ในช่วง 2-3 ปีหลังมานี้ ตลาดรถยนต์ไฟฟ้ามีการเติบโตอย่างมากทั่วโลก รวมถึงเมืองไทย และสิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นควบคู่กันมา ก็คือการลงทุนของค่ายรถยนต์ต่างๆ โดยเฉพาะจากจีน ที่เป็นฐานการผลิต และตลาดรถยนต์ไฟฟ้าอันดับหนึ่งของโลก และความพยายาม ในการเข้ามาเป็นฐานการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าของอินโดนีเซีย ที่เคยมีข่าวว่า ประธานาธิบดีคนปัจจุบัน ลงมากำกับอย่างใกล้ชิด และบางครั้ง ถึงกับเดินทางไปเจรจาด้วยตัวเอง กับค่ายรถยนต์ยักษ์ต่างๆ ที่ฮือฮาก็คือ การพยายามดึง Tesla เข้ามาตั้งโรงงานในประเทศ ที่ช่วงหลังๆ เรื่องนี้ดูเหมือนจะเงียบไป ก่อนที่มีข่าวอีกครั้งว่า เจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาลอินโดนีเซีย ได้เข้าพบ Elon Musk CEO ของ Tesla เพื่อเจรจาเรื่องการลงทุนตั้งโรงงานผลิตแบตเตอรี่อีกครั้ง ตามรายงานของหนังสือพิมพ์ Jakarta Globe เมื่อวันที่ 26 เมษายนที่ผ่านมา หลังจากที่ CATL ผู้ผลิตแบตเตอรี่สำรองไฟที่ใหญ่ที่สุดในโลกจากจีน ประกาศทุ่มเงินถึง 2 แสนล้านบาท สร้างโรงงานผลิตแบตเตอรี่ที่นั้น และสิ่งต่างๆที่เกิดขึ้นเหล่านี้ เป็นเพียงสัญญาณหนึ่งที่บ่งบอกว่า อินโดนีเซีย กำลังจะกลายเป็นฐานการผลิตรถยนต์ที่สำคัญในภูมิภาคอาเซียน ทดแทนประเทศไทย ที่เป็นเหมือนดีทรอยต์แห่งเอเชียมานานหลายปี จากการรายงานการวิเคราะห์ ของเกียรตินาคินภัทร หรือ KKP Research ที่ชื่อ “เมื่ออุตสาหกรรมยานยนต์ เปลี่ยนเป็น EV ทำไมไทยเสียเปรียบคู่แข่ง ?”
รายงานดังกล่าวเผยว่า ที่ผ่านมา อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนของไทย เติบโตจากการลงทุนทางตรง และการย้ายฐานการผลิตจากญี่ปุ่นเป็นหลัก แม้ว่าส่วนหนึ่ง จะเกิดขึ้นเพราะนโยบายเศรษฐกิจของไทย ไม่ว่าจะเป็นการลดภาษี เพื่อดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติ การเปิดเสรีทางการค้า และนโยบายสร้างแรงจูงใจ อย่างไรก็ตาม ข้อสังเกตคือ การย้ายฐานการผลิตมาไทยในช่วงนั้น เกิดขึ้นหลังการทำข้อตกลงพลาซา ในปี 1985 ที่ทำให้ค่าเงินเยนแข็งค่าขึ้นมาก จึงทำให้ญี่ปุ่น เสียความสามารถในการแข่งขัน และย้ายฐานการผลิตมายังประเทศไทย
แต่ตอนนี้ ประเทศไทยอาจจะไม่โชคดีเหมือนในอดีต เมื่อมีการประเมินว่า อุตสาหกรรมยานยนต์ กำลังจะเปลี่ยนเข้าสู่ยุคใหม่ โดยเฉพาะการเปลี่ยนเป็นยานยนต์ไฟฟ้า และใช้เทคโนโลยีขั้นสูง ซึ่งนโยบายลดภาษีอย่างเดียว จะไม่ได้ผลในการพัฒนาอุตสาหกรรมอีกต่อไป แต่ต้องพัฒนานวัตกรรมของไทยเอง โดยที่ผ่านมา ประเทศไทยยังพึ่งพาแต่นวัตกรรมจากญี่ปุ่นเป็นหลัก ทำให้ไทย ไม่สามารถเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า เหมือนที่เคยเป็นฐานการผลิตยานยนต์เครื่องยนต์สันดาปภายในอีกต่อไป
