โตโยต้าแถลงยอดขายตลาดรถยนต์ครึ่งแรกของปี 2565 พร้อมคาดการณ์ตลาดรวมอยู่ที่ 880,000 คัน
อุตสาหกรรมยานยนต์ของประเทศไทยในช่วงครึ่งปีแรก ยังคงได้รับผลกระทบจากสถานการณ์เศรษฐกิจภายในประเทศ ที่อยู่ในภาวะฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป ท่ามกลางปัญหาการขาดแคลนเซมิคอนดัคเตอร์ ที่ยังคงยืดเยื้อ ส่งผลโดยตรงต่อยอดการผลิต และต้นทุนการผลิตรถยนต์ ที่ปรับตัวสูงขึ้น เพื่อจำหน่ายทั้งภายในประเทศ และการส่งออก รวมทั้งแรงกดดันจากภาวะเงินเฟ้อ ที่ยังปรับตัวสูงขึ้น และทิศทางของอัตราดอกเบี้ยในปีนี้ เป็นปัจจัยที่มีส่วนทำให้กำลังการซื้อของผู้บริโภค ยังฟื้นตัวได้อย่างจำกัด ล้วนส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจและความเชื่อมั่นผู้บริโภค ที่มีต่อเศรษฐกิจไทยโดยรวม
อย่างไรก็ดี ยังคงมีปัจจัยบวก จากการที่ภาครัฐ เริ่มผ่อนคลายมาตรการล็อคดาวน์ และการดำเนินมาตรการส่งเสริมเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวภายในประเทศ รวมถึงสัดส่วนของการฉีดวัคซีนที่เพิ่มสูงขึ้น ทั้งในไทยและต่างประเทศ ทำให้ประชาชนสามารถใช้ชีวิต และดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้เกือบเป็นปกติ ล้วนเป็นส่วนช่วยให้สถานการณ์เศรษฐกิจในประเทศ ทยอยกลับเข้าสู่ภาวะปกติได้มากยิ่งขึ้น ซึ่งสะท้อนมายังตลาดรถยนต์ด้วยเช่นกัน เห็นได้จากการเพิ่มขึ้นของยอดขายรถยนต์จากงานบางกอก อินเตอร์เนชั่นแนล มอเตอร์โชว์ ครั้งที่ 43 ที่ผ่านมา ตลอดจนแรงกระตุ้นจูงใจผู้บริโภค ด้วยแคมเปญการขายเชิงรุกของบรรดาบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ทั้งหลาย ล้วนมีส่วนผลักดันตลาดรถยนต์โดยรวมให้ฟื้นตัวดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ส่งผลให้ตัวเลขยอดขายตลาดรวมในช่วงครึ่งปีแรกอยู่ที่ 427,303 คัน เพิ่มขึ้น 14.5% จากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว”
จากมาตรการผ่อนคลายและการกระตุ้นเศรษฐกิจจากภาครัฐ ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจปรับไปในทิศทางที่ดีขึ้น และจะส่งผลบวกต่อทิศทางของตลาดรถยนต์ในปีนี้ ทำให้มีความเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีหลังนี้ จะสามารถฟื้นตัวไปในทิศทางที่ดีขึ้น ดังนั้นโตโยต้าจึงคาดการณ์ว่า ยอดขายรถยนต์ในปี 2565 จะอยู่ที่ 880,000 คัน เพิ่มขึ้น 16% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา
ปริมาณการจำหน่ายรถกระบะ Pure Pickup ประจำเดือนมิถุนายน 2565
ปริมาณการขาย 33,433 คัน เพิ่มขึ้น 13.9% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน
อันดับ 1 Isuzu D-MAX 17,076 คัน เพิ่มขึ้น 49.5% ส่วนแบ่งตลาด 51.1%
อันดับ 2 Toyota Hilux Revo 11,175 คัน ลดลง 12.0% ส่วนแบ่งตลาด 33.4%
อันดับ 3 Ford Ranger 2,360 คัน เพิ่มขึ้น 1.3% ส่วนแบ่งตลาด 7.1%
อันดับ 4 Mitsubishi Triton 2,050 คัน เพิ่มขึ้น 6.1% ส่วนแบ่งตลาด 6.1%
อันดับ 5 Nissan Navara 388 คัน ลดลง 26.5% ส่วนแบ่งตลาด 1.2%
อันดับ 6 MG Extender 303 คัน ลดลง 18.8% ส่วนแบ่งตลาด 0.9%
อันดับ 7 Mazda BT-50 81 คัน เพิ่มขึ้น 20.9% ส่วนแบ่งตลาด 0.2%
