หลังจากที่เจอกับปัญหาของโรคระบาด ที่ทำให้เศรษฐกิจทั่วโลก โดยเฉพาะเมืองไทย ซบเซาอย่างต่อเนื่อง มานานกว่า 2 ปีแล้ว ซึ่งแน่นอนว่า อุตสาหกรรมยานยนต์ ก็ได้รับผลกระทบอย่างหนักเช่นกัน แต่ดูเหมือนว่าต้นปีนี้ เริ่มมีสัญญาณบวก ของการฟื้นตัวในอุตสาหกรรมยานยนต์ของไทย เมื่อ โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย รายงานสถิติการขายรถยนต์ประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2565 มียอดการขายรวมทั้งสิ้น 74,489 คัน เพิ่มขึ้น 26.3% ประกอบด้วย รถยนต์นั่ง 22,590 คัน เพิ่มขึ้น 19.1% รถยนต์เพื่อการพาณิชย์ 51,899 คัน เพิ่มขึ้น 29.8% และรถกระบะขนาด 1 ตัน ในเซกเมนท์นี้ มีจำนวน 41,447 คัน เพิ่มขึ้น 33% เป็นผลจากความต้องการใช้รถยนต์ ทั้งเพื่อการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และการใช้งานส่วนตัวของลูกค้า ปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ยังมีแรงส่งจากยอดจองรถ ในงานมอเตอร์เอ็กซ์โปที่ผ่านมา รวมทั้งช่วงแคมเปญสิ้นปี ที่ค่ายรถยนต์ ยังคงทยอยส่งมอบรถถึงมือลูกค้าอย่างต่อเนื่อง ซึ่งส่งผลดีต่อสภาพเศรษฐกิจโดยรวม อย่างเป็นรูปธรรม
ตลาดรถยนต์ในเดือนมีนาคม มีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง จากการปรับตัวของประชาชน ในการอยู่ร่วมกับโรค COVID 19 โดยไม่ส่งผลกระทบมากนัก ทำให้สามารถใช้ชีวิต และดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ได้เกือบเป็นปกติ จนกลายเป็น New Normal ในชีวิตประจำวัน แต่อย่างไรก็ดี การดำเนินกิจกรรมการตลาด และการแนะนำรถรุ่นใหม่ จะช่วยกระตุ้นตลาดรถยนต์ ให้มีความน่าสนใจ รวมถึงข้อเสนอพิเศษ และกิจกรรมส่งเสริมการขายของค่ายรถยนต์ เพื่อปูทางสู่งานบางกอก อินเตอร์เนชั่นแนล มอเตอร์โชว์ ครั้งที่ 43 ในช่วงนี้ เป็นปัจจัยเสริม ที่ช่วยผลักดัน อัตราการเติบโตของตลาดรถยนต์ด้วยอีกทางหนึ่ง โดยมีปัจจัยลบ จากราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น เป็นตัวฉุดความมั่นใจของผู้บริโภค ให้ชะลอการตัดสินใจซื้อรถยนต์ออกไป
ปริมาณการจำหน่ายรถกระบะ Pure Pickup เดือนกุมภาพันธ์ 2565
ปริมาณการขาย 35,722 คัน เพิ่มขึ้น 35.5%
อันดับ 1 Isuzu D-MAX 17,030 คัน เพิ่มขึ้น 25.7% ส่วนแบ่งตลาด 47.7%
อันดับ 2 Toyota Hilux Revo 13,821 คัน เพิ่มขึ้น 76.2% ส่วนแบ่งตลาด 38.7%
อันดับ 3 Mitsubishi Triton 2,133 คัน เพิ่มขึ้น 30.2% ส่วนแบ่งตลาด 6.0%
อันดับ 4 Ford Ranger 1,675 คัน ลดลง 21.0% ส่วนแบ่งตลาด 4.7%
อันดับ 5 Nissan Navara 658 คัน เพิ่มขึ้น 8.0% ส่วนแบ่งตลาด 1.8%
อันดับ 6 MG Extender 331 คัน ลดลง 32.7% ส่วนแบ่งตลาด 0.9%
อันดับ 7 Mazda BT-50 74 คัน ลดลง 34.5% ส่วนแบ่งตลาด 0.2%
