainment เป็นแบบลอยตัว แต่ของ Atto 3 สามารถปรับหมุนหน้าจอกลางได้ด้วย ลวดลายในการตกแต่ง มีความโค้งมน ดูมีเอกลักษณ์ที่อาจจะถูกใจคุณสุภาพสตรีมากกว่า
BYD Atto 3 ใช้ขุมพลังเป็นเป็นมอเตอร์ไฟฟ้า 1 ตัว ติดตั้งบริเวณล้อหน้า ให้กำลังสูงสุด 201 แรงม้า แรงบิดสูงสุด 310 นิวตันเมตร มีอัตราเร่งจาก 0-100 กม./ชม. ภายใน 7.3 วินาที สิ่งที่น่าสนใจที่สุดอีกอย่างของ BYD Atto 3 ก็คือการใช้แบตเตอร์รี่ LFP Blade Battery ที่เป็นเอกสิทธิ์เฉพาะของ BYD ที่ค่ายยักษ์ใหญ่อย่าง Toyota ยังนำไปใช้กับซีดานไฟฟ้ารุ่นแรกของบริษัทอย่างรุ่น bZ3 โดย Atto 3 มีแบตเตอร์รี่ให้เลือก 2 ขนาด ได้แก่รุ่น Standard Range ขนาดความจุแบตเตอรี่ 49.92 kWh ที่มีระยะทางการขับขี่สูงสุด 410 กิโลเมตร ตามมาตรฐาน NEDC และรุ่น Extended Range ความจุบตเตอรี่ 60.48 kWh มีระยะทางการขับขี่สูงสุด ที่ 480 กิโลเมตร ตามมาตรฐาน NEDC
การเข้ามาทำตลาดรถยนต์ไฟฟ้าในเมืองไทย ยิ่งทำให้การแข่งขันเข้มข้นมากขึ้นไปอีก ซึ่งแน่นอนว่าเป็นผลดีกับผู้บริโภค และมันเป็นเพียงการเริ่มต้นของยุครถยนต์ไฟฟ้า ที่ตลาด กำลังจะมีทางเลือกใหม่ๆเพิ่มเข้ามาอีกหลายรุ่นในช่วงปลายปี ไปจนถึงปี 2023 จากเดิมที่มีการเปิดตัวไปแล้วหลายรุ่น ทั้งรุ่นที่มีราคาต่ำอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน และราคาปานกลาง ซึ่งล้วนแต่ทำให้เกิดการแข่งขันในด้านราคาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และนั่นทำให้เจ้าตลาดรถยนต์นั่ง โดยเฉพาะ Toyota ที่เตรียมเปิดตัว bZ4X ในช่วงปลายปี ต้องทำงานหนักมากกว่าเดิม เพราะนอกจากจะประสบปัญหาการเรียกรถที่จำหน่ายทุกคันในต่างประเทศคืนในช่วงนี้แล้ว ราคาจำหน่ายที่คาดว่าจะสูงกว่าชาวบ้านอยู่มาก ยังจะเป็นโจทย์ใหญ่ที่บริษัทต้องนำไปขบคิดอย่างหนัก และอาจจะเป็นครั้งแรกที่เรียกว่า เป็นรองทั้งคุณภาพ ราคา และอาจจะรวมถึงชื่อชั้นของแบรนด์ในวงการรถยนต์ไฟฟ้าอีกด้วย
[yourchannel video=”NZvmUYPWp5o” autoplay=”1″ show_comments=”1″]