ยอดขายของ Isuzu D-MAX ในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ต้องบอกว่าพุ่งสูงแบบก้าวกระโดด โดยเพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนถึง 49.5% ส่งผลให้มีส่วนแบ่งทางการตลาดเกินครึ่ง คือ 51.1% ทิ้งห่างที่ 2 อย่าง Toyota Hilux Revo ถึง 5,901 คัน เรียกว่าทิ้งระยะห่างมากที่สุดในรอบหลายเดือนก็ว่าได้ ทั้งนี้อาจจะเกิดมาจากปัจจัยหลายอย่าง เช่น ปัญหาการผลิตของทาง Toyota จากการขาดแคลนชิ้นส่วนเซมิคอนดักเตอร์ การเข้าสู่ปลายโมเดล และการรับรู้ของตลาดเกี่ยวกับ Hilux เจนเนอเรชั่นใหม่ ที่คาดว่าจะมีการเปิดตัวในปลายปี 2023 ซึ่งผลกระทบนี้ น่าจะส่งผลไปถึงปลายปี แม้ว่า Toyota จะมีการกระตุ้นตลาดด้วยรุ่นพิเศษก็ตาม แต่ด้วยจำนวนการผลิตที่มีอยู่อย่างจำกัด ทำให้ยอดขายในช่วงนี้ อาจจะต่ำกว่าที่ควรจะเป็น ในขณะที่ Isuzu ซึ่งประสบปัญหาเดียวกัน แต่มีการแก้ปัญหาที่ลึกล้ำกว่า ด้วยการเปลี่ยนวิกฤติเป็นโอกาส เปิดตัวรุ่นย่อยใหม่ที่ไม่ต้องพึ่งพาชิ้นส่วนบางอย่าง ในขณะที่สามารถตอบโจทย์ลูกค้าบางกลุ่มได้ ทำให้ยอดขายพุ่งสูงอย่างที่เห็น สำหรับ Ford ที่มีการเปิดตัว All-New Ranger ไปแล้ว ยังไม่เห็นยอดขายที่เป็นกอบเป็นกำ ซึ่งอาจจะต้องใช้เวลาสักพัก กว่าสายการผลิตจะเดินเครื่องเต็มสูบ และสามารถส่งมอบให้กับลูกค้าได้ในทันที ส่วน Mitsubishi ที่เตรียมเปิดตัว TRITON เจนเนอเรชั่นใหม่ ในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า หรืออย่างช้าก็ต้นปี 2023 ยังรักษาระดับยอดขายในอันดับ 4 แบบไม่ถูกทิ้งห่างจากอันดับ 3 นัก ส่วนรถกระบะรุ่นที่เหลือ ยอดขายทรงตัว จะมี MG Extender ที่ยอดขายต่ำกว่ามาตรฐานต่อเนื่อง ซึ่งอาจจะต้องหาจุดเปลี่ยน เพื่อให้รถกระบะรุ่นนี้มีความแตกต่างมากกว่านี้
ปริมาณการจำหน่ายรถกระบะ Pure Pickup ใน 6 เดือนแรกของปี 2565
ปริมาณการขาย 198,256 คัน เพิ่มขึ้น 17.3% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน
อันดับ 1 Isuzu D-MAX 92,344 คัน เพิ่มขึ้น 22.1% ส่วนแบ่งตลาด 46.6%
อันดับ 2 Toyota Hilux Revo 75,766 คัน เพิ่มขึ้น 22.5% ส่วนแบ่งตลาด 38.2%
อันดับ 3 Ford Ranger 12,655 คัน ลดลง 8.0% ส่วนแบ่งตลาด 6.4%
อันดับ 4 Mitsubishi Triton 12,014 คัน เพิ่มขึ้น 12.4% ส่วนแบ่งตลาด 6.1%
อันดับ 5 Nissan Navara 3,346 คัน ลดลง 10.5% ส่วนแบ่งตลาด 1.7%
อันดับ 6 MG Extender 1,621 คัน ลดลง 38.9% ส่วนแบ่งตลาด 0.8%
อันดับ 7 Mazda BT-50 510 คัน ลดลง 23.7% ส่วนแบ่งตลาด 0.3%
ผ่านไป 6 เดือน Isuzu D-MAX ทิ้งห่าง Toyota Hilux Revo ไปถึง 16,578 คัน มากกว่ายอดขายทั้งเดือนของ Hilux เสียอีก ทำให้อีก 6 เดือนที่เหลือ แทบไม่มีโอกาสให้ Toyota ได้ลุ้นกับยอดขาย Hilux Revo ที่จะกลับมาแซงจนเข้าป้ายเป็นที่ 1 ในปี 2022 นี้ เพราะยิ่งนานวัน Hilux Revo โฉมปัจจุบัน ก็ดูเก่ามากขึ้น แม้ว่าจะปรับเปลี่ยนบางส่วนเพื่อกระตุ้นตลาด แต่โดยรวมก็ยังเป็นรูปร่างหน้าตาเดิม นอกจากนั้น ในครึ่งปีหลัง Ford น่าจะเริ่มลงตัวกับการผลิตและส่งมอบ Ranger โฉมใหม่ให้กับลูกค้า ซึ่งอาจจะทำให้ Toyota สูญเสียส่วนแบ่งทางการตลาดไปอีก อีกทั้งมีข่าวการเตรียมเปิดตัว All-New Mitsubishi Triton เจนเนอเรชั่นใหม่ ทำให้กลุ่มลูกค้าในตลาดบางส่วนอาจจะชะลอการตัดสินใจซื้อไปก่อน ในขณะที่ลูกค้าอีกกลุ่มหนึ่ง ตัดสินใจเลือกซื้อ Isuzu D-MAX ไปก่อน จากความมั่นใจในตัวสินค้า การส่งมอบรถที่ทำได้รวดเร็วกว่า และมีความจำเป็นจะต้องใช้รถในช่วงนี้ ในขณะที่อีก 3 แบรนด์ที่เหลือ ยังไม่ดึงดูดพอ ทำให้ในช่วงครึ่งปีหลัง อาจเป็นโอกาสทองของ D-MAX ที่จะรีบกอบโกยยอดขายให้ได้มากที่สุด ในช่วงที่เป็นสูญญากาศของวงการรถกระบะก็ว่าได้
[yourchannel video=”kKRhl5gFCqE” autoplay=”1″ show_comments=”1″]