ในระยะสั้น KKP Research ประเมินว่า ยังเป็นไปไม่ได้ ที่ทั้งโลก จะหันมาใช้ EV แทนรถยนต์เครื่องยนต์สันดาปภายในทั้งหมด ในช่วง 5 ปีหลังจากนี้ เนื่องจากกำลังการผลิตแร่ลิเทียม ซึ่งต้องใช้ในการผลิตแบตเตอรี่ อยู่ที่ 1 แสนตันต่อปี ซึ่งเพียงพอกับการผลิตแบตเตอรี่สำหรับ EV เพียง 11 ล้านคันเท่านั้น ในขณะที่การผลิตรถยนต์ทั่วโลก อยู่ที่ 80 ล้านคันต่อปี ซึ่งหมายความว่า ในระยะสั้น ยอดขาย EV จะเติบโตได้อย่างมากที่สุด เฉลี่ยปีละ 30% ลดลงจากช่วงปี 2019-2021 ที่โตเฉลี่ยปีละ 70% โดย KKP Research คาดว่า ยอดขาย EV ทั่วโลก ในปี 2025 จะมีสัดส่วน 16.9% ของยอดขายรถยนต์นั่งส่วนบุคคลทั้งหมด ในขณะที่ไทย จะเติบโตได้ในอัตราที่ต่ำกว่า และมีสัดส่วนเพียง 4.5% เพราะราคารถยนต์ไฟฟ้า ยังแพงกว่ารถยนต์เครื่องยนต์สันดาปภายในอยู่มาก และมีทางเลือกน้อย อย่างไรก็ตาม รายงานดังกล่าว อาจจะมีการจัดทำขึ้น ก่อนที่รัฐบาลไทย จะประกาศนโยบายสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า ที่ช่วยให้เกิดการลงทุนจากค่ายรถยนต์ต่างๆมากขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่งผลทำให้มีทางเลือกเพิ่มขึ้นอย่างมาก ในระยะเวลาเพียง 1-2 เดือนเท่านั้น จากการที่ค่ายรถยนต์ต่างๆ เริ่มแสดงความจำนงในการลงทุน และเตรียมเปิดตัวรถยนต์ไฟฟ้า ภายในปี 2022 นี้ และในระยะยาว เทคโนโลยีแบตเตอรี่ใหม่ที่กำลังพัฒนา เช่น Solid-State Battery และ Hydrogen Fuel Cell รวมถึงกำลังการผลิต ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น จะเป็นปัจจัยสำคัญ ที่ช่วยให้ราคา EV ลดต่ำลง และสนับสนุนให้ยอดขายเติบโตได้เร็วขึ้น
ทำไมไทยเสียเปรียบคู่แข่ง ? บทเรียนจากออสเตรเลีย
สถานการณ์ในอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยคล้ายกับออสเตรเลียในอดีต ย้อนไปปี 1970 ออสเตรเลียผลิตรถยนต์อันดับ 10 ของโลก โดยมีการผลิตกว่า 5 แสนคัน ต่อปี แต่ตอนนี้การผลิตลดลงเหลือแค่ 5 พันคัน ต่อปี เพราะการปรับตัว ที่ไม่ทันการของอุตสาหกรรมรถยนต์ในออสเตรเลีย ทำให้บริษัทญี่ปุ่น ตัดสินใจย้ายฐานการผลิตมาไทย อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ประเทศไทยกำลังเผชิญกับสถานการณ์คล้ายกับออสเตรเลียในอดีต คือ
- รถยนต์ไฟฟ้ากำลังมาแรง แต่ค่ายรถยนต์ญี่ปุ่นยังปรับตัวช้าจากแผนการผลิต EV ที่น้อยกว่ารถยนต์ค่ายยุโรปและอเมริกามาก ซึ่งจะส่งผลเสีย เพราะไทยเป็นฐานการผลิตหลักของรถยนต์ญี่ปุ่น คล้ายกับบริษัท GM-Holden ในออสเตรเลีย ที่ไม่ปรับตัวตามความต้องการของตลาดโลก
