ผ่านไป 10 เดือน ตลาดรถกระบะปิกอัพยังทรุดตัวอย่างเนื่อง อย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ฉุดภาพรวมทั้งตลาดหดตัวตามไปด้วย แม้ว่าตลาดรถยนต์นั่ง ยังมีการขยายตัวก็ตาม เรียกว่า การเปิดตัวรถกระบะรุ่นใหม่ๆ ไม่สามารถกระตุ้นตลาดได้ตามที่ควรจะเป็น อย่างไรก็ตาม เจ้าตลาดอย่าง ISUZU ที่ได้รับผลกระทบไม่น้อย กำลังจะได้รางวัลปลอมใจ เป็นแชมป์ปีที่ 4 ติดต่อกัน เพราะล่าสุด ก็ยังทำยอดขายนำมาเป็นอันดับ 1 ยอดสะสมทิ้งห่างอันดับ 2 Toyota Hilux Revo ถึงเกือบ 1 หมื่นคัน กับเวลาอีก 2 เดือนสุดท้ายของปี เหมือนเป็นการปิดโอกาสในการแซงของ Hilux ไปแล้ว
รายงานสถิติการขายรถยนต์ประจำเดือนตุลาคม 2566 โดย โตโยต้า ประเทศไทย ยอดขายรถยนต์อยู่ที่ 58,963 คัน ลดลง 8.8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ในขณะที่รถยนต์นั่งยังเติบโตต่อเนื่อง ด้วยยอดขาย 22,130 คัน เติบโต 13.7% ป็นผลมาจากการเติบโตของเซกเมนต์อีโคคาร์ ด้วยยอดขาย 16,800 คัน เติบโตขึ้นถึง 20.3% ในขณะที่ตลาดรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ ชะลอตัวต่อเนื่องที่ 18.4% ด้วยยอดขาย 36,833 คัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งตลาดรถกระบะขนาด 1 ตัน หดตัวถึง 35.1% ด้วยยอดขาย 22,998 คัน ปัจจัยหลักเป็นผลมาจากสภาพเศรษฐกิจที่ยังไม่สามารถขับเคลื่อนได้อย่างลื่นไหล ผู้บริโภคยังคงชะลอการตัดสินใจซื้ออย่างต่อเนื่อง โดยมีอุปสรรคสำคัญก็คือ ความเข้มงวดของสถาบันการเงินในการปล่อยสินเชื่อ เนื่องจากมีความกังวลต่อความสามารถในการผ่อนชำระของผู้รับสินเชื่อ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ตลาดรถเพื่อการพาณิชย์ และตลาดรถกระบะขนาด 1 ตัน ซึ่งขับเคลื่อนด้วยกระแสการหมุนเวียนของสินเชื่อเป็นหลัก
ตลาดรถยนต์เดือนพฤศจิกายนมีความหวังฟื้นตัวขึ้นเล็กน้อย ตามฤดูกาลขาย “High season” ซึ่งค่ายรถยนต์ต่างมีแผนเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่ พร้อมด้วยแคมเปญส่งเสริมการขายเพื่อหวังกระตุ้นยอดขายและปิดตัวเลขการขายประจำปี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในงาน “มหกรรมยานยนต์ ครั้งที่ 40” หรือ “Thailand International Motor Expo 2023” ระหว่างวันที่ 30 พฤศจิกายน- 11 ธันวาคมที่จะถึงนี้ ซึ่งลูกค้าจำนวนมากต่างเฝ้ารอรับข้อเสนอพิเศษสุดแห่งปี อย่างไรก็ตาม ความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงิน เป็นอุปสรรคสำคัญต่อการเจริญเติบโตของตลาดรถยนต์ทุกเซกเมนท์ อย่างปฏิเสธไม่ได้
ยอดขายรถกระบะ Pure Pick up ประจำเดือนตุลาคม 2566
ปริมาณการขาย 18,673 คัน ลดลง 37.9% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน
อันดับ 1 ISUZU D-MAX 8,243 คัน ลดลง 29.9% ส่วนแบ่งตลาด 44.1%
อันดับ 2 TOYOTA HILUX REVO 7,634 คัน ลดลง 39.3% ส่วนแบ่งตลาด 40.9%
อันดับ 3 FORD RANGER 1,691 คัน ลดลง 54.6% ส่วนแบ่งตลาด 9.1%
อันดับ 4 MITSUBISHI TRITON 746 คัน ลดลง 48.2% ส่วนแบ่งตลาด 4.0%
อันดับ 5 NISSAN NAVARA 248 คัน ลดลง 22.0% ส่วนแบ่งตลาด 1.3%
อันดับ 6 MG EXTENDER 73 คัน ลดลง 48.6% ส่วนแบ่งตลาด 0.4%
อันดับ 7 MAZDA BT-50 38 คัน ลดลง 72.9% ส่วนแบ่งตลาด 0.2%
