จากยอดขายรถยนต์สะสมในปี 2564 ที่ผ่านมา พบว่า 11 เดือนแรก Toyota Isuzu Honda เป็น 3 ค่ายรถยนต์ที่มียอดขายสูงที่สุด แม้ว่ายังไม่มีรายงานสถิติการขาย ในเดือนธันวาคม ประจำปี 2564 ที่จัดทำโดยบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด ถูกเผยแพร่ออกมา แต่ด้วยตัวเลขรายได้ ที่ทิ้งห่างค่ายรถยนต์อื่นๆในตลาด เชื่อว่าอันดับ 1-3 ก็คงไม่มีอะไรที่เปลี่ยนไปจากนี้ และสิ่งที่คาดเดาได้ไม่ยาก ก็คือ Toyota จะเป็นแบรนด์รถยนต์ยอดนิยมสูงสุดในเมืองไทยอีก 1 ปี เรียกว่า ผูกขาดตลาดกันมาอย่างยาวนาน จากการที่มีรถยนต์จำหน่าย ครอบคลุมแทบจะทุกเซกเมนต์ก็ว่าได้ ในขณะที่อันดับ 2 อย่าง Isuzu ที่แม้ว่าจะมีเพียง 2 รุ่น ในเซกเมนต์ของรถกระบะและรถกระบะดัดแปลง ซึ่งไม่รวมรถบรรทุก แต่ด้วยการที่คนไทย นิยมใช้รถกระบะปิกอัพเป็นส่วนใหญ่ ทำให้ค่ายรถยนต์จากญี่ปุ่นรายนี้ ทำผลงานได้โดดเด่น จนสามารถอยู่ในระดับ Top 3 ได้ ส่วน Honda ที่ถือว่าเป็นแบรนด์ระดับโลก ตามมาห่างๆ จากการจำหน่ายรถยนต์นั่งเป็นหลัก โดยที่ไม่มีการทำตลาดรถกระบะปิกอัพ เหมือน 2 ค่ายแรก ทำให้ยากที่จะไต่ขึ้นไปเป็นอันดับ 1 หรือ 2 ได้ ในตลาดที่รถกระบะปิกอัพ ครองส่วนแบ่งเกือบครึ่งของยอดขายรถยนต์ทั้งหมด จะว่าไปแล้ว Toyota ก็เหมือนทำตลาดที่ครอบคลุมเซกเมนต์ต่างๆ ที่ Isuzu และ Honda มีอยู่รวมกันก็ว่าได้ แต่นั่นจะหมายถึงความสำเร็จในทางธุรกิจ ในแง่ของผลประกอบการหรือไม่ วันนี้เราจะได้ทราบกัน
ในคลิปนี้ จะเป็นการนำเสนอผลประกอบการทางธุรกิจ โดยเฉพาะกำไรขาดทุน ประจำปี 2564 ที่ผ่านมา ของค่ายรถยนต์ชื่อดัง ที่มีการจำหน่ายรถยนต์ในประเทศไทย ตั้งแต่ 1 หมื่นคันต่อปีขึ้นไป ที่รายงานโดยกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งเราจะพูดถึงเฉพาะบริษัทหลัก ของแต่ละค่ายรถยนต์ ที่ดำเนินธุรกิจในประเทศไทย ซึ่งมีการส่งข้อมูลล่าสุด ของปี 2564 ให้กับกระทรวงพาณิชย์เรียบร้อยแล้ว ซึ่งมีอยู่ 6 บริษัท ได้แก่ Honda Toyota Mazda Nissan Isuzu และ Hino ส่วนค่ายรถยนต์อื่นๆ อย่าง Mitsubishi Ford MG Mercedes-Benz BMW และอื่นๆ ยังไม่มีรายงานผลประกอบการในปีที่ผ่านมา ซึ่งจะต้องรอการอัพเดทอีกครั้ง โดยเราจะจัดอันดับ ตามยอดกำไรสุทธิที่น้อยที่สุด หรือขาดทุนมากที่สุด ไปจนถึงบริษัทที่มีกำไรสูงที่สุด เฉพาะในปี 2564 ที่ผ่านมา
อันดับ 6 Nissan
