2022 Ford Ranger Thailand production

เผยยอดขาย-ส่งออก รถยนต์-จักรยานยนต์ เดือนสิงหาคม 2565 ผลิตเพิ่ม 65 % ส่งออกเพิ่ม 23 %

กรุงเทพฯ 22 ก.ย.- สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เผยจำนวนการผลิต ยอดขายภายในประเทศ และการส่งออกรถยนต์และรถจักรยานยนต์ของประเทศ เดือน ส.ค.65 โดยผลิตรถยนต์เพิ่มขึ้นร้อยละ 64.90 ส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 23.09

นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) แถลงข่าวเปิดเผยจำนวนการผลิต ยอดขายภายในประเทศ และการส่งออกรถยนต์และรถจักรยานยนต์ของประเทศ เดือนสิงหาคม 2565 โดยจำนวนรถยนต์ทั้งหมดที่ผลิตได้ในเดือนสิงหาคม 2565 มีทั้งสิ้น 171,731 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนสิงหาคม 2564 ร้อยละ 64.90 จากฐานต่ำของปีที่แล้ว เพราะการล็อกดาวน์กลางเดือนกรกฎาคมถึงสิ้นเดือนสิงหาคม 2564 และเพิ่มขึ้นจากเดือนกรกฎาคม 2565 ร้อยละ 20.13 เพราะมีการผลิตรถยนต์นั่งรุ่นใหม่ขายในประเทศ และผลิตรถกระบะและ PPV เพื่อขายในประเทศและส่งออกเพิ่มขึ้น

ส่วนการผลิตเพื่อส่งออก เดือนสิงหาคม 2565 ผลิตได้ 83,398 คัน หรือร้อยละ 48.56 ของยอดการผลิตทั้งหมด เพิ่มขึ้นจากเดือนสิงหาคม 2564 ร้อยละ 34.03

การผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศ เดือนสิงหาคม 2565 ผลิตได้ 88,333 คัน คิดเป็นร้อยละ 51.44 ของยอดการผลิตทั้งหมด เพิ่มขึ้นจากเดือนสิงหาคม 2564 ร้อยละ 110.71

ขณะที่ยอดขายรถยนต์ภายในประเทศของเดือนสิงหาคม 2565 มีจำนวนทั้งสิ้น 68,208 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนสิงหาคม 2564 ร้อยละ 61.7 จากฐานต่ำของปีที่แล้ว จากการล็อกดาวน์กลางเดือนกรกฎาคมถึงสิ้นเดือนสิงหาคม 2564 เพิ่มขึ้นจากเดือนกรกฎาคม 2565 ร้อยละ 6.52 เพราะมีรถยนต์รุ่นใหม่และการได้รับชิ้นส่วนมากขึ้นในรถยนต์บางรุ่น รวมทั้งเศรษฐกิจในประเทศที่ดีขึ้นจากการผ่อนคลายให้นักท่องเที่ยวและนักลงทุนต่างประเทศเข้าประเทศสะดวกขึ้น และการส่งออกที่ยังเติบโต การจ้างงานเพิ่มขึ้น เกษตรกรและประชาชนมีรายได้ดีขึ้นและเพิ่มขึ้นจากเดือนกรกฎาคม 2565 ร้อยละ 6.52

การส่งออกรถยนต์สำเร็จรูป เดือนสิงหาคม 2565 ส่งออกได้ 73,325 คัน ลดลงจากเดือนที่แล้ว ร้อยละ 11.75 แต่เพิ่มขึ้นจากเดือนสิงหาคม 2564 ร้อยละ 23.09 เพราะฐานต่ำของปีที่แล้ว จึงส่งออกได้เพิ่มขึ้น 5 ตลาดภูมิภาค ลดลงที่ตลาดยุโรปและตลาดอเมริกาเหนือ มูลค่าการส่งออก 49,361.71 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือนสิงหาคม 2564 ร้อยละ 38.12

ขณะเดียวกัน ในเดือนสิงหาคม 2565 ยอดจดทะเบียนใหม่ยานยนต์ไฟฟ้ามีอัตราการเติบโตอย่างรวดเร็ว หลังบอร์ดอีวีได้อนุมัติมาตรการสนับสนุนด้านราคา โดยมียานยนต์ไฟฟ้าป้ายแดงประเภท BEV จดทะเบียนใหม่ จำนวน 2,304 คัน เพิ่มขึ้น 391.26% จากเดือนสิงหาคม 2564 แบ่งเป็นยานยนต์ไฟฟ้าป้ายแดงประเภท HEV จดทะเบียนใหม่ 5,828 คัน เพิ่มขึ้น 102.01% จากช่วงเดียวกันปีก่อน และยานยนต์ไฟฟ้าป้ายแดงประเภท PHEV จดทะเบียนใหม่ 987 คัน เพิ่มขึ้น 52.31% จากเดือนสิงหาคม 2564

นายสุรพงษ์ กล่าวว่า ภาวะอุตสาหกรรมยานยนต์ในปีนี้น่าจะมีแนวโน้มที่ดี เนื่องจากมีหลายปัจจัยบวก เช่น การแนะนำรถยนต์รุ่นใหม่ การผ่อนคลายมาตรการโควิด-19 และเตรียมปรับให้เป็นโรคเฝ้าระวัง การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ การประกันราคาสินค้าเกษตร การฟื้นตัวของอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ล้วนเป็นเรื่องที่ทำให้ประชาชนมีกำลังซื้อเพิ่มมากขึ้น ส่วนปัญหาการยึดรถนั้นยังมีปริมาณไม่สูงมากนัก หากเทียบกับยอดขาย