ผลกระทบ จากการปิดกิจการของ Chevrolet ในเมืองไทย เกิดขึ้นตามมา ในหลายรูปแบบ หลายทิศทาง ไม่ได้ถูกจำกัดเฉพาะตัวของบริษัทแม่ อย่าง General Motors หรือ GM และพันธมิตรในระบบ supply chain เท่านั้น แต่ยังส่งแรงกระเพื่อม ไปถึงคู่แข่งในตลาดอีกด้วย ซึ่งส่วนใหญ่แล้ว ก็น่าจะเป็นผลกระทบที่เป็นบวก เพราะมีจำนวนคู่แข่งที่น้อยลง แต่สำหรับบางบริษัท การหายไปของ Chevrolet มีทั้งผลกระทบในด้านบวก และด้านลบต่อบริษัท และบริษัทที่ได้รับผลกระทบทั้งสองด้านที่ว่า ก็คือ Ford ค่ายรถยนต์ยักษใหญ่ สัญชาติเดียวกันกับ Chevrolet
ในเมืองไทย Ford ได้จัดการกับกระแสข่าว เกี่ยวกับความกังวลที่เกิดขึ้น ท่ามกลางผู้ใช้รถยนต์ชาวไทย ว่าอาจจะมีโอกาสจบไม่สวย เหมือน Chevrolet จากปัญหาการใช้รถในอดีต และการที่มีการทำตลาดรถยนต์ เพียง 2-3 รุ่นในเมืองไทย คล้ายกับ Chevrolet ที่มีรถกระบะปิกอัพ และรถกระบะดัดแปลงหรือ PPV เป็นรุ่นหลักในการทำตลาด ที่สำคัญ ทั้งสองบริษัท ไม่ได้เป็นผู้นำใน 2 ตลาดดังกล่าว โดย Ford ประเทศไทย ได้ออกหนังสือชี้แจง เพื่อให้ความเชื่อมั่นว่า จะยังดำเนินธุรกิจในเมืองไทยต่อไปอย่างมั่นคง แม้ว่าในเอกสารฉบับเดียวกัน จะพูดถึงการลงทุนเพิ่มเติม ในโรงงานที่ประเทศเวียดนามก็ตาม
ในช่วงเวลาเดียวกัน กับการประกาศยุติการทำตลาด Chevrolet ในเมืองไทย อีกฝั่งหนึ่งของโลก คือ ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ GM ก็ได้ประกาศยุติการดำเนินธุรกิจรถยนต์ ภายใต้แบรนด์ Holden ที่ใช้พื้นฐานมาจาก Chevrolet ซึ่งมีการนำเข้าจากโรงงานของ GM ในจังหวัดระยอง ที่เพิ่งบรรลุข้อตกลงในการซื้อขาย กับ Great Wall Motors ค่ายรถยนต์ยักษ์ใหญ่จากจีน ที่มีการประกาศออกมาในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน
แม้ว่า GM จะไม่มีโรงงานผลิตในทั้งสองประเทศ เพราะมีการนำเข้ารถยนต์จากประเทศไทยเป็นหลัก แต่ก็มีพนักงานในออสเตรเลีย มากถึง 600 ตำแหน่ง ที่รับผิดชอบในการออกแบบรถยนต์ การทดสอบด้านวิศวกรรม และงานธุรการต่างๆ ซึ่ง GM มีแผนที่จะยุติกิจกรรมทางธุรกิจต่างๆ ภายในสิ้นปี 2021
แม้ว่าเรื่องต่างๆ จะเกิดขึ้นคนละมุมโลก แต่ผลกระทบที่เกิดขึ้นตามมา กลับคล้ายกัน นั่นก็คือ การเกิดความกังวลของพนักงาน และลูกค้าของ Ford รวมถึงเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลออสเตรเลีย ว่า Ford อาจจะเลือกตัดสินใจ ในทิศทางเดียวกันกับ GM ในอนาคตอันใกล้
