ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเผย กระแสพลังงานสะอาดเติบโตอย่างรวดเร็ว และจะส่งผลกระทบอย่างมีนัยยะสำคัญต่อการผลิตรถใช้น้ำมันและชิ้นส่วน
ในขณะที่ยอดขายรถใช้ไฟฟ้าล้วน BEV และรถใช้น้ำมันควบคู่ไฟฟ้า HEV และ PHEV เพิ่มขี้นอย่างรวดเร็ว ส่วนในต่างประเทศ รวมถึงตลาดส่งออกหลักของไทย ยอดการนำเข้ารถยนต์ขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้า เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ ในอนาคต ความนิยม BEV ที่มีอัตราเร่งในการเติบโตสูง จะส่งผลกับผู้ผลิตรถใช้น้ำมัน ทั้งที่ใช้เครื่องยนต์สันดาปภายใน และระบบไฮบริด รวมถึงชิ้นส่วนที่เกี่ยวข้อง
รถขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้า ได้รับความนิยมในประเทศไทย และตลาดส่งออกอย่างรวดเร็ว ที่ผ่านมา ไทยพัฒนาอุตสาหกรรมรถยนต์สันดาปภายใน (ICE) เป็นหลัก แต่ Disruptive Technology หรือเทคโนโลยีที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างพลิกผัน อย่างรถยนต์ขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้า ที่แจ้งเกิดได้จากกระแสพลังงานสะอาด และการสนับสนุนของภาครัฐในไทย ได้ทำให้ค่ายรถยนต์ หันมาพัฒนารถยนต์ไฟฟ้า ที่ใช้แบตเตอรี่ล้วน (BEV) และรถยนต์ใช้น้ำมันร่วมกับระบบไฟฟ้า หรือไฮบริดในไทยมากขึ้น
- ยอดขายในประเทศของรถยนต์ไฟฟ้า และไฮบริด มีทิศทางปรับเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เห็นได้ชัดจากส่วนแบ่งในตลาดที่เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน ซึ่งในปี 2567 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดการณ์ว่ารถยนต์ไฟฟ้า และไฮบริด น่าจะมีส่วนแบ่งตลาดในไทยเพิ่มขึ้น ไปสู่ 15% และ 16% ตามลำดับ โดยส่วนแบ่งตลาดของรถยนต์ไฟฟ้า และไฮบริดในกลุ่มรถยนต์นั่ง ก็คาดว่าจะเพิ่มขึ้นไปถึง 28% และ 31% ตามลำดับ ในขณะที่รถปิกอัพ มีประเด็นเรื่องเทคโนโลยี และต้นทุน ทำให้กว่าจะได้เห็นความก้าวหน้าที่ชัดเจน ก็คงเป็นช่วงตั้งแต่ปีนี้เป็นต้นไป เริ่มจากปิกอัพไฮบริด แล้วค่อยขยับไปสู่ปิกอัพ ไฟฟ้าในอนาคต ซึ่งข้อมูลของตลาดรถกระบะปิกอัพ ของศูนย์วิจัยกสิกรไทย สอดคล้องกับความเคลื่อนไหวล่าสุดของค่ายรถยนต์ต่างๆ ที่มีเพียง Toyota เท่านั้นในตลาดเมืองไทย ที่เป็นผู้เล่นรายใหญ่ที่้มีการเปิดตัวรถปิกอัพไฟฟ้าก่อนใครในตลาด หากไม่นับ NEX แบรนด์รถยนต์ไฟฟ้าของไทย ที่ถือว่ายังเป็นเพียงคู่แข่งรายเล็กมากในตลาดรถกระบะปิกอัพ แต่ Toyota ก็ยังมีการจำกัดกลุ่มเป้าหมายในตลาดอยู่ อีกทั้งเทคโนโลยีแบตเตอรี่ของบริษัทเอง ก็ยังถือว่าอยู่ในช่วงเริ่มต้นในการพัฒนา เมื่อเทียบกับคู่แข่งจากจีน ในขณะที่ผู้เล่นจากญี่ปุ่นรายอื่นๆอย่าง ISUZU Mitsubishi Nissan ยังไม่มีความชัดเจนในการทำตลาดรถกระบะไฟฟ้า แต่ก็อยู่ในโหมดของการเตรียมพร้อม ส่วนผู้บริหาร Ford ประเทศไทย ได้ออกมาให้สัมภาษณ์ล่าสุดแล้วว่า อาจจะต้องใช้เวลาอีก 3-5 ปี ถึงจะได้เห็นความชัดเจนเรื่องรถยนต์ไฟฟ้าของฟอร์ด อีกหนึ่งผู้เล่นที่ทุกคนจับตามองก็คือ BYD ที่ตอนนี้กำลังทดสอบรถกระบะปิกอัพเวอร์ชั่น Plug-in Hybrid อยู่ มีแผนในการทำตลาดรถกระบะไฟฟ้าแบยตเตอรี่ อย่างเร็วที่สุดในปี 2568 นั่นทำให้ตลาดนี้ น่าจะมีการปรับตัวเข้าสู่ตลาดรถยนต์ไฟฟ้าช้าที่สุด โดยมีเทคโนโลยีไฮบริด เข้ามาทำหน้าที่เป็นเหมือนตัวเชื่อมให้มีการเปลี่ยนผ่านจากรถยนต์ใช้น้ำมัน ไปเป็นรถยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี่อย่างเต็มรูปแบบในอนาคต แต่ก็อาจจะกินเวลาสั้นๆไม่กี่ปี ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับการแข่งขันในตลาด ว่าใครจะลงมาเล่นกับตลาดแมสก่อน และกลุ่มเป้าหมาย ให้การตอบรับดีเหมือนตลาดรถยนต์นั่งหรือไม่