ในเดือนกุมภาพันธ์ Isuzu D-MAX กลับมาท็อปฟอร์มอีกครั้ง หลังจากที่โดนอันดับ 2 อย่าง Toyota Hilux Revo ไล่กวดมาแบบติดๆ โดยในเดือนล่าสุด มีระยะห่างอยู่ถึง 3,209 คัน ซึ่ง D-MAX มีส่วนแบ่งเกือบครึ่งหนึ่งของทั้งตลาด คือมีอยู่สูงถึง 47.7% ในขณะที่ Hilux Revo ก็ทำได้ไม่เลวที่ 38.7% ทำให้ส่วนแบ่งทางการตลาด 2 รุ่นรวมกัน มีอยู่ถึง 86.4% โดยมี Mitsubishi Triton ตามมาเป็นอันดับ 3 ในเดือนนี้ ทิ้งห่าง Ford Ranger อย่างชัดเจน ซึ่งคาดว่าเกิดการชะลอการตัดสินใจ เพื่อรอซื้อ Ranger โฉมใหม่ แม้ว่า Ford จะมีแคมเปญพิเศษเพื่อระบายสต็อกก็ตาม ส่วน 3 อันดับสุดท้ายอย่าง Nissan Navara MG Extender และ Mazda BT-50 ยังมียอดขายที่ถือว่าค่อนข้างทรงตัว และยังห่างไกลจาก 4 อันดับแรกอยู่มาก
สำหรับปริมาณการจำหน่ายรถกระบะ Pure Pickup ใน 2 เดือนแรกของปี 2565
มีปริมาณการขาย 65,923 คัน เพิ่มขึ้น 26.3%
อันดับ 1 Isuzu D-MAX 29,847 คัน เพิ่มขึ้น 13.4% ส่วนแบ่งตลาด 45.3%
อันดับ 2 Toyota Hilux Revo 25,942 คัน เพิ่มขึ้น 58.6% ส่วนแบ่งตลาด 39.4%
อันดับ 3 Mitsubishi Triton 4,289 คัน เพิ่มขึ้น 39.7% ส่วนแบ่งตลาด 6.5%
อันดับ 4 Ford Ranger 3,784 คัน ลดลง 7.3% ส่วนแบ่งตลาด 5.7%
อันดับ 5 Nissan Navara 1,374 คัน เพิ่มขึ้น 23.7% ส่วนแบ่งตลาด 2.1%
อันดับ 6 MG Extender 549 คัน ลดลง 37.5% ส่วนแบ่งตลาด 0.8%
อันดับ 7 Mazda BT-50 138 คัน ลดลง 61.1% ส่วนแบ่งตลาด 0.2%
อันดับยอดขายสะสมใน 2 เดือนแรกของปี ยังเป็นไปตามการเรียงอันดับยอดขาย ในเดือนกุมภาพันธ์ โดยมี Isuzu D-MAX และ Toyota Hilux Revo เป็นเจ้าตลาด ครองอันดับ 1 และ 2 ตามลำดับ โดย Hilux Revo ทำผลงานได้ดีขึ้นในปีนี้ โดยมียอดขายเพิ่มขึ้นจากปีก่อน สูงที่สุดในตลาด ถึง 58.6% ในขณะที่ D-MAX ทำได้เพียง 13.4% แต่ก็เป็นเรื่องยากสำหรับ Hilux Revo ที่จะกลับมาเป็นอันดับ 1 ได้ในตลาด แทนที่ D-MAX เพราะ Hilux Revo อยู่ในช่วงปลายโมเดล ที่บริษัท ทำอะไรได้ไม่มากนัก ในเรื่องการปรับรูปโฉม ยกเว้นมีการเปลี่ยนแปลงชนิดที่ผิดหูผิดตา ในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง เช่น การนำเทคโนโลยีใหม่มาใช้ หรือการเพิ่มอ็อปชั่น หรือฟีเจอร์ต่างๆ เข้ามาให้มากกว่านี้ หรือการลดราคา ให้เข้าถึงได้ง่ายขึ้น และที่ดูเหมือนจะมีลุ้น ก็คือข่าวการเตรียมเปิดตัว Hilux Revo เวอร์ชั่นไฟฟ้าในเมืองไทย ภายในปีนี้ ซึ่งถ้าเกิดขึ้นจริง ก็ต้องวัดใจกลุ่มลูกค้าในตลาด ว่าจะสนใจใช้รถกระบะไฟฟ้ามากน้อยแค่ไหน แต่ก็มีแนวโน้มเช่นกันว่า การแนะนำลงสุู่ตลาด อาจจะไม่ทันภายในปีนี้ ทำให้ไฮไลต์การแข่งขันในเดือนที่เหลือ น่าจะตกอยู่ที่การต่อสู้กัน ระหว่างอันดับ 3 Mitsubishi Triton และอันดับ 4 Ford Ranger ว่าเมื่อมีการจำหน่าย Ranger โฉมใหม่ไปแล้ว Ford จะกลับมาเป็นอันดับ 3 ได้เร็วหรือช้า ซึ่งถ้าไม่มีอะไรผิดพลาด Ranger ก็น่าจะขึ้นมาเป็นอันดับ 3 ได้ไม่ยากนัก