งานนี้ถึงกับทำให้ Karen Andrews รัฐมนตรีกระทรวงอุตสาหกรรมของออสเตรเลีย ถึงกลับต่อสายตรง ถึง Kay Hart ประธานบริหาร Ford ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ เพื่อขอความชัดเจน ในการดำเนินธุรกิจในประเทศออสเตรเลีย จากการเปิดเผย ของสำนักข่าว ABC
การพูดคุยในครั้งนี้ รัฐมนตรีออสเตรเลีย ได้รับการยืนยันจากทางประธานบริหารของ Ford ว่าบริษัท จะยังรักษาพันธะสัญญา ที่มีต่อตลาดออสเตรเลียอย่างเหนียวแน่น ที่จะดำเนินธุรกิจต่อไป และพร้อมที่จะเพิ่มการลงทุนในอนาคต ซึ่งแม้ว่าผู้บริหารของ Ford ไม่ได้ให้คำมั่นสัญญาแบบผูกมัด ว่าบริษัท จะอยู่ในตลาดออสเตรเลียตลอดไป แต่ก็เป็นการให้ความมั่นใจ ในระดับที่ทั้งสองฝ่ายพอใจ และตกลงที่จะมีการติดต่อสื่อสารกันมากขึ้น หลังจากนี้
รัฐมนตรีออสเตรเลีย ยังเปิดเผยอีกว่า Ford ได้พูดถึงความเป็นไปได้ ในการที่จะรับพนักงานบางส่วนของ Holden จากทั้งหมด 600 คน เพื่อเข้าทำงานกับ Ford หลังจากที่มีการชดเชยต่างๆ จากทาง GM แล้ว ซึ่ง Ford เชื่อว่า มีพนักงานของ Holden จำนวนหนึ่ง ที่มีทักษะและความสามารถในระดับสูง ซึ่งเพียงพอ ที่จะเข้าร่วมงานกับ Ford ได้ไม่ยาก
Ford เป็นค่ายรถยนต์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในออสเตรเลีย ด้วยพนักงานที่เป็นวิศวกร นักออกแบบ ช่างเทคนิค ผู้เชี่ยวชาญด้านยานยนต์ รวมกว่า 2000 คน ในสำนักงานทั้ง 4 แห่ง ในรัฐวิคทอเรีย และ Ford ก็มี Ranger เป็นรถยนต์รุ่นที่ขายดีที่สุดรุ่นหนึ่ง ในออสเตรเลีย โดยเฉพาะรุ่นสูงสุด ที่ถือว่าเป็นรถกระบะขับ 4 ที่ขายดีที่สุดของประเทศ ซึ่งจุดนี้ อาจจะเป็นเหตุผลสำคัญ ที่ทำให้ Ford เอง สามารถรองรับพนักงานของ Holden ที่ถูกจ้างออก ให้เข้ามาทำงาน ได้โดยไม่ต้องแบกรับภาระมากนัก ซึ่ง Holden ก็ถือว่าเป็นคู่แข่งสำคัญของ Ford ที่สู้รบปรบมือกันในตลาดแห่งนี้ มานานหลายสิบปี และ Ford ออสเตรเลียเอง ก็ยังเป็นบริษัทแรก ที่ออกมาแสดงความเสียใจอย่างเป็นทางการ ต่อการจากไปของคู่แข่งสำคัญ อย่าง Holden
สำหรับเมืองไทย อนาคตของพนักงานหลังการเลิกจ้าง ตัวแทนจำหน่าย รวมถึงผู้ที่เกี่ยวข้อง ในระบบ supply chain ของ GM อาจจะใช้เวลาสักพัก เพื่อรอความชัดเจนจากทาง Great Wall Motors ผู้ลงทุนรายใหม่ ถึงมาตรการในการจ้างงานใหม่ เทคโนโลยีที่จะนำมาใช้ในโรงงาน ว่าจะใช้แรงงานคน มากน้อยแค่ไหน หรือใช้หุ่นยนต์เป็นหลักในการผลิต ในขณะที่ Ford ประเทศไทย อาจจะไม่ได้อยู่ในสถานะของอัศวินม้าขาว ในแบบที่เกิดขึ้นในออสเตรเลีย เพราะ Ford เอง ก็ไม่ได้มียอดขายเป็นอันดับต้นๆ ในตลาดยานยนต์ไทย ที่มีการแข่งขันสูงมากขึ้นในทุกปี แต่กลับเริ่มมีการหดตัวของตลาดรถยนต์