ในเดือนตุลาคม ยอดขายของทุกรุ่น ตกลงอย่างมีนัยยะสำคัญถ้วนหน้า แต่อาจจะด้วยการที่เพิ่งเปิดตัวรุ่นปรับโฉมใหม่ไปหมาดๆ ทำให้ ISUZU D-MAX ได้รับผลกระทบแทบจะน้อยที่สุด เป็นรองเพียง Nissan Navara ที่ลดลงเพียง 22% ในขณะที่คู่แข่งรายอื่น มียอดลดลงตั้งแต่ 40% ไปจนถึง 70 กว่า % แม้แต่รถกระบะรุ่นเปิดตัวใหม่ทั้งคันอย่าง MITSUBISHI TRITON ยอดขายก็ลดลงถึงเกือบ 50% ถือว่าเป็นปรากฏการณ์ที่ไม่มีให้เห็นบ่อยนัก สะท้อนภาวะเศรษฐกิจของไทยที่มีการเติบโตต่ำกว่าที่คาดการณ์เอาไว้ งานนี้ต้องลุ้นกันว่า รัฐบาลใหม่จะสามารถแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าได้ดีแค่ไหน และจะมีมาตรการในระยะยาวอย่างไรบ้าง เพราะรายได้จากการท่องเที่ยวก็ดูเหมือนจะพลฃาดเป้าไปพอสมควรเช่นกัน ในขณะที่การส่งออกล่าสุดติดลบ งานนี้ต้องบอกว่า ค่ายรถยนต์ที่จำหน่ายรถเพื่อการพาณิชย์ เจอโจทย์ที่ยากที่สุดในรอบหลายปีก็ว่าได้
ยอดขายรถกระบะ Pure Pick up ใน 10 เดือนแรกของปี 2566
ปริมาณการขาย 227,342 คัน ลดลง 29.8% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน
อันดับ 1 ISUZU D-MAX 99,852 คัน ลดลง 32.9% ส่วนแบ่งตลาด 43.9%
อันดับ 2 TOYOTA HILUX REVO 90,635 คัน ลดลง 25.5% ส่วนแบ่งตลาด 39.9%
อันดับ 3 FORD RANGER 21,194 คัน ลดลง 19.8% ส่วนแบ่งตลาด 9.3%
อันดับ 4 MITSUBISHI TRITON 11,243 คัน ลดลง 39.1% ส่วนแบ่งตลาด 4.9%
อันดับ 5 NISSAN NAVARA 2,827 คัน ลดลง 41.0% ส่วนแบ่งตลาด 1.2%
อันดับ 6 MG EXTENDER 811 คัน ลดลง 65.3% ส่วนแบ่งตลาด 0.4%
อันดับ 7 MAZDA BT-50 780 คัน ลดลง 37.2% ส่วนแบ่งตลาด 0.3%
ยอดขายสะสมใน 10 เดือนแรกของปี ที่ ISUZU D-MAX ทิ้งห่าง TOYOTA HILUX REVO มากถึง 9,217 คัน กับเวลาที่เหลือของปีอีกเพียง 2 เดือนเท่านั้น ในขณะที่ในแต่ละเดือน D-MAX ก็สามารถทำยอดขายได้สูงกว่า HILUX REVO แทบจะทุกเดือน ยิ่งมีการปรับโฉมใหม่ด้วยแล้ว ยิ่งทำให้โอกาสที่ HILUX REVO จะแซงขึ้นมาเป็นอันดับ 1 ในด้านยอดขายในปีนี้ แทบจะเป็นไปไม่ได้ หรืออาจจะสามารถฟันธงไปได้เลยด้วยซ้ำว่า ISUZU D-MAX จะสามารถครองแชมป์ยอดขายรถยนต์และรถกระบะปิกอัพ ที่สูงที่สุดในประเทศไทยเป็นปีที่ 4 ติดต่อกัน ทำให้สามารถพูดได้เต้มปากเต็มคำไปแล้วว่า D-MAX คือรถกระบะปิกอัพอันดับ 1 ของเมืองไทย ซึ่งดูจากแนวโน้มแล้ว ก็อาจจะภาษีที่ดีกว่า Toyota ในการแข่งขันปีหน้าอีกอย่างน้อย 1 ปี แต่ค่ายที่น่าจะผิดหวังมากที่สุด ก็คงจะเป็น MITSUBISHI ที่มีการเปิดตัวโฉมใหม่หมดทั้งคันไปแล้ว แต่ยอดขายกลับไม่ได้กระเตื้องขึ้นอย่างที่ควรจะเป็น นี่อาจจะทำให้บริษัทเริ่มกลยุทธ์ในด้านราคาและการนำเสนออ็อปชั่น เร็วกว่าที่คาดเอาไว้ เพราะปกติแล้ว รถใหม่ที่มีการเปลี่ยนเจนเนอเรชั่น จะมีจุดขายในเรื่องความสดใหม่ เทคโนโลยีที่ทันสมัยมากกว่าเดิม และขุมพลังที่มีพละกำลังมากขึ้น แต่ดูเหมือนครั้งนี้ จะใช้ไม่ได้กับ Triton งานนี้จึงทำให้คู่แข่งที่เคยสูสีกันอย่าง Ford Ranger สบายใจขึ้นเยอะ อย่างไรก็ตาม ในภาพรวมแล้ว แต่ละค่ายรถยนต์ก็คงไม่มีใครพอใจกับสถานการณ์แบบนี้อย่างแน่นอน แม้แต่เบอร์ 1 อย่าง ISUZU D-MAX เพราะต่อให้เป็นอันดับ 1 ในตลาด แต่ไม่สามารถทำรายได้เหมือนปีก่อนๆ ในมุมมองทางธุรกิจแล้ว สถานการณ์ของตลาดแบบนี้ บริษัทก็คงไม่ได้มีความสุขนัก