- การแข่งขันที่เพิ่มสูงขึ้น จีนและอินโดนีเซีย มีแนวโน้มจะมีการส่งออกแซงไทย สัดส่วนการส่งออกรถยนต์ในตลาดโลกของไทย มีสัดส่วนลดลงจาก 1.7% เหลือ 1.3% ในขณะที่จีน เพิ่มขึ้นจาก 0.7% เป็น 1.5% โดยไทย ถูกจีนแย่งส่วนแบ่งตลาดในประเทศออสเตรเลีย และถูกอินโดนีเซียแย่งส่วนแบ่งตลาดในเวียดนามและฟิลิปปินส์
- ไทยกำลังเผชิญปัญหา Economies of scale เนื่องจากตลาดส่งออกหลักของไทยส่วนใหญ่ เป็นประเทศพวงมาลัยขวา (Right-Hand Driving) ซึ่งเป็นตลาดที่มีขนาดเล็กอยู่แล้ว โดยมีสัดส่วนแค่ 1 ใน 6 ของโลก เมื่อเจอกับปัญหาตลาดในประเทศที่หดตัวลง จากการเข้าสู่สังคมสูงอายุ ส่วนแบ่งในตลาดโลกที่ลดลง และการผลิตสมัยใหม่ที่ใช้คนน้อยลง ทำให้ปริมาณการผลิต มีความสำคัญมากขึ้นมาก จะทำให้ไทยเสียเปรียบด้านต้นทุน หรือ การประหยัดต่อขนาด (Economies of Scale) ในขณะที่การเปลี่ยนมาผลิตพวงมาลัยซ้าย ทำได้ยาก
- การมีข้อตกลงเขตการค้าเสรี หรือ FTA กับประเทศจีน ทำให้สามารถนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้าโดยไม่มีภาษี และการนำเข้า EV จากจีนมีแนวโน้มที่จะถูกกว่าการผลิตเองภายในประเทศ เพราะปริมาณการการผลิต EV ที่จีน มีขนาดใหญ่กว่าไทย ทำให้ต้นทุนการผลิตต่อคันถูกกว่า และไม่มีความจำเป็นที่ไทยต้องนำเข้าชิ้นส่วน เช่น แบตเตอรี่ มาประกอบเอง สถานการณ์คล้ายกับออสเตรเลียในอดีต ที่เริ่มมี FTA กับไทย และท้ายที่สุดนำเข้ารถยนต์จากไทยแทน
- ความสามารถในการแข่งขันที่ลดลงจากต้นทุนที่สูงขึ้น ตามค่าแรง และค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง แม้ว่าค่าเงินบาทจะมีความผันผวนอยู่ในขณะนี้
ไทยอาจไม่ใช่ฐานการผลิตรถยนต์ในอนาคต
มูลค่าเพิ่มหลักกว่า 30% ของรถยนต์ไฟฟ้า คือ Li-Ion Battery ซึ่งไทยแทบไม่มีบทบาทในห่วงโซ่อุปทาน และเสียเปรียบคู่แข่งในหลายมิติ
1) ไทยไม่มีเทคโนโลยีที่ทันสมัยเหมือนจีน การผลิตแบตเตอรี่จำเป็นต้องใช้เวลาในการพัฒนาเทคโนโลยี ซึ่งปัจจุบัน จีนครอบครองการผลิตจำนวนมาก โดยบริษัท CALT ในจีน ครองส่วนแบ่งตลาดกว่า 40% ซึ่งสะท้อนข้อจำกัดในการเข้าตลาดสำหรับคู่แข่งรายใหม่
2) อินโดนีเซียเป็นคู่แข่งที่น่ากลัว เพราะเป็นแหล่งแร่ Nickel ที่สำคัญของโลก มากถึง 30% ประกอบกับต้นทุนแรงงานที่ถูกกว่า และตลาดที่ใหญ่กว่า ทำให้เริ่มเห็นหลายบริษัท เช่น LG Energy Solution และ Hyundai Motor ซึ่งเป็นผู้ผลิตแบตเตอรี่อันดับสองของโลกเริ่ม เข้าไปลงทุนในอินโดนีเซีย น่ากังวลว่าท้ายที่สุดประเทศไทยจะเสียส่วนแบ่งตลาดของยานยนต์ไปให้จีนและอินโดนีเซียมากขึ้นเรื่อยๆ
เศรษฐกิจไทยไปต่อไม่ไหว นโยบายต้องหาทิศทาง