Nissan ถือว่าเป็นค่ายรถยนต์อันดับต้นๆของโลก ในกลุ่มพันธมิตร Renault Nissan Mitsubishi แต่หลังจากที่มีข่าวอื้อฉาวเกี่ยวกับอดีตผู้บริหารสูงสุด ดูเหมือนว่า Nissan ที่มีปัญหาต่างๆอยู่แล้ว ก็ยิ่งอยู่ในสภาวะที่ยากลำบากขึ้นไปอีก และแน่นอนว่าส่งผลกระทบมาถึงเมืองไทยไม่มากก็น้อย โดยเฉพาะในปี 2563 Nissan ประเทศไทย ขาดทุนสูงถึง 7,200 กว่าล้านบาท หลังจากนั้นก็มีการเปลี่ยนตัวผู้บริหารสูงสุด ที่มุ่งมั่นจะเข้ามาพลิกโฉม Nissan ในเมืองไทยให้ดีขึ้น และดูเหมือนว่าจะได้ผล เพราะในปี 2564 ยอดขาย Nissan ลดลงเหลือราว 95,000 ล้านบาท แต่ยอดขาดทุนกลับลดลง เป็น 6,100 ล้านบาท ซึ่งแม้ว่าจะเป็นตัวเลขการขาดทุนที่มหาศาล แต่ก็ถือว่าสถานการณ์ดีขึ้นกว่าปีก่อนหน้า โดยใน 6 ปีหลังสุด NISSAN เริ่มมีผลประกอบการขาดทุน ตั้งแต่ปี 2560 เป็นต้นมา
อันดับ 5 Mazda
ในช่วงหลัง Mazda ทำผลงานได้ดีในตลาดโลกและเมืองไทย โดยเฉพาะตลาดรถเอสยูวี ที่เป็นตัวชูโรงของค่าย ในปี 2564 มาสด้าเซลส์ ประเทศไทย ทำยอดขายได้ที่ราว 35,000 ล้านบาท ซึ่งลดลงตามภาพรวมของอุตสาหกรรมรถยนต์ทั่วโลก จากสถานการณ์ของโรคโควิด 19 แต่ปีที่ผ่านมา กำไรลดลงมากเป็นพิเศษ เหลือเพียง 66 ล้านบาท จากปีก่อนหน้า ที่มีกำไรเกือบ 1,300 ล้านบาท และเกือบ 1,500 ล้านบาทในปี 2562 ซึ่งในช่วงปี 2559-2561 บริษัทมีกำไรเฉลี่ย อยู่ที่หลายร้อยล้านบาทต่อปี ทำให้ในปี 2565 นี้ Mazda ประเทศไทย จะต้องทำงานหนักขึ้น
อันดับ 4 Hino
ค่ายรถบรรทุกที่คนไทยรู้จักกันเป็นอย่างดี และเป็นหนึ่งในบริษัทรถยนต์ที่อยู่ภายใต้สังกัด Toyota ในชื่อ ฮีโน่มอเตอร์สเซลส์ ประเทศไทย มาพร้อมยอดขายสูงถึงเกือบ 21,000 ล้านบาทในปี 2564 ที่ผ่านมา โดยมีกำไรสุทธิที่ราว 174 ล้านบาท โดย 6 ปีล่าสุด ยอดขายค่อนข้างจะทรงตัว 20,000 กว่าล้านบาทมาโดยตลอด และมีกำไรที่ 100-500 กว่าล้านบาท ไม่มีปีใดที่ขาดทุนเลย
อันดับ 3 Honda
1 ใน 3 ค่ายรถยนต์ยักษ์ใหญ่ในไทย ที่มียอดขายทะลุ 1 แสนล้านบาทต่อปี โดยในปี 2564 ที่ผ่านมา Honda มีรายได้อยู่ที่ 137,383 ล้านบาท มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 3,649 ล้านบาท ถือว่าทั้งยอดขายและกำไรลดฮวบจากปีก่อนหน้า โดยเฉพาะกำไรสุทธิ ที่ลดลงจาก 11,648 ล้านบาทในปี 2563 ลดลงเหลือเพียง 3,600 กว่าล้านบาท ตามที่เกริ่นไปข้างต้น แต่ถ้ามองย้อนไปในปี 2559 กำไรสุทธิของ Honda มีเพียง 2,248 ล้านบาท ก่อนที่จะเติบโตเพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดดในปีต่อๆมา จนแตะระดับ 12,785 ล้านบาทในปี 2562 ถือว่าการเติบโตและกำไรในปีที่ผ่านมา เป็นไปตามภาพรวมของธุรกิจยานยนต์ทั่วโลก ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด 19