- ตลาดโลกก็มีการนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้า และไฮบริดเพิ่มขึ้น โดยใน 3 ไตรมาสแรกของปี 2566 พบว่า 2 ค่าเฉลี่ยการนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้า และไฮบริดรวมกัน ขยับสัดส่วนขึ้นมาที่ 15% ของการนำเข้ารถยนต์รวมทั้งหมดทั่วโลก จากระดับ 5% เมื่อ 5 ปีก่อน แล้วยิ่งเมื่อพิจารณาเฉพาะตลาดส่งออกหลักของไทย จะพบว่า หลายตลาดเพิ่มการนำเข้ารถยนต์ 2 กลุ่มนี้ จากฐานผลิตต่างๆทั่วโลก ในสัดส่วนที่สูงกว่า
ค่าเฉลี่ยโลก จึงเป็นโอกาสให้ไทย ผลิตรถยนต์ไฟฟ้า และไฮบริด เพื่อส่งออกไปยังตลาดเหล่านี้ได้เพิ่มขึ้น โดยช่วงแรก เน้นพัฒนา
ในรูปแบบรถยนต์นั่งตามตลาดในประเทศ และอนาคตพัฒนาเพิ่มสู่ปิกอัพไฟฟ้า และไฮบริดต่อไป โดยอาศัยจุดแข็งที่ไทยยังเป็นฐานผลิตปิกอัพ
เพื่อส่งออกระดับโลกอยู่
ความนิยมรถยนต์ไฟฟ้าที่มากขึ้น จะกดดันปริมาณการผลิตรถที่ใช้เครื่องยนต์สันดาปภายใน และไฮบริด ซึ่งจะกระทบกับผู้ผลิตชิ้นส่วน โดยเฉพาะกับรถที่ใช้น้ำมัน
แม้ว่าระยะนี้ กระแสพลังงานสะอาดในไทยจะมุ่งไปทั้งรถยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี่ และรถยนต์ไฮบริดทั่วไปและปลั๊กอินไฮบริด ทำให้เราเห็นภาพการเติบโตที่ไปด้วยกัน แต่ระยะข้างหน้า มีโอกาสที่ความต้องการรถยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี่ จะเพิ่มขึ้นอีก ทั้งในไทยและตลาดนำเข้าของไทย ส่งผลให้ปริมาณการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าโดยหลายค่ายจากจีน มีแนวโน้มจะเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งจะกระทบต่อปริมาณการผลิตรถยนต์ใช้น้ำมันในไทย ให้อยู่ในช่วงขาลง
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ในปี 2573 (ปีที่รัฐตั้งเป้าว่า ไทยจะมีสัดส่วนการผลิตรถยนต์ BEV ที่ 30%) การผลิตรถยนต์ใช้น้ำมันและรถยนต์ไฮบริด ในไทย อาจเหลือส่วนแบ่งเพียง 71% ลดลงจากที่คาดว่าจะมีส่วนแบ่ง 96% ในปีนี้ ภายใต้เงื่อนไขที่ Ecosystem ของ BEV ได้รับการพัฒนาจนสามารถสร้างประสบการณ์ที่ดีขึ้นตามลำดับ สำหรับผู้ใช้รถ BEV
ดังนั้น ธุรกิจผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ที่ใช้เฉพาะรถยนต์ใช้น้ำมัน โดยเฉพาะกลุ่มเครื่องยนต์ และชิ้นส่วนระบบส่งกำลัง ที่มีอยู่มากกว่า 350 รายในประเทศ จะได้รับผลกระทบ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า มูลค่าชิ้นส่วนที่ใช้เฉพาะกับรถยนต์ใช้น้ำมัน จะหดตัวด้วยอัตราเฉลี่ยที่ 2.0% ต่อปี จากในปี 2567 ที่
284,700 ล้านบาท มาอยู่ที่ 252,060 ล้านบาทในปี 2573 โดยกำหนดให้ราคาชิ้นส่วนต่างๆคงที่
อย่างไรก็ตาม ระดับผลกระทบต่อธุรกิจผลิตชิ้นส่วนเฉพาะรถยนต์ใช้น้ำมันแต่ละราย จะมีความแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับว่า ผู้ประกอบการผลิตสินค้าเพื่อป้อนใคร และมีการกระจายตัวของคำสั่งซื้อ มากน้อยเพียงใด โดยกลุ่มที่ผลิตชิ้นส่วน สำหรับรถยนต์นั่งใช้น้ำมันและป้อนค่ายรถ ที่เน้นขายในตลาดประเทศมาก จะเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบเร็วและรุนแรงก่อนกลุ่มอื่นๆ นอกจากนี้ ในอีกด้านหนึ่ง ก็ยังต้องติดตามว่า การลงทุน BEV ในไทย จะสร้างโอกาสทางธุรกิจ ให้กับกลุ่มผู้ผลิตชิ้นส่วนไทยได้มากน้อยเพียงใดเช่นกัน ทำให้ปี 2567 นี้ เป็นปีที่น่าจับตามองตลาดรถยนต์ของไทย ที่น่าสนใจมากที่สุดอีกปีหนึ่ง