เศรษฐกิจไทยจะถูกกระทบ ต่อทั้งห่วงโซ่การผลิตอุตสาหกรรมยานยนต์ ไม่ใช่แค่เฉพาะบริษัทประกอบรถยนต์ แต่รวมถึงบริษัทผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ KKP Research ประเมินว่า ชิ้นส่วนที่จะหายไปในการเปลี่ยนเป็นรถยนต์ไฟฟ้า คือเครื่องยนต์ ระบบจ่ายน้ำมันเชื้อเพลิง และระบบเกียร์ คิดเป็นมูลค่าเพิ่มกว่า 32.5% ของมูลค่าการผลิตรถยนต์สันดาปภายในเดิม โดยมีชิ้นส่วนที่จะถูกกระทบรุนแรง คือ กลุ่มเครื่องยนต์ ระบบจ่ายน้ำมันเชื้อเพลิง และกลุ่มที่ได้รับผลกระทบปานกลาง คือ กลุ่มส่วนประกอบไฟฟ้า ตัวถัง ระบบเบรก และระบบหล่อเย็น ในขณะที่มีชิ้นส่วนบางกลุ่มที่ไม่ได้รับผลกระทบ คือ ส่วนประกอบภายใน ล้อ-ยาง แต่เป็นชิ้นส่วนที่มูลค่าเพิ่มน้อย
KKP Research ประเมินว่า การเปลี่ยนไปใช้รถยนต์ EV จะทำให้ชิ้นส่วนที่ถูกกระทบรุนแรงต้องหยุดการผลิตลง และหากสมมติให้ประเทศไทยยังสามารถทำหน้าที่ผลิตและส่งออกรถยนต์ได้จำนวนเท่าเดิม แต่เปลี่ยนไปผลิต EV แทน มูลค่าเพิ่มที่ไทยสร้างได้ จะลดลงจากในปัจจุบันที่ 53% เหลือเพียง 34% เท่านั้น โดยมูลค่าเพิ่มส่วนใหญ่ จะเกิดจากการผลิตแบตเตอรี่เป็นส่วนสำคัญแทน ซึ่งยังไม่นับรวมกรณีเลวร้ายที่ไทยส่งออกรถยนต์ได้ลดลงด้วย ทั้งหมดจะส่งผลต่อเนื่องให้แรงงานจำนวน 7–8 แสนคนอยู่ในภาวะเสี่ยงตกงาน และหากไทยต้องเปลี่ยนจากประเทศผู้ผลิตเพื่อใช้ในประเทศและส่งออก กลายมาเป็นประเทศที่ต้องนำเข้ารถยนต์ส่วนใหญ่ ดุลการค้าไทยในทศวรรษหน้ามีความเสี่ยงกลายเป็นขาดดุลได้
จากงานศึกษาฉบับนี้ KKP Research ประเมินว่า มี 3 บทเรียนที่ภาครัฐควรนำไปปรับใช้ในการทำนโยบาย คือ
1) การพึ่งพาการลงทุนทางตรงจากต่างประเทศ (FDI) จะไม่ใช่คำตอบอีกต่อไป สำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์ เพราะการผลิตในอนาคต ไม่จำเป็นต้องใช้แรงงาน ทำให้การมาตั้งโรงงาน จะสร้างมูลค่าเพิ่มให้ต่างชาติเป็นหลัก
2) ห่วงโซ่การผลิตที่เปลี่ยนไปอย่างมาก ทำให้ไทย ต้องกลับมาพิจารณากลยุทธ์การเติบโตระยะยาว ว่ายังควรเป็นการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าหรือไม่
3) การพัฒนาเทคโนโลยีขั้นสูง เป็นหนึ่งในทางออกที่จำเป็นมากที่สุด เพราะมูลค่าเพิ่มของ EV ในอนาคต จะเป็นชิ้นส่วนที่เกี่ยวข้องกับอิเลกทรอนิกส์ อย่างไรก็ตาม การพัฒนาในระยะยาวจะเกิดขึ้นได้ ยังต้องอาศัยพัฒนาคุณภาพการศึกษา การส่งเสริมการลงทุน และการวิจัยและพัฒนา กำกับให้เกิดการแข่งขันเสรี และการลดการคอรัปชั่นอย่างเป็นระบบ แต่น่าเสียดาย ที่เรื่องเหล่านี้ ยังไม่เกิดขึ้นในปัจจุบัน
การที่รถยนต์และส่วนประกอบ เป็นสินค้าส่งออกอันดับ 1 ของไทยมานานหลายปี หากเกิดการเปลี่ยนแปลงตามที่มีการวิเคราะห์ข้างต้น ผลกระทบที่เกิดขึ้น ย่อมจะส่งผลในวงกว้าง หากยังไม่มีการวางนโยบายใหม่ในด้านกลยุทธ์ทางเศรษฐกิจ ทั้งระยะสั้นและระยะยาว
ที่มา: KKP Research