อันดับ 2 TOYOTA
การเป็นค่ายรถยนต์อันดับต้นๆของโลกในด้านยอดขาย และผูกขาดในเมืองไทยในฐานะค่ายรถยนต์อันดับ 1 มาอย่างยาวนาน ไม่ได้หมายความว่า บริษัทจะมีกำไรสูงสุด เพราะผลประกอบการล่าสุดในปี 2564 Toyota มีรายได้ถึง 328,157 ล้านบาท ทำกำไรสุทธิไปได้ 11,300 ล้านบาท แต่ไม่เพียงพอที่จะทำให้ Toyota เป็นอันดับ 1 ในด้านตัวเลขกำไรสุทธิได้ แม้ว่า Toyota จะมีรถยนต์รุ่นต่างๆจำหน่ายมากที่สุด ครอบคลุมแทบจะทุกเซกเมนต์ของตลาด แต่ค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ ก็สูงตามไปด้วย ยิ่งถ้ารถยนต์ที่ทำยอดขายได้สูงสุดอย่าง Hilux Revo ไม่สามารถครองตลาดเหนือกว่าคู่แข่งสำคัญได้ ก็ย่อมหมายถึงกำไรที่ลดน้อยลงตามไปด้วย อย่างไรก็ตาม ทั้งรายได้และกำไรสุทธิในปีที่ผ่านมา ลดลงจากปีก่อนหน้าเล็กน้อย ถือว่า Toyota สามารถรักษาสภาพตัวเองในปีที่ผ่านมาได้ดี หลังจากที่ในปี 2563 กำไรลดลงจากในปี 2562 ถึงเกือบเท่าตัว แต่ถ้ามองในอีกแง่หนึ่ง Toyota ยังไม่สามารถกลับไปยังจุดสูงสุด เหมือนในอดีตได้
อันดับ 1 Isuzu
ถ้าไม่รวมตลาดรถบรรรทุก ตรีเพชรอีซูซุเซลส์ มีรถยนต์เพียง 2 รุ่นที่จำหน่ายในเมืองไทย ก็คือ Isuzu D-MAX และ Isuzu MU-X ซึ่งยอดขายเกือบจะทั้งหมด มาจากรถกระบะยอดนิยมอย่าง D-MAX การขึ้นมาเป็นแชมป์ของเมืองไทยในปี 2563 และคาดว่าจะซ้ำรอยอีกครั้งในปี 2564 ทำให้บริษัทมีกำไรสูงกว่าอันดับ 2 อย่าง Toyota ใน 2 ปีหลัง โดยในปี 2564 บริษัทมีรายได้หลักที่ 147,912 ล้านบาท น้อยกว่าครึ่งหนึ่งของรายได้รวมของ Toyota ด้วยซ้ำ แต่กลับทำกำไรสุทธิได้ถึง 15,767 ล้านบาท มากกว่า Toyota ถึง 4,466 ล้านบาท ซึ่งดูเหมือนว่า ตลาดรถกระบะขนาด 1 ตัน จะเป็นปัจจัยสำคัญที่กำหนดความสำเร็จของทั้ง Isuzu และ Toyota ซึ่งแนวโน้มในปี 2565 นี้ ก็น่าจะยังเป็นปีทองของ Isuzu อีกหนึ่งปี ตราบใดที่ Toyota ยังไม่มีอะไรใหม่ๆ ในการกระตุ้นตลาดรถกระบะ ที่ตัวเองเคยเป็นแชมป์มานานหลายปี และ Isuzu ก็ได้พิสูจน์ว่า การที่เป็นเพียงค่ายรถยนต์เล็กๆในตลาดโลก และมีรุ่นรถยนต์ที่จำหน่ายเพียงไม่กี่รุ่น ก็สามารถล้มยักษ์ได้ หากสามารถขึ้นเป็นอันดับหนึ่งในเซกเมนท์สำคัญที่มียอดขายสูงในตลาดนั้นๆ และผลตอบแทนที่ได้รับ ก็เป็นอันดับ 1 ได้ด้วยเช่นกัน